Right Speech : ทุกความต้องการมีความรักซ่อนอยู่ในนั้น

บทความโดย พราว

สะท้อนประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรม RIGHT SPEEECH : ภาวนากับการสื่อสารที่จริงแท้กับภาวะภายใน กับ ณัฐฬส วังวิญญู

เป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้วที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม RIGHT SPEECH ที่วัชรสิทธา หลังจากตกตะกอนมาได้สักพัก รู้สึกว่าจิตใจและอารมณ์เริ่มถูกดูดกลับเข้ามาสู่โลกปัจจุบัน ชีวิตแบบเดิม ผู้คนหน้าเดิมๆ แต่เป็นแบบฝึกหัดใหม่ในชีวิตจริง ช่วงเวลาตอนอยู่ในคลาสจนถึงเรียนจบใหม่ๆ รู้สึกถึงความเข้มแข็งในตัวเอง เราดันได้เจอมัน ในตอนที่เราเปราะบางที่สุดซะงั้น เหมือนร่างกายมันเปลือย แต่ก็มีความกล้าที่จะถูกเปลือย

อ.ณัฐฬส และเพื่อนในคลาสทุกคนพาเราไปตะลุยความเซอร์ไพร์ส คว้าน-แคะ-ขุดปมขยุกขยุย ในใจของเรา ออกมากางแผ่ เข้าเครื่องแสกนและนั่งสางมันจนคลี่คลาย อาจเพราะว่าไม่ได้เตรียมใจมา เข้าใจว่ามาเรียนวิธีการพูด การสื่อสาร เน้นจำๆ เอาแล้วนำไปใช้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ที่จดไป ตามมีตามเกิด ปรากฏว่าตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย คลาสเน้นการเรียนแบบเวิร์คช็อปที่เหมือนได้ซ้อมพูดจริง perception เรามันพลิกไปเลย เพราะแทบไม่ได้รู้สึกว่านี่คือการเรียน แต่คือการฝึก มวลรวมในห้อง ทุกคนตั้งใจมาก หวังจะแก้ไขความสัมพันธ์ในชีวิต มันมีความสมจริงอยู่ในนั้น แม้จะเป็นแค่การจับกลุ่ม role play แต่การได้รับฟังเรื่องราวของคนอื่น เห็นความต้องการของเขา ก็ทำให้หัวใจของเราสั่นไหวตลอดสามวัน

ในวันแรก เราได้รับรู้และเปลี่ยนการมอง Non violent communication ใหม่ และพบว่า แน่นอน มันไม่ใช่แค่การพูด แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ อีก ซึ่งพี่ณัฐพาเรากลับไปสู่รากฐานของมัน ที่ว่า

“หาก Right Speech จะเกิดขึ้นได้ มันต้องเกิดมาจาก Right body และ Right mind ด้วย” 

นั่นหมายความว่า เราต้องกลับไปรู้จักตัวเอง ในฐานะผู้พูดและสารที่อยากนำเสนอ ในที่นี้ อาจหมายถึง การตอบรับสิ่งที่ฝืนหัวใจของเรา บางเวลาที่ถูกกดทับในสังคมหรือความเกรงใจ ที่ทำให้ผู้คนไม่ได้มีเวลาคิดกับตัวเองว่า “ฉันรู้สึกอะไร มีความต้องการอย่างไร” นั่นทำให้แม้ปากจะตอบ yes แต่ร่างกายตะโกนออกมาว่า NO เมื่อการแสดงออกมันย้อนศรกันแบบนั้น ก็ไม่แปลกที่บางครั้ง บทสนทนาจะฟังดูไม่จริงใจและบางทีก็บานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง เพราะแม้แต่ตัวเราเอง ก็ยังไม่จริงใจกับตัวเองเลย 

มีองค์ความรู้หลายอย่างที่คล้ายกับแบบฝึกหัดที่นักจิตวิทยาให้เรามาทำในตอนที่มีภาวะซึมเศร้า บางอันเป็นอันที่เราทำได้ บางอันทำไม่ได้ ไม่เข้าใจเลยและเพิ่งมาเข้าใจเพราะคลาสนี้ เช่น

  • Name it, claim it, clear it

    เป็นแบบฝึกหัดที่เราพอทำได้อยู่แล้ว แต่สามารถทำได้ดีขึ้นมาก เมื่อความรู้สึกมันถูก Visualize ออกมาเป็นภาพด้วยชุดไพ่ความรู้สึก มันทำให้เราสามารถบอกได้ทันทีว่า อ่อ อันนี้โคตรใช่เลย หรือ อันนี้ไม่ค่อยนะ ทำให้ไอก้อนๆ ความรู้สึกในหัว จากที่ไม่เข้าใจแล้วยิ่งทุบตีตัวเอง พอไอก้อนนี้มันถูกตั้งชื่อ ทีนี้เราก็รู้แล้วว่า จะจัดการกับมันยังไง ส่วนต่อขยายของคลาสนี้ คือ ให้ลองหาต่อสิว่า ความต้องการไหนที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น จากนั้นยอมรับมัน และสื่อสารมันออกมาโดยไม่ทิ่มแทงใคร ซึ่งตรงนี้ดีมาก เพราะบางทีก็งงว่า เรารู้ทันความรู้สึกแล้วมัน ยังไงต่อนะ?

