“โคตรเซน” : พลิกเปลี่ยนมุมมองสู่พุทธะภายในตน

บทความโดย ธัญญา ศรีธัญญา (aka. THANYA วัชรสิทธา)


คลาสเรียนเซนเริ่มต้นชั้นเรียนด้วยการที่อาจารย์ผู้สอนบอกกับทุกคนตรงๆ ว่า “ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาสอนดี เพราะเซนนั้นเรียบง่ายและประหยัดคำพูดมาก หากเป็นอาจารย์เซนเก่งๆ ก็คงเปิดประตูเข้ามาในห้อง ทักทาย แล้วก็เดินออก จบ!”

หนึ่งวันกับห้องเรียน “เซน & สุขาวดี” สอนโดย อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา ห้องเรียนศาสนธรรมที่จัดขึ้น ณ วัชรสิทธา เป็นบรรยากาศของการพูดคุยธรรมะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์อย่างเปิดกว้าง อ.ดอนผู้ศึกษานิกายมหายานทั้งสองนี้มาอย่างยาวนาน ได้มาเล่าถึงประวัติศาสตร์ ที่มา และหลักธรรมคำสอนให้พวกเราฟังแบบสบายๆ เป็นกันเอง ทำให้วันนั้นเป็นวันง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง สมเป็นการนำเสนอคำสอนเซนและสุขาวดีจริงๆ

แม้จะเป็นธรรมะแบบไม่พูดพร่ำทำเพลงกันมาก แต่ก็มีเรื่องราวอยากมาแบ่งปัน ให้ทุกคนเหมือนได้มานั่งอยู่ด้วยกัน

เซน

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับภาพศิลปะ หนังสือธรรมะแบบเซน ความเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้คนจดจำเซนทั้งในแง่คำสอนที่กระชับสั้น สไตล์มินิมอล อารมณ์ สวนเซน แต่งบ้านสไตล์เซน  เห็นอะไรเรียบๆ โล่งๆ ก็ โอ้โห.. นี่มันโคตรเซนเลย

เซนเป็นนิกายหนึ่งในพุทธมหายาน เริ่มต้นจากจีน ในลักษณะของสำนัก (School) และไปเติบโตที่ญี่ปุ่น จนกลายเป็นนิกายหลักนิกายหนึ่งของประเทศ

“เราไม่ได้นั่งเพื่อบรรลุธรรม แต่เพราะเราบรรลุธรรมอยู่แล้ว เราจึงนั่ง”

ความเรียบง่ายของเซน เริ่มต้นจากการพลิกมุมมองของผู้ปฏิบัติ ว่าทุกคนคือพุทธะอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องพยายามเพื่อบรรลุอะไร แต่จงปฏิบัติเพื่อปฏิบัติ จงนั่งเพื่อนั่ง และมองให้เห็นถึงธรรมชาติเดิมแท้ที่เป็นพุทธะ

วิถีของเซนนั้นพลิกมุมมอง และท้าทายระบบคิดเดิมของชาวพุทธเป็นอย่างมาก อ.ดอนเล่าเรื่องราวสมัยยุคเริ่มต้น มีนักบวชชาวอินเดียเดินทางเข้าไปที่จีน พวกเขาพบกับกษัตริย์ชาวพุทธใจใหญ่ ชอบทำบุญ สนับสนุนพระและนักบวชเพื่อจะได้สะสมแต้มบุญ เพิ่มบารมี พอได้ข่าวการมาถึงของนักบวชอินเดียท่านนั้น ก็รีบมาต้อนรับดูแลอย่างดี และถามว่าเขาจะได้บุญมากไหม

นักบวชก็ตอบตามตรงสไตล์เซนว่า “ไม่เลย ไม่ได้อะไรเลย การทำบุญหรือปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้ทำไปเพื่อได้อะไรเลย”

ได้ยิน กษัตริย์องค์นั้นก็ช็อค ไล่นักบวชออกไปจากวังทันที

การพลิกมุมมองของเซนนั้นเปลี่ยนท่าทีของผู้ปฏิบัติในการสัมพันธ์กับการตื่นรู้โดยสิ้นเชิง ขอย้ำอีกครั้ง เพราะเราเป็นพุทธะอยู่แล้ว เราจึงปฏิบัติ แม้แต่ซาโตริ หรือการตื่นรู้ เห็นแจ้ง อาจารย์เซนก็ไม่เอาพูดมาก เพราะมันไม่ใช่เป้าหมาย เมื่อเราเป็นความตื่นอยู่แล้ว เป้าหมายจึงไม่เคยอยู่นอกเส้นทางเลย

