เจตจำนง : อำนาจในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับความต้องการที่แท้จริงของเรา

บทความโดย TOON วัชรสิทธา


“ความอยาก” ในชีวิตของคุณมีอะไรบ้าง

บางทีไม่ต้องใช้เวลานึกนาน ลิสต์ของสิ่งที่อยากได้ สิ่งที่อยากเป็น ก็พรั่งพรูในความคิด

อยากกินน้ำหวาน อยากกินของอร่อย อยากนอนให้เต็มอิ่ม อยากหยุดพักจากงาน อยากมีสุขภาพที่ดี อยากเป็นที่รัก อยากประสบความสำเร็จ อยากให้คนใกล้ชิดมีความสุข อยากแบ่งปันให้ผู้อื่น ฯลฯ

ในชีวิตเรา เมื่อมองไปยังหมวดหมู่ของความอยาก บ่อยครั้งเราอาจพบว่ามันมีจำนวนมากเสียจนแทบไม่มีที่สิ้นสุด แถมความอยากก็ยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา แม้แต่ในวันเดียวกันตอนเช้าอาจจะอยากแบบนึง ตอนบ่ายอีกแบบ ก่อนนอนก็อีกเรื่อง

แล้วเราจะทำให้ทุกความอยากเป็นจริงได้ไหม?

อาจเป็นคำตอบที่ไม่ตรงไปตรงมานัก
แต่จริงๆ แล้ว เรา “ไม่จำเป็น” ต้องทำให้ทุกความอยากกลายเป็นจริงก็ได้

ในช่วงหนึ่งของเวิร์คช็อป Subtle Activism “ปรับพลังงานในใจ เปลี่ยนความเป็นไปรอบตัว ที่สถาบันวัชรสิทธา อ.อัน อันธิฌา แสงชัย ได้ชวนเราไปหาคำตอบว่าความอยากที่มากมายไม่หมดสิ้นของเราจะสามารถกลั่นออกมาให้เหลือเพียงไม่กี่อย่างที่จำเป็นกับชีวิตจริงๆ ได้อย่างไร แล้วจากนั้นจะมีวิธีไหนที่ช่วยเสริมสร้างแรงผลักดันจนเราบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

สิ่งที่ อ.อัน เสนอให้ทุกคนในห้องเรียนลองทำคือ “การตั้งเจตจำนง (Intention)” ซึ่งไม่ใช่แค่หยิบสุ่มบางความอยากมาเลื่อนขั้นให้เจตจำนงเฉยๆ แต่มีกระบวนการและลำดับขั้นตอนต่างๆ ที่จะช่วยให้เราร่อนความอยากที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นกับชีวิต หรือไม่ได้เป็นความต้องการจริงๆ ของเราออกไป

กระบวนการที่ อ.อัน นำมาสอนในคลาส เริ่มขึ้นเหมือนกันช่วงต้นของบทความนี้ นั่นคือการให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง และเขียนความอยากที่ล่องลอยอยู่ในใจเราออกมาในกระดาษ จากนั้นก็ให้กลับมาใคร่ครวญกับตัวเองต่อไปว่าความอยากไหนที่เป็น “ความต้องการ” ของเราจริงๆ คำว่า ต้องการ (Need) ในที่นี้หมายถึงระดับความอยากที่มากไปกว่าความอยากทั่วๆ ไป (Want) จนอาจหมายถึงสิ่งที่เรารู้สึกว่าจำเป็นต่อชีวิตของเรา


ถึงตรงนี้ ลิสต์ความต้องการของเราน่าจะสั้นลงกว่าลิสต์ของความอยากหลายข้อ ซึ่งอาจดูตลกดีที่จริงๆ แล้วชีวิตเราถูกปกคลุมด้วยความอยากจำนวนมาก ที่บ่อยครั้งก็มาบดบังความต้องการที่แท้จริงจนมิด เมื่อเราได้เห็นความต้องการจริงๆ ของตัวเองแล้ว เราก็จะต้องกลั่นกรองมันให้กระจ่างชัดขึ้นไปอีก โดยการ “ลำดับความสำคัญ” ความต้องการทั้งหมดที่มี แล้วเลือกเพียงความต้องการที่อยู่ในลำดับแรกมาพัฒนาสู่การตั้งเป็นเจตจำนง

กระบวนการข้างต้นนี้ คล้ายการจัดห้องที่เราค่อยๆ สกัดความต้องการในชีวิตที่กองพะเนิน แล้วจึงเรียบเรียงให้เป็นสัดส่วน อันไหนคือสิ่งประดับ อันไหนไม่ค่อยได้ใช้ อันไหนจำเป็นและใช้งานบ่อย และอันไหนที่ขาดไม่ได้ต้องหยิบติดตัวออกไปทุกวัน จากสิ่งที่รกรุงรังไม่มีลำดับความสำคัญ ก็เริ่มมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย หยิบใช้ได้ง่าย รู้ว่าสิ่งไหนอยู่ตรงไหน เมื่อห้องโล่งขึ้น (แม้จะมีของเท่าเดิมก็เถอะ) ความกระจ่างชัดของสิ่งจำเป็นจริงๆ ก็เผยตัวออกมาให้เราเห็นโดยไม่ต้องพยายาม

