ศานติตารามหาสถูป : ศรัทธาและการอุทิศตนในสายสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีต่อครู

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

“มหาสถูปอันยิ่งใหญ่นี้ เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ที่มีต่อครู

พุทธศาสนาวัชรยานในประเทศไทยยังถือว่าไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ถ้าในอินเดียเรียกพุทธวัชรยานหรือตันตระว่าเป็นศาสนา underground แล้ว ที่นี่คงยังไม่ touch the ground เลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อวัชรสิทธาได้เดินทางมาเยี่ยม ศูนย์ขทิรวัน ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ภาวนาของมูลนิธิพันดาราที่ดำเนินงานโดย อาจารย์กฤษดาวรรณ และอาจารย์เยินเติ้น ทำให้เราประจักษ์ว่า พุทธธรรมวัชรยานกำลังหยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินไทยแล้ว

อาจารย์ทั้งสองท่านเรียกได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรกับวัชรสิทธาเสมอมา สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ คือการนำคำสอน แนวคิด และแก่นของพุทธวัชรยานเข้ามายังประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่ และสังคมแห่งการตื่นรู้ และพาให้ผู้คนตระหนักถึงเนื้อแท้อันดีงามที่มีอยู่แล้วภายใน ด้วยวิธีการและคำสอนที่ลึกซึ้งของพุทธธิเบตที่สืบทอดมาเนิ่นนาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ ของสังคมพุทธเถรวาท และแน่นอนว่าเส้นทางของพันธกิจนี้ไม่ได้ราบรื่น ต้องเจอกับการตั้งคำถามโจมตี ผู้คนที่ไม่เข้าใจว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ หรือภาพมายาคติลบๆ ที่มองเข้ามาต่อพุทธวัชรยาน 

ศานติตารามหาสถูป

ส่วนหนึ่งของเส้นทางการปักธงพุทธธรรมจากธิเบตลงบนผืนแผ่นดินไทย คือการสร้าง “พระมหาสถูป” ซึ่งมีความสูงถึง 72 เมตร ตระหง่านเคียงคู่กับภูเขาตระหง่าน บนที่ดินของศูนย์ขทิรวัน ณ บ้านหนองพลับ อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ อ.กฤษดาวรรณ 

ในครั้งนั้นที่วัชรสิทธาเดินทางไปเยี่ยมเยืยน เราได้มีโอกาสเดินขึ้นไปบนมหาสถูปที่กำลังก่อสร้าง คำพูดใดๆ ก็หายไปด้วยความตระการตาจากความใหญ่โตของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จินตนาการว่ากำลังเดินอยู่ในสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มากๆ และรับรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงตึกหรือฮอลล์การแสดง แต่คือมหาสถูปที่จะเป็นจุดรวมพลังงาน จุดรวมใจ และจุดรวมสิ่งมีค่าในทางปัญญา ทั้งพระพุทธรูปจากธิเบตมากกว่าพันองค์ ศิลปะ ประเพณี วิถีปฏิบัติ วัฒนธรรมและคำสอนของพุทธวัชรยาน รวมถึงกิจกรรมภาวนา และสายสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มาไว้ในที่เดียว เมื่อตระหนัก ก็ทำให้พวกเราที่พบเห็นรู้สึกทึ่งและชื่นชมกับความมุ่งมั่นตั้งใจของอาจารย์ทั้งสอง

อ.กฤษดาวรรณพาเดินชมพระพุทธรูปที่อยู่ในศาลาต่างๆ ในศูนย์ เล่าความหมาย ที่มาที่ไปของแต่ละองค์ให้พวกเราฟังและเล่าว่าพระพุทธรูปทั้งหมดนี้จะเข้าไปประดิษฐานอยู่ในมหาสถูปเมื่อสร้างเสร็จ องค์นี้จะอยู่ตรงซุ้มนี้ องค์นั้นจะไปอยู่ในบริเวณห้องนั้น พร้อมชี้ให้ดูโมเดลจำลองมหาสถูป อาจารย์เล่าภาพทั้งหมดให้ฟังจนรับรู้ได้ว่า สำหรับ อ.กฤษดาวรรณ มหาสถูปนี้สร้างสำเร็จไปเรียบร้อยแล้วในใจ

