ตามหาปัทมคาระ (ตอนที่ 2) : ไวบ์ที่ไม่มีที่ใดเหมือน

บทความโดย TOON วัชรสิทธา [คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์]


Day 1 : เช้าแรกที่พะงัน

บนถนนเล็กๆ ในซอยแถววัดมะเดื่อหวาน ช่วงเช้าตรู่จะมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่มักเป็นการเดิน บ้างก็วิ่ง บ้างก็ปั่นจักรยาน บ้านคนแถบนี้ไม่มีรั้ว เปิดโล่งอย่างไม่สนใจคำว่าความส่วนตัว แต่สิ่งที่แลกมาได้ก็คือความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้คนที่เดินผ่านไปมา เช้านี้มีฝรั่งที่มาเดินออกกำลังกายกล่าวทักทาย ราวกับพะงันได้เริ่มทำความรู้จักกับเราบ้างแล้ว

ในช่วงเช้า เราชงกาแฟดื่มด่ำความเงียบ แม้จะมีคนผ่านไปมาบ้างแต่ยังห่างไกลกับคำว่าจอแจหรือวุ่นวาย เช้าแรกที่ดินแดนปัทมคาระสงบเงียบ แสงอาทิตย์ค่อยๆ สว่างขึ้นทีละน้อยเหมือนไฟที่หรี่ขึ้นเพื่อปลุกเราให้ตื่นพร้อมๆ กับฤทธิ์ของกาแฟ

คงมีไม่กี่ที่ในประเทศไทย ที่เราจะได้พบกับบรรยากาศที่ชุมชนมีความใกล้ชิดทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเหมือนเกาะพะงันเช่นนี้

สำรวจวัดมะเดื่อหวาน

ใกล้กับบ้านภาวนา เป็นที่ตั้งของวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะพะงัน วัดมะเดื่อหวาน ใช้เวลาเดินไปไม่ถึง 10 นาที ก็ถึง วัดแห่งนี้ก็มีรั้วไม่เต็มวัด ทางเข้าด้านหนึ่งเปิดโล่งจนอาจทำให้ฉงนใจได้ว่าขอบเขตของวัดกว้างขวางแค่ไหน ด้านหนึ่งของวัดติดกับเขาลูกเล็กๆ ที่ด้านบนมีวิหารขนาดย่อมให้คนขึ้นไปสักการะบูชาพระพุทธรูป ทางเดินขึ้นไปก็ไม่ยากเกินกว่าไต่บันไดชันๆ ขึ้นไปเกือบ 200 ขั้น พญานาคใหญ่ 4 ตนขนาบบันไดสองข้างท้างทอดตัวลงมาราวกับเป็นสะพานไปสู่ดินแดนทิพย์

ก้าวไปอย่างไม่หยุดหย่อนจนถึงขั้นสุดท้าย อารมณ์ความรู้สึกด้านบนนี้แตกต่างกับด้านล่างอย่างสิ้นเชิง เหมือนความยาวของบันไดค่อยๆ พาเราก้าวไปสู่ดินแดนเก่าแก่ ต้นไม้บนเขาน้อยๆ ลูกนี้สูงใหญ่ดูเก่าแก่ กองหินพะเนินอยู่ด้านตรงข้ามวิหารอย่างระเกะระกะ มันเป็นความดิบๆ ของพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกปรับปรุงโดยมนุษย์มากนัก เค้าโครงของธรรมชาติดั้งเดิมจึงแสดงตัวให้เห็นและสัมผัสอย่างชัดเจน

ความรู้สึกด้านบนนี้นิ่งสงบและร่มเย็น ความสูงใหญ่ของต้นไม้และพะเนินหินทำให้เราดูตัวเล็กลง สิ่งปลูกสร้างอย่างวิหารก็เรียบง่ายกลมกลืนไปกับพื้นที่ บรรยากาศทั้งหมดนี้เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ขึ้นมาเยือน ขาลงลองนับขั้นบันไดดูอีกครั้ง ปรากฏว่าได้ต่างจากเดิม แต่ก็คงใช่ที่หากจะเดินนับขึ้นไปใหม่ เอาเป็นว่าถ้าหากมาอีกจะลองมานับใหม่อีกที

