ภพ 6 :  สภาวะจิตที่ “กลายร่าง” ไปในภพภูมิต่างๆ 

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

“ระวังเถอะ ตายแล้วชาติหน้าจะเกิดเป็นเปรต”

“ถ้าทำกรรมดี ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์”

เราได้ยินเรื่องภพภูมิในสังคมไทยกันมาจนชิน ตามความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามคติพุทธ แม้ชาตินี้จะเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าชาติหน้าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีก เรามีโอกาสจะไปเกิดในภพภูมิอื่นที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็น สวรรค์  อสูร นรก เปรต เดรัจฉาน แล้วแต่ว่าในชาตินี้ได้สร้างกรรมดีหรือกรรมชั่ว ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะไปเกิดครั้งต่อไปที่ไหน

ภาพของภพภูมิทั้งหกปรากฏอยู่ในวงล้อปฏิจจสมุปบาท ที่พวกเราเพิ่งได้เรียนกันไปในชั้นเรียน First turning of the Wheel of Dharma ห้องเรียนพุทธศาสน์ร่วมสมัย สอนโดย วิจักขณ์ พานิช เนื้อหาในคลาสเป็นคำสอนจากการหมุนกงล้อพระธรรมครั้งที่หนึ่ง หรือ “คำสอนหินยาน” จากทัศนะไตรยานของพุทธธิเบต อันประกอบด้วยคำสอนอภิธรรม อริยสัจสี่ ข้อเตือนใจสี่ประการ ขันธ์ห้า อนัตตา และปฏิจจสมุปบาท

คำสอนภพภูมิปรากฏในข้อเตือนใจสี่ประการข้อสุดท้าย “ข้อเตือนใจข้อที่สี่: ความว่ายวนของสังสารวัฏ” ที่เตือนให้เราตระหนักถึงการหมุนวนไม่มีสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด และไม่มีสิ่งภายนอกใดเลยที่จะตอบสนองความต้องการของเราได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง ฯลฯ ตราบใดที่เรายังอยู่ในวังวนนี้ อย่างเดียวที่การันตีได้คือความทุกข์ 

กรรมและแรงขับของสังสารวัฏจะพาให้เราตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ต่อไปเรื่อยๆ วนเวียนอยู่ในภพภูมิต่างๆ หากทำดีในชาตินี้ ก็อาจได้ไปเกิดในภพที่สูงขึ้นในชาติหน้า หากทำชั่ว ก็ไปเกิดในภพที่ต่ำลง เราจำเป็นต้องไปเกิดเพื่อรับผลกรรมของตัวเอง จนกว่าจะเกิดความเข้าใจในการหลุดพ้นและการคลี่คลายกรรม จนไม่เหลือพลังงานที่จะผลักให้เวียนว่ายต่อ นั่นจึงจะสามารถทำให้เราหลุดออกจากสังสารวัฏได้

“ตามคำสอนของพุทธทิเบต สังสารวัฏประกอบไปด้วยภพภูมิ 6 ประเภท หรือที่เรียกว่า “ภพ 6” โดยมีภพเบื้องล่างสามภพคือ นรกภูมิ เปรตภูมิ และเดรัจฉานภูมิ ภพเบื้องบนสามภพ คือ มนุษยภูมิ อสุรกายภูมิ และเทวภูมิ” 

นอกจากในข้อเตือนใจข้อที่สี่ “ภพ” ยังปรากฎเป็นหนึ่งในนิทาน 12 ของวงล้อปฏิจจสมุปบาท ช่องที่ 10 ซึ่งอธิบายอย่างเร็วๆ ได้ว่าเป็นช่องสุดท้ายของนิทานในชาติปัจจุบัน ที่ทั้งเป็นเหตุที่จะส่งผลให้เราไปเกิดในชาติหน้า และเป็นผลของการกระทำต่างๆ ในชาตินี้ ในหนังสือ Indestructible Truth อ.เรจินัลด์ เรย์ ใช้คำภาษาอังกฤษ ภพ ว่า “Becoming” หรือ “การเป็น” ซึ่งหมายถึง พัฒนาการของอัตตาที่มาถึงจุดสูงสุด จากความยึดมั่นถือมั่น ความคิดว่ามีตัวคน จนกลายร่างมาเป็นภพ เป็น display ของตัวตน ที่แข็งทื่อที่สุด สมจริงที่สุด 

