“ก้าวย่างบนร่างกาย” : บทเรียนจากคำสอนหินยานและมหายาน ณ รีทรีทปลายปีวัชรสิทธา

บทความโดย คณพล วัชรสิทธา


“พวกเราส่วนใหญ่เป็นคนแปลกหน้าของชีวิตเราเอง เราจึงต้องการวิธีการที่ชัดเจนในการนำความตระหนักสู่จากระดับพื้นผิวซึ่งก็คือการรับรู้ต่อชีวิตที่เราใช้อยู่ ลงไปสู่ “ความลึก” ของร่างกายและชีวิตจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้น ณ ที่นี่ และ ณ ขณะนี้ วิธีการที่เราฝึกเต็มไปด้วยการภาวนาที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ และเทคนิคปฏิบัติที่ฝึกทั้งเรื่องสติและความตระหนักรู้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของธรรมเนียมปฏิบัติแบบวัชรยาน ในสายธรรมนี้ เราเรียกคำสอนเกี่ยวกับร่างกายว่า “somatic spirituality” ซึ่งหมายถึงจิตวิญญาณแห่งร่างกาย”

เรจินัลด์ เรย์

ในรีทรีทปลายปี 2566 ของวัชรสิทธา ที่จัดโดยกลุ่มชุมชนสังฆะ ได้แบ่งการฝึกปฏิบัติของออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ วันที่ 1-5 จะเป็นการปฏิบัติบนคำสอนหินยานและมหายาน หลังจากนั้นคือวันที่ 6-12 จะเป็นการเรียนรู้วิถีของนับรบชัมบาลา ในบทความนี้เราจะเล่าถึงคำสอนและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในรีทรีทช่วงต้น ซึ่งเป็นเนื้อหาของหินยานและมหายาน อันเป็นชุดคำสอนที่ต่อเนื่องกัน และมีพัฒนาการเชิงความเข้าใจของเราต่อโลกและความเป็นจริงที่ลึกซึ้ง งดงาม

ทุกคำสอน และทุกการปฏิบัติที่ วิจักขณ์ พานิช ครูภาวนาของรีทรีทครั้งนี้นำมาสอน ล้วนเป็นธรรมะซึ่งถูกส่งต่อกันมาในสายธรรมปฏิบัติ โดยมีเชอเกียม ตรุงปะ และ เรจินัลด์ เรย์ เป็นครูคนสำคัญที่ทำให้คำสอนเหล่านี้มีชีวิต สีสัน และเข้าถึงได้อย่างเป็นสากล ในสายธรรมนี้มีคำสอนที่เฉพาะตัวและจุดเด่นมากมาย หนึ่งในนั้นคือวินัยแห่งการตระหนักรู้ในร่างกายของเรา

คำกล่าวนำในข้างต้นของเรจินัลด์ เรย์ จากหนังสือ The Awakening Body จึงเป็นการอธิบายถึงหัวใจของคำสอนและการปฏิบัติในรีทรีทนี้ได้เป็นอย่างดี การกลับมาที่ร่างกายคือวินัยพื้นฐาน ที่ไม่ว่าคำสอนหรือแบบปฏิบัติจะพาเราไปสัมพันธ์หรือมีประสบการณ์แบบใดก็ตาม การเดินทางบนเส้นทางจิตวิญญาณของสายธรรมนี้จะเดินไปพร้อมกับเนื้อตัวของร่างกายเสมอ

เพราะปัญญาญาณแห่งการรู้แจ้ง ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ในร่างกายของเรานี้เอง

กองไฟ มนตรา และภาชนะในท้องน้อย

พื้นฐานในการภาวนาแบบที่ วิจักขณ์ พานิช ครูภาวนาประจำรีทรีทครั้งนี้สอนมาโดยตลอดคือการภาวนาด้วยความตระหนักในรู้ร่างกาย หรือ ในภาษาทั่วไปก็คือการ “รู้เนื้อ รู้ตัว” อยู่ตลอดเซสชั่นการภาวนา ไม่ว่าเราจะเดิน นั่ง นอน หรือกำลังฝึกฝนเทคนิคภาวนาใดก็ตาม เราจะต้องไม่ลืมพื้นฐานสำคัญอันนี้ เราจะต้องรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราเสมอ

ครั้งหนึ่ง วิจักขณ์ เคยแนะนำผู้ฝึกภาวนาว่า “ประสบการณ์ภาวนาใดๆ ที่ไม่ยึดโยงอยู่กับความรู้สึกทางกาย มีโอกาสสูงมากที่มันจะเกิดขึ้นมาจากอัตตาหรือจินตนาการของเรา” ประโยคนี้บอกกล่าวเป็นนัยว่า ถ้าประสบการณ์ทั้งหมดไม่ได้มีปฏิกิริยาทาง “ตัว” ก็มีแนวโน้มว่ามันล้วนมาจาก “หัว”

ทำไมความรู้สึกทางกายถึงเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติภาวนา?

เพราะโดยส่วนใหญ่ เราใช้ชีวิตอย่างไม่รู้ตัวว่าร่างกายของเรามีส่วนร่วมอย่างมากในทุกๆ ประสบการณ์ของชีวิต ไม่ว่ายามเศร้า โกรธ เครียด หวาดกลัว ตื่นเต้น ฯลฯ ร่างกายล้วนรับรู้และมีปฏิกิริยาบางอย่างเกิดขึ้นเสมอ การนั่งลงและภาวนาเป็นกระบวนการที่เราได้อยู่กับประสบการณ์ต่างๆ อย่างตระหนักรู้ถึงทั้งหมดของตัวเรา เราจึงต้องไม่ปล่อยให้ความตระหนักรู้นั้นเกิดขึ้นเพียงในความคิดเท่านั้น เพราะร่างกายก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นทั้งหมดของเราด้วย มากไปกว่านั้น การมีพื้นฐานของการภาวนาที่ตั้งอยู่บนร่างกายจะช่วยให้เรามีพื้นที่ในการภาวนาที่กว้างขวางขึ้น เราสามารถฝึกที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่พ้นไปจากความคิดแต่เป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ณ ขณะนั้น บางครั้งมันอาจเป็นความรู้สึกที่ หรือความเข้มข้นบางอย่างที่ไม่อาจอธิบาย เราเพียงแค่รับรู้สิ่งเหล่านั้นด้วยร่างกายโดยไม่หลีกเลี่ยง

วินัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของการภาวนาคือการรับรู้เฉยๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นระหว่างเซสชันภาวนา เราเพียงรู้เฉยๆ และไม่พยายามปรุงแต่งหรือคิดต่อไปจากการรับรู้เฉยๆ นั้น ด้วยวินัยเช่นนี้ เราจึงจะสามารถมีประสบการณ์ที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของความคิดล่วงหน้าหรือการคิดวิเคราะห์ใดๆ ราวกับว่าร่างกายของเราเป็นภาชนะที่สามารถรองรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด

ในรีทรีท วิจักขณ์ชวนให้พวกเราทำความรู้จักกับการตระหนักรู้ในร่างกายผ่านจุดต่างๆ เช่น จุดดิน (ฝีเย็บ) จุดหยิน (บริเวณท้องน้อย) จุดบริเวณลิ้นปี่ และจุดบริเวณหัวใจหรือหน้าอก จุดเหล่านี้ล้วนเป็นจุดที่มีความเปราะบางทางกายภาพ ซึ่งละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เราสำรวจจุดเหล่านี้โดยใช้ลมหายใจที่ผ่านไปยังจุดเหล่านั้น และสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ในแต่ละจุดเราอาจเกิดความรู้สึกทางกาย และมวลอารมณ์บางอย่างแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นความอัศจรรย์ของร่างกายที่ชักชวนให้เราสำรวจลึกลงไปเรื่อยๆ

