“ชนิน เดอ พะงัน” : คุยกับ “ชนินทร์” ผู้เป็นประตูสู่โลกของพะงันที่กว้างใหญ่กว่าฟูลมูนปาร์ตี้

บทความโดย TOON วัชรสิทธา

“หากลองสังเกตจังหวะของเกาะ ก็จะพบว่าในแต่ละเดือนมันคล้ายกับการหายใจเข้า-ออก ช่วงฟูลมูนปาร์ตี้ก็เหมือนหายใจเข้ารับนักท่องเที่ยวเข้ามาจากทั่วโลก พอจบปาร์ตี้ก็เหมือนลมหายใจออกที่พาผู้คนกลับไป ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สัมพันธ์กับพลังงานบนเกาะ ซึ่งเป็นเหมือนภาพจำลองของชีวิตที่เข้มข้น​”

ประโยคด้านบนคือคำบอกเล่าถึงเกาะพะงันจากมุมมองของคนที่ใช้ชีวิตบนเกาะอย่างชนินทร์ เดอ พะงัน 

ไม่ต้องเดาให้เหนื่อยว่าเกาะพะงันกับวัชรสิทธาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เราไม่ได้กำลังจะชวนผู้อ่านไปปาร์ตี้ที่ฟูลมูน แต่ในปี 2566 นี้ มูลนิธิวัชรปัญญากำลังจะมีโครงการสร้างศูนย์ภาวนาขึ้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งถือเป็นโครงการสร้างสถานภาวนาแห่งแรกของมูลนิธิที่เปิดให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าพักได้ด้วย

พูดถึงพะงัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงของเกาะแห่งนี้มาแล้วบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นชื่อเสียงเชิงความบันเทิง ปาร์ตี้ เสียงดนตรี ความเนืองแน่นของผู้คนในคืนจันทร์เต็มดวง จริงอยู่ที่เกาะพะงันมีแง่มุมนี้เป็นเหมือนไฮไลท์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้พากันขึ้นเรือเฟอร์รี่มาเทียบท่ายังหาดท้องศาลา แต่อันที่จริงแล้วแง่มุมนี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อเทียบกับความหลากหลายของเกาะทั้งหมด คล้ายกับคืนเดือนเพ็ญที่แม้จะสุกสว่างที่สุด แต่ก็เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้นเอง

เกาะพะงันยังมีเรื่องราวให้พูดถึงอีกมากมาย โดยเฉพาะมิติด้านจิตวิญญาณ ที่คนไทยเราอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก แต่มิติทางด้านนี้ก็ขจรขจายออกไปสู่การรับรู้ของโลกสากลในฐานะเกาะศักดิ์สิทธิ์ ที่มีพลังงานและความน่าสนใจบางอย่างซึ่งอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตา

ชนินทร์ เดอ พะงัน เป็นชาวกรุงเทพฯ และเป็นนักแสวงหาที่ ‘ติดใจ’ มิติทางจิตวิญญาณของเกาะแห่งนี้ จนตัดสินใจโยกย้ายสำมะโนครัวไปอาศัยอยู่ในฐานะชาวเกาะคนหนึ่ง 

ชนินทร์คนเดียวกับที่เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดเทศกาลทางจิตวิญญาณอย่าง Sacred Mountain Festival ที่ปีล่าสุด #SMF4 เกิดขึ้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ชนินทร์เป็นคนที่ทำงานกับสเปซ ออกแบบกิจกรรม (โดยเฉพาะภาคดนตรี) และวางแผนเตรียมพร้อมการสร้างประสบการณ์ที่จะเชื่อมธรรมชาติของพื้นที่เข้ากับผู้คนได้อย่างน่าสนใจ วันนี้เราจึงมานั่งคุยกับเขาถึงเมืองที่เขาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับที่โครงการใหม่ที่ชื่อว่า “ศูนย์ปัทมคาระ” กำลังจะเกิดขึ้น

เมื่อพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงเชียงดาว ทุกคนอาจจะเข้าใจได้ในทันที เพราะความสงบนิ่ง มั่นคง รวมถึงความลึกลับบางอย่างของธรรมชาติ ที่อบอวลอยู่ในอาณาเขตของภูเขา ทำงานกับร่างกายและจิตใจของเราทันทีที่ก้าวขาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ทว่าเมื่อเอ่ยถึงเกาะพะงัน หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่ามิติของความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าหมายถึงอะไร

ในความเห็นของชนินทร์ดอยหลวงเชียงดาวและเกาะพะงัน มีความคล้ายคลึงกันหลายด้าน ในแง่มุมทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอิทธิพลที่พื้นที่มีต่อผู้คนในอาณาบริเวณ แต่ในเชิงรายละเอียด สถานที่ทั้งสองแห่งก็มีความต่างกัน ทั้งในเรื่องของอัตลักษณ์ ภูมิประเทศ บรรยากาศ ความเคลื่อนไหวของพลังงาน ไวบ์ และรสชาติของประสบการณ์

