MONEY : ว่าด้วยเส้นทางการภาวนา เงินทอง กับความร่ำรวย

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

เรียบเรียงช่วงเสวนาในงาน “ร่ำรวยด้วย enlightened mind” ทำบุญปีใหม่ขอให้ (จิตใจ) ร่ำรวย กับวัชรสิทธา  วันที่ 8 มกราคม 2566

ในวันเวลารอบตัวเต็มไปด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ไหลเข้าไหลออก (โดยเฉพาะค่าไฟที่ไหลออกเยอะเป็นพิเศษ) ก็ตระหนักว่าเราควรอยู่นิ่งๆ และกลับมาคิดถึงคุณค่าและความหมายของ “เงินทอง” กันสักพัก ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ที่เรียกหลวมๆ ได้ว่าเป็นวัด (–ชรสิทธา) ที่ขับเคลื่อนพุทธรรมไปสู่ชีวิต การสัมพันธ์กับเงินดูจะมี dilemma อะไรบางอย่างเสมอ เราไม่ควรจะรวยเกินไป ไม่เพียงเท่านั้นในฐานะที่ทำงานด้านวิชาการ ศาสนา การจะพูดเรื่องเงินทองแต่ละครั้งก็จะเขินๆ หน่อยด้วยมาตรฐานอะไรบางอย่างของสังคมที่เราอยู่ร่วมกันนี้

โดยปกติแล้วเรามักจะเอาความร่ำรวยไปผูกกับเรื่องทางโลกย์ ยิ่งรวยยิ่งไปห่างจากเส้นทางสู่การหลุดพ้น โดยเฉพาะในฐานะผู้ปฏิบัติที่เป็นฆราวาส ..ดูสิเธอมีทรัพย์สมบัติ มีวัตถุมากมายไปหมด จะปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้นได้อย่างไร ดูพระสิ ต้องสมถะ ต้องยากจน ไร้สิ่งรุงรัง ต้องงั้น! 

ด้วยความย้อนแย้ง ประเด็นรุมเร้าและอากาศร้อนๆ ตอนนี้  เลยพาให้นึกย้อนไปถึงช่วงมกราคมต้นปี วัชรสิทธารับปีใหม่ด้วยการจัดอีเว้นท์ชื่อว่า “ร่ำรวยด้วย  Enlightened Mind”  โดยมีอาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีการของสถาบันมาพาทำพิธีสาธนา บูชาพระอารยชัมภละ พระโพธิสัตว์แห่งความร่ำรวยจากขนบพุทธธิเบต แน่นอนอาจารย์ตุลผู้มากด้วยความรู้ก็พาผู้เข้าร่วมคุยถึงที่มาของพระโพธิสัตว์องค์นี้ และชวนคุยถึงมุมมองที่เรามีต่อเงิน ต่อความร่ำรวยกับคุณวิจักขณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบัน  และแน่นอนเหมือนเป็นงานพิธีในวัชรสิทธาแล้ว ย่อมต้องมีการให้ความรู้ และมิติภายในเสมอ  

“ในวันนี้เราจะปฏิบัติบูชาพระโพธิสัตว์แห่งความร่ำรวยทั้งภายนอก และบ่มเพาะสภาวะความร่ำรวยที่เป็นโพธิจิต จิตแห่งการตื่นรู้ภายในไปพร้อมๆกัน และการบูชาก็จะมีความหมายขึ้น” – อาจารย์ตุล 

รวย vs จน มันอยู่ที่ไหนกันนะ

วิจักขณ์เริ่มต้นเล่าที่มาของอีเว้นท์นี้ด้วยการประกาศอย่างมุ่งมั่นว่า ตุล เพื่อนของเขาเป็นคนที่ร่ำรวยมาก ซึ่งในช่วงเวลานั้นนิ้วกลม นักเขียนชื่อดังก็ได้โพสต์เฟสบุ้กไปด้วยเนื้อหาเดียวกัน ว่าอาจารย์ตุลนี่รวยมาก!

