“นับถือศาสนาอย่างไรให้ใจกว้าง?” : เส้นทางการหลุดพ้นแบบพหุนิยมในพุทธศาสนา

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

สะท้อนประสบการณ์จากการร่วมฟังงานเสวนาปรัชญา “ว่าด้วยหนังสือตามรอยพหุนิยมในพุทธศาสนา” กับ เฉลิมวุฒิ วิจิตร และ วิจักขณ์ พานิช จัดโดย ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เสน่ห์ที่ทำให้ชื่นชอบปรัชญาเสมอมา คือการที่ปรัชญาพาให้ตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ แกะ สาง กางออกมาดูอย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจถึงภาพรวมได้ดีขึ้น ตอบคำถามได้หมดจดกว่าเดิม แม้กระบวนการที่ว่ามาจะพาปวดหัว ต้องหาข้อมูล ใช้สมองขบคิดจนไมเกรนมาเยี่ยม แต่ก็ทำให้ตื่นตัวและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำ

อย่างที่เราคุ้นเคย ภาคปรัชญาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งมักใช้ชื่อเรียกว่า “ภาคปรัชญาและศาสนา” หมายความว่าในหลักสูตร นักศึกษาจะได้เรียนทั้งปรัชญาและความรู้ทางศาสนา ประวัติศาสตร์ หลักธรรม ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการเข้าไปสัมพันธ์กับศาสนาในลักษณะมองเข้าไป ทำความเข้าใจ และวิพากษ์ ต่างจากฟังก์ชั่นปกติของศาสนาที่เราจะเข้าไปสัมพันธ์ ด้วยความเคารพศรัทธาและรับเอาคำสอนมาใช้ปฏิบัติในชีวิต

การเข้าไปสัมพันธ์ด้วยแว่นของปรัชญาพาให้เจอมิติใหม่ๆ ในการมองศาสนา ข้อดีคือพาให้เราเปิดกว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองได้ล้ำลึกขึ้น และเป็นอิสระจากวาทกรรม กรอบคิดที่อาจติดมากับวัฒนธรรม หรืออำนาจขององค์กรทางศาสนา

งานเสวนา “ว่าด้วยหนังสือตามรอยพหุนิยมในพุทธศาสนา” เมื่อวันที่ 30 ต.ต. 2565 ที่ผ่านมา เป็นการเสวนาประเด็นในหนังสือที่ อาจารย์ ดร. เฉลิมวุฒิ วิจิตร ปรับปรุงมาจากเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ร่วมกับ คุณวิจักขณ์ พานิช ที่เข้ามาเสริมในฐานะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อนพุทธธรรมโดยตรง และช่วยเปิดมุมมองการเข้าถึงคำสอนในฐานะผู้ปฏิบัติ ดำเนินรายการโดย ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง วงสนทนาดำเนินไปรอบๆ หัวข้อที่เกี่ยวกับท่าทีความเปิดกว้างของพุทธศาสนา ซึ่งก็แตกออกเป็นประเด็นย่อยหลากหลายที่น่าสนใจ เสริมด้วยคำถามจากผู้เข้าร่วมที่พาขยายความเข้าใจออกไปอีก กลายเป็นงานเสวนาออนไลน์ที่ฟังสนุกอย่างที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น

ประเด็นหลักที่อ. เฉลิมวุฒิศึกษาค้นคว้า คือความเป็นพหุนิยม (Pluralism) ของพุทธศาสนา โดยใช้แนวทางการมองของนักปรัชญาศาสนาคนสำคัญ จอห์น ฮิก (John Hick) แนวทางนี้เป็นเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจมาก และมีประโยชน์ในการนำไปใช้วิเคราะห์ศาสนา หรือเหตุการณ์ใดๆ ให้กระจ่างมากขึ้น

แนวคิดสามแบบที่ฮิกเสนอ มาจากการตั้งคำถามทางปรัชญาต่อศาสนา โดยใช้การศึกษาประวัติศาสตร์ท่าทีของคริสตศาสนาโรมันคาทอลิกที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบทโดยรอบ

แนวคิดที่ 1: Exclusivism แนวคิดแบบกีดกันคัดออก

เป็นแนวคิดที่ว่า ศาสนาของฉันเป็นศาสนาเดียวเท่านั้นที่ถูกต้อง ศาสนาอื่นๆ ไม่จริงทั้งหมด ไม่พาไปสู่ความจริงสูงสุด เช่นท่าทีของคริสตศาสนาโรมันคาทอลิกยุคแรก ที่กล่าวว่านอกศาสนจักรไม่มีทางอื่นที่จะไถ่บาปและไปอยู่กับพระเจ้า (เข้าถึงความจริงสูงสุด) ได้


