Abandon All Hope of Fruition: เลิกเถอะ! เลิกหวังว่าจะมีผล

บทความ โดย อุษณี นุชอนงค์

เมื่อบอกว่า เรามาจะภาวนา อาจจะมีหลายท่านที่เข้ามาฝึกภาวนาโดยมีความคิดว่าจะใช้การภาวนาในการสร้างความแข็งแรงให้กับจิตใจ การภาวนาจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากความปรารถนาที่จะมีปัญญาของเรา ทำให้เรารู้สึกสบายขึ้น หรือทำให้เรามีเครื่องมือไปสู้รบกับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาชีวิต เราต่างมีความหวังว่าการภาวนาจะให้คำตอบอะไรบางอย่างแก่เรา ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะหวัง

แต่วันนี้สิ่งที่อยากชวนคุย คือคำสอนที่กล่าวว่า “เลิกเถอะ! เลิกหวังว่าจะมีผล” “จงละทิ้งซึ่งความหวังทั้งปวงว่าการภาวนาจะสามารถทำอะไรหรือช่วยอะไรเราได้”

พอได้ยินแบบนี้เราอาจจะรู้สึกเหวอ เพราะทั้งชีวิตเราถูกสอนมาตลอดว่า เราต้องตั้งความหวังไว้ เกิดเป็นคนต้องมีความหวัง เราต้องมีจุดหมายเพื่อที่เราจะได้ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางให้เราบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น

เราอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมต้องเลิกหวังว่าจะมีผล?”

และคำตอบของคำถามนี้ อาจเป็นคำถามกลับไปว่า “ใครคือผู้หวัง?”

ลองย้อนระลึกนึกถึงประสบการณ์บนเบาะภาวนา ตอนเราเริ่มนั่ง ในขณะที่ผู้นำภาวนาบอกว่า “ให้เรานั่ง แล้วผ่อนคลาย” เมื่อเราได้ยินแบบนั้น เราพยายามที่จะผ่อนคลาย เราหวังว่าเราจะผ่อนคลายได้ เมื่อเราผ่อนคลายไม่ได้ เราก็ยิ่งพยายาม

“พยายาม พยายาม พยายาม”

เราใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำตัวเราให้ผ่อนคลาย ทั้งที่เราอาจจะไม่รู้หรือไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าความหมายของคำว่า “ผ่อนคลาย” แปลว่าอะไร แต่เราก็ “พยายามผ่อนคลาย” และในที่สุด “ความหวังที่จะผ่อนคลาย” ของเรา ก็ได้กลายเป็นสิ่งกั้นขวางเรากับสถานการณ์จริงที่อยู่ตรงหน้าในขณะนั้น

แท้จริงแล้วสาระสำคัญของการฝึกภาวนาคืออะไร?

เรากำลังฝึกภาวนาเพื่อที่จะได้เห็น เพื่อที่จะได้ตระหนักรู้ ว่าอัตตา (ตัวตน) ของเราทำงานอย่างไร

ทุกครั้งที่เรามีความหวัง จะมีตัวเราคั่นกลางระหว่างความหวังนั้นกับธรรมชาติหรือปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเสมอ

ตัวเราหรืออัตตา อยู่ตรงกลางระหว่างความต้องการของเรา (ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้ได้มา การปฏิเสธหรือต้านไม่อยากได้ หรือความรู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับโลก) กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเราจริงๆ

“อัตตาของเราอยู่ตรงกลางระหว่างความต้องการของเรากับสถานการณ์ตรงหน้าเสมอ มันบดบังเรา ทำให้เราไม่สามารถรู้สึก รับรู้ เข้าถึงสถานการณ์ได้จริงๆ “

อีกประเด็นที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับความหวังที่มีในการภาวนาคือ ถ้าเราหวังว่าภาวนาแล้วจะทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เราจะใช้ชีวิตอย่างสบายใจมากขึ้น เราก็กำลังใช้การภาวนาเพื่อทำให้เราเป็นคนที่ (เราคิดว่า) ดีกว่านี้ นั่นหมายความว่าเรากำลังใช้การภาวนาเป็นเครื่องมือในการปฏิเสธตัวเอง นี่คือสิ่งที่ตรุงปะเรียกว่า วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ

” การกระทำใดๆ หรือกิจกรรมใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา การสวดมนต์ การทำโยคะ ที่เราใช้ด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราดีกว่าเดิม เจ๋งกว่าเดิม หรือในตอนที่เรากำลังสับสน เรายังไม่รู้ เรายังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไงดีกับสถานการณ์ตรงหน้า แล้วเราพยายามเอาการภาวนาหรือกิจกรรมเหล่านั้นมากลบเกลื่อนเพื่อทำให้สภาพจิตใจของเราดีขึ้น หายสับสน อีกด้านหนึ่งมันหมายความว่าเรากำลังหนีตัวเอง เรากำลังปฏิเสธสิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆในขณะนี้ ทั้งหมดนี้คือการพยายามใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราล้มเลิกความหวัง?