ความมหัศจรรย์ของสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่นี้ มาจากเจตจำนงอันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของ อ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เริ่มต้นทั้งหมดนี้โดยไม่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมใดๆ ไม่เคยรู้เรื่องการอยู่กับป่า หรือการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเลยแม้แต่น้อย จากความไม่มีอะไรเลยตรงนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้น ด้วยพลังแห่งสายสัมพันธ์และศรัทธาที่มีต่อครู

เส้นทางศักดิ์สิทธิ์สู่สายสัมพันธ์อันล้ำค่า

อ.กฤษดาวรรณเริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ที่สนใจภาษาและวัฒนธรรมธิเบต ความสนใจนี้พาอาจารย์เดินทางไปเรื่อยๆ ทั้งในการทำงานวิชาการ การเรียน และไปต่างประเทศ และได้พบท่านลาเซ รินโปเช ครูทางธรรม ผู้ที่ทำให้อาจารย์พาตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติวัชรยานอย่างเต็มตัว ห้วงขณะที่เจอกับครูของเธอนั้นเรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยพลัง การมีอยู่ และคำพูดของรินโปเชที่เข้ามาสัมผัสหัวใจ ทำให้ อ.กฤษดาวรรณ รู้ในทันทีว่า นี่แหละคือปฐมคุรุของเธอ

อาจารย์เล่าว่ารินโปเชได้มอบคัมภีร์ของสายธรรมมาให้ฝึก แล้วเธอก็รับมาฝึกไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงคำสอนแต่ละอัน แต่ละอัน ซึ่งแม้จะเป็นคำสอนที่มีมานานหลายร้อยปี แต่ความแยบยลก็ยังทำให้แม้จะเป็นยุคสมัยใหม่ บริบทใหม่ คำสอนเหล่านั้นก็ยังคงไว้ซึ่งสติปัญญาสูงสุด ดีงามพร้อมให้นำมาปฏิบัติได้อย่างไร้กาลเวลา และทำให้อาจารย์อยากจะนำพุทธธรรมนี้เข้ามายังประเทศบ้านเกิด พร้อมกับพันธกิจการสร้างมหาสถูปบนที่ดินที่หัวหินผืนนั้น

เมื่อได้เริ่มฝึกปฏิบัติแล้ว อ.กฤษดาวรรณ ก็ชื่นชอบห้วงเวลาที่ได้ฝึกภาวนามากๆ กระทั่งอยากจะเข้าจำศีลไปตลอดชีวิต แต่ครูของอาจารย์ก็ยื่นเงื่อนไขว่า หากจะจำศีลก็ไม่ต้องทำเป็นวัด ไม่ต้องสร้างสถูปหรือสิ่งปลูกสร้างอะไร เมื่ออาจารย์ตัดสินใจว่าจะสร้างสถูป รินโปเชก็บอกต่อไปว่าถ้าจะสร้าง ก็ต้องทำให้ใหญ่ไปเลย สร้างเล็กๆ ไม่ต้องสร้าง แบบจึงออกมาเป็นสิ่งก่อสร้างขนาด 72 เมตรที่กำลังดำเนินการอยู่ในวันนี้ 

จากอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ผู้หญิงที่มีความหลงใหลในพุทธธิเบต ตามแรงศรัทธาที่มีต่อพระธรรมคำสอน สู่การปักธงพุทธธรรมธิเบตอันยิ่งใหญ่นี้ ตลอดเวลาที่อยู่กับ อ.กฤษดาวรรณ และได้ฟังเรื่องเล่าหรือเดินชมศูนย์ขทิรวัน เรารับรู้ได้เลยว่าทั้งหมดที่เธอทำ มีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น นั่นคือการสร้างมหาสถูปให้เป็นหมุดหมายแห่งการเผยแผ่พุทธวัชรยานในดินแดนนี้ เป็นพันธกิจชีวิตที่ทำร่วมกันกับครูอย่างชัดเจนไร้ข้อกังขาใดๆ 

หากใครติดตามอ.กฤษดาวรรณ แน่นอนว่าจะเห็น อ.เยินเติ้น อยู่ด้วยเสมอ อาจารย์จากธิเบตท่านนี้เป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างการทำงานทางธรรมทั้งหมดมานานกว่า 20 ปี

