“มนตร์ดำ” แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของโพธิจิต

บทความโดย KHANOON วัชรสิทธา

เมื่อพูดถึงศาสตร์มืดมนตร์ดำ วิชาคุณไสยทำของ มักจะเป็นสิ่งที่เรานึกถึงเป็นอันดับแรก พอเราเริ่มมองไปไกลขึ้น วิชาเหล่านี้เชื่อมโยงกับอารมณ์ด้านลบทั้งหลายของมนุษย์ ความแค้น ความโกรธเกลียด หรือความอิจฉาริษยา ทั้งหมดเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ใครๆ ก็มีได้ ไสยศาสตร์ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวซะแล้วสิ!

“วิชาสาปแช่งมันมาจากอำนาจจิตเลยจริงเปล่า เราทำของใส่กันสนองอำนาจตรงนั้น จากต้นทุนพื้นฐานอย่างความรังเกียจ พอใส่กำลังจิตลงไป มันมีกำลังขึ้นมาทันที เจตจำนง มุ่งร้าย หวังผล ต้องเป็นอย่างนั้น ตายซะ ผัวรักผัวหลง ถ้ามันมีกำลังจิตเข้มข้นนะ มันก็หนักหน่วง ศาสตร์พวกนี้มันมีจริงๆ แล้วคนที่มีกำลังจิตที่คิดไม่ดีมันก็มีจริงๆ อันนั้นก็โดนความมืดครอบงำ” – วิน ปวีณ นาคเวียง

แต่อย่าเพิ่งกลัวไป! ประสบการณ์ในการบวชตลอดหกปีภายใต้คำชี้แนะจากพระอาจารย์สดของ ‘วิน ปวีณ นาคเวียง’ จะมาช่วยแถลงไขว่าเราจะอยู่กับสภาวะแห่งความดำมืดนี้ยังไง และมีเครื่องมือใดช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากสภาวะนั้น ก่อนอื่นเลย ขอชวนมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘ศาสตร์มืดมนตร์ดำ’ ในความหมายของพี่วินคืออะไรกันแน่

สลัวมืดมัวด้วยความไม่รู้

“มนตร์ดำตามธรรมชาติคือความหม่น ความไม่รู้ของใจ เราไปตามความคิดที่วิ่ง ชุดความคิดที่ไม่ชัดเจนก็สืบเนื่องกลายเป็นความสับสน ความกลัว ระแวง อาจจะเป็นหงุดหงิดรำคาญใจ มันเป็นไปได้หลายเฉดมากเลย”

– วิน ปวีณ นาคเวียง

จากอารมณ์ที่เราไล่เรียงมาก่อนหน้านี้อย่างความแค้น ความโกรธ ความอิจฉา โดยตัวมันเองพลังงานเหล่านี้ไม่ใช่ความมืดแต่อย่างใด ต้นกำเนิดของความมืดที่แท้จริงคือ ‘ความไม่รู้’ ต่างหาก เปรียบเหมือนเราอยู่ในห้องที่ไม่มีแสงสว่าง การที่เรามองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรถูกเก็บไว้ในห้องนั้น พอไม่รู้ก็เกิด ‘การสะสม’ พอสะสม ความเข้มข้นของอารมณ์ก็ทวีมากขึ้นไปโดยปริยาย

“ถ้าเราปล่อยให้มันมืดต่อเนื่อง สืบเนื่องไป โคตรอันตราย แล้วถ้ามันเริ่มสืบเนื่องเป็นเนื้อเป็นตัวเรา มันกลายเป็นว่าเราเป็นสิ่งนั้นไปเลย พอเราเป็นสิ่งนั้นมากขึ้น มันก็มีกำลังไง พอมันมีกำลังมากๆ มันเริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ เราเอาพลังงานที่มันไม่รู้เนี่ยไปนั่ง ไปคุย ไปพูดด้วยความก้าวร้าว คนรอบข้างก็จะแน่นกับความก้าวร้าวของเรา เอาความหวาดกลัวไปคุย ทุกคนก็จะตระหนกตกใจไปด้วย เราไปโฆษณาชวนเชื่อ ‘สิ่งนี้โคตรเจ๋งเลย’ ความอยากมวลรวมก็เกิด เหตุเกิดจากข้างใน” – วิน ปวีณ นาคเวียง

นอกจากวิชาไสยศาสตร์ที่มีการประจุเจตนามุ่งร้าย ใช้ประโยชน์จากความมืดอย่างชัดเจน ความมืดยังแสดงตัวในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยกว่าในชีวิตจริง นั่นก็คือ ‘การสิงสู่’