ไซต์ปัทมคาระ

ช่วงสายเราเอกเขนกจัดพื้นที่ในบ้านภาวนา กินข้าวเช้ากับครัวท้องถิ่น แล้วแวะไปที่ดินของศูนย์ปัทมคาระ ซึ่งตอนนี้มีหญ้าปกคลุม ธงมนต์ผืนเก่าถึงเวลาต้องเปลี่ยน ที่ดินใกล้เคียงเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการเกิดขึ้นของอาคารหลังใหม่ๆ มากมายภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่อีกไม่นานพื้นที่ของศูนย์แห่งนี้ก็จะได้เริ่มก่อสร้างขึ้นบ้างแล้ว

พูดถึงการก่อสร้าง ช่วงนี้เกาะเต็มไปด้วยรถขนอุปกรณ์ก่อสร้างขับกันขวักไขว่ เหล่าคนงาน นายช่างจากหลายที่มาหลั่งไหลสู่ดินแดนเกาะแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะความรุนแรงของโควิด19 ได้ผ่านพ้นจุดวิกฤติไปแล้ว ผืนดินเกาะพะงันกลับมามีพลวัตรวดเร็วอีกครั้ง เมื่อคลื่นลูกเก่าสงบลงไป ไม่ถึงอึดใจคลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกใหม่ก็ซัดสาดเข้ามายังหาดทรายของพะงัน

แต่หากไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลงแล้ว คำว่าชีวิตจะถูกให้ความหมายได้อย่างไร ลมหายใจที่สดใหม่ของเกาะพะงันสูดเอาทุกสิ่งเข้ามาอย่างไร้เงื่อนไข บ้างอาจตรงกับจริตความชื่นชอบ บ้างก็อาจขัดหูขัดตา พี่ชนินทร์พูดถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไว้น่าฟังว่า ช่วงเวลาเช่นนี้แหละที่เหมาะแก่การยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ เพราะไม่ว่าเราจะเลือกลงหลักปักฐานที่แห่งหนใดในโลกนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี ดีซะกว่าถ้าหากเราเลือกบ้านของเราแล้ว เราก็เตรียมใจโต้ไปกับคลื่นลูกแล้วลูกเล่าของมันด้วย

ศูนย์ปัทมคาระที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราอีกครั้งว่าพื้นที่ พลังงาน และกระบวนการแบบใด ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อเกาะพะงัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่ผู้คนต้องการที่สุดในความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือความคุ้นชิน คือพื้นฐานการภาวนาที่แข็งแรง ซึ่งจะนำไปสู่หัวใจอันเปิดกว้างอย่างไร้เงื่อนไข

เชอเกียม ตรุงปะ มอบคำสอนชิ้นสำคัญของท่านเอาไว้ว่า “ทุกสภาวะจิตสามารถเผชิญได้” เช่นเดียวกันกับเกาะพะงัน ทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นบันไดที่เราสามารถเผชิญ และใช้มันเป็นเส้นทางสู่การตื่นรู้ของผู้คน

ไซต์ปัทมคาระ ณ ขณะนี้ยังปกคลุมด้วยหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆ กระจายอยู่เต็มพื้นที่ แต่ความดิบๆ เช่นนี้คือแคนวาสขาวของสถาปนิกและช่างชำนาญการ เมื่อมองไปยังผืนดินที่ไร้การแต่งเติมด้วยสายตาอันสดใหม่ ทุกสิ่งภายในพื้นที่นั้นคือความว่าง ที่มีความเป็นไปได้ทั้งหมดอยู่ในนั้น


“Art ติดเกาะ Market” และหาดศรีธนู

อยากเห็นผู้คนในแวดวงศิลปะและเหล่าฮิปปี้บนเกาะพะงันบ้าง!

