“โยนงูไปในอากาศ” : รู้จักตัวเอง รู้จักกรรม รู้จักทุกข์ของสังสารวัฏ และช่องว่างเล็กๆ แห่งอิสรภาพ

บทความโดย TOON วัชรสิทธา

ทรรศนะที่คนไทยมีต่อกรรม สะท้อนออกมาเป็นภาษา อย่างคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” “เวรกรรมจริงๆ!” “กรรมของเราแท้ๆ” “ช่วงนี้เธอมีกรรมนะ” “เด็กคนนี้เกิดมามีกรรมหนัก” ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า กรรม มักถูกเอามาใช้อธิบายสิ่งเลวร้าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นไปแล้ว หรือมีโอกาสที่จะเกิดในอนาคต เมื่อกรรมเป็นสิ่งน่ากลัว เราก็พยายามหาวิธีแก้ ผลลัพธ์คือพิธีกรรมต่างๆ ที่อ้างว่าสามารถแก้กรรมให้หายไปได้ แล้วชีวิตจะกลับมาสู่ “ความปกติ” หรืออาจรุ่งเรืองขึ้น เมื่อไม่มีกรรมเป็นตัวถ่วง

แต่จากห้องเรียน “หินยานรีทรีท” เราได้เปิดความเข้าใจใหม่ที่มีต่อกรรม และมองมันในฐานะ “เส้นทาง” ที่เราสามารถใช้เพื่อเดินไปสู่ความหลุดพ้น หรืออย่างน้อยที่สุดคือเป็นบทเรียนบางอย่างให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

วิจักขณ์ พานิช ครูผู้นำรีทรีทครั้งนี้ อธิบายโดยยกตัวอย่างเรื่องการแก้ชงว่า

“ที่เขาบอกว่า ปีชงคือปีแห่งอุปสรรคหรือเคราะห์กรรมต่างๆ หากเรามีมุมมองต่อกรรมในทางบวก ปีชงก็อาจกลายเป็นปีแห่งการเรียนรู้ตัวเอง เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นปีที่แห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปแก้ชงหรอก”

บทเรียนแรกๆ ในรีทรีทนี้ คือการทำความเข้าใจ กรรม ในฐานะสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครสามารถหนีจากกรรมของตัวเองได้

เรจินัลด์ เรย์ ธรรมาจารย์ชาวตะวันตก กล่าวในหนังสือ Indestructible Truth ว่า กรรมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท หนึ่งคือกรรมที่เป็นผล (Result) และกรรมที่เป็นเหตุ (Cause) ซึ่งชีวิตของเราล้วนแต่วนเวียนอยู่กับการกระทำและการรับผลของการกระทำอยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นวงจรแห่งสังสารวัฏที่หมุนวนให้เราเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำสอนนี้เผยให้เห็นถึงความหมายของกรรมในแง่มุมที่กว้างไปกว่าการเป็นเคราะห์ร้าย แต่เป็นการกระทำทั้งหมดที่เราเคยสัมพันธ์ด้วย ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของหินยาน (ในโลกทัศน์ไตรยานของพุทธศาสนาทิเบต) การมีตัวตนคือความทุกข์ และเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ในเรื่องอื่นๆ อีกมากมายในชีวิต แม้ผลลัพธ์ของกรรมในปัจจุบันของเราอาจแลดูน่ารื่นรมย์ แต่สุดดท้ายมันก็ไม่ได้นำเราไปสู่การหลุดพ้น กลับกันหากเรายังเอนจอยกับความสะดวกสบายปลอมๆ ของสังสารวัฏ เราจะยิ่งถอยห่างจากเส้นทางที่พาเราไปสู่การรู้แจ้งในความจริง

ในทีแรก เมื่อเรียนรู้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์ ชีวิตก็ดูจะอับเฉาและไร้ซึ่งความหวังขึ้นมาทันที แต่วิจักขณ์อธิบายว่า แม้หินยานจะบอกว่าชีวิตในสังสารวัฏเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ความทุกข์ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เพราะตัวตนของแต่ละคนถูกสร้างขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยที่ต่างกัน นั่นทำให้เราทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร จากนั้นก็เล่าถึงอุปมาที่ว่า

“กรรมของมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน มันนำพาเราไปสู่บริบท สภาพแวดล้อม สถานการณ์ ที่สร้างคุณลักษณะอันเฉพาะตัวมากๆ ให้กับเรา คล้ายกับการเกิดขึ้นของดวงดาวมากมายในจักรวาล ที่แตกต่างหลากหลาย มีความเป็นตัวของตัวเอง และจะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำอีก”

มุมมองนี้นอกจากจะช่วยให้ชีวิตเราดูมีคุณค่าและน่าหดหู่น้อยลง มันยังไปกระตุ้นต่อมความสงสัยว่า แล้วตัวเราประกอบไปด้วยกรรมอะไรบ้างถึงกลายมาเป็นคนแบบที่เราเป็นตอนนี้?

