Chöd: เดินทางสู่ป่าช้าภายในเพื่อปลดปล่อยพันธนาการแห่งความกลัว

บทความโดย คณพล วัชรสิทธา

กลัวผีมั๊ย?

ความแตกต่างระหว่างคนที่กลัว กับ ไม่กลัว ส่วนหนึ่งอาจอยู่ที่ว่า เรามองว่าผีคืออะไร หากมองว่าผีเป็นสิ่งที่มีตัวตนจริงๆ มีหน้าตาแบบในหนังและสามารถมาหลอกให้เราตกใจหรือเสียขวัญได้ ก็ไม่แปลกที่บางคนจะรู้สึกว่าตัวเองคงไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์แบบนั้น เพราะมั่นใจในขวัญกำลังใจที่มี หรือไม่ก็มั่นใจในความกล้าหาญของตัวเอง

แต่ถ้าเราไม่มั่นใจว่าผีมีจริงไหม หรือถ้ามีจะออกมาในรูปแบบไหน เราอาจพบว่าการดำรงอยู่ของผีในลักษณะแบบนี้สร้างความกลัวให้กับเราได้มากยิ่งกว่า เพราะเมื่อไรที่บรรยากาศแวดล้อมเอื้อต่อการปรากฏตัวของผี แม้เราจะไม่รู้ว่าผีคืออะไรหรือหน้าตาแบบไหน แต่จินตนาการที่มาพร้อมความกลัวจับขั้วหัวใจก็จะอุบัติขึ้นมาในสถานการณ์เช่นนั้น

จึงเป็นคำถามที่น่าคิดว่า “ในเมื่อเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำให้เราหวาดหวั่นคืออะไร แล้วเรากลัวอะไรกันแน่?” ถ้าเรามองทะลุผ่านความรู้สึกกลัวที่อยู่ในระดับพื้นผิวลงไป ผ่านการลองถามตัวเองด้วยคำถามนี้ บางทีเราอาจพบว่าความกลัวทั้งหมดล้วนเป็นจินตนาการถึงบางสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงทั้งสิ้น

ในการฝึกปฏิบัติวัชรยาน มีรูปแบบการปฏิบัติหนึ่งที่ทำงานกับเรื่อง “ความกลัว” เช่นนี้โดยตรง ไม่ใช่แค่เรื่องผี แต่เป็นความกลัวต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในเรา เป็นความกลัวที่ “มองไม่เห็น” นั่นคือการปฏิบัติ เจอด หรือ Chöd ที่มีความหมายว่า “ตัดผ่าน” หรือ “ทะลวงผ่าน”

ชาววัชรสิทธาได้มีโอกาสเรียนแบบปฏิบัตินี้จากผู้สืบทอดคำสอนโดยตรงอย่าง อานัม ทุบเท็น รินโปเช ธรรมาจารย์ชาวทิเบตที่ใช้ชีวิตและสอนธรรมะอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องในวาระที่รินโปเชเดินทางมามอบคำสอนยังประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ด้วยสไตล์การสอนของรินโปเช การฝึกปฏิบัติเฉิดถูกถ่ายทอดผ่านภาษาและวิธีการที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การตัดอย่างฉับพลัน รินโปเชเปรียบเทียบว่า “หากธรรมะคือยา Chöd ก็คือยาแรง”เพื่อใช้ในการขจัดเครื่องกั้นขวางอันหมายถึงกิเลส การใช้ยาแรงนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับยุคสมัยเช่นปัจจุบัน ที่ผู้คนกำลังป่วยหนักจากทุกข์ทั้งหลาย

Chöd : ยาแห่งการเปิดรับทุกความหวังและความกลัว

รินโปเชค่อยๆ สอนวิธีใช้ยาแรงนี้กับพวกเรา โดยเริ่มจากการปูทัศนะเรื่องความกลัวว่าประสบการณ์ทั้งหมดของเรารวมไปถึงความกลัว ล้วนเป็น Projection หรือ ภาพฉายของจิต นั่นหมายความว่า “ผี” หรือ “ปีศาจ” ที่เราหวาดหวั่น ล้วนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ภายในตัวเราทั้งสิ้น หาใช่เป็นสิ่งภายนอกอย่างที่เราอาจเคยรู้สึกมาก่อน

มากไปกว่านั้น ผีหรือปีศาจที่เกิดขึ้นจากจิตใจ ไม่ได้มีเพียงด้านที่เกี่ยวข้องกับความกลัวอย่างเดียว แต่ยังมีด้านที่เกี่ยวพันกับ “ความหวัง” ด้วย Hope & Fear ความหวังและความกลัว จึงเป็นสองสิ่งที่ทำหน้าที่หลอกหลอนเราโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่เว้นกลางวันหรือกลางคืน สภาพแวดล้อมที่น่ากลัวหรือรื่นรมย์