ความอยากนี้ประจวบกับอีเว้นท์ของ Art ติดเกาะ Market ที่ตั้งอยู่ในโซนท้องศาลาของเกาะพะงัน บรรยากาศมีชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยอย่างเห็นได้ชัด มีบูธขายเสื้อผ้า อาหาร เครื่องประดับ งานศิลปะ และอุปกรณ์พิธีกรรมทางจิตวิญญาณต่างๆ เวที ณ ใจกลางของพื้นที่ก็มีศิลปินชาวต่างชาติเปิดเพลงสร้างความครึกครื้น

หากดูจากการแต่งกายของผู้คนที่เดินทางมาแล้ว ก็คงเดาได้คร่าวๆ ว่าคงจะมีความสนใจที่ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาแต่งตัวคล้ายคลึงกันไปหมด อันที่จริงอาจจะตรงกันข้าม เพราะจากการสังเกตสิ่งที่เป็นจุดร่วมของหลายๆ คนในงานคือความกล้าที่จะเป็นตัวเอง เผยแสดงสิ่งที่ตัวเองสนใจและกำลังเป็นอยู่ออกมาอย่างเปลือยเปล่า สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับงานแบบนี้ จึงรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นงานประจำชุมชน ที่เป็นพื้นที่ให้กับความหลากหลายของผู้คนที่ชื่นชอบศิลปะ จิตวิญญาณ และ(อาจจะ) ความเมาบางรูปแบบ

เดินวนจนครบ ได้ของติดไม้ติดมือกันมาคนละนิดละหน่อย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มและขนม เราก็เตรียมยกพลกันไปรอชมพระอาทิตย์ตกดินกันต่อ

อาทิตย์อัสดงครั้งแรกที่พะงัน

หนึ่งในกิจกรรมที่คนอยู่เกาะ หรือ เคยมาเกาะพะงัน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องทำ” คือการชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น ในฐานะที่เพิ่งเคยมาเกาะแห่งนี้จริงๆ จังๆ ก็เลยต้องหลิ่วตาตาม เพื่อสัมผัสรสชาติของแสงอัสดงที่ขึ้นชื่อดูเสียหน่อย

เย็นนี้เราจึงชวนกันเดินทางไปที่หาดหินกอง แต่พอไปถึงก็พบว่าน้ำทะเลขึ้นมาสูงไปหน่อย เลยเปลี่ยนใจกันไปที่ Happy Beach หาดศรีธนู ซึ่งก็เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ว่าสถานการณ์น้ำทะเลน่าจะดีกว่าที่หาดหินกอง หาดขาวทอดยาวมีพื้นที่ให้นั่งเล่น บางคนบนหาดปูผ้ารองนอน เป็นหาดที่มีบรรยากาศสบายๆ ดูอบอุ่น

หาดศรีธนูมีความพิเศษตรงที่เป็นหาดที่มีฮิปปี้ชาวต่างชาติมาชมตะวันตกดินมากเป็นพิเศษ พลังงานหรือ Vibes ของหาดนี้จึงผ่อนคลาย สบายๆ สัมผัสได้ถึงความเป็นมิตร และบางช่วงก็ได้กลิ่นควันกัญชาลอยปะทะจมูก ขณะเดียวกันหาดศรีธนูก็ยังสงบเงียบ ไม่ได้มีเสียงเพลงดังไปกว่าเสียงคลื่น จะมีก็แต่เสียงทักทายเป็นระยะของเหล่าฮิปปี้กับเพื่อนของเขาที่เดินผ่านไปมาเพื่อขายขนม Vegan ชาวคณะเราบางคนทดลองซื้อมาชิม ได้ความว่าอร่อย!

พวกเราใช้เวลาบนหาดนี้อย่างเต็มที่ นั่งมองฟ้าตั้งแต่อาทิตย์อ้อยอิ่งเคลื่อนหายไปที่ขอบโลก แต่ถึงดวงกลมจะหายไปแล้ว มันยังคงทิ้งแสงสีหลากลายเฉดเอาไว้บนผืนฟ้า จวบจนความมืดเดินทางมาถึงฝ่ามือของเรา แล้วจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