เพื่อไม่ให้ถูกสรรพากรจับตา อาจารย์ตุลจึงขยายความร่ำรวยของตัวเองให้พวกเราฟัง

“เมื่อก่อนผมคิดว่าผมมีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะผมคิดว่าผมไม่รวยสักที หลายคนคงรู้ว่าผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย มันไม่ได้รวยนะฮะ โดยเฉพาะอาจารย์ที่ไม่ใช่ฝั่งวิทยาศาสตร์ อันนี้เหมือนบ่นเลยนะ (หัวเราะ) ผมไปทำงานปีแรก วุฒิปริญญาโท เงินเดือนหมื่นสาม คิดดู และอยู่หมื่นสามมาหลายปีกว่าจะถึงสองหมื่น ในขณะที่ลูกศิษย์จบไปช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เงินเดือนเริ่มต้นหมื่นห้า กลับมาเจอกันนี่ขำเลย เออเราเงินเดือนเท่ากันเลยเนอะ

แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ โอเคเรื่องเงินก็เรื่องนึง แต่ผมเกิดความรู้สึกบางอย่างต่างไป พอปีที่ผ่านมา ย้ายบ้าน เริ่มมีพื้นที่ต้อนรับผู้คนมากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าได้ช่วยการงานต่างๆ เงินผมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย ก็ยังเป็นอาจารย์มหาลัยเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกมันเปลี่ยน ว่าตอนนี้เราเริ่มมีสิ่งที่แบ่งปันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ แรงกายแรงใจ และผมไม่ได้รู้สึกถึงความขาดแคลนอะไรมากมายในชีวิต ผมก็รู้สึกว่า ภาวะจิตใจแบบนี้ต่างหาก ที่เรียกว่าร่ำรวย”

“เราไม่ได้  romanticize ความจนนะ โอเค ฐานะผมก็พอมีพอใช้ มีเงินเดือน มีบ้าน มีความสะดวกสบาย แต่ผมคิดว่าพอเราพูดถึงเรื่องนี้ มันมีสองมิติไปคู่กัน แน่นอนว่าเวลาเราพูดถึงความร่ำรวยทางสังคมมันก็เรื่องนึง เราเห็นผู้คนที่ยากลำบากไม่ใช่แค่ทางจิตใจ แต่ทางกายภาพด้วย ซึ่งเราจำเป็นจะต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เกิดขึ้น 

“ผมว่าความรู้สึกที่อยากจะผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันเกิดได้หลายแบบ อาจจะมาจากความคั่งแค้น โกรธเคือง หรืออาจจะเป็นว่า ทั้งสังคมมันควรจะอิ่มท้องเหมือนเรา ทั้งสังคมควรจะมีความร่ำรวยทั้งภายนอก ภายในเหมือนเรา อันนี้แหละที่ผมคิดว่ามันเป็น Enlightened Mind เป็นการบ่มเพาะความกรุณาที่สัมพันธ์กับเรื่องความร่ำรวย” 

เมื่อความร่ำรวยไม่ใช่เพียงทรัพย์สินภายนอก แต่เป็นคุณภาพของจิตภายใน ในขณะที่เราพยายามมีชีวิตรอดในสังคมเหลื่อมล้ำ พยายามสะสมทุนให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต การตระหนักถึงสภาพความ รวย จน ในจิตก็สำคัญไม่แพ้กัน 

วิจักขณ์เสริมต่อมาในประเด็นของความยากจน

“เวลาเราพูดถึงเรื่องของจิตใจ และการมาสนใจเรื่องภาวนา ผมเชื่อว่าหลายๆ คนเคยผ่านช่วงเวลาที่จิตใจเราขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกยากจน เขาเรียกว่า poverty-stricken เช่น ความรู้สึกว่าเราดีไม่พอ หรือเรามีไม่พอ ไม่มีคุณสมบัติมากพอ เราต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น ต้องอิจฉาคนอื่น ความรู้สึกเหล่านี้ที่วนๆ อย่างการที่บอกว่าทุกคนมีพุทธะในตัวเอง แต่เราบอกเราเป็นไม่ได้หรอก เราคงเป็นคนที่มีความกรุณาเหมือนท่านดาไลลามะไม่ได้หรอก เราเป็นแค่ผู้ปฏิบัติกระจอกๆ อันนี้ก็เป็นความคิดแบบจิตยากจน