สิงสู่ในกายฉัน

เฉดสีหลักๆ ของความมืดแบ่งออกได้ 4 ประเภท ได้แก่ (1) ความหวาดกลัว (2) ความสับสนมึนงง วังวนของห้วงอารมณ์ และความคิด (3) ความอยาก ความขาด ความโหยหา ความไม่รู้จักพอ ความกอบโกย และสุดท้าย (4) ความก้าวร้าว ความรุนแรง ความหงุดหงิด ความอาฆาตพยาบาท

เมื่อเราเก็บกักความมืดไม่ว่าประเภทไหนไว้มากๆ พลังงานที่เอ่อล้นสามารถครอบงำตัวตนเดิมจนมันกลายเป็นความปกติ บางคนหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่เป็นนิจ บ้างก็เซื่องซึมอยู่ตลอดเวลา หรือไม่อย่างนั้นพลังงานอาจปะทุออกมาเหมือนภูเขาไฟระเบิดเมื่อเผชิญกับความบีบคั้น ตึงเครียด จนใช้อารมณ์ชั่ววูบ เผลอทำอะไรที่ไม่เป็นตัวของตัวเองเลยประหนึ่งมี ‘องค์ลง’ หรือ ‘ผีเข้า’ เราคงเคยเห็นคนปรี๊ดแตกทั้งที่เดิมทีเป็นคนใจเย็น ปูมหลังของผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญทั้งหลายก็มักมีที่มาจากการสะสมอารมณ์สืบเนื่องกับปัญหาสังคม หรือการเลี้ยงดูในวัยเด็ก

สภาวะ ‘บีบอัด’ ไม่มีการ ‘คลาย’ ทำให้เราดึงเอาวัตถุดิบเก่าๆ กลับมาใช้ในสถานการณ์ใหม่เสมือนทุกอย่างจะต้องลงเอยเช่นเดิม ทำให้อะไรที่ควรจะผ่านไปได้แล้วก็ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่เรามีต่อชีวิตและตัวเองว่าไม่มีทางผิดไปจากนี้ได้

“ถ้าเราไม่เชื่อมโยงกับเหตุปัจจัย สถานการณ์ตรงหน้า และเราคิดว่าแม่งเหตุการณ์นี้มันต้องเหมือนกับเมื่อวาน ต้องเหมือนกับสัปดาห์ที่แล้ว เหมือนกับเดือนที่แล้วแน่เลย สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นทันที ความเข้มของการประจุพลังก็เกิด หรือความน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าความน่าจะเป็นมันก็มัวๆ ถ้าสถานการณ์บีบคั้นมันก็เป็นเลย ถ้าสถานการณ์ไม่บีบคั้น มันก็ผ่านไปได้ แต่ความหม่นของจิตยังตามสืบเนื่องไปอีก” – วิน ปวีณ นาคเวียง

เพื่อไม่ให้เราหลงวนเวียนอยู่ในความมืดมากไปกว่านี้ อีกเดี๋ยวเราจะพาไปรู้จักกับอุปกรณ์ฉายแสง แปรเปลี่ยน ‘ความไม่รู้’ ให้เป็น ‘ความรู้’ ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีอยู่แล้วด้วย!

พื้นที่แห่งการฉายแสง

เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจากการประกอบรวมของเหตุปัจจัย โดยมากมักเกิดขึ้นโดยขาด ‘ความรู้ตัว’ ของเรา ดังนั้นพี่วินจึงให้พวกเราร่วมกันก่อเจดีย์ข้าวให้เห็นกันจะจะ

ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ถูกแทนด้วยวัตถุต่างๆ ตั้งแต่กองข้าว จอกน้ำ ธงสี และเทียน โดยมีอากาศธาตุเป็นกรอบรองรับธาตุ 4 มีการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของแต่ละคนในห้องแทนวิญญาณธาตุ ตอนแรกทุกองค์ประกอบยังแยกกันเป็นส่วนๆ จวบจนพวกเราเริ่มใส่เจตจำนงเข้าไปว่า ‘ก่อเจดีย์’

การใส่เจตจำนงจึงไม่ต่างจากการเข้าไป ‘รู้’ รู้จักอุปกรณ์ รู้สภาพพื้นที่ว่าเราจะก่อเจดีย์ตรงไหน รู้ว่าใครกำลังประกอบร่างส่วนไหน รู้ว่าเจดีย์ยังขาดอะไร หากเรา ‘ไม่รู้’ ซะอย่าง ทุกการกระทำ อารมณ์ความรู้สึก ชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งดำเนินอยู่ หรือกระทั่งพื้นที่ห้องกิจกรรมของวัชรสิทธาก็จะกลายเป็น ‘มนตร์ดำ’ ไปในทันที! บรื้อออ!