แนวคิดที่ 2: Inclusivism แนวคิดแบบรวมเข้าทั้งหมด

ต่อมามองว่า ทุกศาสนาจริง พาเข้าถึงความจริงสูงสุดจริง แต่แนวทางการปฏิบัติของศาสนาอื่นๆ เป็นทางอ้อม ทางยาก ศาสนาของฉันคือเส้นทางที่ดีที่สุด จริงแท้ที่สุด เป็นการใช้วิธีการเอาแนวคิดศาสนาตัวเองไปอธิบายศาสนาอื่น โดยที่ไม่ได้มองถึงความแตกต่างทางศาสนา พูดง่ายๆ ก็คือความจริงของศาสนาอื่นๆ ต้องตรงกับความจริงของฉันอยู่ดี


แนวคิดที่ 3 : Pluralism แนวคิดแบบพหุนิยม

แนวคิดสุดท้ายที่เป็นแนวคิดในการมาใช้เป็นหลักศาสนาพุทธในเล่มของ อ.เฉลิมวุฒิ คือแนวคิดที่มองว่า ทุกศาสนามีความจริงสูงสุดเช่นกัน และทุกวิถีปฏิบัติล้วนเข้าถึงความจริงสูงสุด ซึ่งมีภาวะ หรือคำนิยามต่างกันออกไปในแต่ละศาสนา

กล่าวคือเป็นแนวคิดที่เปิดกว้าง ทำให้ทุกๆ ศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่มองว่าอันไหน “จริง” ไปกว่ากัน

จากสามแนวคิดนี้ก็เกิดข้อถกเถียงในวงการศาสนามากมาย และยังลงมามองในระดับนิกายในศาสนาเดียวกัน ว่ามีท่าทีอย่างไรต่อนิกายอื่นๆ ในหนังสือตาม “รอยพหุนิยมในพุทธศาสนา” ของอ.เฉลิมวุฒิเล่มนี้ เสนอว่าศาสนาพุทธมีท่าทีแบบพหุนิยม โดยที่อ.ใช้วิธีตามรอยจากเนื้อหาในพระไตรปิฎก ว่าเวลาศาสนาพุทธกล่าวถึงวิธีการของตัวเอง หรืออ้างอิงถึงศาสนาอื่น มีท่าทางอย่างไรบ้าง ซึ่งอ.ก็เล่าถึงความยากลำบากในการหาทางสนับสนุนข้อเสนอนี้ แม้ว่ามองเผินๆ ศาสนาพุทธน่าจะดูเป็นศาสนาที่มีแนวคิดแบบ Pluralism ด้วยความที่ไม่มีพระเจ้า และเป็นศาสนาที่เน้นการปฏิบัติ เน้นการเข้าถึงด้วยประสบการณ์

ข้อหนึ่งที่อ.เฉลิมวุฒินำมาเล่าให้ฟัง ในศาสนาพุทธจะมีคำกล่าวจากพระไตรปิฏกที่ว่า “หนทางนี้เป็นหนทางเดียวสู่การหลุดพ้น” และให้เกิดความเข้าใจที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวสู่การเข้าถึงความจริงสูงสุด อ.เฉลิมวุฒิก็ได้พยายามแก้ข้ออ้างนี้ที่เป็นลักษณะ Exclusivism และพบว่า นั่นเป็นเพียงการตีความตัว text แบบหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แล้วสามารถตีความได้ถึงห้าความหมาย หนทางเดียวสามารถตีความได้ว่า หนทางที่ไม่มีทางแยก หรือหนทางที่เดินคนเดียว ก็ได้

รายละเอียดที่ อ.เฉลิมวุฒิ หยิบยกมาเล่าให้ฟังในงานเสวนามีหลายอันซึ่งเปิดหูเปิดตาเรามาก แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากในหนังสือ ดังนั้นจึงขอชวนท่านที่สนใจไปหาซื้ออ่าน เพื่อรายละเอียดและอรรถรสที่ครบถ้วน

ต่อเนื่องมาจากแนวคิดทั้งสาม ประเด็นน่าสนใจหนึ่งที่เกิดขึ้นในงานเสวนาครั้งนี้ที่คือท่าทีของศาสนาในสังคมที่เราอยู่

อ.เฉลิมวุฒิเล่าให้ฟังถึงที่มาของการทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่ามาจากการที่ได้ไปเจอกับท่าทีที่แตกต่างในการมองศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาที่ตัวเองนับถือ ศาสนาพุทธมองว่าศาสนาอื่นไร้สาระ ศาสนาอื่นมองว่าพุทธศาสนาไร้สาระ หรือบางคนมองว่าทุกศาสนาไร้สาระ นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังใช้แนวคิดแบบ Exclusivism มองว่าของตัวเองจริงอยู่คนเดียว ซึ่งบางครั้งมุมมองแบบนี้รุนแรงจนน่าตกใจ