“เหมือนมีความคิดบางอย่างที่เราบล็อกตัวเองไว้ หากเราเข้าใจเรื่องพุทธรรม เราต้องเข้าใจว่าธรรมชาติโดยพื้นเดิมของเราที่เราเกิดมา คือ Enlightened Mind หรือจิตที่ตื่นรู้ มันไม่มีความรู้สึกยากจนอยู่ในนั้น ตอนเด็กๆ เล่นกับเพื่อน โอ้ ทุกอย่างมันร่ำรวยไปหมด อันนี้ก็เป็นไปได้ อันนั้นก็เป็นไปได้ เราแบ่งปันกัน ปีโป้มีอันนึง ก็กินด้วยกันสิ 

มันมีความรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ อันนี้แหละครับ คือธรรมชาติของจิตที่ร่ำรวย และการปฏิบัติภาวนาเป็นการฝึกให้ตระหนักว่า เรามีเกินพอ เรามีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่แล้ว ความคิดของเรานั่นแหละที่บล็อกความเป็นไปได้ของเราเอง และเอาจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับใครเลย”

“ถึงเราจะมีเงินเยอะแค่ไหน ถ้าไม่มีจิตใจตื่นรู้ที่มี right view กับเรื่องนี้ ก็ไม่อาจเป็นความร่ำรวยที่ส่งต่อไปสู่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ได้” วิจักขณ์กล่าว

“เหมือนกับงานวัด คนปฏิบัติธรรมอาจมีแนวคิดว่า มาเข้าวัดทำไมต้องมีตลาด มีงานรื่นรมย์ มีเสียงดนตรี ทำไมต้องมี offering อะไรต่างๆ แต่เมื่อจิตใจเราเปิดกว้างด้วยความตื่นรู้ ทุกอย่างที่เป็นรสสัมผัส เป็นผัสสะในชีวิตเรา สามรถเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อกับ Enlightened Mind ได้ทั้งสิ้น ทั้งของเราและของผู้คนที่เข้ามาร่วมงานกัน มันมีอุปายะวิธีบางอย่างในการที่เราจะใช้สิ่งที่ดูเหมือนเป็นการยึดมั่นในทางโลกย์ แล้วแปรเปลี่ยนมันเป็นสิ่งที่พาให้เชื่อมต่อกับ Enlightenment แบบนี้ หากเรามีมุมมองแบบนี้ ยิ่งใจร่ำรวยมากเท่าไหร่ ยิ่งเราแบ่งปันไปมากเท่าไหร่ ผู้คนก็จะยิ่งเข้ามาเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์แห่ง Enlightenment มากขึ้นไป”

ว่าแล้วก็หันไปกล่าวกับเพื่อนรักอีกที “ผมก็บอกตุลเสมอ ว่ามึงต้องรวย ต้องดัง แล้วแบ่งปันออกไป เดี๋ยวกูจะเป็นเพื่อนมึงตรงนี้เอง”


พระอารยชัมภละ โพธิสัตว์ที่จะพาเรารวยรวยรวย

“พระชัมภละมีห้าปาง เป็นการเอาชนะจิตแห่งความยากจนห้าอย่าง จิตยากจนเหล่านั้นมีอะไรบ้าง? เราลองดู…” อาจารย์ตุลพาสำรวจความหมายของพระชัมภละ พระโพธิสัตว์ที่เราบูชาในวันนี้