คำถามนี้นำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำความรู้จัก และ “ทำงาน” กับกรรมของตัวเอง มอง “กรรม” ในฐานะ “เส้นทาง” ที่เฉพาะตัวของเรา ระหว่างทางอาจมีอุปสรรค มีความทุกข์ยาก หรือความความไม่น่าพึงใจ แต่มันก็คือเส้นทางที่ขีดมาให้เรา โดยที่เราจะไปเดินอยู่บนเส้นทางของคนอื่นก็ไม่ได้ สิ่งนี้เองถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ในขั้นหินยาน นั่นคือการทำความรู้จักกับตัวเอง (Self) อย่างลึกซึ้ง ด้วยการรู้จักกับกรรมที่ประกอบสร้างมันขึ้นมา

“ความแม่นยำ” จึงเป็นคุณสมบัติที่ถูกพูดถึง เมื่อเราได้เริ่มต้นลงมือภาคปฏิบัติในรีทรีท มันคือการฝึกฝนความแม่นยำในการตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในตัวเรา ในรีทรีทครั้งนี้มีการสอนถึงเทคนิคต่างๆ ตั้งแต่การทำทุกสิ่งให้ช้าลง กลับมาอยู่กับร่างกายตัวเอง รวมถึงการ “แปะป้าย” หรือ “Labeling” เมื่อคิดก็รู้ว่าคิดหนอ เบื่อก็รู้ว่าเบื่อหนอ เห็นก็รู้ว่าเห็นหนอ ฯลฯ การมีสติรู้ตัวจากเทคนิคเหล่านี้ ทำให้เกิดความแม่นยำต่อสิ่งต่างๆ ทั้งในร่างกาย ในจิตใจ และในปรากฏการณ์ต่างๆ นี่จึงเป็นคำสอนที่ทำให้เราเริ่มมองกลับมาที่ร่างกายและจิตใจของตัวเอง และสัมพันธ์กับประสบการณ์ในแต่ละขณะอย่างเต็มที่

สี่วันของหินยานรีทรีท กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการนั่ง เดิน หรือทำ Bodywork ซึ่งระหว่างการภาวนาในรูปแบบต่างๆ เราก็ได้พบว่าความคิดของเราโลดแล่นไปด้วยเรื่องราวและอารมณ์ต่างๆ มากมาย บางช่วงอาจเกิดความง่วง หงุดหงิด กลัว ตื่นเต้น หิวข้าว เจ็บขา ฯลฯ

ด้วยบทเรียนและเทคนิคการภาวนาที่สอนในคลาส เราจึงได้นำมาทดลองเพื่อกำหนดรู้สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการภาวนา สิ่งนี้เปิดโลกทัศน์ใหม่ต่อการมองชีวิต เพราะความคิดหรืออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการภาวนา ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึง “แพทเทิร์น” การใช้ชีวิตของเรา ความเคยชินที่เมื่อปวดขาแล้วอยากลุกเดิน หิวแล้วต้องหาขนมมากิน หรือกังวลแล้วก็กังวลอีกอย่างที่หยุดมันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปฏิกิริยาที่เรามีต่อสถานการณ์ต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว อาจเป็นเพราะความเคยชินหรือทำจนติดเป็นนิสัย

การภาวนาทำให้เราสามารถรับรู้ และ “อยู่” กับสภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้โดยไม่กระทำการตอบโต้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว หยุดกระบวนการ “ลูกโซ่” อันต่อเนื่องของกรรม เป็นเหมือนการดำรงอยู่ในช่องว่างเล็กๆ หรือ Gap ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง เหตุการณ์ กับ การกระทำ/การโต้ตอบ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นจุดตั้งต้นในการทำลายแพทเทิร์นของวงล้อแห่งสังสารวัฏ และเปิดโอกาสให้กับสิ่งใหม่ๆ หรือความเป็นไปได้ที่คาดไม่ถึงให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งวิจักขณ์ก็เสริมว่า ช่องว่าง (Gap) หรือพื้นที่ว่าง (Space) นี้แหละ เป็นที่ที่เดียวที่เราจะมีอิสรภาพได้อย่างแท้จริง

