Role Play : สวมบทบาทสมมติ เพื่อเห็นธรรมระหว่างบรรทัด ในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร

บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ (aka. TOON วัชรสิทธา)


หลังจากคอร์สวิมลเกียรตินิทเทศสูตรจบลง ใช้เวลาอีกสักพัก ก่อนที่สมองจะประมวลผล ประสบการณ์การเรียนพระสูตรชิ้นสำคัญของพุทธมหายานจนแล้วเสร็จ 

ผลการประมวลสรุปได้ว่าคลาสเรียนนี้คือมิติใหม่ของการเรียนพระสูตรเลยก็ว่าได้!

คลาสวิมลเกียรติฯ ครั้งนี้สอนโดย อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และเพิ่มเติมเนื้อหาด้านการปฏิบัติโดย วิจักขณ์ พานิช ที่กล่าวว่ามิติใหม่นั้นมีหลายด้านด้วยกัน แต่ไฮไลท์หลักคือรูปแบบการสอนที่ให้ผู้เรียนได้ลอง “Role Play” สวมบทบาทสมมติของพระอรหันต์และพระโพธิสัตว์ที่ตอบโต้กันไป-มา ผ่านการสนทนา จนเกิดเป็นปัญญาของคำสอนที่ปรากฏขึ้นทั้งในบรรทัดและระหว่างบรรทัดของตัวบท

การหมุนกงล้อธรรมครั้งที่ 2 : ความว่าง ในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร

ก่อนอื่นต้องปูพื้นความเข้าใจในพระสูตรชิ้นนี้สักหน่อยก่อน วิมลเกียรตินิทเทสสูตร คือพระสูตรชิ้นสำคัญในคำสอนของพุทธมหายาน เนื่องจากเป็นพระสูตรที่นำเอาแก่นคำสอนมหายานมาทาบกับแนวทางสาวกยานที่มีมาก่อนอย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพุทธศาสนาในยุคสมัยที่พระสูตรนี้ได้เกิดขึ้น (ราวพ.ศ.500)

แก่นคำสอนหลักของมหายาน พูดถึงความว่าง หรือ “สุญญตา” ซึ่งเป็นชุดคำสอนที่ “พลิกความเข้าใจ” ในองค์ความรู้ของสาวกยานอย่างสิ้นเชิง มหายาน กล่าวว่า สรรพสิ่งล้วนคือความว่าง ขันธ์ห้าคือความว่าง นิพพานคือความว่าง สังสารวัฏคือความว่าง ฯลฯ ซึ่งพระสูตรวิมลเกียรติฯ ได้ถ่ายทอดหัวใจของคำสอนนี้ออกมาผ่าน “บทสนทนา” หรือ “dialogue” ระหว่างวิมลเกียรติกับอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า รวมไปถึงพระโพธิสัตว์ อย่างอวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา และมัญชุศรี พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา

จึงไม่แปลกเลยที่พระสูตรวิมลเกียรติฯ อาจจะเคยสร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้ศึกษาธรรมะกันมาไม่น้อย เพราะแม้แต่อรหันตสาวกในคัมภีร์ ก็ยังประสบกับความจังงังในการสนทนากับเศรษฐีวิมลเกียรติ แต่ด้วยกลวิธีในการถ่ายทอดธรรมเช่นนี้ จึงเป็นคัมภีร์ที่มีความเฉพาะตัว น่าตื่นใจ และท้าทายอย่างยิ่งในการเปิดใจศึกษา

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้พระสูตรวิมลเกียรติเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพุทธศาสนาก็คือ เป็นคัมภีร์เล่มแรกที่ผู้สอนธรรมมะไม่ใช่นักบวช แต่เป็นฆราวาส ทั้งยังไม่ใช่ฆราวาสธรรมดาๆ แต่เป็นเศรษฐีผู้ที่ปฏิสัมพันธ์กับประสบการณ์แบบโลกียะอย่างใกล้ชิด บางช่วงบางตอนยังมีเทพธิดาผู้เป็นสตรีออกมาปะทะวาทีกับสาวกของพระพุทธเจ้าอีกด้วย พระสูตรนี้จึงแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของพุทธศาสนาที่โอบรับเอาฆราวาสและสตรีเพศเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของธรรมะ และทำลายลำดับชั้นทางอำนาจของสมณเพศที่เคยสูงส่งกว่า ให้ทัดเทียมกันกับเพศอื่นๆ