“เจดีย์เป็นตัวแทนของกาย consciousness ต่างๆ ก็ลงไปได้ มนตร์ดำก็อยู่ในนี้แหละ แค่ว่าถ้าเราไม่ aware มันก็จะไปอยู่ในมุมหลืบต่างๆ แล้วมณฑลไม่ได้มีแค่เจดีย์ มันกว้างออกไปอีก มันคือการทำงานกับทั้งห้อง พอเราขยายสเกลว่าไม่ใช่แค่สิ่งนี้นะเว้ย แต่มันคือทั้งห้อง ก็คือกายใจเราทั้งหมด พอเราเกิดการรู้ มันก็เห็น เริ่มปฏิสัมพันธ์ เริ่มเข้าใจ

เหมือนเราขี่จักรยาน มันจอดอยู่เฉยๆ แต่พอเรามีเจตจำนงว่าเราจะไปตลาด เรารวมเป็นหนึ่งกับจักรยาน แล้วเราก็ร่วม awareness ไปด้วยกันในการเคลื่อน ในการปั่น ในการทรงตัว – วิน ปวีณ นาคเวียง

สติดั่งไฟฉาย สัมปะชัญญะส่องสว่างกว้างออกไป

อย่างที่เราบอกไปว่าอุปกรณ์ฉายแสง หรือ ‘สติ’ คือสิ่งที่พวกเราแต่ละคนมีอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่มีจะดำเนินชีวิตตามปกติยากมาก ลองนึกภาพคนเมาข้ามถนนดูสิ…

สติคือการเข้าไปรับรู้ขณะต่อขณะ แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งติดตัว แต่ใช่ว่าทุกคนจะปั่นจักรยานได้ หรือหากปั่นเป็นความคล่องแคล่าวก็ต่างกันไปตามการฝึกฝน การใส่เจตจำนงจึงเป็นการฝึกให้เรามีสติตามธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีไฟฉายในมือ ไฟจะติดหลังเราดันปุ่ม ‘เปิด’ แล้วเท่านั้น

เมื่อมีคำว่า ‘สติ’ แล้ว จะขาด ‘สัมปะชัญญะ’ ไปได้อย่างไร 2 คำนี้มักมากันเป็นแพ็คคู่จนหลายคนงงว่ามันเหมือนหรือต่างกันตรงไหน พี่วินเลยช่วยเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ต่อจากการขี่จักรยาน

“ถ้าเรารับรู้ moment ต่อ moment อย่างมีกำลังไปเรื่อยๆ มันจะทำให้ไฟในการเห็นมันกว้างมากขึ้น การทำงานกับพื้นที่ก็คือสัมปะชัญญะ แทนที่เราจะรู้แค่ว่าเราปั่นจักรยาน เรารู้ถนนด้วยเว้ย รู้รถ มีคนผ่านไปผ่านมา เราปลอดภัยมากขึ้น ถ้าเราปั่นอยู่แค่เราปั่นจักรยาน อันตรายนะ มันก็ต้องขยายตามบริบท ถ้าเราปั่นอยู่ในซอยก็ต้องขยายแบบหนึ่ง ถ้าเราปั่นออกถนนใหญ่ก็ต้องขยายอีกแบบหนี่ง สติต้องไวมากขึ้น ความรู้เนื้อรู้ตัว เซนส์ต่อพื้นที่ก็ต้องกว้างขึ้นตามไปด้วย” – วิน ปวีณ นาคเวียง

ในการใช้ชีวิตจริงคงไม่มีใครมานั่งแยกว่าตอนนี้เรากำลังใช้ ‘สติ’ หรือ ‘สัมปะชัญญะ’ อยู่ เพราะ 2 สิ่งนี้ทำงานเป็นองค์รวม แต่ที่เรายังต้องมาลำบากลำบนแจกแจงความหมายกันอยู่ก็ไม่ได้สูญเปล่าไปซะทีเดียว สำหรับผู้เริ่มต้นย่อมต้องการความชัดเจนให้ง่ายต่อการกลับไปเชื่อมโยงความรู้กับประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อพัฒนาความเข้าใจ และฝึกฝนให้เชี่ยวชาญมากขึ้น