ซึ่ง “ภพ” ในฐานะนิทานที่ 10 ของวงล้อปฏิจจสมุปบาท มีความเกี่ยวข้องกับการอธิบายภพภูมิในลักษณะที่เรากำลังจะพูดถึงกันต่อไป 

ความน่าสนใจของคำสอนเรื่องภพภูมิ เกิดขึ้นเมื่อพุทธธรรมธิเบตเดินทางไปสู่โลกตะวันตก คำสอนหลายอย่างถูกตีความหมายในเชิงประสบการณ์และเชิงจิตวิทยามากขึ้น เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ธรรมาจารย์ผู้ที่ได้หลอมละลายตัวเองเข้ากับโลกตะวันตกอย่างหมดจด ได้ให้คำสอนเรื่องภพภูมิในลักษณะใหม่ ท่านมองว่าภพภูมิทั้งหก คือ สภาวะจิต (State of mind) หรือแบบแผนร่องนิสัย (Habitual Pattern) ที่แตกต่างกันหกประเภท นั่นหมายความว่าภพภูมิไม่ใช่แค่อธิบายว่าเป็น “ภพ” ที่เราจะไปเกิด แต่เป็นสภาวะที่ปัจเจกแต่ละคนเผชิญและ “กลายร่าง” ไปเป็นในชีวิตนี้เลย

“…ในขณะที่เขายืนยันความจริงที่เป็นภววิสัยของแต่ละคน ด้วยการนำเสนอแก่นักเรียนว่าหลักการคือประสบการณ์ของสภาวะจิตที่ถูกครอบงำแตกต่างกันในแต่ละประเภทของผู้คน ภพ 6 จึงกลายมาเป็นรูปแบบของมนุษย์หกประเภทที่แตกต่างกัน แต่ละแบบประกอบสร้างขึ้นมาจากหลักจิตวิทยาของภพหนึ่ง ไม่ก็อีกภพหนึ่ง สำหรับตรุงปะแล้ว วิธีที่จะสื่อสารเรื่องความบกพร่องของสังสารวัฏคือชี้ให้เห็นถึงความบ้าคลั่ง ความซ้ำซาก และการยึดติดกับตัวเองอย่างถึงที่สุด” 

เชอเกียม ตรุงปะ ให้คำอธิบายลักษณะของทั้ง ภพ 6 ที่เป็นนิสัยของคนหกประเภทที่แตกต่างกันดังนี้

เทวภูมิ – หลงละเมอในภาพมายา 

ลักษณะนิสัยแบบเทวภูมิคือการหลงและหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ยึดติดอยู่กับความสะดวกสบายทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ตรุงปะอธิบายว่า นี่เป็นลักษณะของคนที่มัวเมาอยู่ในวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ (Spiritual Materialism) ใช้การภาวนามาทำให้ตัวเอง “สูงส่งขึ้น” ทำให้ตัวตนชัดเจนแข็งทื่อขึ้น มีจุดอ้างอิงที่ตายตัว แทนที่จะเปิดกว้างและลื่นไหลไปกับสถานการณ์ 

ในทางโลกก็เช่นกัน คนที่อยู่ในเทวภูมิจะไขว่คว้าหาสิ่งที่จะมาสร้างความพึงพอใจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง หน้าตา สุขภาพ ฯลฯ พวกเขาจะถูกจูงไปมาด้วยสิ่งน่าปรารถนาเหล่านั้น ที่เฝ้าฝันว่าจะมาปรนเปรออัตตา แล้วสุดท้ายก็ติดอยู่ในภาพมายา โดยมองไม่เห็นว่าตัวเองว่ากำลังอยู่ในนั้น

“เทวภูมิไม่ได้เป็นทุกข์ในตัวมันเอง ในท้ายที่สุดแล้วความทุกข์นั้นมาจากความท้อแท้และความหดหู่ เธอคิดว่าเธอได้รับความสุข สภาวะแห่งความปีติไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางจิตวิญญาณ เธอได้พักพิงอยู่ในนั้น แต่ทันใดนั้น อะไรบางอย่างเขย่าเธอ และเธอก็ตระหนักว่าสิ่งที่ได้มาเหล่านั้นไม่มีทางจะอยู่กับเธอตลอดไป” 