เมื่อเราได้สิ่งที่จะนำไปสร้างเป็นเจตจำนงของตัวเองแล้ว เราอาจพบว่ามันมีพลังในการสั่นไหวความรู้สึกเมื่อนึกถึง บางคนอาจใจเต้น ขนลุก หรือมีประกายบางอย่างเกิดขึ้นในใจ นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันคือการค้นพบขุมทรัพย์ที่อยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ ซึ่งเมื่อพบแล้วเราก็จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนมันจากระดับของความคิด ให้ออกมาเป็นเนื้อเป็นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น


หลักการในการสร้างเนื้อตัวแก่เจตจำนง คือการทำเปลี่ยนมันออกมาเป็นรูปประโยคสั้นๆ โดยประโยคนั้นควรมีความเรียบง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น และทรงพลัง ซึ่งอาจประกอบไปด้วย
1.การระบุตัวผู้ที่เป็นเจ้าของเจตจำนงนั้นผ่านนามอันแท้จริง (ชื่อใดๆ ของเราที่รู้สึกสัมพันธ์ด้วยเป็นพิเศษ อาจจะเป็นชื่อจริง ชื่อเล่น ฉายา ฯลฯ)
2.เจตจำนงนั้นจะต้องเป็นจริงได้ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป
3.เป็นเรื่องเชิงบวก
4.ภาษาเข้าใจง่าย
5.หากเป็นไปได้ให้ใช้คำกริยาเพียง 1 คำ
6.ทำประโยคให้เป็นปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการใช้คำเช่น “จะ”
และ 7.ที่สำคัญคือจะต้องมีความชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร


เช่น “ก้องเปิดบริษัทผลิตสื่อของตัวเองให้ได้ภายในปีนี้” “ดาวสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ให้ติดในปีหน้า” “ศศิเปิดใจไม่ตัดสินผู้คนทุกรูปแบบตั้งแต่วินาทีนี้” “ณัทมนกินอาหารเจอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพของตัวเองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” เป็นต้น


เมื่อเจตจำนงกลายมาเป็นประโยคสั้นๆ ที่ท่องได้ขึ้นใจ มันก็มีลักษณะคล้ายกับมนตราที่จะคอยปกป้อง คุ้มครองเราจากสิ่งที่ไม่ใช่เจตจำนงอันแท้จริง และช่วยให้เราโฟกัสกับสิ่งที่ใช่ ราวกับว่าเจตจำนงที่เราสร้างขึ้นนี้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรามอบให้กับตัวเอง


กระบวนการต่อไป อ.อัน เล่าว่าเราสามารถ “เสริมพลัง” ให้กับเจตจำนงของเราผ่านวิธีต่างๆ ได้มากมาย อัน เริ่มจากชวนเราจินตนาการถึงประโยชน์ที่เจตจำนงนั้นจะส่งผลให้กับเรา โดยลงรายละเอียดทั้งในแง่ของความรู้สึกและอิทธิพลที่มันมีต่อตัวเราหรือสังคม เมื่อมีภาพสุดท้ายที่แจ่มชัดดีแล้ว เราอาจจะลองเปล่งเสียงพูด เจตจำนงนั้นออกมาให้ตัวเองหรือคนอื่นได้ยิน ซึ่งนี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการจินตนาการ คล้ายกับการเปล่งเสียงสวดมนต์หรือคาถา ที่ช่วยสร้างความหนักแน่นให้กับประโยคที่เราคิดและเขียนมันออกมา

เมื่อเจตจำนงตั้งมั่นแล้ว อ.อัน ได้แนะนำวิธีการที่จะช่วยทวนสอบเจตจำนงของเราอีกครั้ง ผ่านวิธีการ Repeating Questions หรือการถามคำถามเดิมซ้ำๆ 3 ครั้งว่า “Intention นี้เกื้อกูลชีวิตเรา/เธออย่างไร” โดยไม่ต้องเค้นหาคำตอบ เพียงคำนึงถึงแบบสบายๆ แล้วปล่อยให้ความสิ่งที่อยู่ภายในบอกเล่าตัวเองออกมา บางทีเราอาจได้พบกับคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ในขั้นตอนนี้บางคนอาจจะพบว่าความต้องการที่เรานึกไปว่าสำคัญมากๆ เมื่อลองตั้งใจคิดถึงผลลัพธ์จริงๆ อาจจะเกิดความรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เกื้อกูลชีวิตให้กับเราเท่าไร ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดพลาดแต่อย่างใด กลับกัน นี่อาจเป็นการค้นพบที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น แถมเรายังมีลิสต์ความต้องการในชีวิตอีกหลายข้อให้หยิบมาใช้งานได้เสมอ


