Depth Psychology – จิตวิทยาจิตวิญญาณ : สร้างการตระหนักรู้ต่อจักรวาลจิตใต้สำนึก

บทความโดย ทีมงานวัชรสิทธา
เรียบเรียงจาก บทความของ Lyz Hart, LPCC “Demystifying Depth : An Introduction to Depth Psychology”


ทุกวันนี้ หากคุณเคยพยายามไปพบ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด อาจคุ้นเคยกับการกวาดตาผ่านโปรไฟล์ยาวเหยียดของพวกเขา เพื่อจะทำความรู้จักนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่คุณเลือกไปพบ ว่าจะทำงานกับคุณผ่านชุดความรู้ใด ไม่ว่าจะเป็น CBT, DBT, ACT, humanistic, somatic, Gestalt, person-centered, mindfulness-based, ฯลฯ หากคุณไม่คุ้นเคยกับทฏษฎีการให้คำปรึกษาทางจิตวิญญาณพวกนี้ด้วยแล้ว มันคงเป็นอะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ “เข้าไม่ถึง” ทว่าในบริบทสังคมที่ความต้องการด้านจิตวิทยามีสูงขึ้น และตลาดของผู้ให้บริการทางจิตวิทยาเปิดกว้างมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ควรศึกษาไว้บ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าแนวทางใดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

จิตวิทยาแนวลึก คืออะไร?

Depth Psychology หรือ “จิตวิทยาแนวลึก” เป็นคำที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย ออยเก็น บลอยเลอร์ อธิบายถึงแนวทางจิตวิทยาในการศึกษาเรียนรู้จิตใต้สำนึก

เป็นที่เข้าใจกันว่า จิตใต้สำนึก คือที่เก็บความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ นอกอำนาจหรือการรับรู้ของจิตสำนึก ในมุมมองของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ภายในจิตใต้สำนึกเป็นที่อาศัยของส่วนที่ถูกกดทับไว้ของจิตสำนึก แต่คาร์ล ยุง ผู้เป็นศิษย์ของฟรอยด์ มองต่างออกไป เขามองว่าจิตใต้สำนึกไม่ได้แค่เป็นที่อยู่ของส่วนที่ถูกกดทับเท่านั้น แต่ยังสนใจจิตใต้สำนึกร่วม (collective unconscious) อันประกอบด้วยต้นแบบ (archetype) หรือสัญลักษณ์สากล ที่ไปพ้นเส้นแบ่งทางวัฒนธรรม

นักจิตวิทยาที่มีอิทธิพลมากต่อพัฒนาการของ Depth Psychology คึอ คาร์ล กุสตาฟ ยุง และ อัลเฟรด แอดเลอร์

จิตวิทยาแนวลึกในการทำบำบัด

จิตวิทยาแนวลึกสำรวจจักรวาลจิตใต้สำนึก ผ่านเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ เช่น คำพูดที่เผลอพูดออกมา อารมณ์ขันฉับพลัน ความฝัน อาการทางกาย หรือความประจวบเหมาะของสถานการณ์ชีวิต ซึ่งอาจนำไปสู่การตระหนักรู้ถึงความคิด อารมณ์ หรือความทุกข์ที่ถูกกดข่มไว้ แล้วเปิดโอกาสให้เรานำด้านเหล่านั้นกลับสู่การตระหนักรู้

ขณะที่ทฤษฎีจิตวิทยาอื่นๆ มุ่งความสนใจไปที่จิตสำนึกรู้ พฤติกรรม ที่การกระทำที่แสดงออกให้เห็นชัดเจน นักจิตบำบัด “แนวลึก” เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงและการเยียวยาต้องการกระบวนการทำงานในระดับที่ลึกกว่า จิตวิทยาแนวลึกเสนอว่ากระบวนการทางจิตนั้นมีทั้งส่วนที่ concious (รู้ตัว) unconscious (ไม่รู้ตัว) และ semi-conscious (กึ่งรู้ตัว) ซึ่งนักจิตวิทยาแนวลึกสำรวจความคิด ความรู้สึก และแรงขับเคลื่อนที่อยู่ในแต่ละระดับ เพื่อเชื่อมต่อกับรากของประสบการณ์ความทุกข์

unsplash-image-Xk0DZSYv1ao.jpg


“It is said no tree can grow to heaven unless its roots reach down to hell”.
– Carl Gustav Jung

