โพธิจิตและความว่างผ่านคำสอน “โลจอง”

บทความโดย โคทม อารียา
ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนออนไลน์ 27 มีนาคม 2565


เมื่อเป็นเด็ก ผมมีความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้าตามคำสอนของศาสนาคาทอลิก ที่ผมได้รับจากการอบรมของครอบครัว แต่เมื่ออายุราวยี่สิบปีความศรัทธาได้ลดลง เลยหันมาบอกกับตัวเองว่า ผมมีความเชื่อแบบ agnostic คือไม่รู้ว่ามีพระเจ้าอยู่จริงหรือไม่ ต่อมาเมื่อถึงวัยกลางคน พบว่าความเชื่อแบบ agnostic เข้ากันได้กับพระพุทธศาสนา เลยสนใจเรียนรู้ (เชิงประยัติ) โดยการอ่านหนังสือ แต่ก็อ่านหลาย ๆ เรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นเรื่องพุทธศาสนาจะเกี่ยวกับนิกายเถรวาทเป็นหลัก พอถึงวัยเกษียณ เริ่มหันมาสนใจการปฏิบัติในสายหลวงพ่อเทียน อย่างไรก็ดี มีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย เมื่อเลยเข้าสู่วัยชรา จึงเริ่มอ่านหนังสือของวัชรยานบ้าง โดยเฉพาะของเชอเกียม ตรุงปะ (Chogyam Trungpa) คุรุผู้ลี้ภัยจากทิเบตมาเผยแผ่พุทธศาสนาวัชรยานในสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายสิบปีก่อน

ตรุงปะสอนว่าการปฏิบัติพุทธศาสนาให้เริ่มในขั้นหินยานก่อน แล้วจึงมาปฏิบัติในขั้นมหายาน สุดท้ายจึงสามารถปฏิบัติในขั้นวัชรยานได้ พูดง่าย ๆ คือปฏิบัติทั้งสามยานหรือ “ตรียาน” โดยไม่ข้ามขั้นตอนนั่นเอง เอาละ ผมเริ่มด้วยการปฏิบัติสายหลวงพ่อเทียนที่เน้นการเจริญสติ สมมุติว่าผมเริ่มต้นถูกแล้ว ต่อไปขอมาที่มหายาน ซึ่งเน้นในเรื่องความกรุณาและโพธิจิต แล้วถึงมาฝึกในเรื่องความว่างที่ดูเหมือนว่าเป็นจุดเน้นของวัชรยาน อันที่จริงฝ่ายเถรวาทก็กล่าวถึงพรหมวิหาร 4 และสุญญตาเหมือนกัน ผมเลยเข้าใจคำสอนของตรุงปะว่า ให้เจริญสติและมีสัมปชัญญะที่เปิดกว้างมั่นคง แล้วค่อยขยับไปครุ่นคิดและปฏิบัติตามศัพท์อื่น ๆ ของมหายาน ส่วนศัพท์ยาก ๆ ของวัชรยานเช่น ตันตระ และมหามุทราของวัชรยาน ผมขอวางไว้ก่อน

ผมกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นคำสอนของคุรุทิเบตอีกคนหนึ่งชื่อ ตราเลก คยับกอน (Traleg Kyabgon) ผู้นำศาสนาในสายธรรมคากิว หนังสือของเขาชื่อ “การปฏิบัติโลจอง : บ่มเพาะความกรุณาผ่านการฝึกฝนจิต” (The Practice of Lojong: Cultivating Compassion through Training the Mind) ซึ่งช่วยให้ผมเข้าใจวัชรยานเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องโพธิจิตและความว่างที่เข้าใจยาก บางคนบอกว่าไม่ต้องเน้นความเข้าใจ ให้เน้นการฝึกภาวนาแล้วจะสัมผัสเอง อย่างไรก็ดี ขอนำบางตอนของหนังสือมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