กระบวนการสุดท้ายหลังจากที่เราผ่านการคัดกรอง สร้างเนื้อตัว เสริมพลัง และตรวจสอบ คือการ “เสก” เจตจำนงนั้นให้เข้ามาอยู่ในตัวหรือสิ่งของต่างๆ ฟังดูเหมือนพิธีกรรมปลุกเสกเครื่องรางของขลังยังไงอย่างงั้น ซึ่งอันที่จริงก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่ เพียงแต่การปลุกเสกเจตจำนงคือการทำงานกับตัวของเราในระดับความคิด แล้วค่อยๆ นำมันออกมาสู่ผัสสะ ร่างกาย และสิ่งของ


การเสกเจตจำนงให้อยู่ในเนื้อตัวเราเป็นการผูกความตั้งมั่นเอาไว้ไม่ให้หลุดลอย เป็นการจดจารมนตราแห่งคำให้คงทน อัน ชวนให้สัมพันธ์กับประโยคแห่งเจตจำนงที่เราสร้างขึ้น แล้วค่อยๆ มองหาพื้นที่ในร่างกายตัวเอง เพื่อวางเจตจำนงนั้นไว้ในที่แห่งนั้น หรือหากเจตจำนงใดดูจะเหมาะกับสิ่งของเช่น คริสตัล เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ มากกว่า ก็สามารถทำงานกับสิ่งของเหล่านั้นไม่แตกต่างกัน


เมื่อวางเจตจำนงไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว พื้นที่หรือสิ่งของนั้นจะถูกนับว่าเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่บรรจุไว้ด้วยเจตจำนงของเรา ซึ่งเราสามารถใช้เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นกำลังใจ เป็นสิ่งคุ้มครองตัวเราจากอำนาจภายนอกอื่นๆ ไม่ให้เข้ามาทำอันตรายต่อความตั้งมั่นของเราได้ จนกว่าเราจะบรรลุถึงสิ่งนั้น


การตั้งเจตจำนง จึงเป็นการสะท้อนถึงสิทธิอำนาจที่เรามีต่อชีวิตตัวเอง ซึ่งเป็นคุณค่าที่ทุกชีวิตมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องไปร้องขอจากที่ไหน ทั้งยังช่วยให้เราเห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวปาฏิหาริย์ แต่สามารถเป็นความเรียบง่ายที่เราเข้าถึงและสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง


หากมองถึงเรื่องของเจตจำนงที่กว้างไปกว่าตัวเอง เราจะพบว่าในสังคมมีเจตจำนงอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเป็นองค์รวม เช่น เจตจำนงของสถานที่ องค์กร สถาบัน หมู่คณะ กลุ่มนักเคลื่อนไหว ฯลฯ ที่เกิดจากเจตจำนงที่มีร่วมกันของผู้คนในบางประเด็น จนเกิดเป็นความตั้งมั่นอันยิ่งใหญ่ขึ้นมา ซึ่งเจตจำนงในลักษณะนี้ จะมีพลังงานและอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เหนือไปกว่าตัวเราเองมากๆ ได้


ในทางธรรมวัดวาอาราม สายธรรม หรือ สำนักต่างๆ ก็เต็มไปด้วยเจตจำนงของผู้คนที่เข้ามาร่วมกันจนเกิดเป็นพลังงานเฉพาะตัวที่ดึงดูดสิ่งต่างๆ เข้ามาช่วยเกื้อหนุนในการบรรลุถึงเป้าหมายนั้น มูลนิธิวัชรปัญญา ของเราก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเป็นเจตจำนงแบบองค์รวม ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มสังฆะผู้ปฏิบัติและผู้คนที่ต้องการทำงานกับสังคมจากมิติภายใน


อย่างสังฆะวัชรปัญญา จากกลุ่มคนจำนวนไม่มาก เมื่อเวลาผ่านไป เจตจำนงที่เรามีก็ได้ชักพาผู้คนที่มีความต้องการเดียวกันเข้ามาร่วมขับเคลื่อนมูลนิธิวัชรปัญญา จนเกิดเป็นโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อทำงานด้านสุขภาวะและจิตวิญญาณร่วมสมัยกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่าง วัชรสิทธา ศูนย์ภาวนาอย่างอวโลกิตะ สื่อออนไลน์ หนังสือ และพอตแคสต์อย่าง The 5th Floor งานเทศกาลดนตรี-ศิลปะ-ธรรมชาติอย่าง Sacred Mountain Festival รวมถึงปัทมคาระ ศูนย์สุขภาวะและชุมชนภาวนาแห่งเกาะพะงัน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการผลลัพธ์ที่งอกงามจากเจตจำนงทั้งสิ้น


โลกของเราจึงเต็มไปด้วยเจตจำนงของสิ่งต่างๆ ทั้งในระดับของปัจเจกและองค์รวม ไหลเวียนอยู่ในอากาศและขับเคลื่อนความเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นทำให้ชีวิตประจำวันของเรามีความสัมพันธ์กับเจตจำนงของผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม อ.อัน อันธิฌา จึงได้สรุปความสำคัญของการตั้งเจตจำนงสำหรับตัวเองเอาไว้ว่า

“การที่เราสร้างเจตจำนงของตัวเองขึ้นมา ก็เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเจตจำนงของคนอื่น”