ใจ-กรุณา : ความหมายที่แท้จริงของความกรุณา

บทความโดย อัญชลี คุรุธัช


จาก ปาฐกถา Avalokita Talk #3  “ขวากหนามของความกรุณา” กับ อัญชลี คุรุธัช

คำว่า “ความกรุณา” เป็นคำที่ใช้กันจนเคยชินในสังคมพุทธ เราต่างก็เคยได้ยินและใช้คำนี้กันบ่อยๆ จนเป็นอัตโนมัติ บ่อยครั้งคำนี้ถูกใช้ในการชื่นชมคนอื่น เช่น คนคนนี้เป็นคนมีเมตตากรุณา แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกใช้ในการตำหนิผู้อื่นด้วยเช่นกัน เช่น คนคนนี้ไม่มีเมตตากรุณา ดังนั้นคำว่า “เมตตา-กรุณา” จึงได้กลายเป็นมาตรวัดอย่างหนึ่งของความเป็น คนดี ในสังคมไปโดยปริยาย

และเมื่อคนดีไม่ถูกตั้งคำถาม ความหมายที่แท้จริงของความกรุณาก็ไม่เคยได้ถูกตั้งคำถามด้วย จนบ่อยครั้งที่เราไม่รู้จริงๆ ว่า ความกรุณาคืออะไร? และมีความสำคัญต่อเราและต่อสังคมที่เราอยู่อย่างไร?

“โดยส่วนตัวมองว่าความเมตตา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข) เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าความกรุณา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์)

ความกรุณามันยากกว่าเพราะมันมีคำว่าความทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เวลาเราพูดถึงความทุกข์ มันฟังดูหนักกว่าการทำให้ผู้อื่นมีความสุข”

อัญชลี คุรุธัช

หากลองหลับตาลง แล้วนึกถึงคำว่า “ความกรุณา” อาจจะมีอะไรบางอย่างผุดขึ้นมาในใจ อาจเป็นหน้าใครบางคน เป็นภาพหรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง อย่างไรก็ดีเมื่อสิ่งนั้นผุดขึ้นมา มันเข้ามาอยู่ที่หัวของเรา หรือมันเชื่อมโยงมาที่หัวใจของเราด้วย?

เพม่า โชดรัน ได้พูดถึงความกรุณาไว้ว่า..

“ความกรุณาไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เยียวยากับผู้บาดเจ็บ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่เท่าเทียมกัน และตราบใดที่เรายังไม่เห็นคนอีกคนเป็นมนุษย์เท่ากับเรา เราก็จะยังไม่สามารถที่จะมีความกรุณาที่แท้ได้”

เพม่า โชดรัน

องค์ทะไลลามะเคยกล่าวเกี่ยวกับความกรุณาไว้ว่า..

“ความกรุณาไม่ใช่เรื่องของศาสนา มันเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ไม่ใช่ความหรูหรา แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสันติภาพในใจของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราต้องมีเพื่อความอยู่รอด ความกรุณาที่แท้ไม่ใช่แค่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ แต่เป็นความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ซึ่งมีรากอยู่บนเหตุผล โดยธรรมชาติของความกรุณานั้นเป็นอะไรที่อ่อนโยน อ่อนนุ่ม สงบสุข แต่ทว่ามีพลังมาก และความกรุณาเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย”

องค์ทะไลลามะ

นอกจากนี้ยังมีประโยคของท่านที่ถูกนำมาพูดถึงบ่อยๆ นั่นคือ..

“ถ้าหากต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จงฝึกฝนความกรุณา แต่ถ้าต้องการให้ตัวเองมีความสุข ก็ต้องฝึกฝนความกรุณาด้วยเช่นกัน”

องค์ทะไลลามะ

มีเรื่องเล่าของลามะชรารูปหนึ่งที่ถูกจับและถูกคุมขังโดยรัฐบาลจีน เมื่อท่านได้ถูกช่วยออกออกมาได้ ลามะรูปนั้นได้เดินทางไปเฝ้าองค์ทะไลลามะที่อินเดีย ระหว่างการพบปะพูดคุยกัน ลามะชราได้เล่าประสบการณ์ตอนอยู่ในคุก ประสบการณ์ที่พบต้องกับความโดดเดี่ยว ความหิวโหย การถูกทุบตี ความเจ็บปวดทรมาน

ช่วงหนึ่งของการสนทนา องค์ทะไลลามะได้ถามลามะชรารูปนั้นว่า “มีช่วงเวลาไหนบ้างที่ท่านรู้สึกว่าชีวิตของท่านตกอยู่ในอันตราย?”

ลามะชราตอบว่า “มีตอนเดียวที่อาตมารู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายจริงๆ ก็คือตอนที่อาตมารู้สึกว่าตนเองกำลังสูญเสียความกรุณาที่มีต่อผู้คุม”

ดังเช่นที่ทะไลลามะกล่าวเสมอว่า

“แม้ว่าผู้อื่นจะผิดไปจากที่เราคาดหวัง เราอาจจะถูกทำร้าย หรือประสบกับสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ หากเรามีความกรุณาที่แท้ ทัศนคติของเราจะไม่เปลี่ยนไป ความกรุณาที่แท้จะยังอยู่ตรงนั้นเสมอไม่เปลี่ยนไป”

องค์ทะไลลามะ

เมื่อได้ยินอะไรอย่างนี้ก็ยิ่งทำให้ทำให้รู้สึกว่า ความกรุณาช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยิ่งเมื่อหันมามองดูโลกในปัจจุบันนี้ที่เต็มไปด้วยความทุกข์อยู่มากมาย ราวกับว่าตอนนี้สังคมต้องการนักรบทางจิตวิญญาณให้ก้าวขึ้นมาเพื่อแบ่งเบา ปัดเป่าความทุกข์ทั้งหลายในโลก และเชื่อว่ามีหลายท่านที่ปรารถนาจะก้าวเข้าไปตรงนั้น  ปรารถนาว่าสักวันหนึ่งเราอาจจะพัฒนาจิตใจของเรา พัฒนาตัวของเราให้เป็นผู้ที่มีความกรุณาได้

…จากใจที่เปิดกว้างของเรา