คำสอนโลจอง (Lojong) ของพุทธศาสนาวัชรยานมี 7 ประเด็น (points) แบ่งย่อยเป็นคติพจน์ (Slogans) 59 บท โลจองเป็นภาษาทิเบต แปลว่าการฝึกฝนจิต หรือฝึกทั้งจิตและใจ (mind and heart) คนที่รวบรวมคำสอนนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกคือคุรุแห่งพุทธศาสนาชาวอินเดียชื่อ อติชา ดิพันกร ศรีญาณ (Atisha Dipankara Shrijnana) เขาเกิดที่เบงกอลในปี ค.ศ. 982 และได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นทั้งในอินเดียและสุมาตรา เมื่อกลับมาอินเดีย เขาสอนพุทธศาสนาที่วิกรมศิลา (Vikramashila) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดสามแห่งในสมัยนั้น ก่อนเสียชีวิตในประมาณปี ค.ศ. 1054 เขาได้ถ่ายทอดคำสอนโลจองให้แก่ศิษย์ชาวทิเบตชื่อดรอมตอนปะ (Dromtonpa) ที่สืบเนื่องคำสอนโลจองมาให้เราได้เรียนรู้จนทุกวันนี้ สังเกตได้ว่าในสมัยนั้น คำสอนส่วนใหญ่ยังใช้วิธีมุขปาฐะหรือด้วยวาจาจากอาจารย์สู่ศิษย์ กว่าจะมาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็อีกนาน ชาวทิเบตถือคำสอนโลจองเป็นเรื่องที่มีคุณค่ามาก จึงถ่ายทอดมาจากคุรุชาวอินเดียผ่านศิษย์รุ่นต่าง ๆ นับพันปี แต่ดูสดใหม่หรือยังใช้ได้กับชีวิตเราในสมัยนี้

คติพจน์โลจองเขียนสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง บางครั้งดูจะแย้งกับสามัญสำนึก แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ฟังดูย้อนแย้งจะช่วยกระตุ้นการใคร่ครวญและช่วยให้จดจำคำสอนได้ดีขึ้น คติพจน์โลจองมุ่งที่การบ่มเพาะโพธิจิต โดยเฉพาะโพธิจิตสัมพัทธ์ ซึ่งเหมาะแก่การนำไปปฏิบัติความกรุณาในชีวิตประจำวัน แต่ก็เอื้อต่อการพัฒนาโพธิจิตสัมบูรณ์เพื่อการรู้แจ้งด้วยเช่นกัน การนำคติพจน์โลจองไปปฏิบัติจะเป็นประโยชน์แก่ตนและต่อสังคมโดยรวมมิใช่น้อย โดยที่คุรุตราเลกแทรกคำอธิบายเรื่องความว่าง ประกอบคำอธิบายเรื่องโพธิจิตสัมบูรณ์ จึงขอนำเสนอคำอธิบายในทั้งสองเรื่องนี้โดยสังเขปต่อไป

โพธิจิตสัมพัทธ์มีความหมายคล้ายกับความกรุณา หมายถึงความใส่ใจต่อผู้อื่น การฝึกโพธิจิตช่วยให้เราไปพ้นจาก (ก) วิกัลป์ หรือความคิดฟุ้งซ่าน (ข) กิเลส (ค) การหมกมุ่นในตัวเอง

โพธิจิตที่สัมบูรณ์มีความคล้ายกับความแจ่มกระจ่างของจิต นั่นคือจิตที่เปิดกว้าง ว่างเปล่า ชัดเจน กว้างใหญ่ สว่างไสว คำพ้องของโพธิจิตสัมบูรณ์คือ ความว่าง สถานะธรรมชาติ ธรรมชาติพุทธะ ธรรมชาติของจิต พื้นภูมิแห่งมนุษย์ ความเป็นจริงสูงสุด สถานะดั้งเดิม ในการฝึกภาวนาแบบสมถะ เราอาจสัมผัสสถานะธรรมชาติได้เพียงชั่วแวบ การเจริญโพธิจิตสัมบูรณ์คือความพยายามแปลงผันการสัมผัสสถานะธรรมชาติเพียงชั่วแวบ เป็นการอยู่กับสถานะนั้นอย่างเสถียร เรียกว่าพยายามผ่อนพักในสถานะธรรมชาติ