“ปั่นจักรยานเป็นแล้ว เราจะกังวลไหมว่าอะไรคือการทรงตัว อะไรคือเลี้ยวหัว แต่พอเราจะอธิบายว่ามันต้องเลี้ยวหัวอย่างนี้ มันมี mechanics อย่างนี้ มันต้องทรงตัวอย่างนี้นะ แยกเพื่อให้ความไม่รู้มันถูกรู้ขึ้นมา แต่เมื่อใช้งานมันก็ต้อง flow กับความไม่รู้อยู่ดี มันต้องล้มบ้าง เซบ้าง มืดบ้างแหละ สิ่งนั้นจะทำให้เกิดความชำนาญ มันจะชัดขึ้นในเนื้อในตัวเลย ต่อไปจะสอนน้องปั่นจักรยานก็อธิบายภาษาตัวเองเลย ประสบการณ์ตรงจึงสำคัญในการส่งต่อความเข้าใจ เราก็จะไม่โดนข้อจำกัดของภาษาอีก” – วิน ปวีณ นาคเวียง

การภาวนาส่วนใหญ่ให้เราเริ่มฝึกสติผ่านการกำหนดลมหายใจ หรือการเพ่งกำหนดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง เมื่อฝึกไปสักระยะ การขยายขอบเขตของการรับรู้ทำให้เราสามารถใช้สติสัมปะชัญญะได้อย่างเต็มศักยภาพ แทนที่เราจะมัวแต่อยู่กับความสว่างเล็กๆ ก็ให้มันแผ่ขยายจนมนตร์ดำหลบซ่อนตัวไม่ได้เลย!


แปรเปลี่ยนมนตร์ดำ

“ถ้าเราเกิดความเข้าใจว่ามนตร์ดำมันมาจากข้างใน แรงขับดันมาจากข้างใน เราสามารถทำให้มันสว่างได้ รู้เนื้อรู้ตัวไป อย่างน้อยมันถูกเห็นว่าอะไรเป็นต้นเหตุ เป็นเชื้อที่ถ้ามันปล่อยให้ลุกลาม มันจะเกิด มันมี aware ต่อตัวเอง ต่อผู้อื่นมากขึ้น” – วิน ปวีณ นาคเวียง

การร่วมมือร่วมใจรวมองค์ประกอบกลางห้อง ตลอดจนสัมพันธ์กับทุกคนที่ประดิษฐ์ของอยู่ออกดอกผลเป็นเจดีย์สุดน่ารัก แถมจะไม่มีเจดีย์ไหนเหมือนกับที่ทำในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 แน่นอน เพราะผลลัพธ์มาจากเหตุปัจจัยในตอนนั้นเท่านั้น

เรา ‘เห็น’ การรวมของเหตุปัจจัยอย่างแจ่มชัด จึง ‘รู้’ ว่าอะไรๆ จะต้องเปลี่ยนไป ทันทีที่เราเห็นมนตร์ดำ เราไม่ถูกขับเคลื่อนตามแต่ความดำมืดจะพาไปอีก การรวมตัวของเหตุปัจจัยจึงกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการแทงยอดสู่แสงสว่าง

การแปรเปลี่ยนมนตร์ดำฟังดูน่าตื่นตาอย่างกับการเล่นแร่แปรธาตุ หรือมายากล แต่เราจะบอกว่ามันไม่ได้หวือหวาอะไรขนาดนั้น อาจจะเรียบง่ายจนหลายคนตกใจ ขณะเดียวกันก็เป็นความเรียบง่ายที่ปฏิบัติจริงได้ยากหากไม่มี ‘การตระหนักรู้’ ซึ่งถือเป็นขั้นแรกสุดของกระบวนการทั้งหมด

ถามว่า ‘รู้’ แล้วจบเลยไหม? ยังหรอก! การรู้บ่อยเข้าๆ ช่วยบ่มเพาะพื้นที่ เราไม่ไหลไปตามอารมณ์ในทันทีทันใดจาก ‘ช่องว่าง’ ระหว่างตัวเรากับอารมณ์นั้น ทำให้เรามีโอกาสได้สร้างความเข้าใจแบบใหม่ต่อรูปแบบอารมณ์เดิมๆ นี่ละคือการแปรเปลี่ยน

