Right Speech 2 : Rank and the Right Relationship กับ ณัฐฬส วังวิญญู 13-15 ต.ค. 66

Exploring Ranks and Roles, Relationship and Freedom สำรวจลำดับชั้นและบทบาท สัมพันธภาพและอิสรภาพ

สามวันเข้มข้น
13-15 ตุลาคม 2566
9.00 -17.00
ณ วัชรสิทธา เทเวศร์

เข้าร่วมได้ทั้งผู้ที่เคย/ไม่เคยผ่าน Right Speech 1 มาแล้ว

** รับจำนวนจำกัด 25 ท่าน **

ค่าลงทะเบียน 4,950 บาท/ ท่าน

ส่วนลด 10% เหลือ 4,465 บาท สำหรับ Vajrasiddha Club Member และผู้ที่เคยลงเรียน Right Speech 1

หมายเหตุ เรียนในพื้นที่จริง ไม่มีฟังย้อนหลัง

ครั้งนี้ผมอยากชวนผู้สนใจร่วมกันสำรวจและเรียนรู้ในการจะเท่าทันเรื่อง ระดับสังคม อำนาจและความได้เปรียบที่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด มุมมองและความเชื่อของเรา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์และการสื่อสารกับคนรอบตัวอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึงเลยก็ได้

โดยมากความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรมและประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลแต่ละคน ไม่ได้มาจาก “เจตนา” หรือ ความตั้งใจ (ดังนั้นจึงไม่ค่อยรู้ตัว) ที่อาจทำให้เกิด ช่องว่าง ระยะห่าง ความคลุมเคลือ สับสน จนถึงความเครียด เจ็บปวดในความสัมพันธ์ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ระดับชั้นที่เราได้รับจากการศึกษา เชื้อชาติ หรือเพศของเรา แต่ยังรวมถึงระดับที่เราได้รับจากความรู้สึกปลอดภัยและได้รับการดูแล หรือจากการถูกมองว่าดูดี สิ่งที่พึงระวังคือระดับที่เรามี (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) เป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราเป็น กรอบคิด มุมมองที่เรามีและปฏิบัติกับตัวเอง ผู้อื่นและโลก

อำนาจและระดับที่ต่างกันระหว่างบุคคล เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่สามารถมี “สติ” เท่าทันและจัดการให้เหมาะสมเพื่อปรับระดับความได้เปรียบ และใช้อำนาจในการส่งเสริมและสนับสนุนทุกคนให้มีศักดิ์ศรีและคุณค่าอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ได้

ที่น่าสนใจคืออำนาจที่คนหนึ่งมีมากกว่าผู้อื่น ก็อาจเป็นอำนาจเดียวกันที่กดทับบางด้านในตัวเองไว้ด้วย เช่น ถ้าเราเป็นคนใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ความมีเหตุผลเรานอกจากจะมีอำนาจเหนือความรู้สึกของคนอื่นแล้วยังมีอำนาจเหนือกว่าความรู้สึกภายในของตัวเองด้วย ทำให้เกิดความเอียงข้าง ไม่เป็นกลาง เพราะฝั่งความรู้สึกก็มีคุณค่าและความหมายในตัวเองเช่นกัน (External oppression reflects internal suppression)

นอกจากเรื่องอำนาจแล้ว คือเรื่อง “บทบาท” (Roles) เช่น บทผู้นำ ผู้ตาม ผู้กระทำ เหยื่อ เป็นต้น ซึ่งบทบาทเหล่านี้มักเกิดขึ้นแบบทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวเช่นกัน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจนสร้างบรรกาศในความสัมพันธ์หรือในกลุ่ม ซึ่งบทที่แข็งตัวยึดแน่นอย่างไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวแต่แก้ไม่ได้ก็อาจทำให้เกิดการกดทับ ความทุกข์และความเจ็บปวดได้ ในขณะเดียวกันบทบาทเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามบริบทหรือเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ การเรียนรู้ในเรื่องนี้คือการตระหนักรู้ในบทบาทในระดับที่ลึกลงไปว่ามีภารกิจ เป้าหมายหรือคุณค่าอย่างไรต่อบริบทนั้นๆ และสามารถปรับเปลี่ยน ขยับตำแหน่งแห่งที่ได้อย่างมีอิสระมากขึ้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์หรือผลลัพธ์ของกลุ่มที่ดีขึ้น เช่น พ่อแม่ให้อิสระและอำนาจกับลูกได้มากขึ้นในการเป็น “ผู้ดูแล” ตัวเอง เพื่อการเติบโตและอิสรภาพของเขาและตัวพ่อแม่เอง หรือผู้นำที่ส่งเสริมให้เกิดผู้นำในแบบอื่นๆที่ต่างไปจากตนเพื่อให้เกิดระบบที่พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้จะใช้ฐานความรู้จากจิตวิทยาเชิงกระบวนการ (Process Work) ของ ดร.อาร์โนล มินเดล ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในการหลอมรวมเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมจากชนเผ่าพื้นเมือง ภูมิปัญญาตะวันออก (พุทธและเต๋า) และจิตวิทยาเชิงลึกตะวันตกเข้าด้วยกันได้อย่างลึกซึ้งที่สามารถใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่ ด้านการเยียวยาและพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล (personal healing and growth) การจัดการความขัดแย้งระหว่างบุคคล และความขัดแย้งในกลุ่มและสังคม หนังสือเล่มหลักของเขาคือ “นั่งกลางไฟ” (Sitting in the Fire) ที่มาจากการอาศัยไฟในการแผดเผาความคลุมเคลือ อคติและการกดขี่ให้สลายไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความจริงแท้ มิตรภาพและเสรีภาพ

ใครชอบแนวอ๊อฟโร้ด แอ๊ดเวนเจอร์ ก็มาร่วมผจญภัย เผชิญไฟกันครับ!


วิทยากร

ณัฐฬส วังวิญญู

กระบวนกรในการเรียนรู้เติบโตทางจิตวิญญาณเพื่อไปสู่เปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์

ผู้ก่อตั้งสถาบันขวัญแผ่นดิน

วิทยากรประจำวัชรสิทธา

ผู้สอนการภาวนาและข้าม “ขอบ” เขตข้อจำกัดของชีวิตผ่านกระบวนการจิตวิทยาภายในตัวเองและภายในกลุ่ม ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Process Work