หลังจากผ่านการสำรวจจุดต่างๆ ของร่างกายแล้ว เราจะเริ่มมีมุมมองต่อร่างกายที่เปลี่ยนไป เราอาจมองเห็นว่าร่างกายนี้มีลักษณะที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีทั้งความลึกและความกว้าง มันเป็นการรับรู้ที่เกินกว่าการมองเห็นเชิงกายภาพ และบางครั้ง เราก็เริ่มที่จะแยกไม่ออกว่าความรู้สึกทางกายนั้นเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกร่างกายกันแน่ ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ เราอาจเริ่มมองเห็นร่างกายของเราเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้ผิวหนัง

ถึงจุดหนึ่ง วิจักขณ์ได้ชวนให้ผู้ภาวนาสร้างจินภาพของภาชนะหรือหม้อใบใหญ่ ณ จุดที่บริเวณท้องน้อย ซึ่งเราจะใส่ความคิด ความรู้สึก หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นระหว่างภาวนาลงไปในหม้อใบนี้ ซึ่งวิจักขณ์ได้อธิบายต่อว่าการเป็นภาชนะ จริงๆ แล้วก็คือการที่เรามีพื้นที่ที่อนุญาตให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรกับมัน

จากนั้นวิจักขณ์ได้เชื้อเชิญให้ผู้ภาวนาลองนำเอาความตระหนักรู้ไปยังพื้นที่นอกร่างกายดูบ้าง โดยการค่อยๆ หยั่งความตระหนักรู้ของเราลงไปใต้ผืนดินผ่านจุดดิน การภาวนาด้วยจินตภาพนี้ เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสถึงร่างกายในมิติที่ลึกลงไป การหยั่งความตระหนักรู้ลงไปในผืนดินอาจฟังดูน่าฉงนในทีแรก แต่บนเบาะภาวนาเราไม่จำเป็นต้องกังวลกับความสมเหตุสมผลหรือการคิดวิเคราะห์สิ่งใดมากนัก เรามีสิทธิในการทดลอง และปล่อยให้สัญชาตญาณนำเราไปยังดินแดนใหม่ๆ พร้อมไปกับการนำภาวนาของครูได้

ระหว่างการหยั่งความตระหนักรู้ลงสู่ผืนดินหรือพื้นที่เปิดกว้างอันลึกลับ เราอาจพบว่าร่างกายของเรามีปฏิกิริยาโต้ตอบบางอย่างต่อพื้นที่ที่เราไม่รู้จักมาก่อน แต่ก็เช่นเคย เราเพียงรับรู้เฉยๆ แล้วปล่อยมันไป ระหว่างการดำดิ่งลงสู่เบื้องล่าง วิจักขณ์ชวนให้เรามองหาหรือจินตภาพถึงกองไฟกองเล็กๆ ที่เต้นรำอยู่ ณ จุดที่ลึกที่สุดใต้ผืนดิน จากนั้นให้รู้สึกถึง Heat หรือความร้อนที่แผ่ออกมาจากกองไฟกองนั้น

“โอม ปัดโมโยกีนี จญานา วาราฮี ฮุม”

ในบางช่วงของการภาวนา การใช้มนตราเช่นมนตราโยกีนีบทนี้ ช่วยให้เราสามารถอยู่กับสภาวะขณะนั้นได้นานยิ่งขึ้น เพราะการท่องมนต์ในจังหวะที่เหมาะสมทำให้เราปล่อยจากความคิดมาอยู่กับเสียงมนตราที่เชื่อมร้อยเราเข้ากับประสบการณ์ ณ ขณะนั้น