“จุดเด่นของเกาะพะงัน คือมันมีพลังงานบางอย่างที่น่าสนใจ มันคือความดิบ ความสด ความแปรปรวน ขึ้นลงเหมือนคลื่น ซึ่งพลังงานนี้แหละที่ดึงดูดคนจากทั่วโลกให้เข้ามาบนเกาะ ในความเห็นของผม พลังงานนี้คือศักยภาพที่ล้นเหลือของเกาะ ซึ่งยังไม่มีใครมาทำความเข้าใจหรือใช้งานมันได้อย่างเต็มที่”

เป็นที่รู้กันว่าไฮไลท์ในปัจจุบันของพะงันที่ลือเลื่องไปทั่วโลกคือความหรรษาของฟูลมูนปาร์ตี้ แต่สำหรับคนที่เป็นอดีตผู้จัดการของ Wellness Center แห่งหนึ่งบนเกาะ ซึ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาแล้วหลายพันคน เขามองเห็นพะงันในแง่มุมที่กว้างไปกว่านั้น

“จริงอยู่ที่เกาะพะงันอาจเป็นที่รู้จักผ่านเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้ เป็นที่รับแขกชาวต่างชาติที่อยากเข้ามาหาความรื่นเริง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีปาร์ตี้ ยาเสพติด ทุกอย่างครบ แต่ในอีกด้านเกาะพะงันก็มีศูนย์โยคะ ศูนย์นั่งสมาธิต่างๆ ที่นักแสวงหาเข้ามาสร้างเอาไว้ เพราะเขารู้สึกว่าเกาะนี้มีความพิเศษ มีความเข้มข้นทางพลังงานที่ดึงดูดให้คนกลุ่มนี้สนใจมาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะเพื่อฝึกฝนปฏิบัติ 

นอกจากกลุ่มนักแสวงหาแล้ว คนเกาะเองที่จะมีงานเทศกาลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพลังงานของเกาะ มี Offering ต่างๆ ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น การกินเจ มันจึงเป็นการซ้อนทับกันของวิถีความเชื่อหลากหลายแบบ ซึ่งในความเห็นของผมมันคือการทำงานกับความศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรบางอย่างที่ลอยอยู่ในอากาศ แล้วแต่ละคนก็พยามเชื่อมโยงกับมันด้วยระดับและวิธีการที่ต่างกัน คล้ายกับพื้นที่อย่างแม่น้ำคงคา ที่มีทั้งคนมาทำพิธีศพ มาอาบน้ำ มาเที่ยวถ่ายรูป บางคนก็เอาวัวควายมาเลี้ยง แต่ทุกๆ อย่างมันมารวมอยู่ได้ในพื้นที่เดียวกัน”

ในมุมกายภาพของพื้นที่ พะงันไม่ได้มีดีแค่ความขาวของชายหาดหรือความใสของน้ำทะเล แต่ยังมีผืนป่าขนาดใหญ่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติอย่าง “อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน” ซึ่งกินอาณาเขตมากกว่าครึ่งเกาะ ชนินทร์เล่าว่าที่มาของอุทยานแห่งชาตินี้ก็มีความน่าสนใจ และสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติกับมิติอันศักดิ์สิทธิ์ของเกาะพะงันอย่างชัดเจน

“อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่บนเกาะพะงันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่อุทยาน มีป่า มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งเกิดจากแรงผลักดันของครูบาอาจารย์ในอดีตที่มาใช้พื้นที่นี้ในการฝึกฝนปฏิบัติ จนสามารถขึ้นทะเบียนให้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาพลังงานและพื้นที่ในการปฏิบัติให้กับคนรุ่นหลัง 

มิติเหล่านี้หลายครั้งถูกมองข้ามไป เพราะนอกจากสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นที่ธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการรักษาเขตพลังงานและพื้นที่สำหรับการปฏิบัติไว้ให้คนบนเกาะ ซึ่งเป็นทรัพยากรทางพลังงานที่มีอยู่อีกมากในเกาะพะงัน”

หนึ่งในครูบาอาจารย์คนสำคัญที่ชนินทร์เล่าถึงคือหลวงพ่อหลบ หรือ พระครูสุภัทรธรรมาภิรม อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ ซึ่งเป็นพระนักอนุรักษ์ที่จุดประกายแนวคิดการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ผ่านการทำงานกับคนในพื้นที่ ลดการบุกรุกป่าและการจับจองที่ดิน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวอันสำคัญ ก่อนที่ภายหลังพื้นที่ที่หลวงพ่อรักษาไว้ก็ได้กลายส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติในที่สุด

