ไม่มีขั้วในความเป็นเรา: ปลดปล่อยจากระบบเพศชาย-หญิง สู่ความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน

บทความโดย KHANOON วัชรสิทธา


ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่เราได้ต้อนรับพี่อวยพร เขื่อนแก้ว ใน Gender Awareness & Social Justice ตามมาด้วย Naree Circle และ Witch Circle วัชรสิทธาก็อบอวลไปด้วยพลังงานของความเป็นหญิง ประจวบเหมาะกับมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศพอดี นอกจากประเด็นทางการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อ ‘พรบ.สมรสเท่าเทียม’ การเรียกร้องสิทธิ หรือการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม เราอยากชวนทุกคนมาสัมพันธ์กับเรื่องเพศๆ ในมิติทางจิตวิญญาณซึ่งอาจไม่ได้นำไปสู่การถูกสังคมยอมรับ แต่เพื่อเข้าถึงความเต็มสมบูรณ์ของตัวเราเอง

ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ และหลายๆ คนก็ถูกกดทับจากครอบครัว สังคมการทำงาน ไปจนถึงกฎหมาย ช่วยไม่ได้ที่เรื่องเล่าต่อความทุกข์จะยังคงอิงอยู่กับกับระบบเพศแบบ 2 ขั้ว (Gender Binary System) ‘ฉันไม่ใช่ผู้หญิง แต่ก็ไม่ใช่ผู้ชาย และนั่นทำให้ฉันเจ็บปวด’ ‘ต่อให้ฉันเป็น LGBT ที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ ฉันก็ยังไม่ถูกยอมรับ เพราะไม่สามารถเป็นลูกชายให้พ่อแม่ได้’

เมื่อเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศเวียนมาถึง เราพบโพสต์บ่นระบายบนหน้าฟีดคอยตอกย้ำความจริงว่า ประเทศไทยที่ดูเปิดกว้างกับกลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังไม่ได้มองว่าพวกเขาเท่าเทียมเท่ากับเหล่าชายจริงหญิงแท้ ดูอย่าง ‘พรบ.คู่ชีวิต’ นั่นปะไร การกดทับซึ่งซ่อนตัวอยู่ในความเปิดกว้างเหมือนการกดทับซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้คนที่เฝ้ารออย่างมีความหวังต่างรู้สึกชอกช้ำ เมื่อมีวงที่เปิดกว้างมากพอ เราจึงเห็นคนที่เป็นตัวเองได้อย่างเปิดเผยแสดงความปวดร้าวในซอกมุมหนึ่งของใจออกมา

ความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้ว

หลายครั้งความทุกข์เกิดจากการไม่ลงรอยกับขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่ว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศจะนิยามตนเองว่าเป็นตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ไบ หรืออื่นๆ ที่อยู่ระหว่าง ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ที่สุดทั้งหมดก็ยังไม่ใช่ ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ อยู่ดี ฐานคิดแบบแบ่งขั้วฝังอยู่ในตัวเราจากการกล่อมเกลาทางสังคม ฉะนั้น ‘ความเป็นอื่น’ จึงไม่เคยหายไปจากความรู้สึก

แม้แต่การนิยามตนว่าเป็นบุคคลลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid) หรือนอนไบนารี่ (Non-binary) ที่มองว่าอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ไม่ได้มีเพียง 2 ขั้ว แต่มีหลากหลายกว่านั้นเหมือนสเปกตรัมของแสง บรรยากาศสังคมก็ไม่ได้เอื้อให้รู้สึก ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ เช่นเดียวกัน

การทำงานกับเพศในระดับตัวตนทางสังคมไม่เพียงพอจะปลดปล่อยเราจากความทุกข์ เพราะไม่ว่ายังไงมันจะมีความขัดแย้งกับขั้วตรงข้ามเสมอ เช่น ชาย-หญิง ไบนารี่-นอนไบนารี่ จากจุดนี้มิติทางจิตวิญญาณจะเริ่มเข้ามามีบทบาท


พลังของคำนิยาม

ถึงอย่างนั้นการที่เรายังคงมีคำนิยามเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ สำหรับคนๆ หนึ่ง ในภาวะที่เราไม่สามารถแม้แต่จะระบุได้ว่าเพศของตนเองคือ ‘อะไร’ การมีคำนิยามช่วยสร้างที่ทางในการดำรงอยู่ พร้อมทั้งก่อร่างความเป็นตัวตนที่มั่นคง ความมั่นใจ ไปจนถึงภาคภูมิใจในตนเอง

ช่วงก่อนหน้ามีหลายคนเปิดตัว (come out) ว่าฉันไม่ใช่ผู้ชาย หรือผู้หญิง ไม่ก็โพสต์บอกเพื่อนๆ ว่าให้เรียกแทนตัวเองด้วยสรรพนามใด จนเหล่าฝั่งที่เชื่อในระบบเพศ 2 ขั้วรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ช่างเรื่องเยอะเหลือเกิน จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้เราทำตามคำสั่งเพื่อสนองความพอใจส่วนตัว แต่คือการได้รับความเคารพ ยอมรับอย่างจริงใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งอาจเป็นอะไรที่คนตรงเพศ (Cisgender) ไม่เคยต้องเรียกร้องให้ได้มาก่อน เนื่องจากโครงสร้างกำหนดคุณค่าความหมายรองรับตัวตนของคุณเรียบร้อยแล้ว

การบัญญัติคำนิยามใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ จึงเป็นการสร้างคุณค่าร่วมของสังคมซึ่งส่งไปถึงคุณค่าของปัจเจก การโหวตรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในเดือนนี้สำคัญมากเกินกว่าจะเป็นเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง เพราะมันบ่งบอกว่าสำนึกแบบใหม่กำลังหยั่งรากลงในสังคมไทย


ตัวตนของเรา

หากมองเป็นการทำงานในระดับสังคม การมีคู่ขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเราต้องการชี้ให้เห็นว่าอะไรไม่เป็นธรรม แต่ในระดับจิตวิญญาณส่วนบุคคล หากเรายังมีมุมมองว่าตัวเองเป็น ‘คนนอก’ การมีคู่ขัดแย้งจะบั่นทอน สร้างความเหนื่อยล้าทางใจจากการต่อสู้ภายในตลอดเวลา ทั้งในระดับความคิด และจิตใต้สำนึกซึ่งเราอาจไม่รู้ตัว นี่เป็นคนละเรื่องกับความโกรธเมื่อเราเผชิญหน้ากับการปฏิบัติที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การมีคู่ขัดแย้งอาจเทียบได้กับแนวคิดแบบทวิลักษณ์ (duality) ที่มองว่าทุกอย่างมีขั้วตรงข้ามของมันเสมอ อย่างที่สังคมชอบแปะป้าย ดี-ไม่ดี ชาย-หญิง แท้-เทียม พวกเขา-พวกเรา ในจุดที่เรามั่นคงพอจะยืนหยัดเพื่อตัวตนของเราได้ การไปพ้นจากการแบ่งขั้ว หรือก้าวสู่แนวคิดแบบอทวิลักษณ์ (non-duality) คือการยุติสงครามภายในใจตนเอง

ไม่มีความเป็นอื่นอีกต่อไป ฉันเพียงแต่เป็นฉันเท่านั้นเอง

ระบบเพศแบบ 2 ขั้วผลักดันให้ผู้ชายไม่ยอมรับด้านของความเป็นหญิงในตัวตั้งแต่ยังเด็ก มีคนมากมายเติบโตขึ้นมากับพ่อที่ไม่เคยฟังใคร ไม่สามารถแสดงความรัก ความอ่อนโยน ไม่เคยเปิดเผยความเปราะบาง และความล้มเหลว แม้ผู้หญิงปัจจุบันจะมีอิสระในการโอบรับความเป็นชายมากกว่า เป็นหญิงแกร่ง พึ่งพาตัวเองได้ แต่สาวโสดก็มักถูกตั้งคำถามจากทัศนคติแบบชายหญิงต้องพึ่งกัน

ในความจริงแล้วพวกเราทุกคนต่างมีทั้งความเป็นชาย และความเป็นหญิงสมบูรณ์พร้อมอยู่ในตัวเอง ความเป็นชายหญิงนี้ไม่ใช่ลักษณะทางกายภาพ แต่คือคุณลักษณะ อาทิ ความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ ความเจ้าชู้ ความรุนแรง ซึ่งเป็นคุณลักษณะฝั่งผู้ชาย ส่วนการหยั่งรู้สัญชาตญาณ การโอบอุ้ม การเป็นผู้ตาม ความแปรปรวนเป็นของฝั่งผู้หญิง อาจมีส่วนหนึ่งมากบ้าง น้อยบ้างต่างกัน แต่สัดส่วนเหล่านั้นก็ได้ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของเราที่แสนพิเศษ และมีเอกลักษณ์

การไปพ้นระบบเพศ 2 ขั้วจึงไม่ใช่การปฏิเสธการมีอยู่ของขั้วชาย และขั้วหญิง เรายังสามารถโอบรับคุณลักษณะทั้งหมดเข้ามาอยู่ในการเติบโตทางจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การทลายกรอบ เพิ่มความตระหนักรู้ และมีอิสรภาพ


ปลดปล่อยเพื่อความเป็นมนุษย์

เมื่อต้องต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิต่างๆ คนแรกที่เราต้องปลดปล่อยก็คือตัวเราเอง และมันไม่ใช่การปลดปล่อยเพียงครั้งเดียว จบแล้วจบเลย การกลับมาเยี่ยมเยือนระบบเพศ 2 ขั้วในวาระที่ต่างออกไป ทั้งในการเรียกร้องทางการเมืองก็ดี การเห็นความไม่เท่าเทียม หรือในทางจิตวิญญาณก็ดี ทั้งหมดคือความเป็นไปได้ในการเข้าถึงอิสรภาพในแง่มุมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในทุกครั้ง ความเข้าใจที่เพิ่มพูนขึ้นทั้งต่อตัวเอง และตัวระบบอาจหมายถึงเราไม่จำเป็นต้องดีลกับอำนาจรัฐ หรือสื่อสารความหลากหลายทางเพศด้วยวิธีเดิมๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในสังคม

เมื่อไม่มีขั้ว ทั้งเรา และเขาไม่มีความเป็นอื่นอีกต่อไป

พวกเราล้วนแต่เป็นมนุษย์ผู้แสนงดงามในความเป็นตัวเอง

บางทีจุดสูงสุดของการพูดถึงความหลากหลายทางเพศอาจนำเราไปสู่การเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในแง่มุมที่เต็มเปี่ยมกว่าเดิม จนก่อเกิดเป็นความรักส่งออกไป และความรักนั้นก็ไม่เคยเลือกเพศใดๆ เลย