สายธรรมคากิวอภิปรายถึงโพธิจิตสัมบูรณ์ในเทอมของการผ่อนพัก การเปิดออกของปัญญาญาณ (wisdom mind) อันกว้างใหญ่ มากกว่าในเทอมของความว่าง โดยถือว่าความสว่างไสวของจิตคือความเป็นจริงสูงสุด ในขณะที่สายธรรมอื่นอาจอภิปรายถึงโพธิจิตสัมบูรณ์ในเทอมของความว่างมากกว่า

สมถะภาวนาเป็นเทคนิคมูลฐานเพื่อให้จิตสงบ เราภาวนาโดยนั่งลงบนเบาะ ให้เข่าต่ำกว่าก้นเล็กน้อย นั่งหลังตรง เปิดตาเล็กน้อย หายใจสม่ำเสมอ ไม่ต้องกำจัดความคิดและอารมณ์ความรู้สึกให้หมดไป เพียงแต่อย่าวิ่งตามและปรุงแต่งมัน การอยู่กับความตระหนักรู้ถึงความคิด คือการอยู่ในสถานะธรรมชาติ หายใจออกให้รู้ หายใจเข้าให้รู้ การติดตามลมหายใจคือการพัฒนาสติ สติและการตระหนักรู้คือลักษณะของจิต สติคือการตั้งใจไม่มากก็น้อยในอันที่จะระลึกรู้ให้มากขึ้น ส่วนการตระหนักรู้คือวิถีอันอ่อนโยนของการอยู่กับปัจจุบัน

ธรรมชาติของจิตแยกไม่ออกจากความตระหนักรู้ภายใน (ริกปะในภาษาทิเบต) แต่ความตระหนักรู้ดังกล่าวไม่เข้าสู่สายธารของจิตเพราะถูกครอบงำด้วยกิเลสและความคิดฟุ้งซ่าน อุปสรรคนี้จะบรรเทาลงได้โดยการปฏิบัติโพธิจิตสัมพัทธ์ ซึ่งจะช่วยให้เรารับรู้จิตที่ตื่นอยู่ มีอยู่เช่นนั้นเสมอ มีอยู่แต่เดิม และชัดเจนสว่างไสว

เราควรพยายามแปลงผันการกระทำทางจิตวิญญาณแบบโลกธรรมของเรา ให้เป็นการกระทำแบบโลกุตรธรรมอยู่เสมอ ทั้งนี้ โดยอาศัยการบ่มเพาะมุมมองของวิปัสสนาภาวนา การกระทำทางจิตวิญญาณแบบโลกธรรม หมายถึงการทำความดี การทำบุญ ฯลฯ ส่วนการกระทำแบบโลกุตรธรรมหมายถึงการหยั่งรู้ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง สามารถแยกแยะสรรพสิ่งตามที่มันเป็นจากความสับสนของเราเกี่ยวกับมัน

เราสมมุติผิด ๆ ว่ามีองค์ประธาน (subject) ที่อยู่ “ข้างในนี้” และมีโลกแห่งสสารที่อยู่ “ข้างนอกนั้น” ซึ่งเป็นโลกที่มีมนุษย์ผู้ไม่พึ่งพิงหากพึ่งแต่ตนเอง อาศัยอยู่ อันที่จริง ถ้าสรรพสิ่งมีอยู่โดยตัวมันเอง ก็จะมีอยู่โดยไม่เปลี่ยนหรือไม่มีอิทธิพลต่อสิ่งใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ระบุว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยพึ่งพิงกัน (สิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด สิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ)