“กระบวนการแปรเปลี่ยนก็คือโอบอุ้ม ไว้วางใจ เข้าใจเขา ไม่ได้แปรเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปเป็นสิ่งหนึ่งเลยนะ จริงๆ ความกลัวไม่ได้เปลี่ยนเป็นความกล้านะครับ ความกลัวก็ยังเป็นความกลัว แต่เราเข้าใจความกลัวมากขึ้น สมมติเมื่อก่อนเรา tense กับความกลัวมาก พื้นที่ใจเราแคบละ พออย่างนี้เราไม่มีโอกาสคลี่มันออกมาศึกษา มันคืออะไรกันแน่วะ พอเราเปิดกว้างกับความกลัวมากขึ้น เราก็จะรู้จักเขามากขึ้น ดังนั้นเราต้องมีพื้นที่ให้เขาก่อน

awareness คือพื้นที่มากๆ เลยที่ทำให้ความกลัวแสดงตัวว่าจริงๆ แล้วมันมีเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างเลยที่ความกลัวเกิดขึ้นมาตอนนี้ ที่ผ่านมาเราเป็นยังไง ทำไมมันเป็นแบบนี้วะ พอถูกคลี่ปุ๊บ เราก็จะเชื่อมโยงว่ามันเป็นแบบนี้ แบบนี้มานะ มันมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็กลัวแบบไร้สาเหตุ” – วิน ปวีณ นาคเวียง


โพธิงอกงาม

ในทุกขณะของชีวิตมีการรวมเหตุปัจจัยดั่งเช่นเจดีย์ที่พวกเราร่วมกันก่อขึ้นมา แต่ความตระหนักรู้ในเนื้อในตัวทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจจากการรวมตัวนั้น ยอดสุดของเจดีย์จึงมีดอกบัวอันเป็นตัวแทนของโพธิจิตงอกงาม ฉะนั้นจะบอกว่ามนตร์ดำคือแหล่งอาหารหนึ่งของโพธิจิตก็ไม่ผิดนัก

“มนตร์ดำถ้าเข้าใจแล้วเนี่ย มันไม่ใช่มนตร์ดำนะ เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ในการเติบโต เราจะอยู่กับ the demon อย่างเพื่อน นี่คือเพื่อนที่ดีของเรา เขาอยู่กับเรามาตลอดเลย แล้วทำไมเขาจะไม่เข้าใจเราวะ นี่แหละเปิดสายสัมพันธ์ พอเกิดความเข้าใจกัน เขามีความสามารถในการที่จะเห็นสิ่งนี้ในตัวคนอื่น ปีศาจได้กลิ่นความกลัว เราจะก็จะได้กลิ่นความกลัวจากตัวคนอื่นด้วย แต่การได้กลิ่นความกลัวของเราตอนนี้ไม่ได้เพื่อที่จะสร้างกำลังให้กับปีศาจละ แต่สร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจให้กับสิ่งนั้น” – วิน ปวีณ นาคเวียง

เมื่อเข้าใจมนตร์ดำในตัวเอง ศักยภาพในการเห็นสิ่งนั้นในตัวคนอื่นก็เกิดตามการรับรู้ที่เปิดกว้างขึ้นของเรา โพธิจิตมีลักษณะของการแผ่ออกโดยอัตโนมัติ และมีแต่จะขยายออกไปเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่ ‘ความไม่รู้’ กลายเป็น ‘ความรู้’ แสงจากตัวเราสว่างมากขึ้นจนเหมือนจะเป็นไฟฉายซะเอง คนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งการตระหนักรู้ของเราก็พลอยได้รับอานิสงส์ความสว่าง สามารถเห็นตัวเอง และรอบด้านไปด้วย

การบ่มเพาะโพธิจิตในช่วงแรกจึงดูประหนึ่งเรื่องส่วนบุคคลว่าเราจะเข้าใจสภาวะภายในตัวเอง และอยู่กับมันอย่างปกติสุขได้ยังไง ก่อนจะเข้าใจว่าทั้งหมดที่ทำอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นการทำงานกับองค์รวมทั้งหมด ส่วนพื้นที่จะกว้างใหญ่ขนาดไหนขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมให้ศักยภาพของโพธิจิตเติบโตโอบรับมากเท่าไหร่ หรือเราจะเป็นแสงดวงเล็กๆ ที่คอยส่งต่อจนรวมเป็นแสงดวงใหญ่ ไม่ว่าทางไหนก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น