อาจฟังดูระทมใจมากกว่าเดิม เมื่อได้รู้ว่าผีหรือปีศาจเหล่านี้ ไม่ได้เพียงปรากฏตัวออกมาจากความมืด แต่ซุกซ่อนอยู่ใต้ความคิดที่เรามีต่อเรื่องต่างๆ และหลอนเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ทว่านี่ก็ไม่ใช่ธรรมะที่กล่าวให้เราสิ้นหวัง รินโปเชอธิบายต่อไปว่า แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นภาพฉายที่เกิดขึ้นจากจิต แต่เนื้อแท้ของจิตคือความตื่นที่ไม่แปรเปลี่ยน ในภาษาแบบซกเชนคือ “อติพุทธะ” ซึ่งหมายถึง ปฐมพุทธะ หรือ พุทธะของพุทธะ ซึ่งเป็นการกล่าวถึง “ภาวะ” แห่งความเป็นพุทธะที่ไม่ใช่ตัวบุคคล

ดังนั้น ด้วยการตระหนักถึงธรรมชาติที่เป็นเนื้อแท้อันนี้ เราจะมองเห็นหนทางในการทำงานกับภูติผีปีศาจ ซึ่งเป็นเพียงภาพปรากฏที่ปกคลุมธรรมชาติดั้งเดิมนี้ของเราเอาไว้ รินโปเชพูดถึงการ “ทำงาน” กับผีเหล่านี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

รินโปเชกล่าวว่า “ถ้าเราเข้าใจตั้งแต่แรกว่าบนเส้นทางจิตวิญญาณ เราไม่จำเป็นต้องข้ามพ้นอะไร ไม่มีสิ่งใดที่เราต้องชำระล้าง เราสามารถใช้ท่าทีของการศิโรราบและเปิดรับกับทุกสิ่งในชีวิตของเราได้ และด้วยมุมมองเช่นนี้ เราก็จะไม่ต้องไปยุ่งยากโดยไม่จำเป็น” มุมมองที่รินโปเชพูดถึงคือมุมมองที่เรียกว่า “All Embracing”

เดินเข้าสู่ป่าช้าแห่งมารภายใน

ด้วยมุมมองเดียวกันนี้ Chöd จึงเป็นแบบปฏิบัติที่ทะลวง “การยึดมั่น” ของเราที่มีต่อความกลัวหรือความหวังต่างๆ มากกว่าการข้ามพ้นหรือชำระล้างประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ของเรา ประโยคหนึ่งที่มีความหมายอย่างมากต่อผู้เข้ารับฟังคำสอนก็คือ “เราไม่จำเป็นต้องกำจัดพวกมันทิ้งไป เราสามารถตื่นรู้อย่างเป็นอิสระ ท่ามกลางอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์และประสบการณ์อันยุ่งเหยิงของชีวิตเราได้”

ข้อเขียนนี้คงไม่อาจบรรยายการนำปฏิบัติ Chöd ของรินโปเชได้อย่างครบถ้วน แต่ผู้เขียนจะสรุปกระบวนการอย่างกว้างๆ โดยหวังว่าผู้อ่านจะมองเห็นภาพรวมของการฝึกชนิดนี้ ซึ่งหากมีข้อตกหล่นประการใด ย่อมเป็นความบกพร่องของผู้เขียนเอง

การฝึก Chöd เริ่มจากการภาวนาเพื่อสัมพันธ์กับอติพุทธะซึ่งเป็นธรรมชาติอันแท้จริงของเรา และจินตภาพถึงพื้นที่อันเปิดกว้างของป่าช้าภายใน เพื่อให้เห็นบริบทของจินตภาพมากขึ้น รินโปเชเปรียบว่าการปฏิบัติ Chöd คือการเดินทางเข้าไปในป่าช้าที่เต็มไปด้วย “มาร” ที่เราหวาดหวั่น แต่เราจะตั้งใจเดินทางไปยังป่าช้านั้นเพื่อพบกับมารทุกรูปแบบที่เรากลัว

ป่าช้านี้เปรียบเทียบได้กับพื้นที่ดำมืดหรือพื้นที่ภายในที่เราไม่รู้จัก ภายในนั้นเต็มไปด้วยสิ่งลี้ลับมากมายทั้งที่เราเคยพบและไม่เคยพบ ภายในป่าช้านี้ เราจะกล่าวเชื้อเชิญมารทั้งหลายให้ปรากฏตัวขึ้นในรูปของสัตว์หรือภูติผีต่างๆ ก็ได้ เช่น ผีเปรต ฯลฯ

มากไปกว่านั้น การปรากฏของเรา ก็ไม่ได้เป็นการปรากฏในจินตภาพทั่วไป ในการฝึก Chöd เราจะแสดงออกถึงพุทธภาวะของเราออกมา ผ่านรูปองค์พระปางพิโรธของปรัชญาปารมิตานาม Krodha Kali จากนั้นเราก็จะต้องสัมพันธ์กับมารต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นภายใน ด้วยพุทธภาวะของเราเอง ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมว่ามารทั้งหมดนั้นต่างก็มีพุทธภาวะเป็นธรรมชาติเดิมแท้เช่นเดียวกัน