อสุรกายภูมิ – อิจฉาริษยาและหวาดระแวง 

ในภาษาอังกฤษคำว่า อสูร คือ “jealous god” หรือเทพแห่งความอิจฉาริษยา ตรุงปะอธิบายว่าจิตที่โดนภพนี้ยึดครอง คือความหวาดระแวง “ถ้าเธอพยายามจะช่วยคนที่มีจิตใจแบบอสุรกายภูมิ พวกเขาจะตีความไปว่าเธอกำลังจะมากดขี่ หรือแทรกซึมเข้ามาในอาณาเขตของพวกเขา แต่ถ้าเธอเลือกจะไม่ช่วย เขาก็จะตีความเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ไม่มาลำบากกับพวกเขา ถ้าเธอเสนอทั้งสองทางเลือกให้แก่พวกเขา เขาก็จะคิดไปว่าเธอกำลังเล่นเกมกับพวกเขาอยู่”

จิตแบบอสุรกายภูมิจะคิดเปรียบเทียบ เพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยของขอบเขตตัวตน พวกเขามีจุดอ้างอิงที่ชัดเจนเพื่อกำหนดว่าจะทำอะไร เพื่อกำหนดสิ่งที่เป็นฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นมาตรวัดความก้าวหน้า คนพวกนี้ฉลาด พวกเขาจะแยกขาดตัวเองออกจากทุกสิ่ง ชีวิตกลายเป็นเกมแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม ฉันกับพวกเขา ฉันกับเพื่อนของฉัน ฉันกับตัวฉันเอง 

ผู้ที่อยู่ในภพภูมินี้จะไม่รับสัญญาณจากสถานการณ์หรือโลกภายนอก พวกเขาหวาดระแวงและแยกขาดตัวเองออกมา พวกเขาจะเมินสิ่งเหล่านั้น และไม่ยอมรับอะไรสักอย่าง เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นศัตรู

มนุษยภูมิ – ขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาและความทุกข์

สภาวะจิตของภพมนุษย์นั้นถูกปกครองด้วยความปรารถนา เป็นความเฉลียวฉลาดที่มีความคิดในทางตรรกะเพื่อจะหาหรือสร้างความสุข แต่ด้วยความเป็นตัวตน วัตถุทางความสุขจึงเป็นสิ่งภายนอก ทำให้เกิดความคิดของความยากจนและขาดแคลนเข้ามาพร้อมๆ กัน 

“เธอรู้สึกว่าสิ่งที่น่ารื่นรมย์เท่านั้นที่จะสามารถให้ความสุขและความสบายแก่เธอได้ แต่ก็รู้สึกว่ามันไม่พอ และไม่มีกำลังที่จะดึงดูดสิ่งเหล่านั้นเข้ามาหาเธออย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าอย่างไรเธอก็พยายามที่จะลากมันเข้ามา ซึ่งมักจะนำไปสู่ความคิดวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น เธอต้องการสถานการณ์ที่ดีที่สุด น่าพึงพอใจที่สุด ดีที่สุด”

ความแตกต่างจากอสุรภูมิคือ ความฉลาดกว่าและการช่างเลือกสรร พวกเขาเต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในคิดและเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันจิตก็จะสนั่นไปด้วยเสียงของความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดแบบมนุษย์จะสร้างสิ่งที่เป็น “สไตล์” ของตัวเองขึ้นมา ชื่นชมคนที่ใกล้เคียงกับตัวเอง ปฏิเสธคนที่ไม่ใช่ออกไป พวกเขามีความทะเยอทะยานที่จะไปสู่อุดมคติที่สูงกว่า เช่น บุคคลในประวัติศาสตร์ หรือสร้างพระเยซูหรือพระพุทธเจ้าขึ้นมา และในพร้อมๆ กันนั้น ก็เต็มไปด้วยความทุกข์และความขาดแคลน

