เซน & สุขาวดี กับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา 28 ก.ค. 67

Buddhist Studies Electives
เซน & สุขาวดี
เส้นทางแห่งความตื่นที่น้อยนิดและไพศาล
กับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา

อาทิตย์ 28 กรกฎาคม 2567
9.00-17.00 น.
ณ วัชรสิทธา เทเวศร์

ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม
ด้วยการบริจาคท่านละ 1,200-2,500 บาท (ตามกำลัง)

หมายเหตุ เรียนในพื้นที่จริง ไม่มีฟังย้อนหลัง

“เรามักจะหลงโดยสิ้นเชิงอยู่ในความคิดต่างๆ แห่งตัวตนอันเล็ก อันเป็นปัจเจกและแบ่งแยกของเรา ทว่าในแง่ของชีวิตอันเป็นพื้นฐาน ชีวิตที่แผ่ซ่านไปในสรรพสิ่ง เราล้วนได้รับการปกป้องจากประณิธานแห่งพระอมิตาภะพุทธเจ้า เราเชื่อในปณิธานนี้ อีกทั้งกระจ่างชัดและบริสุทธิ์ในพระอมิตาภะพุทธเจ้า เราแสดงความชื่นชมยินดีต่อความกระจ่งชัดและความบริสุทธิ์ในพระอมิตาภะด้วยการอุทิศตัวเราแก่การสวดเนมบุทซึ ทัศนะดังเช่นนี้ แท้จริงแล้วเหมือนกันอย่างยิ่งกับทัศนะแห่งการนั่งซาเซน”

– พระอาจารย์ โกโช อุชิยะมะ แห่งพุทธศาสนานิกายเซน


บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำกล่าวว่า เซนเป็นมรรควิธีของผู้มีปัญญา สุขาวดีเป็นมรรควิธีของผู้เบาปัญญา อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์แห่งพุทธศาสนา มีคณาจารย์ฝ่ายเซนหลายท่านทั้งในจีนและญี่ปุ่นที่สรรเสริญการปฏิบัติแบบสุขาวดี อีกทั้งยังมีคณาจารย์เซนหลายท่านที่มีสถานะเป็นสังฆนายกแห่งฝ่ายสุขาวดีด้วย

วิถีของเซนคือการปฏิบัติที่ “เน้นการภาวนาเฉพาะตน” ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิ การนั่ง ชาเซน การขบปริศนาธรรม โดยที่การปฏิบัติภาวนาในแนวทางนี้อาจจะถูกครหาไปต่างๆ นานาว่า “เซนปฏิเสธคัมภีร์” ซึ่งในแง่หนึ่งก็จริง เพราะเซนเน้นการปฏิบัติที่ทำงานโดยตรงกับจิตใจ โดยที่ไม่ยึดติดกับตัวคัมภีร์ แต่ขณะเดียวกันอาจารย์เซนทั้งหลายก็เขียนคัมภีร์ออกมาจำนวนมาก

ส่วนสุขาวดีจะมีมิติมุมมองที่ต่างไป โดยไม่เน้นการปฏิบัติด้วยตัวเอง ซึ่งสุขาวดีเรียกวิถีของตัวเองว่า “การใช้อำนาจอื่น” และเรียกเซนว่า “การใช้อำนาจตัวเอง” ความหมายคือสุขาวดีใช้อำนาจของพระอมิตาภะในการนำผู้ปฏิบัติสู่ความหลุดพ้น

เมื่อดูอย่างผิวเผิน วิธีการของทั้งสองนิกายอาจดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าหากลงลึกไปในเนื้อแท้จริงๆ ทั้งสองนิกายนี้แทบจะพูดถึงสิ่งเดียวกันแต่สื่อสารคนละแบบ ขณะที่เซนบอกว่าเราปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธะที่มีอยู่แล้วในตัวเอง สุขาวดีก็กล่าวถึงการสวดนามพระอมิตาภะว่าไม่ใช่การร้องขอวิงวอนเพื่อให้ท่านรับเราเข้าไปในดินแดนสุขาวดี แต่เราสวดเพราะว่าท่านต้อนรับเราอยู่แล้ว

ทั้งสองนิกายนี้กล่าวถึงสิ่งที่ “เป็นและมีอยู่แล้ว” เหมือนกัน เพียงพูดคนละแบบ เซ็นและสุขาวดีจึงเป็นคล้ายสองด้านของเหรียญเดียวกัน เป็นเดินทางที่อาจจะแตกต่าง แต่ไปถึงจุดหมายที่เดียวกัน


วิทยากร
อ.ดอน ศุภโชค

มีความสนใจด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เชื่อมโยงกับศาสนาต่างๆ ตลอดจนความเชื่อและความคิดของผู้คน มีความสนใจในพุทธศาสนาหลายสายปฏิบัติ รวมถึงพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบต ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนั้นยังเป็นแอดมินและคนวาดการ์ตูนเพจ Zen Smile, Zen Wisdom