ความหยิ่งผยยอง ยโสโอหัง จิตที่ไม่ให้ใคร และไม่รับจากใคร จิตที่คิดว่าตัวเองดีเด่นกว่าใคร แต่จริงๆ แล้วเป็นความยากจน เพราะไม่ให้และไม่รับ ในขณะที่ความอ่อนน้อม เป็นความเปิดกว้าง 

ความยึดมั่นถือมั่น จิตที่ไม่ยอมปล่อย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนอื่น เกี่ยวกับความร่ำรวย 

ความโกรธ การเผาผลาญ ทำลายทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มี

ความอิจฉาริษยา จิตที่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น บางทีเราอาจไม่รู้ตัวว่าเป็น แต่ความคิดเปรียบเทียบจะทำให้ยากจนเสมอ

ความโลภ อยากได้อยากมีมากกว่าที่ควร อยากได้ของคนอื่น รู้สึกไม่พอ

“เมื่อเราสามารถเอาชนะจิตแห่งความยากจนทั้งห้าได้ ไม่มีคำว่ายากจนอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติพระอารยะชัมภาละ มันคือการฝึกจิตภายในไม่ใช่เพื่อขอความร่ำรวยภายนอก พระธิเบตท่านหนึ่งกล่าวไว้ชัดเจนว่า อย่าหวังว่าพระชัมภาละจะให้เงิน แต่ท่านจะพาให้เราตระหนักว่าจุดเริ่มต้นของความรวยคือจิตใจ

 “มันไม่ผิดนะถ้าเราในฐานะชาวโลกย์ๆ จะขอให้ท่านประทานเงินทองมาให้ แต่อย่างไรก็ตามต้องรู้ด้วยว่าเราต้องทำงานกับความยากจนทั้งภายนอกและภายในเมื่อเราปฏิบัติพระอารยชัมภละ สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ เราต้องเลิกตระหนี่ ต้องให้ทาน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำสำเร็จถ้าไม่ให้ทาน นี่คือข้อกำหนดอย่างหนึ่ง”

“ความร่ำรวยก็น่ากลัว ไม่ได้น่ารักเสมอไป ในรูปเคารพของเทพเจ้าแห่งเงิน ท่านขี่คน มันคือสัญลักษณ์ว่าเงินขี่คนได้ เพราะฉะนั้นเราต้องระวัง ถ้าเราเผลอไผล ประมาท มันจะขี่เรา”


เงินคือพลังงาน 

วิจักขณ์ชี้ให้เห็นมุมมองอื่นที่เราสามารถจะสัมพันธ์กับสิ่งทางโลกย์อันนี้ใหม่ เปลี่ยนมุมมองว่าเงินคือพลังงาน พลังอย่างหนึ่งที่หล่อเลี้ยงให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ นั่นหมายความว่าโดยตัวมันเอง เงินไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หรือที่ค่าเลิศเลอ แต่คือสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องสัมพันธ์ด้วยในชีวิตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และนั่นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยแม้ว่าเราจะใช้ชีวิตเพื่อมุ่งสู่การตื่นรู้

“เราจะไม่กลัวที่จะพูดเรื่องเงิน เงินคือพลังงานครับ คือ energy เมื่อเรามีเจตจำนงที่บริสุทธิ์มั่นคงแล้ว เราต้องพาเข้ามา แทนที่จะเอาเข้ามาส่งเสริมอัตตาตัวตน ซื้อรถซื้อนาฬิกา เราเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำการงานทางธรรม

“เงินคือพลังงาน เวลาเรามีพลังงานเยอะ มันก็ได้ทำอะไรเยอะ คล่องตัว ใช่มั้ย? และเมื่อเรามีเจตจำนงทางธรรม เงินก็จะเป็นพลังงานที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเจตจำนงนี้ให้สำเร็จ  ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าในฐานะที่เป็นฆารวาส เราสามารถฝึกเรื่องนี้ได้เยอะ 