อาจารย์เล่าว่า ลำพังคนเดียวไม่สามารถดำเนินงานทั้งหมดนี้ได้ รินโปเช ครูของอาจารย์ก็บอกให้เยินเติ้นมาช่วยที่เมืองไทย อ.เยินเติ้นผู้เป็นพระอยู่ที่วัดนั้น บวชมากว่า 20 ปี จึงทิ้งทุกอย่าง บ้านเกิด ความคุ้นเคย ครอบครัว วัด เพื่อมาช่วย อ.กฤษดาวรรณ ทำพันธกิจนี้ และด้วยความรู้ที่สั่งสมมา ไม่ว่าจะเรื่องพิธีกรรม วัฒนธรรม ความรู้เรื่องศิลปะ การก่อสร้าง ไปจนถึงการดูแลผู้เข้าจำศีล อ.เยินเติ้น มอบสิ่งที่ตนมีทั้งหมดในชีวิต เพื่อให้เกิดศูนย์ขทิรวันแบบที่เราเห็นในวันนี้ เรียบร้อย มีระบบระเบียบ การจัดการที่หมดจด เป็นสถานที่ที่ดีงามแก่การเข้ามาสัมผัสคำสอนของสายธรรมวัชรยาน

อ.กฤษดาวรรณ และ อ.เยินเติ้นเป็นตัวแทนแห่งสายสัมพันธ์และศรัทธาอันลึกซึ้งที่มีต่อครู เรารู้สึกซาบซึ้งในความศรัทธา ความรัก และความศักดิ์สิทธิ์ที่เห็นประจักษ์อยู่ตรงหน้านี้ ทุกสิ่งที่ทั้งคู่ทำ เป็นการทำเพื่อมอบถวายแด่ครู ทำเพื่อร่วมพันธกิจกับครู ด้วยเจตจำนงที่บริสุทธิ์ งดงาม หมดจด ไม่มีข้อสงสัย ไม่มีการหาประโยชน์หรือชื่อเสียงเข้าตัว สัมผัสไม่ได้ด้วยซ้ำ ถึงความเหนื่อยล้าหรือท้อถอยถอดใจ 

อ.เยินเติ้นเล่าว่า ตอนที่เดินทางออกจากธิเบตบ้านเกิดเพื่อมาช่วยที่ไทย แกไปกล่าวลาแม่ และบอกว่า “ไม่ต้องสนว่าใครจะพูดอะไร ไม่ต้องสนว่าสิ่งที่ทำนี้มันผิดแผก บ้าบอรึเปล่า แค่ดูว่าสายสัมพันธ์กับครูยังดีอยู่รึเปล่า ถ้าดี แปลว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องและดีงาม” 

เมื่อรับพันธกิจมาแล้วการปฏิบัติการก็เริ่มต้นขึ้น ลองจินตนาการว่าจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง แค่บ้านเดี่ยวสักหลัง ยังยากว่าจะเริ่มต้นยังไง นี่คือมหาสถูปขนาด 72 เมตร จะทำอย่างไร เอาเงินมาจากไหน อ.กฤษดาวรรณก็เดินทางไปกับความไม่รู้ ค่อยๆ สร้างทุกอย่างขึ้นมา ไม่รู้เรื่องก่อสร้าง ก็หาวิศวกรมาช่วย ไม่รู้เรื่องการอยู่กับพื้นที่ ก็ค่อยๆ เรียนรู้จากคนแถวนั้น ไม่รู้วิธีสอนธรรมะ ก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ความผิดพลาด อุปสรรค ล้วนเป็นของธรรมดาที่ทั้งคู่พบเจอ แต่ก็สามารถเผชิญได้ เรียนรู้ได้ ผ่านไปได้ ด้วยความมุ่งมั่นและพลังศรัทธา 

“แม้มีผู้ปฏิบัติเพียงหนึ่งคน พุทธธรรมก็ยังมีชีวิต ยังดำรงอยู่ได้”

ไม่ใช่เพียงความยากในการทำงาน แต่ในความสัมพันธ์ระหว่าง “พุทธอีกแบบนึง” กับผู้คนในไทยที่มีภาพและความคุ้นเคยกับศาสนาพุทธในประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน มูลนิธิพันดาราต้องรับแรงกระแทกจากมายาคติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกมองว่าไม่ใช่พุทธแท้ พุทธเพินไม่ใช่พุทธแต่เป็นศาสนาผีพื้นบ้าน วัชรยานเป็นพุทธอภินิหาร เป็นเวอร์ชันพุทธธรรมบิดเบือน และอีกสารพัดสิ่งทั้งต่อหน้าและลับหลัง 