เมื่อได้รู้จักพะงันลึกลงไปทั้งในมุมของจิตวิญญาณ ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงพลังงานที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พื้นที่บนเกาะจะพร้อมสำหรับการเกิดขึ้นของสถานปฏิบัติ จนคล้ายกับว่าเป็นการรอคอยการเกิดขึ้นของบางสิ่ง ชนินทร์เล่าว่าปัจจุบันพะงันมีศูนย์ปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีที่ไหนตั้งใจจะสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมผู้คนให้เรียนรู้ถึงพลังงานบนเกาะอย่างจริงจัง ซึ่งในความเห็นของชนินทร์สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นศักยภาพของพะงัน ที่ศูนย์ปัทมคาระจะสามารถเข้ามาส่งเสริมและผลักดันในเรื่องนี้ 

“จริงๆ ตอนนี้มีศูนย์หลายแห่งบนเกาะนะ แต่ยังไม่มีศูนย์ไหนที่ทำงานกับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพลังงานของเกาะ เพื่อให้เขาสามารถเก็บเกี่ยวความเป็นพะงันได้อย่างเต็มที่”

“ในความเห็นผม ศูนย์ปัทมคาระน่าจะเข้ามาตอบสิ่งนี้ได้ เพราะเป็นศูนย์ที่มีหลักแกนในการปฏิบัติที่ชัดเจน มีการฝึกที่เข้มข้น ซึ่งสามารถประกอบกับความฉูดฉาดและมีสีสันเกาะพะงันได้อย่างลงตัว เป็นเหมือนการปฐมนิเทศผู้คนให้เชื่อมต่อกับพลังงานอันเข้มข้นของพะงัน สัมผัสถึงการสื่อสารหรือคำสอนที่เกิดขึ้น แล้วเปลี่ยนให้มันเป็นบทเรียนและปัญญาของเขาได้ เพราะการมาฝึกฝนที่นี่มันมีทั้งมิติของการกินอยู่ หรือด้านสุนทรียะอย่างการชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก สัมผัสกับธรรมชาติที่รุ่มรวย โดยใช้พื้นที่ของศูนย์เป็นเหมือนจุดที่แตะเข้า-ออกระหว่างทางโลกและทางธรรม มันจึงทำให้การฝึกปฏิบัติในศูนย์กับการใช้ชีวิตบนเกาะทำงานกับตัวของผู้ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เป็นเหมือนการย่อชีวิตในจักรวาลนี้ให้อยู่ภายในเกาะ”

ปัจจุบันชนินทร์ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะพะงันเป็นหลัก มีกลุ่มเพื่อนมิตรสหาย มีธุรกิจกับครอบครัวเป็นร้านอาหารทะเลท้องถิ่น “ถึงพะงัน – Dear Phangan” และที่พัก “บ้านนุ้ย – Baan Nuit” เขาปักหลักบนเกาะเหมือนเป็นผู้ใหญ่บ้านคอยต้อนรับแขกเมืองที่แวะเวียนไปพักผ่อน แม้ไม่ได้เอ่ยออกมาเป็นคำพูด แต่สายสัมพันธ์ของชนินทร์กับเกาะพะงันนั้นแน่นแฟ้น เป็นความรักและผูกพันที่เขาอยากแบ่งปันให้กับผู้อื่น

“เรารู้สึกว่าการที่ได้มาฝึก มาใช้ชีวิตที่นี่ มันเหมือนกับมีบทเรียนชีวิตเดินมาเคาะประตูอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถที่จะเข้าสู่รีทรีตแล้วตัดขาดจากโลกได้ มันเหมือนเป็นการฝึกฝนและทำงานกับสังสารวัฏอยู่เรื่อยๆ จนเป็นเนื้อเดียวกัน มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะแปรเปลี่ยนพลังงานหรือสถานการณ์ที่เข้มข้นในชีวิตให้กลายเป็นแรงบันดาลใจ”

ประโยคนี้คงเป็นเหมือนบทสรุปความพิเศษอันประหลาดของเกาะพะงัน ที่หากมองอย่างผิวเผินเราคงไม่ได้เห็นแง่มุมเหล่านี้ และการรับรู้ผ่านการบอกเล่าของชนินทร์ก็คงยังไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่แท้จริงให้กับเราได้ แต่ในอนาคตอันใกล้เราคงจะได้เห็น “ปัทมคาระ” ศูนย์ปฏิบัติแห่งใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่เกาะ และต้อนรับผู้คนให้เดินทางไปสัมผัสกับเวทย์มนตร์ของพะงันด้วยตัวเอง