เมื่อเราได้รู้จักกับกองไฟ มนตรา และภาชนะในท้องน้อย เราก็แทบจะมีเครื่องมือที่ครบครันแล้วสำหรับการฝึกเพื่อรู้จักกับร่างกายของเราให้มากขึ้น หากจะมีอีกสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม นั่นคือการฝึกที่จะสัมพันธ์กับช่องกลางกาย วิจักขณ์ ใช้คำว่าให้เรานึกว่ามีหลอดที่ยาวจากกระหม่อมลงไปยังจุดดินเป็นเหมือนกับความว่างที่เป็นแกนกลางของร่างกายเรา ซึ่งเราสามารถใช้ช่องกลางกายนี้ร่วมกับจินตภาพก่อนหน้า คือกองไฟ และหม้อในท้องน้อย โดยตระหนักรู้ว่าภาชนะคือพื้นที่แห่งการอุ้มสภาวะทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยมีความอุ่นจากไฟค่อยๆ ทำให้มันคลี่คลายตัวของมันเอง และจากนั้นเรายังมีช่องกลางกายที่ว่างโล่งเป็นพื้นที่ให้กับทุกสภาวะที่สลายตัวแล้วระเหยกลายเป็นไอกลับไปสู่ธรรมชาติ

สิ่งสำคัญที่เราตระหนักรู้อยู่เสมอก็คือ ไม่ว่าเราจะฝึกภาวนาด้วยจินตภาพที่มีสีสันแค่ไหนก็ตาม เราไม่ได้กำลังทำในสิ่งที่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้คือการทำงานกับร่างกายในมิติที่ลึกซึ้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงร่างกายที่เราเคยคิดว่ามันเป็น แต่เป็นร่างกายอันไพศาลที่เรียกว่า SOMA พื้นที่แห่งความตระหนักรู้ของประสบการณ์ ที่อนุญาตให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคลี่คลายตัวของมันเองได้

แล้วด้วยเทคนิควิธีการภาวนาทั้งหมดนี้ เราเรียนรู้ไปเพื่ออะไร?

วินัยแห่งการอยู่ตรงนั้น(ไม่หนี)

“ผมอยากจะชวนให้พวกเราได้มา connect กับสิ่งที่เป็นเส้นทางของเราจริงๆ มากขึ้น ทำงานกับตัวเราเอง ยอมรับสิ่งที่เราเป็น ได้รู้จักเส้นทางและสถานการณ์กรรมของตัวเอง เราเกิดมาทำไม เราจะเอาเศษเสี้ยวส่วนต่างๆ ที่เราอาจจะยอมรับบ้างไม่ยอมรับบ้าง กอบมันเข้ามา เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าใจ personal journey ของเรา” วิจักขณ์ พานิช อธิบายถึงจุดเริ่มของการเดินทางบนเส้นทางจิตวิญญาณ ที่เริ่มต้นจากการนำเอาทุกอย่างของเรามาคลี่กางออก

ถึงที่สุดแล้ว หินก้าวบนเส้นทางจิตวิญญาณไม่ใช่อื่นใดนอกจากกรรมของเรา มันเป็นทั้งสิ่งที่เราเป็น สถานการณ์ในชีวิต ความทุกข์-ความสุขที่เราประสบ มันจึงสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะได้มีช่วงเวลาในการหันกลับมามองชีวิตของเราเอง และทำความรู้จักมันอย่างที่มันเป็น เพื่อมองให้เห็นเส้นทางอันเฉพาะตัวที่เรามีอยู่แล้วในชีวิตนี้

หลายเทคนิคการภาวนาที่เราฝึกในคำสอนหินยาน จึงมีจุดที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือการช่วยบ่มเพาะศักยภาพในการ “การอยู่ตรงนั้นโดยไม่หนี” หรือ “การอุ้ม” ประสบการณ์ สถานการณ์ และความรู้สึก อย่างวางใจและไว้ใจ

การอยู่ตรงนั้นโดยไม่หนีสำคัญยังไง?

ในคำสอนหินยาน ได้กล่าวถึง “มุมมองการรับผล” ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยง การรับผลก็คือการรับผลของการกระทำในอดีต หรือผลกรรมของเรานั่นเอง ดังนั้นแล้ว การที่เราสามารถฝึกฝนการอยู่ตรงนั้นกับผลกรรมของเราได้ จะทำให้เราไม่บ่ายเบี่ยงออกไปจาก “เส้นทาง” หรือก็คือเราเลิกที่จะวิ่งหนีผลกรรมด้วยรูปแบบความเคยชินเดิมๆ จากนั้นเราจะเพิ่มพูนกำลังใจรวมถึงความมั่นใจในการปล่อยให้ผลของกรรมได้คลี่คลายตัวของมันเอง ไม่ว่ากรรมนั้นจะหนักหน่วงหรือเข้มข้นเพียงใดก็ตาม