คุณวิจักขณ์พาชี้ให้ดูต่อ ว่าแนวทางการมองของ ฮิก นั้นคือการทำความเข้าใจปรากฏการณ์หนึ่งในโลกศาสนา เรียกว่า การสถาปนาเป็นองค์กร (Institutionalization) ศาสนาที่เป็นองค์กรมีอำนาจในการกำหนดความจริงทางศาสนาขึ้นมาและความจริงดังกล่าวก็มีอิทธิพลกว้างไปถึงสังคมด้วย ทำให้นึกถึงตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างการตีความคัมภีร์ทางศาสนา บางครั้งอำนาจที่จะกำหนดความจริงขององค์กรกลับทำให้ศาสนาไม่เปิดกว้าง กีดกันคนบางกลุ่มออกไปจากสังคม เช่นคนข้ามเพศ การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

ในปัจจุบันปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมพุทธ อย่างที่เราไม่รู้ตัว หากลองสังเกต ท่าทีของพุทธเถรวาทที่เป็นสถาบันในบ้านเราก็มีแนวโน้มจะเป็น Exclusivism เรามักได้ยินคำพูดแบบ ของฉันพุทธแท้ ส่วนอันนั้นพุทธเทียม หรือมุมมองต่อศาสนาอื่นๆ ว่าไม่ได้ช่วยอะไรจริงๆ เพราะไม่พาเราไปถึงนิพพาน

คำถามที่ตามมาคือ แล้วการคิดแบบ “ฉันจริงอยู่คนเดียว” แบบนี้จะนำไปสู่ปัญหาอะไร? มุมมองนี้จะทำให้การอยู่ร่วมกันในโลกเป็นอย่างไร คำตอบปรากฏให้เห็นตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าฟีดข่าวในมือถือเราทุกวันนี้

การคิดว่าศาสนาตนจริงที่สุด ความเชื่อทางศาสนาของเราคือหนึ่งเดียวสูงสุด บวกกับการยึดในอำนาจการนิยามความจริงของสถาบันศาสนาที่ตนยึดถือ นำไปสู่ความรุนแรงต่อสิ่งรอบข้างและคนรอบข้างที่แตกต่างจากตนเอง ยุคล่าอาณานิคมที่ใช้ความคิดที่ว่าจะไปเผยแผ่ศาสนามาสนับสนุนสงคราม และแม้แต่ในยุคนี้ยังมีการใช้ความรุนแรงจากความเชื่อในศาสนาอย่างสุดโต่งให้เห็น ในโลกโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนต่างศาสนาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ หากอาศัยอยู่ด้วยกันแบบมองว่าฉันจริง ส่วนเธอไร้สาระ จะสามารถอดทนอยู่แบบนั้นได้นานแค่ไหน และเราก็เห็นความรุนแรงจากความเชื่อที่แตกต่างทางศาสนาเล็กใหญ่ปรากฏให้เห็นเรื่อยๆ ใกล้ตัวบ้าง ไกลตัวบ้าง

เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? ถ้ายึดอยู่กับศาสนาตัวเองด้วยมุมมองที่คับแคบ ปิดกั้นความเป็นไปได้อื่นๆ ไม่เปิดรับความแตกต่าง หรือกระทั่งยึดว่าตัวเองไม่มีศาสนา แล้วมองว่าทุกศาสนาไร้สาระก็ไม่ต่างกัน

สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบตัวเอง กลับมาตั้งคำถามว่าการยึดมั่นในความเชื่อของตนนั้นมีท่าทีเช่นไร ยิ่งเป็นศาสนาที่เป็นสถาบันหลักของสังคมด้วยแล้ว แทนที่จะสนับสนุนการเข้าไปควบคุม จัดการ ปิดกั้นเสรีภาพคนอื่นที่คิดเห็นต่างหรือเชื่อต่าง กระทั่งกลายเป็นสถาบันศาสนาที่แข็งตัว กลายเป็นอำนาจกำหนดความจริงด้วยความเชื่อศรัทธาของตนอย่างคับแคบ-ไร้สติปัญญา การตั้งคำถามต่อตัวเองจะช่วยให้ศาสนามีความเป็นมิตรต่อผู้อื่นมากขึ้น เปิดกว้างต่อการตั้งคำถาม เสนอแนะ และการปรับเปลี่ยนจุดยืนและบทบาทของศาสนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อที่ว่าศาสนาจะเป็นพื้นที่เปิดกว้างต่อทุกประสบการณ์และทุกจิตวิญญาณ

และในฐานะผู้ฝึกปฏิบัติ เราก็สามารถย้อนกลับมาตรวจสอบตัวเองได้ด้วยเช่นกัน เรามีท่าทีอย่างไรต่อความเชื่อที่แตกต่าง เรากำลังยึดมั่นอยู่กับความจริงแท้หนึ่งเดียวที่ตัวเองเชื่อ ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรง หรือเรามีศาสนาเพื่อฝึกให้ตัวเองเปิดกว้าง ปฏิบัติต่อผู้อื่นและตัวเองด้วยความจริงใจ เข้าถึงความจริงสูงสุดทางศาสนาในประสบการณ์ของตน ชื่นชมการเข้าถึงความจริงสูงสุดของผู้อื่น และเปิดกว้างต่อการแลกเปลี่ยนเสวนา