ที่มาภาพ Brett Jordan from Pexels

ในช่วงที่เรากำลังนั่งภาวนา เมื่อผู้นำภาวนาบอกให้เรา “ผ่อนคลาย” แต่เราผ่อนคลายไม่ไหว เราอาจจะทำงานเครียดมาทั้งวัน ความคิดเราแล่นไปไกลแสนไกลจนไม่สามารถผ่อนคลายได้ อาจมีจุดหนึ่งที่เราบอกตัวเองว่า “โอเค! จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ถ้าเราผ่อนไม่ได้ เราคลายไม่ได้ ก็โอเค” แล้วเราก็แค่นั่งเฉยๆ อยู่กับการผ่อนคลายไม่ได้ตรงนั้น

ทุกครั้งที่เราให้ความสนใจไปยังสิ่งที่หวัง เราพุ่งความสนใจไปที่การบรรลุจุดมุ่งหมาย ในขณะนั้นเอง สิ่งที่เรากำลังปฏิเสธก็คือ เรากำลังปฏิเสธ “วินาทีนี้” และ เมื่อเราเลิกหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะกลับเข้ามาสู่สิ่งที่เรียกว่า “ปัจจุบันขณะ”

ถ้าไม่ให้หวัง แล้วเราจะภาวนาไปเพื่ออะไร?

หัวใจของการฝึกภาวนาคือ เราไม่ได้จะไปไหน เราไม่ได้กำลังจะสร้างอะไร เราไม่ได้กำลังจะกลบเกลื่อนอะไรทั้งสิ้น อะไรจะเกิดขึ้นในร่างกายของเรา เราก็สัมพันธ์ มีความคิดเกิดขึ้น เราก็สัมพันธ์ มีความรู้สึกเกิดขึ้น เราก็สัมพันธ์ เราสัมพันธ์กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

การสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาคืออะไร?

เวลาเราภาวนา เมื่อผู้นำภาวนาบอกว่าให้เรา “ตระหนักรู้”

  • ตระหนักรู้ถึงร่างกายของเรา ตระหนักรู้ว่าเรากำลังนั่งอยู่ ตระหนักรู้ถึงความเมื่อยที่ขา ความตึงที่คอ
  • ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ตระหนักรู้ถึงการเกิดขึ้นของความคิด
  • ตระหนักรู้ว่าตอนนี้เรากำลังฟัง อาจจะมีเสียงอื่นๆที่เราได้ยินนอกจากเสียงนำภาวนา เสียงแอร์ เสียงรถวิ่ง
  • ตระหนักรู้ว่ามีแสง ตระหนักรู้ถึงการวูบไหวของแสง

เมื่อเราค่อยๆ บ่มเพราะการตระหนักรู้ไปเรื่อยๆ จะทำให้เราสามารถเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น เรากำลังนั่งแล้วเรากำลังเมื่อย ขาเรากำลังปวด เรารู้สึกเบื่อ เรารู้สึกหงุดหงิด

นั่นคือสิ่งเดียวที่เราทำเมื่อเราเริ่มภาวนา “เราแค่ตระหนักรู้”

เริ่มจากการตระหนักรู้ เราจะค่อยๆ เห็นความจริง ความจริงที่เมื่อเห็นแล้ว เราไม่ต้องพยายามเดินทางไปไหนอีกเลย

เหมือนเราเดินผ่านตึกหนึ่งซึ่งมีกระจกอยู่ แล้วมีแสงที่ตกกระทบกระจกนั้น ซึ่งในมุมที่เรายืนอยู่เราจะไม่สามารถมองทะลุผ่านเข้าไปเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในตึกได้ แต่แค่เปลี่ยนมุมนิดเดียว ปรากฏว่ามุมของแสงที่ตกกระทบกระจกก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีแสงสะท้อนจนเราไม่สามารถมองเห็นด้านในได้ ครั้งนี้เรากลับสามารถเห็นสิ่งที่อยู่ในอาคารผ่านกระจกบานนั้นได้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง…

ที่มาภาพ Brett Sayles from Pexels

เรามองสิ่งเดิม ทว่าเมื่อมองด้วยความตระหนักรู้ เรามองเห็นความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นอาจทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเรา อาจทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสถานการณ์

  • เราเห็นสถานการณ์ได้อย่างที่เป็นจริงหรือไม่?
  • เราสามารถยอมรับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าได้หรือไม่?
  • เรากำลังพยายามเอาชนะสถานการณ์อยู่หรือไม่?

“เราแค่ตระหนักรู้ โดยไม่เอาตัวเราเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์”

ทั้งหมดนี้คือความหมายของ Abandon All Hope of Fruition คำสอนที่บอกว่า “เลิกเถอะ เลิกหวังว่ามันจะมีผล” เพราะสุดท้ายแล้ว เราไม่ได้กำลังจะเดินทางไปไหน เราไม่ได้กำลังจะทำอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตอนนี้ ทุกอย่างดีอยู่แล้ว

ที่มาภาพ fikret kabay from Pexels