กล่าวได้ว่าการอยู่ตรงนั้นหรือการโอบอุ้มผลกรรมอย่างไม่หลีกเลี่ยง นอกจากจะทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว มันยังเป็นกระบวนการที่คลี่กรรมต่างๆ ของเราให้จางคลายลงไปด้วย และผลพลอยได้จากการฝึกที่จะอยู่กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นผลที่มาจากอดีต สภาวะในปัจจุบัน หรือสิ่งที่จะกำลังจะเกิดในอนาคต คือการที่เราจะมีวินัยแห่งการไม่หนี เราจะเริ่มบ่มเพาะคุณสมบัติของความกล้าหาญในการเผชิญกับสิ่งที่เป็นขอบของตัวตน โดยไม่ปิดตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงอย่างในอดีต การเริ่มต้นทำงานกับตัวเองเช่นนี้ เป็นพื้นฐานอันสำคัญในการเรียนรู้คำสอนลำดับถัดไป นั่นคือคำสอนมหายาน ซึ่งเป็นหนทางแห่งความเปิดอันไร้ขอบเขต

มีพื้นที่ว่างให้กับทุกสิ่งเสมอ

ในช่วงกลางถึงท้ายของรีทรีทผลัดแรก วิจักขณ์ได้ขยับเกียร์หมุนกองล้อพระธรรมฯ จากคำสอนหินยานสู่คำสอนมหายาน ในการหมุนกงล้อพระธรรมครั้งที่สองนี้ มีพระสูตรที่สำคัญที่สุดพระสูตรหนึ่งนั่นคือ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ขยายความเข้าใจเรื่อง “สภาวะธรรม” ซึ่งเป็นแก่นคำสอนอย่างหนึ่งของหินยานว่าแท้จริงแล้วคือ “ความว่าง” ทั้งสิ้น

“หัวใจของคำสอนมหายานคือความว่าง” วิจักขณ์เน้นย้ำ

แล้วการเรียนรู้เรื่องความว่างนี้มีความสำคัญอย่างไร?

อย่างหนึ่งคือความว่าง ชี้ให้เราเริ่มมองเห็นว่ามันมีธรรมชาติบางอย่างที่เป็น “พื้น” ของสิ่งปรากฏต่างๆ ซึ่งมุมมองเช่นนี้ ทำให้เราทั้งหมดไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยในระดับมูลฐาน สิ่งของ สัตว์ ธรรมชาติ ประสบการณ์ อารมณ์ ความคิด ทุกอย่างล้วนแต่มีธรรมชาติเดียวกันนั่นคือความว่าง

แต่มากไปกว่าความเข้าใจเชิงความคิด เรายังสามารถฝึกที่จะทำงานกับความว่างระดับประสบการณ์ได้ด้วย วิจักขณ์แนะนำว่าสามารถเรียนรู้ว่ากรรมทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาในประสบการณ์ของเรา ล้วนแต่มีธรรมชาติที่ว่างจากตัวตนทั้งสิ้น และเราสามารถใช้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในฐานะ “โอกาส” ที่จะทำให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติที่จริงแท้ของสรรพสิ่ง ซึ่งก็คือความว่างนั่นเอง

