samsara – nirvana : การไม่แยกขาดจากกันของสังสารวัฏและนิพพาน

บทความโดย ดร.แอนดรูว์ โอเลนสกี้
แปลและเรียบเรียงโดย วิจักขณ์ พานิช



คำว่า “สังสารวัฏ” ตั้งอยู่บนรากคำกริยา มีความหมายว่า “ไหล” “เนื่อง” “เคลื่อนไป” “เดินทาง” “ท่องไป”

ในพุทธศาสนา สังสารวัฏ ถูกใช้ในบริบทของการ “ไหลไป” “สืบเนื่อง” หรือ “เวียนว่าย” ของกระแสจิต จากชั่วขณะหนึ่งไปยังชั่วขณะถัดไป จากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง

พุทธะกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของกระบวนการนี้เป็นอะไรที่เกินกว่าจะรู้ได้ พูดง่ายๆ คือเป็นการเดินทางที่นานแสนนานจนไม่อาจล่วงรู้ถึงจุดเริ่มต้น หากจะนับก็ไม่รู้กี่กัปป์กี่กัลป์ ยากพอๆ กับการพยายามที่จะนับเม็ดทรายในท้องแม่น้ำคงคา

ในสังสารวัฏ สรรพชีวิตถูกมองว่าร่อนเร่ผ่านภพภูมิมามากมาย ภพภูมิเหล่านั้นเปรียบได้กับ “สถานี” ที่ซึ่งดวงจิตตั้งอยู่ จากนั้นก็หลุดลอยร่อนเร่ไปอีก ทุกครั้งที่ตาย บางภพภูมิเป็นดั่งสวรรค์ ขณะที่บางภพภูมิก็เหมือนนรก ดวงจิตเคลื่อนผ่านภพภูมิเหล่านี้ตามแต่คุณสมบัติของเจตจำนงและการกระทำ ในมุมมองแบบสมัยใหม่ เราอาจมองว่าเป็นสิ่งดีที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์เหล่านี้ ทว่าในอินเดียโบราณ การเวียนว่ายอีกครั้งและอีกครั้งเช่นนี้ถูกมองในฐานะความทุกข์มากกว่า เพราะทุกครั้งของการเกิดในภพภูมิต่างๆ เราต้องประสบกับความทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกครั้งและอีกครั้ง

“น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับมหาสมุทรแห่งน้ำตาที่เธอได้สูญเสียไปกับความเจ็บป่วย ความแก่ชรา การพลัดพราก และความตายของคนที่เธอรัก” นี่คือหนึ่งในภาพของความทุกข์ในสังสารวัฏที่อยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา

กระบวนการการเกิดใหม่ถูกขับเคลื่อนโดยความไม่รู้และความอยาก “ชีวิตเวียนว่ายร่อนเร่ไป บดบังด้วยความไม่รู้และขับเคลื่อนด้วยความอยาก” หากเราตาย ด้วยความพันผูกอยู่กับการมั่นหมายอาวรณ์ กระบวนการนี้ก็จะยังดำเนินต่อไป แต่หากเราปล่อยการยึดมั่นทั้งหมดได้ในชีวิตนี้ กลไกการเกิดใหม่ก็จะไม่ทำงานอีก การไหลเนื่องของสังสารวัฏจะสิ้นสุดลง กลายเป็น “ความดับ” หรือ “การหยุดลง” ที่รู้จักกันในฐานะ “นิพพาน” ที่ซึ่งกระแสการไหลเนื่องของจิต ที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง หยุดลง เหมือนกับลำธารที่เหือดแห้ง

เมื่อพุทธธรรมคำสอนพัฒนาต่อมาในอีกหลายยุคสมัย การแยกแยะความแตกต่างระหว่างสังสารวัฏกับนิพพานก็เพิ่มความชัดเจนยิ่งขึ้น ในโรงเรียนอภิธรรมหลายสำนักชี้ชัดถึงเส้นแบ่งระหว่าง ปรากฏการณ์ที่ “ขึ้นต่อเหตุปัจจัย” อันได้แก่ประสบการณ์ชีวิตทั้งหลายที่แปรเปลี่ยนได้เสมอ กับปรากฏการณ์ที่ “ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัย” ซึ่ง “พ้นไปจากโลกนี้” [ สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม, โลกธรรม / โลกียธรรม กับ โลกุตตรธรรม ]

“นาคารชุน” นักปรัชญามาธยมิกผู้ยิ่งใหญ่ ได้รื้อสร้างการแบ่งขั้วระหว่างสังสารวัฏกับนิพพาน โดยโต้แย้งว่า เมื่อปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้น “ว่าง” (ปราศจากธรรมชาติอันเป็นแก่นสารในตัวมันเอง เนื่องด้วยมันดำรงอยู่ได้อย่างเอื้ออิงอาศัยโดยเหตุปัจจัย) ขั้วทวิลักษณ์จึงพังทลายลง ในการสื่อสารมุมมองซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมุมมองแบบมหายานและวัชรยาน นาคารชุนประกาศว่า “ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างสังสารวัฏและนิพพาน”

ด้วยความลึกซึ้งของความเข้าใจนี้ ความหมายของสังสารวัฏและนิพพาน จึงถูกพลิกหมุนกลับเข้ามาข้างใน แทนที่จะเป็นการโปรเจ็คไปยังโลกภายนอกว่าแย่หรือดี สับสนวุ่นวายหรือถึงพร้อมสมบูรณ์ …สังสารวัฏและนิพพานคือ “จิต” [ samsaric mind vs enlightened mind] – “ที่ถูกบดบัง” หรือ “ตื่นรู้” สะท้อนถึงทัศนวิสัยภายในที่มืดมัวหรือกระจ่างชัด ต่อโลกหรือ reality ตามที่เป็นจริง




++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8