เดรัจฉานภูมิ – มองไม่เห็นภาพสะท้อนตัวเอง

คนที่อยู่ในเดรัจฉานภูมิจะมองไม่เห็นตัวเอง ในระดับง่ายๆ ของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การกิน การเดิน การพูด พวกเขาจะตกใจมากเวลาใครถ่ายสิ่งที่พวกเขาทำไว้แล้วเอามาให้ดู พวกเขาจะมีความมืดบอด และความตื้นเขินที่เกิดจากความไม่มีปัญญา “สภาวะจิตแบบเดรัจฉานจะมองตรงไปข้างหน้า ราวกับใส่ที่บังตา พวกเขาจะไม่หันซ้ายหันขวา แต่จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างจริงจังที่สุด พยายามจะไปให้ถึงสถานการณ์ถัดไป และพยายามจะจัดการสถานการณ์ให้เข้าร่องกับความคาดหวังที่ตั้งไว้”

ในภพนี้จะเต็มไปด้วยความจริงจัง แม้แต่การเล่นมุกตลกก็จะถูกทำให้กลายเป็นความจริงจังไปด้วย พวกเขาอาจจะพยายามพูดตลก หรือทำตัวเป็นมิตร แต่มันจะขาดเซ้นส์ของความตลกที่ละเอียดอ่อนไป พวกเขาจะเผชิญโลกด้วยความดื้อดึง เหมือนถังน้ำที่กลิ้งไปเรื่อยๆ ไม่สนว่าจะโดนอะไรบ้าง แค่กลิ้งไปข้างหน้าอย่างนั้น

เปรตภูมิ – หิวโหยอย่างไม่สิ้นสุด

“ในธรรมเนียมปฏิบัติ จิตยากจนถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ของเปรต มันมีปากเล็กเท่ารูเข็ม คอผอมและยาว แขนขาผอมๆ และท้องใหญ่โต ปากกับคอของมันเล็กเกินกว่าจะส่งอาหารที่เพียงพอไปยังท้องอันใหญ่โตนั้นได้ มันเลยหิวอยู่ตลอดเวลา”

สภาวะจิตของภพภูมิเปรตเป็นความยากจนที่หิวโหย ต้องการชื่อเสียง มิตรภาพ ความมั่งคั่ง เสื้อผ้า เซ็กส์ อำนาจ หรืออะไรก็ตามที่จะอยากได้อยากมี ทุกอย่างที่ปรากฏในชีวิตล้วนเป็นสิ่งที่จะบริโภคเข้าไป อาหาร ขนม แม้แต่ความสุนทรียะของชีวิตพวกเขาก็พยายามจะตักตวงมันเข้าไปเก็บไว้กับตัวเอง พอสิ่งที่มีมันเริ่มซ้ำเดิมน่าเบื่อหน่าย พวกเขาก็จะหาอะไรใหม่ๆ เพื่อบริโภคเข้าไปอีก 

กระทั่งสามารถเติมเต็มความหิวโหยได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง พวกเขาจะเกิดความรู้สึกหนักอึ้งและกระสับกระส่าย ไม่สามารถจะชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ในมือได้ พวกเขาอยากที่จะหิวอีกครั้งเพื่อที่จะหาอะไรกินเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็นการเสพ หรือการอยู่กับสิ่งที่ได้รับมา ทั้งสองทางล้วนนำพามาซึ่งความน่าหงุดหงิดใจ

นรกภูมิ – กลางไฟแห่งความโกรธ

สภาวะนี้ถูกปกครองด้วยความโกรธและความก้าวร้าว ราวกับอยู่ในดินแดนที่พื้นและท้องฟ้าลุกเป็นไฟอยู่ตลอดเวลา จนถึงจุดที่ไม่รู้แล้วว่าความร้อนนี้มาจากข้างนอกหรือข้างใน บางครั้งแม้ว่าจะสามารถทำให้ข้างในเย็นลงได้ สภาพแวดล้อมก็จะเผาให้ร้อนขึ้นมาอีก 