ในตอนหนึ่งของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ผู้สอนได้เน้นย้ำสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการภาวนาว่า

“การภาวนาเป็นกระบวนการที่พาเราลงไปหาวัตถุดิบในเนื้อในตัวของเรา สิ่งที่เรากดไว้ อารมณ์ความรู้สึกที่เราเก็บไว้ กรรมหรือเรื่องราวในอดีตที่เราไม่อยากจะดีลกับมัน การฝึกในขั้นหินยานเป็นพื้นฐานในการทำงานเกี่ยวกับกรรมหรือที่เรียกว่ากรรมฐาน ถ้าเราไม่ทำงานกับกรรม Transformation ที่แท้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น”

จากสิ่งที่เน้นย้ำนี้ ชวนให้เราคิดต่อว่าหากเราสามารถนำเอาสิ่งที่ฝึกฝนเหล่านี้ ไปปฏิบัติต่อด้วยตัวเองหรือหยิบเข้าไปฝึกฝนในโซโล่รีทรีท ก็น่าจะทำให้เราได้ฝึกฝนและทำงานกับกรรมของตัวเองได้อย่างเข้มข้น เพราะการอยู่คนเดียวเป็นระยะเวลานานโดยไม่อาจหนีไปไหนได้ จะบีบให้เราต้องเผชิญหน้ากับกรรมของเราจริงๆ อาจเป็นเรื่องที่กังวลอยู่ ไปจนถึงบาดแผลทางใจในอดีต เราจะได้เห็นตัวเอง วิธีการใช้ชีวิต ความเคยชิน และตัวตนที่เราเป็น ซึ่งไม่ว่ารูปแบบหรือผลลัพธ์ของมันจะมีหน้าตาอย่างไร เราก็จะต้องทำงานกับกรรมเหล่านั้นของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งที่ทำได้คือการยอมรับมันอย่างไร้เงื่อนไข ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือเส้นทางและตัวตนอันเฉพาะตัวของเรา อย่างที่วิจักขณ์บอกในรีทรีทว่า

“เราควรมั่นใจที่จะเป็นตัวเอง แม้เราจะเต็มไปด้วยความสับสน มีจุดบกพร่องหรือข้อเสียอะไรก็ตาม ท้ายที่สุดมันก็คือตัวเรา มันคือกรรมของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นวัตถุดิบสำคัญในเส้นทางการบ่มเพาะศักยภาพแห่งการรู้แจ้งของเรา”


วิจักขณ์ยังเล่าอีกว่าในพุทธศาสนาทิเบตมีคำสอนเกี่ยวกับวิธีการทำงานกับกรรมโดยใช้อุปมาว่า มีงูตัวหนึ่งที่มีลำตัวยาวมาก พอมันเริ่มเลื้อยตัวของมันก็พันตัวเองจนเป็นขมวดปม คำถามคือเราจะแก้ปมให้งูตัวนี้ยังไง ? บางคนอาจจะบอกว่าให้ลองเอาไม้เขี่ยหรือทำให้มันตกใจ แต่คำสอนทิเบตบอกว่า วิธีที่จะแก้งูที่เป็นปมอยู่คือโยนมันขึ้นไปในอากาศ แล้วงูมันจะคลี่คลายปมนั้นด้วยตัวของมันเอง”

สิ่งที่น่าสนใจกว่าการพยายามจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขปมอันยุ่งเหยิงของกรรมคือ ในชั่วขณะที่เราจนมุม ศิโรราบ ไม่สามารถจัดการหรือทำอะไรกับมันได้เลย ในชั่วขณะที่กรรมกำลังเผยตัวอย่างเข้มข้น เราจะทำงานหรือรับมือกับกรรมของเราอย่างไร เราจะสามารถเป็นพื้นที่ว่างหรืออากาศเพื่อปล่อยให้กรรมได้คลี่คลายตัวเองได้ไหม?

…และนั่นคือหัวใจของการภาวนา