Sense of Place : เชื่อมต่อดอยหลวงกับเกาะพะงัน ความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่ส่งผลต่อประสบการณ์

บทความโดย TOON วัชรสิทธา

เทศกาล Sacred Mountain ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์เพิ่งจบไปได้ไม่นาน เชื่อว่ากลิ่นอายของความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงเชียงดาวยังคงเจืออยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ร่วมงานทุกคน

ความเข้มข้นของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในงาน อาจสั่นสะเทือนหรือกระทั่งสั่นคลอนทัศนคติของใครหลายคนไปตลอดกาล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่ประสานกลมกลืน ตั้งแต่เจตนารมณ์ของการจัดงาน รูปแบบกิจกรรม กระบวนกรหรือที่เราเรียกกันว่า Magician ร้านค้า ร้านอาหาร และผู้เข้าร่วมงาน ที่เป็นเหมือนภาชนะในการแบ่งรับบทเรียนคำสอนที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกับที่หยิบยื่นประสบการณ์ให้แก่กันและกัน

ระหว่าง 5 วันที่อัดแน่นด้วยเหตุการณ์และ ‘ครู’ มากมาย ‘ครู’ อีกคนที่อยู่ตรงนั้นตลอดเวลาและทำหน้าที่เป็น ‘ภาพพื้นหลัง’ อันว่างเปล่า คือพื้นที่ของดอยหลวงเชียงดาวที่ช่วยโอบอุ้มและเอื้อเฟื้อต่อการเกิดขึ้นของทุกสิ่ง รวมถึงสร้างจังหวะและความเคลื่อนไหวที่มองไม่เห็นให้กับเทศกาลภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้

พูดถึงดอยหลวงเชียงดาวสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงจะเป็นยอดเขาที่สูงเทียมเมฆ คล้ายกับภูเขาที่จอมยุทธ์ในหนังกำลังภายในจีนเดินทางไปฝึกวิชา ในเชิงกายภาพดอยหลวงฯ คือยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของไทย มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนมีอาณาเขตกว้างใหญ่เกิน 5 แสนไร่ เต็มไปด้วยพืชพรรณหลากชนิดและสัตว์ป่าน้อยใหญ่อาศัยอยู่ ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับเทือกเขาหิมาลัยตอนปลายที่ทอดตัวยาวจากเอเชียตะวันตกผ่านจีนตอนใต้ ความยิ่งใหญ่ของดอยหลวงจึงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีสายสัมพันธ์กับดินแดนแห่งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของผู้คนในโลกตะวันออกตลอดเส้นทางที่หิมาลัยพาดผ่าน

ในด้านความรู้สึก การอยู่ใกล้หรือจ้องมองดอยหลวงฯ ให้ความรู้สึกหนักแน่น สงบนิ่ง มั่นคง ความรู้สึกนี้เป็นเหมือนกับสายใยเล็กๆ ที่เชื่อมกับมิติความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่แห่งนี้ มิติของความศักดิ์สิทธิ์หรือ Sacred World ซึ่งเป็นโลกในอีกมุมมองหนึ่งที่สัมผัสได้ด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง รับฟัง และไม่ตัดสิน มิติของความศักดิ์สิทธิ์มีหลายรูปแบบตั้งแต่ความศักดิ์สิทธิ์ภายในตัวเอง ภายในตัวมนุษย์ผู้อื่น และภายในธรรมชาติ จนถึงจักรวาล ซึ่งภายในงาน Sacred Mountain มีกิจกรรมที่ให้เราได้ทดลองแง้มเห็นถึงประพิมประพายของ Sacred World ในทุกระดับ