“เราให้คุณค่าของเงินเรา กับอะไร? เราซื้ออะไรบ้าง สตาร์บัค เติมน้ำมัน มือถือ อินเตอร์เน็ต พวกนี้เรารู้สึกว่า เป็นธรรมดา เป็นปัจจัยสี่ที่ทำให้ชีวิตเราขับเคลื่อน แต่ว่ามีอะไรบ้าง ที่เราให้คุณค่า ที่เรารู้สึกว่ามันใกล้กับชีวิตของเรา เราให้เงินกับสิ่งนั้นรึเปล่า เราสนับสนุนคุณค่านั้นมั้ย สมติเราเห็นคนที่เขาทำโครงการต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ เราผูกพลังงานของเราด้วยการให้เงินสนับสนุนโครงการนั้น อันนี้เป็นอะไรที่ลึกซึ้งเหมือนกันนะครับ เพราะเรากำลังผูกคุณค่าที่ลึกซึ้งในใจเรากับอะไร เงินก็คือพลังงานที่เราสามารถที่จะมอบให้กับสิ่งนั้น ผมคิดว่ามันเป็นความร่ำรวยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนทุกคนเลย”

“การร่ำรวยช่วยให้เรามีพลังงานที่ขับเคลื่อนชีวิต”

ทำบุญ = ผูกพลังงานกับสิ่งที่มีคุณค่า

“เป็นครั้งแรกชีวิตนะครับที่พูดคำว่ารวย รวย รวยเยอะขนาดนี้” มาถึงช่วงท้ายของการเสวนา อาจารย์ตุลก็เปรยขึ้นมา เรียกเสียงหัวเราะในห้อง “ปกติในฐานะนักวิชาการจะกลัวคำนี้ ไม่ชอบพูดเรื่องเงิน เวลาดีลงานกับใครจะเขิน ไม่กล้าพูดเรื่องค่าตอบแทน แต่เดี๋ยวนี้ไม่เขินละครับ ใช้เมียพูดแทน

“เราเป็นผู้ปฏิบัติฆารวาส ถ้าเราเป็นพระมันจะอีกแบบหนึ่ง พระหรือนักบวชจะต้องสัมพันธ์กับความยากจนภายนอกนะ หมายความว่ารูปแบบวิถีชีวิตที่พยายามจะตัดอะไรออกไปให้มากที่สุด ให้คล่องตัว มีแค่จีวร บาตร มีชีวิตเหมือนนกที่มีคนนิดเดียวแล้วบินไปได้ไกล แต่เราเป็นอีกแบบ เพราะเราเป็นฆารวาส เราต้องขับเคลื่อนชีวิตด้วยเงินทอง เรามีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแล มีชีวิตทางโลก แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเรื่องเลวร้ายโดยตัวมันเอง มันสามารถที่จะนำประโยชน์ไปสู่ผู้คนได้ ผมคิดว่านั้นต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญ 

“แม้แต่พระที่สัมพันธ์กับความยากจน หลากครั้งท่านก็ไม่ได้ยากจนเลยในแง่ของจิตใจ ใช่มั้ย เป็นตัวกลางที่เราเรียกว่าเป็นเนื้อนาบุญ มาเลย เข้ามาเพาะปลูกเลย แล้วก็เก็บเกี่ยวไป แต่ในปัจจุบันมันกลับกันไปมากๆ คนพยายามเป็นพระที่รวยทางโลก แต่ทางธรรมยากจนนะ ไม่แบ่งปัน ในขณะที่ฆารวาสเองแทนที่จะร่ำรวยทั้งทางโลกทางธรรม กลับไปบีบตัวเองให้มีจิตยากจน”

“เนื้อนาบุญนี่น่าสนใจ” วิจักขณ์เสริมต่อ  

“เหมือนเราลงทุนกับใคร ผมคิดว่าครูบาอาจารย์เนี่ย เขาไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิดนะ มันเหมือนว่ามีคนลงทุนกับเขานะ ลงทุนกับความรู้ การปฏิบัติทางธรรม ลองนึกนะ ผมมีเงิน 10 บาท ผมเอาเงินนี้ฝากให้อาจารย์ตุล บอก ฝากไปทำบุญด้วย ด้วยความที่เราเชื่อมั่นว่าเขาจะนำพลังงานนี้ไปต่อยอดในเจตจำนงที่ดี การสนับสนุนอะไรเหล่านี้ก็เหมือนเป็นการต่อยอดเพื่อไปสู่ทิศทางที่ดี ถ้าเรา connect กับคนที่ดี คนที่มี Enlightened Mind มีจิตใจที่กรุณาต่อผู้อื่น มันก็เหมือนกับเราได้ร่วมลงทุนกับคนนั้น” 