เมื่อบริบทของพระสูตรเป็นเช่นนี้ การเรียนในคลาสวิมลเกียรติฯ จึงตื่นเต้นและท้าทาย โดยเฉพาะกับพวกเราชาวพุทธไทย ที่คุ้นเคยกับชุดคำสอนอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไป แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น อ.ตุล ได้ทวีความบันเทิงเข้าไปอีกขั้น ด้วยการเรียนพระสูตรแบบ “สวมบทบาท” เป็นตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พระสารีบุตร เศรษฐีวิมลเกียรติ เทพธิดา พระมหากัสสปะ ฯลฯ

ด้วยความที่บทสนทนาหลักของพระสูตรนี้เกิดขึ้นระหว่างพระสาวกกับเศรษฐีวิมลเกียรติซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ตัวบทสนทนาจึงดำเนินไปในลักษณะของ “การย้อนทวน” ที่วิมลเกียรติฯ กล่าวยอกย้อนเหล่าสาวกของพระพุทธเจ้า ด้วยการแสดงให้เห็นถึงสภาวะแห่งความว่างในข้อธรรมต่างๆ ที่พระอรหันตสาวกยึดถือเป็นสรณะ

ผู้เรียนในคลาสได้รับบทบาทและบทพูดในพระสูตรวิมลเกียรติกันคนละนิดละหน่อย แล้วจากนั้นอ.ตุล ก็จะคอยกำกับสถานการณ์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจข้อความในพระสูตร ซึ่งหลังจากที่เราได้ลอง Role Play ตลอดคลาสทั้ง 2 วัน เราก็ตระหนักได้ว่า นี่มันคือมิติการเรียนธรรมะรูปแบบใหม่ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาพระสูตร การสวมบทบาทแบบนี้ นอกจากจะทำให้การเรียนพระสูตรเป็นไปด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสถึงมิติที่ลึกซึ้งของเนื้อความในพระสูตรมากยิ่งขึ้นด้วย


ช่วยเปิดพื้นที่ให้กับการตีความ

หนึ่งในสิ่งที่เป็นคุณลักษณะของการ Role Play คือการตีความ เพราะอย่างน้อยก่อนที่เราจะอ่านบทพูด เราจำเป็นต้องตีความคาแรคเตอร์ของตัวละครที่เราเข้าไปสวมบท บรรยากาศของฉากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร น้ำเสียงที่ใช้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ แม้จะไม่ได้มานั่งคิดคำนึงอย่างจริงจังเหมือนกับละครเวที แต่เมื่ออ.ตุล ได้นำการ Role Play มาใช้ในคลาส ผู้เรียนก็เกิดกระบวนการใคร่ครวญเหล่านี้ขึ้นโดยอัตโนมัติ

พื้นที่ในการตีความเช่นนี้ เป็นมิติใหม่อย่างมากในการอ่านพระสูตร จากที่แต่ก่อนเราอาจจะคุ้นเคยกับการอ่านพระสูตรในฐานะ “ข้อความ” ซึ่งไม่สมควรไปแตะต้องหรือตั้งคำถาม ทำให้ตัวหนังสือในพระสูตรขาดชีวิตชีวา ไร้สีสัน และปราศจากอารมณ์ความรู้สึกร่วม

เมื่อเรากล้าตีความและลองสวมบทบาทเป็นพระสาวกหรือพระโพธิสัตว์ เราก็พบว่ามีมิติอีกมากมายที่จะไม่ถูกมองเห็น หากเราเรียนแค่เพียงตัวบทเปล่าๆ มิติที่ว่านั้นเป็นเรื่องราวระหว่างบรรทัด ที่บทสนทนาในวิมลเกียรติอาจจะไม่ได้แสดงออกมาโดยตรง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวก ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ สถานะของพระอรหันต์ และอีกมากมาย ที่เผยตัวออกมาเมื่อเราเริ่มตีความ “ตัวละคร” ต่างๆ ในพระสูตรอย่างเป็นมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น บางตอนจากปริเฉทที่ 6 เป็นฉากที่พระสารีบุตรกำลังสนทนาอยู่กับเทพธิดาในบ้านของวิมลเกียรติ แล้วเทพธิดาก็ได้เสกร่างกายของพระสารีบุตรให้สลับกันกับเธอ จากนั้นจึงย้อนถามพระสารีบุตรว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร ทำไมท่านไม่เปลี่ยนสตรีภาวะของท่านเสียเล่า” – เทพธิดา
“อาตมภาพไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนกลับได้อย่างไร รูปบุรุษของอาตมภาพหายไป กลายมาเป็นรูปสตรี” – พระสารีบุตร