“ถ้าเราไม่มีแรง ไม่มีพลังแบบโพธิจิต มันเกื้อกูลไม่ได้ เพราะความเกื้อกูลคืออะไร มันเริ่มเห็นว่าความกลัวมันโคตรสากลเลย ความโกรธมันโคตรสากลเลย ถ้าเราเห็นว่าสิ่งนี้มีในเราได้ เราพลั้งเผลอ เราพลาดได้ เราขาดสติได้ เราหุนหันพลันแล่นได้ เราชั่ววูบได้ เราพลั้งปากได้ เราพลั้งมือได้ พลั้งการคิดได้ คิดวนลูป ก็เฉกเช่นคนอื่นที่เขาเป็นได้

นั่นละฮะเรื่องของโพธิจิต ความเปิดกว้าง มันไม่ใช่แค่ตัวเราละ มันส่งผลทั้งหมดเลย กลายเป็นว่าเป็นพื้นที่ของความไว้วางใจ ที่สปอทไลท์ของความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้ฉายแค่แก่เรา แต่ว่าฉายไปที่สิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเราอยู่กับความกลัว ความโกรธ ความไม่รู้ได้ พลังแบบนี้จะทำให้คนอื่นไว้วางใจโดยที่เขาเริ่มเห็นว่าพื้นที่ไม่อึดอัดด้วย นี่ละสิ่งที่เราเกื้อกูลกันได้” – วิน ปวีณ นาคเวียง


สลายสู่ความว่าง

แม้โพธิจิตจะช่างดูเป็นแสงสว่างเอาไว้ยึดเหนี่ยว หากเรามัวแต่ยึดติดกับแสงจนลืมเติมเชื้อ แสงย่อมมอดดับลง เมื่อเหตุปัจจัยรวมตัว พอเวลาถึงพร้อมก็สลายตัวกลับสู่ความว่างเป็นวัฏจักร ความว่างในที่นี้ไม่ใช่ความว่างเปล่าไร้แก่นสาร กลับกันมันพร้อมให้กำเนิดบางสิ่งบางอย่างจากการวางใจเปิดกว้าง อย่างที่พี่วินอธิบายไว้ตอนต้น หากพื้นที่ใจเราแคบก็จะปิดกั้นไม่ให้การเรียนรู้เกิดขึ้นตามที่ควร กลายเป็นการสะสมมนตร์ดำอีกครั้ง

“ทั้งว่างและไม่ว่าง ทั้งหมดทั้งมวลมันเกื้อหนุนกัน มันว่างเพื่ออะไร มันปรุงแต่งเพื่ออะไร มันประกอบ มันสร้าง แปรเปลี่ยนเพื่ออะไร มันเป็นสิ่งสืบเนื่อง คราวนี้ถ้าเราอยู่แต่ว่างอย่างเดียว การสร้างบางทีก็ไม่เกิด จะอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ มันก็วุ่นวายเกินที่จะมีพื้นที่ให้สังเกต มันมีความว่าง มันมีความผ่อนคลาย มันมีคุณลักษณะอย่างนี้อยู่นะ เราก็ใฝ่หาทั้ง 2 ด้านน่ะแหละ

เหมือนวงเวียนของเจดีย์ ก่อแล้วสลาย พอรู้แล้วก็จะได้เก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจไปได้ มันก็ไม่เสียโอกาส สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา” – วิน ปวีณ นาคเวียง

ไม่มีใครเกิดมามีชีวิตโดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจมนตร์ดำเลยสักครั้ง พวกเราเคยโกรธจนสาปคนในใจ เคยอยากนอนเปื่อยเป็นผักที่บ้าน เคยจมอยู่กับความคิดเป็นวรรคเป็นเวร เคยอยากได้ของใช้แพงๆ เคยวิ่งไล่ตามความรัก ความฝัน เคยกลัวการสูญเสียความมั่นคง เคยกลัวแมลงสาปจนขึ้นสมอง เรื่องในชีวิตประจำวันกลายเป็นมนตร์ดำในทันใดถ้าถูกมันควบคุมบงการ ขณะเดียวกันก็เป็นได้ทั้งวัตถุดิบของโพธิจิต ศักยภาพของพื้นที่ซึ่งส่งต่อได้

ดังนั้น! ไม่ว่าจะมีคนทำของใส่ หรือเราตกหลุมต้องมนตร์ซะเองก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปไป ทุกสิ่งแปรเปลี่ยนได้ ดูสิ ขนาดโพธิจิตยังสลายเป็นความว่างได้เลย