รูปปรากฏและความเป็นจริงสูงสุด (ซึ่งก็คือความว่าง) นั้นแยกกันไม่ออก ชาวตะวันตกพูดถึงทวิภาวะระหว่างจิตกับสสาร แต่ชาวพุทธพูดถึงทวิภาวะระหว่างองค์ประธานและกรรมวัตถุซึ่งถือว่ามีสถานะเท่าเทียมกัน ชาวทิเบตมีมุมมองว่า ความเป็นจริงทั้งไม่ใช่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด และไม่ใช่ถูกแบ่งแยก โดยเรียกมุมมองนี้ว่าทางสายกลาง

เราต้องมีสำนึกที่ตรงและมีเสถียรภาพ สำนึกถึงการแยกกันไม่ได้ระหว่างความว่างกับรูปปรากฏ และความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสิ่งอย่าง การตื่นรู้หรือการรู้แจ้งไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่ความรู้สึกหรือความรู้สึกสัมผัส หากเป็นความกระจ่างอันสว่างไสวที่มีอยู่เช่นนั้นเสมอมาของธรรมชาติแห่งจิต

โลกที่รองรับอยู่ภายใต้โลกแห่งรูปปรากฏคือโลกที่เป็นเช่นนั้นเอง การมองว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงกันคือการมองว่าสรรพสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง ธรรมชาติจริงของการเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่งคือความว่าง อย่างไรก็ดี ความเชื่อมโยงกันเป็นวิธีการพรรณนาโลกแห่งปรากฏการณ์ แต่โพธิจิตสัมบูรณ์ไปพ้นมโนทัศน์ ไปพ้นคำว่า “เหมือน” และ “ต่าง” ดูเหมือนว่าชาวตะวันตกจะพยายามจัดความว่างให้เข้ากับทฤษฎีของพวกเขา แต่ทฤษฎีเหล่านั้นเกี่ยวกับโลกแห่งปรากฏการณ์ ไม่ใช่โลกที่อยู่นอกความรู้สึกสัมผัส จึงนำมาใช้กับความว่างไม่ได้

การภาวนาช่วยให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น การเกิด-ดับเป็นธรรมดาของโลกแห่งปรากฏการณ์ เมื่อเราจินตนาการว่าแบบแผนประสบการณ์ของเรานั้นเสถียร เราจะพบว่ามีความปั่นป่วนหรือความผิดปกติที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนคำสอนโลจองสอนให้เรามองสิ่งต่าง ๆ เหมือนฝัน เพราะสิ่งที่เรารับรู้นั้นอยู่ในสถานะเลื่อนไหล

เมื่อเราสังเกตและวิเคราะห์ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ พื้นอารมณ์ นิสัยใจคอ แผนแบบของนิสัย ฯลฯ ของเราอย่างใกล้ชิด เราจะค้นพบว่าไม่มีอะไรจริงจังเกิดขึ้นในจิตของเราเลย เมื่อเราลอกสิ่งเหล่านี้ออกไป ชั้นแล้วชั้นเล่า จนกระทั่งมาถึงด้านในสุดของจิต เราจะพบว่าสิ่งที่เหลืออยู่คือความรู้สึกสัมผัสเปล่า ๆ ของการตระหนักรู้ การตระหนักรู้เปล่า ๆ คือโพธิจิตสัมบูรณ์หรือธรรมชาติพุทธะ

โพธิจิตสัมพัทธ์คือการบ่มเพาะความกรุณา คือการบ่มเพาะความเข้าใจโลกแบบไม่เห็นแก่ตัว การปฏิบัติโพธิจิตสัมพัทธ์ฝึกให้เราพัฒนาสติปัญญาที่สามารถไปพ้นจากความเห็นแก่ตัว การฝึกนี้มีพื้นฐานบนการหยั่งรู้ที่ได้จากวิปัสสนาภาวนา การกระทำของเราจะเปี่ยมด้วยกรุณาได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มมีโพธิจิตในความคิด เจตนาพึงมาก่อนการกระทำ ศานติเทวะ (ค.ศ. 695-743) เขียนว่า “กล่าวกันว่าโพธิจิตหรือจิตตื่นรู้มีสองด้าน ด้านแรกคือโพธิจิตในเจตนาที่ให้ปณิธาน ด้านสองคือโพธิจิตในการกระทำที่ให้การเข้าพัวพันในทางปฏิบัติ”