ความรู้สึกของคนที่อยู่ในจิตของภพภูมินรกจะรู้สึกคับแคบ ไม่มีที่จะหายใจ ไม่มีที่ให้ขยับ และรู้สึกท่วมท้นกับชีวิตจนจะทนไม่ไหว ความโกรธข้างในนั้นมากจนอยากที่จะลงมือฆ่าอะไรสักอย่างเพื่อทำให้ความรู้สึกนั้นเบาบางลงบ้าง แม้กระทั่งฆ่าตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามผู้ฆ่าคนนั้นก็จะไม่หายไป ไม่มีวันหมดสิ้นความรู้สึกเกรี้ยวกราดอยากทำลาย

ชีวิตในภพนี้จะเป็นเหมือนการเล่นเกม คล้ายๆ กับในภพอสูร พวกเขาแยกขาดจากสิ่งอื่นและตอบโต้ต่อผู้คนและสถานการณ์ด้วยความก้าวร้าว และถ้าหากไม่ได้รับการโต้ตอบจากสิ่งอื่น ก็จะสู้สับตัวเอง พวกเขาไม่ได้สู้เพื่อความบันเทิง แต่เพราะรู้สึกไม่ได้รับการปกป้อง เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกไม่ปลอดภัย พวกเขาจะเย็นและเยือกแข็ง ดังนั้นจึงต้องรักษาไฟความก้าวร้าวให้เผาไหม้อยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาตัวตนนี้ไว้ และเล่นอยู่ในเกมนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด




นี่คือสภาวะของทั้งหกภพในชีวิตนี้ ซึ่งเราแต่ละคนสามารถเข้าไปติดอยู่ในภพไหนก็ได้ ขึ้นกับว่าการกระทำของเราจะสร้างพฤติกรรมการยึดมั่นแบบไหนขึ้นมา รูปแบบการอธิบายของ เชอเกียม ตรุงปะ เป็นที่ยอมรับโดยนักเรียนของเขา ที่เป็นนักจิตวิทยา ซึ่งถือเป็นความหลักแหลมในการนำหลักคำสอนในพุทธศาสนามาตีความในเชิงประสบการณ์ ทำให้คำสอนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในทุกๆ มิติของผู้คน

ข้อเตือนใจสี่ประการข้อที่หนึ่งกล่าวไว้ว่า “ในทรรศนะแบบพุทธทิเบต การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือหนึ่งในความเป็นไปได้ของการเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย ชาวทิเบตมีคำสอนว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ คือหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ของการเดินทางทางจิตวิญญาณ ที่จะต้องผ่านการเกิดแล้วตายอีกนับล้านๆ ครั้ง ในภพชาติปัจจุบันเราอาจเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ในความยาวนานอันประมาณมิได้นี้ พวกเราล้วนตกอยู่ภายใต้การจองจำของสังสารวัฏ และผ่านการเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วหลากหลายรูปแบบ”

กลับมาที่คำอธิบาย ภพ6 ในแบบภพชาติ การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่สุดในบรรดาภพทั้งหมด โดยเฉพาะโอกาสที่ได้มาพบเส้นทางสู่การหลุดพ้น มนุษย์เต็มไปด้วยศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา การคิดใคร่ครวญ และความสามารถที่จะสร้างความตระหนักรู้ มีร่างกายที่สามารถมีประสบการณ์ต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทำงานกับอะไรก็ตามที่ต้องเผชิญสู่การคลี่คลาย และการเกิดเป็นมนุษย์ที่ได้ฟังคำสอนอันลึกซึ้งเหล่านี้ ก็เป็นดั่งพรแก่การเกิดมาในชีวิตนี้

เราสามารถใช้โอกาสการเกิดเป็นมนุษย์ในชีวิตนี้ เรียนรู้ที่จะยอมรับและเป็นตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ บ่มเพาะความตระหนักรู้เพื่อก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ เป็นได้ และปล่อยได้ ไม่ติดอยู่ในภพไหน กระทั่งตระหนักถึงธรรมชาติเดิมแท้ ที่ไพศาล เปิดกว้าง และเป็นอิสระ “อยู่แล้ว” และ “เสมอมา” ได้ในที่สุด




อ้างอิงจากหนังสือ 

– Indestructible Truth เขียนโดย Reginald A. Ray

The Essential Chogyam Trungpa เรียบเรียงโดย Carolyn Rose Gimian



++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8