นี่คือภาพอุปมาอุปไมยอันทรงพลังของจิตวิทยาแนวลึก การที่ต้นไม้จะเติบโตจนสูงใหญ่และแข็งแรงได้ จำเป็นต้องแทงรากหยั่งลึกไปในผืนดินเพื่อสร้างสมดุลและความมั่นคง อีกทั้งเพื่อหาสารอาหารหล่อเลี้ยงบำรุงชีวิตผ่านชั้นดินที่ดิบ หยาบ มืด ดำ ทว่าอุดมสมบูรณ์ยิ่ง หากเรามองชีวิตเหมือนดั่งต้นไม้ โดยปกติแล้วเรามักแสวงหาการเติบโตและความเข้าใจผ่านโลกเหนือพื้นดิน (Conscious World) แต่กลับกลัวที่จะหยั่งรากลงไปในสิ่งที่เราไม่รู้ที่อยู่ข้างใต้เรา ลึกลงไปในผืนดินที่มืดและลึก บ่อยครั้งความกลัวนั้นทำให้เรารากลอย ตัดขาด ปิดกั้น และยึดมั่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และตัดขาดจากตัวตนที่แท้จริงของเราโดยสิ้นเชิง

นักจิตวิทยาแนวลึกช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่ซึ่งผู้รับบริการสามารถหยั่งรากแห่งการตระหนักรู้ลงไปในตัวตนระดับลึก ส่วนลึกของจิตใต้สำนึกที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่เอื้อต่อชีวิตใหม่ให้เติบโต

จิตสำนึกในระดับบุคคล และจิตสำนึกที่ไปพ้นบุุคคล (Personal & Transpersonal Consciousnes)

unsplash-image-oMpAz-DN-9I.jpg


นักบำบัดแนวลึกยังมีความสนใจความสัมพันธ์ระหว่าง personal consciousness (จิตสำนึกระดับบุคคล) กับ transpersonal consciousness (จิตสำนึกข้ามพ้นระดับบุคคล) เมื่อเราเชื่อมต่อลึกลงไปในโลกภายใน เราจะเข้าไปเชื่อมกับประสบการณ์ภายนอกและประสบการณ์ร่วมของมนุษยชาติ ดังนั้นในมุมมองของจิตวิทยาแนวลึก การทำงานกับตัวเอง คือการทำงานกับมนุษยชาติและกับโลกทั้งหมด ณ ทางแยกของความเป็นส่วนบุคคลและความไปพ้นบุคคล เราจะพบกับความหมายที่ลึกซึ้งของ “จิตวิญญาณ”

สัญลักษณ์ (Symbol) และ เทพปกรณัม (myth) ใน Depth Psychology

unsplash-image-H0xm3ggv_9M.jpg


คาร์ล ยุง คือคนแรกที่นำเสนอการมีอยู่ของ จิตใต้สำนึกร่วม (the collective unconscious) ซึ่งหมายถึง ความทรงจำและประสบการณ์ของมนุษยชาติแห่งปฐมกาล อันไปพ้นเงื่อนไขของยุคสมัยและวัฒนธรรม ดวงจิตทั้งหมด ชีวิตทั้งหมด ล้วนร่วมอยู่ในการเดินทางสูงสุดแห่งจิตวิญญาณอันเดียวกัน ในจิตวิทยาแนวลึก mythology ไม่ได้ถูกมองเป็นเรื่องเล่าโบราณ ทว่าเป็นภูมิปัญญาที่แฝงไว้ด้วยความเข้าใจอันรุ่มรวยแห่งมนุษยชาติ ที่สื่อสารออกมาผ่านการเล่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์ นักจิตวิทยาแนวลึกให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดต่อตำนานเรื่องเล่าที่เราบอกเล่าถึงชีวิตของตัวเอง รวมถึงภาพ และสัญลักษณ์ ที่โผล่ขึ้นมาในชีวิตของเรา นักบำบัดแนวลึกชอบที่จะให้สัญลักษณ์ หรือสิ่งของแทนความหมาย รวมทั้งความฝัน นิทาน ตำนาน ศิลปะ ดนตรี การเต้น และการแสดงออกทางร่างกายทุกรูปแบบ ในฐานะช่องทางในการรับรู้ข้อมูลที่กำลังเกิดขึ้นในจักรวาลจิตใต้สำนึก

unsplash-image-_mIXHvl_wzA.jpg

แม้แนวทางจิตวิทยาแนวลึกจะดูเป็นนามธรรมและไม่เป็นเส้นตรง ทว่ามันเกี่ยวข้องกับการลงลึกไปในประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์โดยไม่ตัดสิน และบ่มเพาะเซนส์ของการตื่นรู้ต่อความเร้นลับของชีวิต

คาร์ล ยุงกล่าวว่า “เป้าหมายเดียวของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือการจุดไฟในความมืดมิด แห่งการหยั่งรู้ในทุกมิติของชีวิต” และนั่นคือสิ่งที่นักจิตวิทยาแนวลึกปรารถนา

…การสร้างพื้นที่ ที่ซึ่งคุณจะสามารถพบกับเปลวไฟแห่งชีวิต หยั่งรากลงไปในความไม่รู้อย่างมั่นคง และสนับสนุนคุณให้เดินทางต่อ จากเสี้ยวส่วนที่แยกขาด สู่ความเต็มเปี่ยม และความเป็นทั้งหมด ของมนุษยชาติ