ตัดเพื่อตื่น ค้นพบอิสระ ท่ามกลางมาร ผี ปีศาจ

ระหว่างการฝึกปฏิบัติ รินโปเชสวดบทสาธนาพร้อมกับรัวกลองดามารุและกระดิ่งเป็นระยะ เป็นเสียงของมนตร์ที่แทรกซึมเข้ามายังป่าช้าภายในของเราทุกคน และในระหว่างการสัมพันธ์และทำความรู้จักกับมารภายใน เสียงพีชพยางค์ “PHAT! (พัด!)” จากรินโปเชก็ดังขึ้น ราวกับเสียงตวัดดาบที่แทรกผ่านอากาศ บนสุ้มเสียงนี้รินโปเชกล่าวว่ามันคือเสียงแห่งการตัด หรือ ทะลวงผ่าน ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ที่เรามีต่อมารทุกรูปแบบ

การตัดใน Chöd ไม่ใช่การตัดด้วยท่าทีของการทำลายมารต่างๆ ในป่าช้าภายในเรา แต่เป็นการมองให้เห็นถึงพันธนาการที่ผูกและพันเราเอาไว้กับมารทั้งหลาย ซึ่งหลายครั้งพันธนาการเหล่านี้ก็แน่นหนาอย่างที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะความเคยชินในการ identify ตัวเองกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่ใช่ธรรมชาติแห่งอติพุทธะ มันอาจเป็นความหวาดหวั่นต่ออนาคต ความรู้สึกไม่ดีพอ อุปนิสัยอันเคยชินซึ่งรังควานใจเรามาเสมอ ทั้งความหวังและความกลัวรูปแบบต่างๆ จากนั้นเรายังสำรวจลึกลงไปยังซอกมุมมืดภายในจิตใจ ข้อจำกัด ความวิปลาส ความบกพร่องไม่สมบูรณ์ ฯลฯ

ยามที่เราเปล่งเสียง PHAT! ออกไป เราจึงเปล่งมันออกมาจากความฉับพลัน ให้พลังของพีชพยางค์นี้ตัดทุกพันธนาการของเรากับมารทุกตนอย่างหมดจดและเฉียบขาด รินโปเชพูดถึง “การตัด” ในภาษาของประสบการณ์ว่า มันคือการไม่ป้อนหรือเติมพลังให้กับมาร ด้วยการมี Awareness กับมารเหล่านั้นอย่างไม่ตอบโต้ โดยหนทางนี้เอง เราจึงจำเป็นต้องเดินเข้าสู่ป่าช้า เรียกระดมสิ่งน่าหวาดหวั่นทั้งหลายให้มาประชุมกัน เพื่อที่เราจะได้รู้จักและมีความตระหนักรู้ถึงมารเหล่านั้นอย่างถ่องแท้

เมื่อเรากับมารที่เรากลัว เป็นอิสระจากกันและกัน สายตาใน “การมอง” ของเราย่อมเปลี่ยนไปด้วย เราจะเริ่มมีศักยภาพในการมองสิ่งที่เรากลัวอย่างที่มันเป็น เราจะเริ่มมองเห็นธรรมชาติอันแท้จริงที่เราเป็น และธรรมชาติที่แท้จริงของมารด้วยเช่นกัน การค้นพบอันยิ่งใหญ่นี้อาจหมายถึงว่าในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของป่าช้านี้ มิได้มีสิ่งใดอื่นนอกไปจากธรรมชาติแห่งพุทธะของสรรพสิ่ง

รินโปเชพูดถึงเรื่องนี้ว่ามันคือการรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็น “กุญแจสู่การหลุดพ้น” ดอกสำคัญ เนื่องจากตลอดชีวิตของเรา มารทั้งหลายในป่าช้านี้คอยกระตุ้น ดึง ลาก ให้เรากระทำสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา หากเราไม่เริ่มแม้แต่จะมองหรือรู้จักมัน เราย่อมถูก “สิ่งที่มองไม่เห็น” หลอกหลอนอย่างไม่หยุดหย่อน การหลุดพ้นและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จริงแท้ จึงต้องเริ่มจากการรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง ทุกด้าน ทุกแง่มุม เมื่อนั้นแล้วเราจึงจะมองเห็นว่าหนทางใดที่จะทำให้เราตัดพันธนาการทั้งหลายนี้ได้ เพื่อปลดปล่อยตัวเอง มาร ผี ปีศาจทุกตน ให้กลับสู่ธรรมชาติอันเดิมแท้ของพวกมัน – ความตื่นแห่งพุทธะอันสมบูรณ์

+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8