เรื่องการเงินที่เกี่ยวข้องกับทางธรรมอย่างแนบเนื้อที่สุด คือการทำบุญ ปกติทั่วไปแล้ว ฆารวาสผู้มีจิตศรัทธาจะทำอย่างไรดีเพื่อจะสามารถขึ้นเรือไปกับลำที่จะไปสู่ความดีงามและการหลุดพ้น วิธีการที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทำบุญ นำปัจจัยที่มีไปส่งเสริมพระ หรือองค์กรทางศาสนาเพื่อหวังขึ้นเรือด้วย อย่างน้อยไม่หลุดพ้นก็เพิ่มแต้มบุญในชีวิต 

“ผมว่าคนชอบมองการทำบุญเป็นเรื่องของพิธีการ มากกว่าสาระของมัน ผมมีเพื่อนเป็นนักทำบุญเลยนะ หลายคนทำบุญเก่งมากเลย แต่ต้องเป็นวัดเท่านั้น ในสังคมไทยมองว่าทำบุญกับวัดเนี่ยสูงสุด และเรียกการให้เงินกับองค์กรอื่นๆ ว่าทาน ผมคิดว่ามันเป็นการเลือกใช้คำเกินไป เรียนอันนึงว่าบุญ อันนึงว่าทาน จริงๆ ทั้งหมดมันคือทานบารมี เวลาเราให้ ไม่ว่าจะให้เงินทอง ให้กำลังกายกำลังใจ ให้ความรู้ ให้ธรรมะ มันเป็นทานบารมีทั้งหมดเลย เราไม่ควรจะแยก แต่ด้วยคติที่เรานับถือพระ ก็ไม่ว่ากัน เพราะเราเชื่อว่าพระเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์กว่า มันก็เลยทำให้การทำบุญทำทานของเรามีความจำกัด 

จริงๆ แล้วเนี่ย เวลาเรามองไปรอบๆ สังคมไทย มันมีผู้คน หรือหน่วยงานมากมายที่ทำประโยชน์ และเราสามารถที่จะช่วยเหลือสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้นได้ มันไม่จำเป็นต้องสังกัดอยู่กับวัด ซึ่งตรงนั้นผมว่ามันกลายเป็นพิธีกรรม การทำบุญมันกลายเป็นลักษณะของพิธีกรรมซะเยอะ มากกว่าจากตัวเนื้อหาสาระ คือการแบ่งปัน”

“จริงๆ มันง่ายมาก เริ่มต้นจากใกล้ๆ ตัว ผมกับวิจักขณ์เจอกัน กินข้าวกันเลี้ยงอาหารกัน มันเริ่มต้นแล้ว มันเริ่มต้นจากทัศนคติที่ถูกต้อง และเราจะมุ่งไปในทางที่สวยงามรุ่มรวย”

ด้วยทัศนะที่ตื่นรู้ ตระหนักถึงพลังงานของเงินและความหมายในการสัมพันธ์กับเงิน โปรดกลับมาทบทวนจิต ค่อยๆ ดูจิตยากจน จิตร่ำรวยที่ส่งผลกับท่าทีในการใช้ชีวิต เพื่อความเปิดกว้างและอิสระในการเป็นผู้ให้ ทบทวนสิ่งที่เราให้คุณค่าและอยากสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นส่วนเล็กหรือส่วนใหญ่ พลังงานที่เราส่งไปจะเกื้อกูลเจตจำนงที่ดีอย่างแน่นอน