หรือ เมื่อตอนที่พระสารีบุตรกล่าวถามเทพธิดาอย่างจริงใจว่า

“ดูก่อนเทพธิดา อีกนานเท่าไร เธอจักบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” – พระสารีบุตร
แต่เทพธิดากลับตอบว่า “ในกาลใด พระคุณเจ้าสารีบุตรมีธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ปุถุชน ในกาลนั้นดิฉันจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าแม้จะอ่านผ่านตัวหนังสือ แต่เราก็ยังสามารถสัมผัสถึง “น้ำเสียง” ของเทพธิดาที่มีความยียวนต่อพระสารีบุตรได้อยู่ดี ซึ่งเมื่อเรานำเอาน้ำเสียงนี้มาตีความเป็นท่าทีและแสดงออกผ่านการ Role Play ก็ยิ่งทำให้พลังของวิวาทะครั้งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนเกิดความรู้สึกเห็นใจพระสารีบุตรอยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงความ “เฟี้ยส” ของเทพธิดาที่จำต้องแสดงออกมา ในฐานะตัวแทนของสตรีที่มีสถานะต้อยต่ำกว่าพระมาโดยตลอด

ช่วยให้เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในพระสูตร

ในบางช่วงของพระสูตร ได้มีการเล่าสายสัมพันธ์ของวิมลเกียรติกับอรหันตสาวกรูปต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มีการกล่าวถึงช่วงที่พระสารีบุตรกำลังปลีกวิเวกภาวนา แล้วจู่ๆ วิมลเกียรติก็เดินไปพบ แล้วกล่าววิพากษ์การปฏิบัติของพระสารีบุตรว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร การหลีกเร้นเพื่อทำสมาธิอย่างนี้ ไม่เป็นการหลีกเร้นทำสมาธิอย่างถูกต้อง การหลีกเร้นทำสมาธิที่แท้จริงนั้น คือการที่กายและจิตไม่ปรากฏในโลกทั้ง ๓ ไม่ต้องออกจากนิโรธสมาบัติ แต่สามารถแสดงบรรดาอิริยาบถทุกอย่างได้ นี้คือการหลีกเร้นทำสมาธิ ไม่ต้องสละมรรคธรรม แต่ก็สามารถทำกิจกรรมของปุถุชนได้ นี้ก็คือหลีกเร้นทำสมาธิ จิตไม่ยึดติดในภายใจ หรือภายนอก…”

การได้สวมบทเป็นพระสารีบุตร ช่วยให้เราได้ลองสัมผัสกับคำพูดของวิมลเกียรติในฐานะผู้ฟัง และทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าจู่ๆ มีใครไม่รู้เดินมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราเชื่อสุดใจ ราวกับเข้ามาสอนเราโดยไม่ได้รับเชิญ เราจะเกิดความรู้สึกอย่างไร เราจะเสียหน้า ลังเลสงสัยในตัวเองหรือไม่? โดยเฉพาะถ้าคำกล่าวนั้นฟังดูสมเหตุสมผลอย่างยิ่งด้วยแล้ว ความงุนงงสับสนคงจะเกิดขึ้นเป็นแน่ แต่อีกใจหนึ่งก็คงรู้สึกท่วมท้นด้วยความยินดีว่า ในโลกนี้สามารถมีผู้ที่เข้ามาท้าทายธรรมะที่เราเชื่ออย่างสนิทใจได้ คล้ายกับว่ามาเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ต่อให้กับเรา

หรือในอีกเหตุการณ์ เมื่อพระสารีบุตรได้เดินทางไปยังบ้านของวิมลเกียรติแล้วไม่เจอเก้าอี้สักตัว ท่านจึงเกิดความกังวลขึ้นมาว่า “ในคฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติคฤหบดี พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย และพระมหาสาวกทั้งหลายเหล่านี้ จักนั่ง ณ ที่ไหน เพราะว่าในคฤหาสน์ไม่มีอาสนะเลย”

แต่ทันใดนั้นวิมลเกียรติก็ได้ล่วงรู้ความคิดของพระสารีบุตร แล้วนึงกล่าวตอบไปว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร ผู้ธรรมกถึก พระคุณท่านมายังสถานที่นี้เพื่อแสวงหาธรรม หรือว่ามาเพื่อหาอาสนะที่นั่งเล่า ?”