เมื่อศาสนาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของสังคม ประเด็นเรื่อง “แท้ – ไม่แท้” ก็ยังเป็นดราม่าอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอ ศาสนาพุทธต่างนิกาย ศาสนาแม่มด ความเชื่อท้องถิ่น ทั้งหมดนี้มักถูกดูถูกหรือครหาจากศาสนาหรือความเชื่อกระแสหลัก “ยุงตรุงเพิน” พุทธธิเบตสายที่อ.กฤษดาวรรณฝึกฝนเรียนรู้มา เรียกได้ว่าเป็นสายที่ถูกมองด้วยอคติและข้อกังขามากที่สุดสายหนึ่งของดินแดนนั้น แม้แต่ตัวอาจารย์เอง เมื่อครั้งที่เจอ อ.เยินเติ้นครั้งแรก และรู้ว่า อ.เยินเติ้นเป็นพระสายเพิน ก็ยังไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะถืออคตินี้ในตอนนั้น

กล่าวกันว่า ยุงตรุงเพินไม่ใช่พุทธ แต่เป็นศาสนาเพินเองซึ่งเป็นเหมือนศาสนาพื้นถิ่นของธิเบตก่อนที่พุทธจากอินเดียจะเข้ามา เทียบเป็นเหมือนศาสนาผี ผู้คนมักไม่ยอมรับว่าเพินคือพุทธ แต่เมื่อ อ.กฤษดาวรรณได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ ก็พบว่าแท้จริงแล้วนี่ก็คือพุทธ คำสอน ศิลปะ พิธีกรรมต่างๆ ก็ล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดคือ เพินก็มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงโพธิจิต ทำงานกับอัตตาตัวตน บ่มเพาะความรัก ความกรุณา และความดีงามพื้นฐาน ซึ่งนั้นจะไม่เรียกว่าศาสนาพุทธได้อย่างไรกัน

อย่างไรก็ตามแม้ตัวเราจะเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ แต่คนรอบข้างก็ยังพร้อมที่จะเข้ามากระทบกระทั่งด้วยมุมมองลบๆ ความไม่รู้ และความคิดตัดสินทั้งหลาย วิธีที่อาจารย์ทั้งสองรับมือคือความมั่นคง ตั้งมั่นในสิ่งที่ทำและทำต่อไปเรื่อยๆ นั่นจะพิสูจน์ข้อกังขาและตอบคำถามของผู้คนไปเอง

ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ คนไทยและคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจพุทธวัชรยาน จากสังคมที่พื้นที่ศาสนาแบบเดิมๆ ไม่ฟังก์ชั่นอีกต่อไป แต่ความอันตรายอย่างหนึ่งคือ วัชรยานพูดเรื่องพลังและอำนาจ (power) ในพระปางต่างๆ หรือในวิธีการฝึก ดังนั้นความน่าตื่นตาตื่นใจนี้อาจทำให้ผู้คนที่เพิ่งเริ่ม เข้าใจผิดและหลงไปได้ วัชรยานอาจถูกรวมเข้ากับสายมู หรือสายพลังงานที่เป็นจิตวิญญาณสมัยนิยม 

“หัวใจสำคัญของวัชรยานคือ การฝึกโพธิจิต ถ้าจะเอาแต่เรื่องอภินิหารมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา”

อ.กฤษดาวรรณ กล่าว

อ.กฤษดาวรรณและอ.เยินเติ้นเป็นดั่งตัวแทนของภาพฆราวาสที่ทำการงานทางธรรมแบบฟูลไทม์ และทำงานกับพื้นที่จริง สร้างสถานที่แห่งพุทธะขึ้นมาจริงๆ ด้วย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเคารพในตัวอาจารย์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมที่จริงแท้ อ่อนน้อมเคารพในสายสัมพันธ์ที่มีต่อครู ในฐานะพื้นฐานในการสัมพันธ์กับทุกสิ่ง

ขอให้พันธกิจของอาจารย์สำเร็จลุล่วง และขอให้คำสอนที่งดงามเหล่านั้นเบ่งบานในแผ่นดินนี้


***ร่วมสนับสนุนโครงการก่อสร้างศานติตารามหาสถูป ของมูลนิธิพันดารา
สามารถโอนสนับสนุนไปได้ที่บัญชี มูลนิธิพันดารา กสิกรไทย เลขที่ 391-2-66998-9
หรือ ไทยพาณิชย์ เลขที่ 038-4-31667-8 หรือ ติดต่อทาง fb.com/1000tara