  • ฝึกสังเกตโดยไม่ใส่ความคิดเห็นหรือตีความ

    แบบฝึกหัดอีกอันเป็นของวันที่ 2 ที่ให้เขียนในสมุดก่อนจะลอง Request ให้ลองแยกแยะระหว่างข้อสังเกต กับการตีความ หรือ เสียงหมาป่า ราวกับว่านั่งดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบกล้องวีดีโอ อันนี้เป็นอันที่เราเคยทำไม่ได้ ไม่เคยเข้าใจเลย อาจเพราะเมื่ออยู่ในสภาวะตอนนั้น มันทำให้แยกแยะไม่ได้ด้วย มองกลับไปตอนนี้แล้วรู้เลยว่า ในหัวของคนป่วย ทุกการตีความคือความจริง มันเลยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าข้อสังเกต และคลาสนี้ทำให้เราเข้าใจมันอย่างถ่องแท้สักที

กลับมาที่แกนหลักของ NVC เราคิดว่ามันคือ self-awareness ล้วนๆ เลย การรู้จักตนเองสักทีว่าความต้องการของเราคืออะไร สิ่งที่เราให้คุณค่าในชีวิตนี้คืออะไร มันมีความหมายอะไรกับเราและมากมายเท่าไหนกัน ขอแค่เรารู้ความต้องการของเรา กำไพ่ใบนั้นเอาไว้ เหลือบมองมันบ้าง เมื่อโกรธ เศร้าหรือมีอะไรมากระทบใจ ถ้าเราทำสิ่งนี้ได้ เราจะเกิดความเข้มแข็งภายในตัวเองและมากพอที่จะโอบอุ้มผู้อื่น หรือกระทั่งให้ผู้อื่นโอบอุ้มเราได้ด้วย ยามที่ไม่มีหรือมีไม่พอ

เมื่อได้เห็นความต้องการไม่ว่าจะของเราหรือเพื่อนคนอื่นๆ มันมีช่วงที่ทำให้คิดต่อว่า ทุกความต้องการ มีความรักซ่อนอยู่ในนั้น อาจปรากฏใน different shape and form ฟังดูคริสเตียนมาก ไม่มั่นใจเหมือนกัน เพราะไม่เคยศึกษา ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์ ก็อาจมองว่าเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมหรือเปล่า จึงมีความต้องการพื้นฐานเหมือนๆ กัน ฟังแล้วก็พอจะเป็น common ground ของมนุษย์ได้ เช่น ความต้องการการรับฟัง ความต้องการการยอมรับ การถูกเห็นค่าหรือแม้แต่อิสรภาพ มันมีความรักซ่อนอยู่ อาจจากตนเองหรือผู้อื่น ที่จะรักอย่างไม่มีเงื่อนไขและมอบสิ่งนั้นๆ ให้แก่กันได้

สุดท้ายแล้ว ทริกเกอร์ที่เราพบเจอ คนที่เราคิดว่า โอ๊ย คนนี้นิสัยไม่ดีเลย …จริงๆ แล้วเขาก็มนุษย์คนหนึ่ง

เขาก็มี needs ที่ผลักให้เขาแสดงออกแบบนั้น แต่เราจะใจดีกับเขาไม่ได้เลย หากเราไม่ aware ในตัวตนของเขาก่อน ไม่รู้ว่าก่อนเข้าคลาสนี้ เราเคยใจร้ายกับใครบ้างทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ คนที่ใกล้ตัวนี่น่าจะหนักสุด เหมือนยิ่งใกล้กันยิ่งขาด awareness เพราะเราคิดตีความไปเองแล้วว่า เขาต้องรักและเข้าใจเรา เก็ทในสิ่งที่เราพูดราวกับอ่านใจกันได้ แต่มันไม่เป็นแบบนั้น

เรายังไม่ค่อยเข้าใจว่า การตระหนักรู้ถึงความต้องการของตัวเอง เมื่อมันถูกพบเห็นแล้ว มันจะเติมเต็มขึ้นมาได้อย่างไร วิธีไหน แต่ก็เชื่อพี่ณัฐว่าแก้วใบนี้จะถูกเติมให้เต็มได้ เดาว่าจากความรัก ความจริงใจที่มีกับตนเอง เราจะลองพิสูจน์ดูในทุกวันต่อจากนี้