โดนย้อนขนาดนี้ เป็นเราอาจจะอยากหนีกลับบ้านในทันที ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวของพระสารีบุตรคงไม่ใช่ความรู้สึกปิติยินดีต่อคำยียวนนี้อย่างแน่นอน แต่ด้วยสภาวะการตื่นรู้ของพระอรหันต์ ท่านจึงสามารถวางคำยียวนนี้ลงได้ เพื่อเปิดใจรับฟังสิ่งที่วิมลเกียรติจะแสดงให้ชมต่อไป ซึ่งเมื่อเราได้ลองเข้าไปนั่งในหัวใจของอรหันตสาวกผ่านการสวมบทบาท เราอาจพบว่าการดำรงอยู่ของท่าน ไม่เหมือนก้อนหินที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก เพียงแต่ท่านสามารถที่จะอยู่กับความรู้สึกต่างๆ ได้โดยไม่ยึดติดหรือตอบโต้ต่างหาก

ช่วยให้มองเห็นความเป็นมนุษย์ในพระอรหันต์

ในพระสูตรนี้ พระสารีบุตร คืออรหันตสาวกที่โดนย้อนข้อธรรมบ่อยที่สุด นัยหนึ่งอาจเป็นเพราะท่านคืออัครสาวกผู้เป็นเลิศทางปัญญา ท่านจึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในวิวาทะธรรมระหว่างปัญญาแบบสาวกยาน และปัญญาแบบมหายาน

ขณะเดียวกันอรหันตสาวกท่านอื่นที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า ก็ได้ประสบกับการย้อนข้อธรรมของวิมลเกียรติด้วยเช่นกัน อย่างเช่น พระอานนท์ ที่เมื่อท่านได้ปะทะคารมกับวิมลเกียรติแล้ว ท่านถึงกับไปโอดโอยต่อพระพุทธเจ้าว่า

“นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์จักไม่อาจสำคัญตนเองว่าเป็นผู้เลิศในทางพหูสูตรในหมู่ผู้เป็นเลิศทางนี้อีกต่อไปแล้ว”

ข้อความนี้นับว่าสะท้อนความเป็นมนุษย์ของท่านออกมาอย่างชัดเจน และหากลองตีความจากมุมมองของปุถุชนอย่างเราดู ข้อความนี้ให้ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจหรือหมดกำลังใจต่อความสามารถของตัวเอง

จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวปลอบใจพระอานนท์ว่า “เธออย่าได้คิดท้อถอยหมดความกล้าหาญอย่างนั้น เพราะตถาคตประกาศสถาปนาเธอเป็นผู้เป็นเลิศทางพหูสูตในหมู่พระอรหันตสาวก ไม่ได้หมายถึงเป็นผู้เลิศทางพหูสูตรในหมู่พระโพธิสัตว์”

การให้กำลังใจของพระพุทธเจ้าก็มีความเป็นมนุษย์อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ตรงไปตรงมาพอที่จะสื่อสารให้พระอานนท์ทราบว่า แท้จริงแล้วระดับความรู้ในสัจธรรมของพระอรหันต์และพระโพธิสัตว์นั้นมีความแตกต่างกันอยู่

นัยระหว่างบรรทัดเหล่านี้ ถูกทำให้เห็นชัดขึ้นเมื่อเรา Role Play และได้สวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ มันทำให้เราสัมพันธ์กับชุดคำสอนอย่างมีชีวิตในฐานะบทสนทนา และในฐานะ “ประสบการณ์” ซึ่งแม้จะไม่ใช่ประสบการณ์ตรง แต่ก็เป็นประสบการณ์จริงที่เกิดจากการตีความและเชื่อมโยงของผู้เรียนธรรมะในยุคสมัยนี้

คลาสเรียนพระสูตรวิมลเกียรติฯ ของวัชรสิทธา ได้ปลุกให้ตัวหนังสือของพระสูตรมีชีวิตชีวาขึ้นมาผ่านการเรียนรู้แบบ Role Play ซึ่งนอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับผู้เรียนอย่างมากแล้ว ยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการเรียนศาสนธรรมที่ลึกซึ้ง เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และสีสันของถ้อยคำ นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับผู้เรียนในคลาสทุกคนว่า พวกเรายังสามารถศึกษาพระสูตรเก่าแก่ที่มีอายุนับพันปีได้อย่างเปิดกว้าง สร้างสรรค์ สดใหม่ และร่วมสมัย หากเราไม่มองว่าพระสูตรเหล่านี้ต้องวางไว้บนหิ้ง เพื่อการบูชากราบไหว้เท่านั้น