จากวินัยแห่งการ “อยู่” กับทุกสภาวะของหินยาน ในขั้นนี้เราเริ่มต้นที่จะตระหนักว่ามันมีบางสิ่งที่มีคุณสมบัติเป็นพื้นที่ที่รองรับให้สภาวะเหล่านั้นปรากฏขึ้น หนึ่งในแบบฝึกหัดที่วิจักขณ์แนะนำในรีทรีทก็คือ เมื่อยามที่เดินภาวนา ให้ลองตระหนักถึงพื้นที่รอบๆ เท้าของเรา การทำเช่นนี้อาจทำให้เราสัมผัสได้ว่าทุกย่างก้าวถูกรายรอบไปด้วยพื้นที่ที่เปิดกว้างที่อนุญาตให้เราขยับเท้าไปข้างหน้า หลังจากนั้นเราสามารถใช้ท่าทีเดียวกันนี้ในการสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความเจ็บระหว่างการนั่งภาวนา ความเบื่อ ความง่วง ทุกความรู้สึกล้วนมีพื้นที่ว่างอันเปิดกว้างรายรอบอยู่เสมอ ท่าทีเช่นนี้ย่อมรวมไปถึงการทำงานกับความคิด ทุกความคิดที่ผุดพรายขึ้นมาในหัว ก็ผุดขึ้นมาโดยมีพื้นที่ว่างที่อนุญาตให้มันเกิดขึ้น

ด้วยแบบฝึกหัดนี้ เราจะไม่ identify ตัวเองกับสภาวะที่เกิดขึ้น แต่เราจะเห็นว่าตัวเองคือ “พื้นที่” ที่มีสิ่งต่างๆ ปรากฏขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประสบการณ์ตรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชี้ไปยังธรรมชาติหรือพื้นอันเป็นความว่างของเรา และเปิดโอกาสให้เราได้ทำความรู้จักกับ “what we really are” ซึ่งเป็นแก่นแกนสำคัญในการปฏิบัติขั้นมหายาน

ความว่างจึงทำให้เราเรียนรู้ที่จะเปิดตัวเองออกอย่างไร้เงื่อนไข เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราต้องพยายามหลบอีกต่อไป เนื่องด้วยความกลัวที่เคยกั้นขวางเรากับประสบการณ์ต่างๆ ก็ล้วนเป็นความว่างเช่นเดียวกัน เมื่อเราไม่กลัวที่จะเปิดออกสู่พื้นที่ใหม่ๆ ของประสบการณ์ เราจะพบว่าชีวิตช่างกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยสีสันที่เราเข้าไปสัมผัสหรือ “เต้นรำ” ด้วยได้ ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะบวกหรือลบก็ตาม

เมื่อเราได้สัมพันธ์กับความว่างจากประสบการณ์ มุมมองที่เรามีต่อโลกจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จากโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ที่เราต้องใช้ความอดทนในการอยู่กับสถานการณ์ มุมมองใหม่นี้จะนำพาความรื่นรมย์ ความไม่ยึดติดกับสภาวะใดสภาวะหนึ่งมาให้กับเรา

มากไปกว่านั้น มุมมองเช่นนี้ ยังทำให้เรามีศักยภาพที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย การที่เราไม่ยึดติดอยู่ในตัวตนแคบๆ ที่เต็มไปด้วยนิยามว่าเราเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นเราไม่ชอบ ฯลฯ แล้วออกมาสู่พื้นที่กว้าง ทำให้เรามีความเหลือเฟือของพื้นที่แห่งประสบการณ์ ที่เราสามารถใช้เพื่อเปิดรับสิ่งต่างๆ และปล่อยให้มันเป็นไปอย่างไร้เงื่อนไข เราสามารถเป็นผู้ฟังที่ไม่ตัดสินเรื่องเล่าของเพื่อน เราสามารถรับรู้และรู้สึกไปกับความทุกข์ของผู้อื่นได้ด้วยการดำรงอยู่เคียงข้างเขาอย่างเปิดกว้าง เราสามารถเป็นคนที่ยืนหยัดต่อสิ่งดีงามโดยไม่รู้สึกคับแคบหรือกดดันแม้ว่าใครจะไม่เข้าใจ

ทองเลน – เวทมนตร์แห่งการแปรเปลี่ยน

มีแบบฝึกหัดหนึ่งที่วิจักขณ์ชวนผู้เข้ารีทรีททำด้วยกัน นั่นคือการทำทองเลน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการภาวนาที่สัมพันธ์กับความทุกข์ของผู้อื่น โดยการทำลองเลนมีขั้นตอนอยู่ 4 ขั้นตอน