อ.ดอนเล่าถึงลักษณะเด่นของเซนสี่ข้อ

  1. ไม่ยึดติดในคัมภีร์ใดๆ คัมภีร์ไม่ใช่สารณะ เป็นเพียงอุปกรณ์ นักบวชเซนจึงไม่ท่องคัมภีร์แบบที่อื่นๆ
  2. ไม่ยึดติดในถ้อยคำ เพราะภาษามีข้อจำกัด ภาษาและถ้อยคำเป็นดั่งนิ้วที่ชี้ไปดวงจันทร์ แต่ไม่ใช่ดวงจันทร์ ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นอาจารย์เซนหลายคนพูดไม่รู้เรื่อง ถามอย่างตอบอย่าง ถามอย่างเดียวกันตอบคนละอย่าง สาระสำคัญก็คือเพื่อจะทำให้กลับมาสู่ปัจจุบันขณะเท่านั้น
  3. เป็นการถ่ายทอดแบบจิตสู่จิต ไม่เดินทางอ้อมไปไหนๆ เราจึงมักเห็นธรรมของเซนที่เรียบง่าย หมดจด ไปพ้นจากความคิด
  4. มองให้เห็นธรรมชาติเดิมแท้ เพื่อที่จะเห็นพุทธภาวะ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติเซนคือมองให้เห็นธรรมชาติเดิมแท้ ตื่นกลับมา ณ ปัจจุบันขณะ

เหมือนกับแสงอาทิตย์ เราอยู่ในบ้าน ได้ยินเรื่องเล่าถึงแสงว่าเป็นยังไง เราก็เชื่อ แต่ไม่เคยออกไปดูเอง ก็ไม่มีวันจะรู้ได้ว่าแสงที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แสงอาทิตย์นั้นก็รออยู่นอกบ้านอยู่แล้วตลอดเวลา รอแค่ให้เราออกไปดู


ซาเซน : นั่งเพื่อนั่ง

อย่างที่กล่าวไป การนั่งแบบเซนคือ เพราะเราเป็นพุทธะ เราจึงนั่ง การนั่งซาเซน จึงเป็นการนั่งเพื่อนั่ง ถอดถอนออกจากทุกความอยาก อยากบรรลุ อยากสงบฯ  แล้วนั่งอยู่กับพุทธภาวะ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไป โดยไม่พยายามทำอะไร

อ.ดอนเล่าว่า เคยมีคนบ่นว่านั่งแล้วความคิดมันเกิดขึ้นตลอดเลย  อาจารย์เซนก็ตอบว่า ดีสิ เวลาทำอะไรต่างๆ เรามักไม่เห็นความคิด พอมานั่งจึงได้เห็นและอยู่กับมันตรงๆ ในเวลานั้น

หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือการปฏิบัติ ไม่ต้องพยายามมองให้เห็นอะไร วิธีการชี้ให้เห็นเป็นหน้าที่ของครู ที่จะใช้อุปายะต่างๆ ให้ผู้ปฏิบัติตื่นขึ้นในชั่วขณะ ซึ่งต้องทำอย่างแยบยล เซนเป็นสายธรรมที่เน้นเรื่องการสืบทอด ผู้ที่จะถ่ายทอดคำสอนเซนต้องได้รับการอภิเษกจากอาจารย์ที่สืบสายกันมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประเพณีที่เข้มแข็งและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่นอีกข้อของเซนคือ เป็นวิถีที่มีผู้ปฏิบัติที่ไม่ใช่ชาวพุทธนำไปฝึกมากมาย ด้วยความที่ไม่อิงตำรา ไม่อาศัยศรัทธา และไม่ต้องพึ่งองค์กรศาสนา ดังนั้นจึงมีผู้สืบทอดที่เป็นชาวต่างชาติ หรือแม้แต่บาทหลวงก็สามารถเป็นครูเซนได้

หากให้อธิบาย เซนเหมือนเป็นการปฏิบัติหินยาน ที่เน้นทำงานกับตนเอง สู่  Self-Liberation และบวกด้วยอุดมการณ์มหายาน หรืออุดมการณ์โพธิสัตว์ ที่จะช่วยให้ทุกคนหลุดพ้นไปด้วยกันทั้งหมด

โคตรเซน!

พอได้มารู้จักเซนจากชั้นเรียนนี้ ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของมหายาน ตอกย้ำความหมายของความว่างอันอุดมไปด้วยปัญญาญาณและความเป็นไปได้อันมหาศาล

วิถีแห่งเซนเข้ามาเปิดมุมมองใหม่ในการที่จะสัมพันธ์กับพุทธภาวะ และมาท้าทายความเป็นนักเรียนสายหัว ยอดนักใช้ความคิดขึ้นไปอีกระดับ บางจังหวะก็เคลิ้มไหลไปตามบรรยากาศของความง่ายๆ สบายๆ ของชั้นเรียน จินตนาการเห็นภาพ อ.ดอน ถอนใจและพูดว่า ‘โคตรเซน’

หนึ่งวันกับการได้แง้มบานประตูดูวิถีแห่งเซน ให้ความรู้สึกเหมือนลงเรียนวิชาเจนเอด ได้สัมผัสกับความง่ายดายอันกว้างใหญ่ วิเศษและธรรมดาไปพร้อมๆ กัน เหมือนต้นโพธิ์ขึ้นตามซอกถนน ขอบสะพาน หรือรอยแตกกำแพง จะว่าพิเศษก็พิเศษ จะว่าปกติทั่วไปก็ได้ เหมือนพุทธะในตัวเรา จะว่าพิเศษ ยิ่งใหญ่ และสว่างไสวก็ถูก จะว่าธรรมดา หรือโคตรธรรมดา ก็ถูกอีก

ชีวิตแม่ง… โคตรเซน