การบ่มเพาะโพธิจิตสัมพัทธ์คือวิธีที่จะพลิกกลับซึ่งทัศนคติที่ถือตัวเราเป็นศูนย์กลาง โดยเปลี่ยนมาเป็นทัศนคติที่ถือ “ผู้อื่น” ว่าเท่าเทียมกันกับเรา เมื่อเราสร้างทัศนคติเช่นนี้ขึ้นมา (ซึ่งก็คือรากฐานแห่งการปฏิบัติโลจอง) เราก็ไม่ต้องจงใจลดความเห็นแก่ตัวของเรา เพราะการหลงตัวเองของเราจะลดลงเองโดยธรรมชาติ

การส่งและการรับ (ทองเลนในภาษาทิเบต) เป็นการปฏิบัติโพธิจิตสัมพัทธ์แบบครุ่นคิด (contemplative) การปฏิบัตินี้ย้อนทางกับความเข้าใจปกติของเรา ปกติเราผลักไสทุกสิ่งที่ไม่ต้องการ และยึดมั่นกับทุกสิ่งที่ต้องการ การปฏิบัติทองเลนจะช่วยพัฒนาท่าทีที่ส่งเสริมการยอมรับผู้อื่น ทองเลนถูกเรียกขานว่าเป็น “การแลกเปลี่ยนตนเองกับคนอื่น” เพราะเป็นการส่งทุกสิ่งที่ดีในชีวิตให้ไป และการรับทุกสิ่งที่ไม่ดีในชีวิตของผู้อื่นเอามาไว้กับเรา

ถ้าการปฏิบัติทองเลนของเราได้ผล ความสามารถที่จะรู้สึกถึงความรักและความกรุณาต่อผู้อื่น และความกล้าหาญที่จะรับความทุกข์ยากของพวกเขา จะเพิ่มพูนขึ้น การรับความทุกข์ยากของผู้อื่นในทางจิตจะไม่ซ้ำเติมความทุกข์ของเรา ในทางตรงกันข้าม ทองเลนเป็นยาถอนพิษสำหรับความหมกมุ่นกับตัวเองทุกรูปแบบ สามารถทำให้จิตเจริญขึ้นและแผ่กว้างออกไป

กล่าวโดยสรุป เราเริ่มการภาวนาเกี่ยวกับโพธิจิตสัมบูรณ์และสัมพัทธ์โดยการบูชาพระรัตนตรัย การภาวนาในเรื่องเบื้องต้น 4 ประการคือ 1) ร่างกายคือพื้นฐานการรู้แจ้ง 2) สรรพสิ่งไม่เที่ยง 3) วัฏสงสารมีธรรมชาติอันไม่พึงปรารถนา และ 4) กรรมคือกฎของเหตุและผล เจตนาบ่งบอกว่ากรรมใดเป็นกุศล กรรมใดเป็นอกุศล จากนั้นให้พยายามเข้าสู่การผ่อนพักในสถานะธรรมชาติโดยสมถะภาวนา ถัดไปคือการครุ่นคิดในแบบฝึกหัดวิปัสสนาของโพธิจิตสัมบูรณ์ แล้วกลับคืนสู่สถานะผ่อนพักในสถานะธรรมชาติอีกครั้ง แล้วจึงปฏิบัติทองเลนจากมุมมองของสถานะธรรมชาติ กลับมาผ่อนพักในสถานะนี้อีกทีเมื่อมาถึงตอนท้ายของการปฏิบัติการส่งและการรับ เราจบการภาวนาในช่วงนี้ด้วยโดยสะท้อนคิดเกี่ยวกับคติพจน์โลจองบทอื่น ๆ เพื่อให้มันหยั่งรากลงในตัวเรา เราพึงภาวนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ

+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8