ขั้นแรกให้เราสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างแห่งความตระหนักรู้บริเวณท้องน้อย และรู้สึกถึง heat ที่อยู่ตรงนั้น ต่อมาคือการตั้งจินตภาพของควันขึ้น โดยเราจะหายใจเข้าเป็นควันสีดำพร้อมกับรู้สึกถึงประสบการณ์ของความอึดอัด แน่น ทึบ ที่เข้ามาพร้อมกับควันนั้น จากนั้นเราจะหายใจออกเป็นควันสีขาวพร้อมกับส่งความโล่งโปร่งและเบาสบายออกไป

สองขั้นตอนแรกคล้ายกับเป็นการทดสอบระบบ ต่อมาในขั้นที่สาม เราจะนึกถึงเหตุการณ์จริงที่เป็นความทุกข์ของผู้อื่น อาจเป็นทุกข์ของคนใกล้ตัว คนในสังคม หรือคนทั้งโลกก็ได้ แล้วเราจะต้อนรับทุกข์เหล่านั้นเข้ามาในตัวเราอย่างยินดีผ่านการจินตภาพความทุกข์เป็นควันสีดำ แล้วหายใจเอาควันเหล่านั้นเข้ามาอย่างอ่อนโยน จากนั้นจึงหายใจออกไปเป็นคุณสมบัติของความรัก ความกรุณา และความไว้วางใจ

ระหว่างการหายใจเข้าเป็นควันดำ และหายใจออกเป็นควันขาว วิจักขณ์ชวนให้เราลองสังเกตเพิ่มว่า มันมีกระบวนการอะไรที่แปรเปลี่ยนควันดำเหล่านี้ให้กลายเป็นควันสีขาว มีประสบการณ์แบบไหนเกิดขึ้นในร่างกาย และมีอะไรบ้างที่ทำให้การแปรเปลี่ยนความทุกข์เป็นความรักเกิดขึ้นได้ จากนั้นในขั้นตอนสุดท้ายเราจะสลายทุกอย่างทั้งควันดำและควันขาวไปสู่ความว่าง

ประสบการณ์ในการทำทองเลนนั้นมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ในมุมที่ว่าเราสามารถที่จะรับเอาความทุกข์ของผู้อื่นเข้ามาในหัวใจของเราได้ ครูภาวนาใช้คำว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ซึ่งก็เป็นความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ การเอาใจของผู้อื่นมาใส่ในใจของเราทำให้เรา ground ทำให้หัวใจของเราอ่อนนุ่ม ทำให้ความแข็งกร้าวของเราเบาบางลง เพราะมันเป็นประสบการณ์แห่งความเชื่อมโยงที่ทำให้รู้ว่าเราทั้งหมดนั้นไม่ได้แตกต่างกัน เราต่างมีความทุกข์ที่แสนสาหัสในบางช่วงของชีวิตเหมือนๆ กัน และอย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เรามอบให้กันและกันได้คือการอยู่เป็นเพื่อน รับรู้ และร่วมทุกข์ไปด้วยกัน นี่คือความหมายของการทำทองเลน

คำสอนมหายานในรีทรีทนี้ ทำให้เราเห็นภาพมากกว่าเดิมว่าในความว่างนั้น ไม่ใช่ความว่างเปล่าไม่มีอะไร แต่มันเต็มไปด้วยสายสัมพันธ์ของทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏขึ้น มันคือบ่อน้ำแห่งสรรพชีวิตที่เชื่อมโยงพวกเราเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยธรรมชาติพื้นฐานที่มีร่วมกันนี้ เราจึงสั่นไหว ลิงโลด รับรู้ทุกข์และสุขของกันและกันได้ มากไปกว่านั้น ด้วยการดำรงอยู่ของชีวิตเรานี้ เราจึงเต็มไปด้วยศักยภาพในการสร้างความหมาย คุณค่า และความงดงามให้แก่โลกใบนี้ได้

หากสิ่งนี้ไม่ใช่เวทมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด มันจะเป็นอะไรได้อีก

+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8