นอกเหนือไปจากกิจกรรมต่างๆ แล้ว ในงานนี้ก็ยังมีพิธีกรรมที่สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณท้องถิ่นของพื้นที่เชียงดาวโดยตรง อย่าง เจ้าหลวงคำแดง พญานาค และสถูปธงมนต์ เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ในการเคารพนอบน้อมและทำงานร่วมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่’ เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการร้องขอเพื่อการดูแลคุ้มครอง เพื่อความสมดุลของฤดูกาล เพื่อการรักษาความป่วยไข้ ฯลฯ การสร้างสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมิติศักดิ์สิทธิ์นี้ แท้จริงแล้วเป็นภูมิปัญญามีอยู่มาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งในงาน Sacred Mountain ก็ได้สะท้อนให้เราได้เห็นว่าสายสัมพันธ์นี้ยังคงมีอยู่และรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลา



จาก Sacred Mountain ใต้ดอยหลวง สู่ศูนย์ปัทมคาระบนเกาะพะงัน – ความสัมพันธ์ของพื้นที่กับตัวเรา ในฐานะครูผู้โอบอุ้มทุกประสบกาณ์

เมื่อเราพูดถึง ‘พื้นที่’ บ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องที่พ้นไปจากการรับรู้พื้นฐานของเรา เพราะมันกินความหมายกว้างไปกว่าอาณาเขตหรือสิ่งที่มองเห็นมากนัก อย่างมิติทางกายภาพ เราก็อาจจะไม่ได้เห็นถึงความเชื่อมโยงทั้งหมดอย่างแท้จริงผ่านการมองหรือพำนักในพื้นที่ เช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ระหว่างดอยหลวงฯ และหิมาลัย มิติของความศักดิ์สิทธิ์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในการปฏิบัติภาวนาเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะแยกขาดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ในทุกระดับ

การเลือกพื้นที่ในการทำงานหรือฝึกฝนตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อรายละเอียดในการปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปีนี้วัชรสิทธากำลังดำเนินโครงการในการสร้างศูนย์ปฏิบัติปัทมคาระที่เกาะพะงัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจไม่ต่างจากดอยหลวงเชียงดาว ทว่ามีบุคลิกและความเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไป 

ในมุมคนของทั่วไปอาจรู้สึกว่าพะงันเป็นเกาะท่องเที่ยวที่ดูห่างไกลจากความสงบหรือการปฏิบัติธรรม แต่อันที่จริงพะงันมีมุมของการฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่เข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เห็นได้จากการมีศูนย์หรือสำนักต่างๆ วางตัวอยู่รายรอบเกาะ แต่ด้วยชื่อเสียงของฟูลมูนปาร์ตี้ก็อาจทำให้มิติด้านนี้โดนกลบไปอย่างน่าเสียดาย

การที่ปัทมคาระกำลังจะลงหลักปักฐานอยู่บนเกาะแห่งนี้ เกิดจากความประจวบเหมาะด้านความพร้อมของเกาะพะงันในการเกิดขึ้นของสถานปฏิบัติ ขณะเดียวกันวัชรสิทธาเองก็มองหาพื้นที่ที่มีความน่าสนใจทั้งในแง่กายภาพและพลังงาน ซึ่งพะงันก็มีศักยภาพทั้งสองด้านที่เพียบพร้อม

พะงันเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีเนื้อที่ประมาณ 1 แสนไร่ โดยมีอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงันตั้งอยู่ใจกลางเกาะซึ่งมีอาณาเขตราวครึ่งหนึ่งของเกาะ ฉะนั้นทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ พืชพรรณ และสัตว์หลากชนิด ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่บนพื้นที่เกาะ ไม่นับว่ายังมีหาดทรายและท้องทะเลที่โอบล้อมรอบตัวเกาะอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นมิติทางกายภาพที่หลากหลายและครบถ้วนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งยังมีความเป็นเมืองที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างไม่สมบุกสมบันจนเกินไป ในมุมของพลังงานและมิติความศักดิ์สิทธิ์ของเกาะก็เปี่ยมไปด้วยพลังที่สดใหม่ มีสีสันและชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็มีความแปรปรวนเหมือนเกลียวคลื่น ทั้งยังรุ่มรวยด้วยความเปลี่ยนแปลงของลม ฟ้า อากาศตามฤดูกาล พะงันจึงเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่พร้อมให้เราไปสัมผัสและเกิดประสบการณ์ภายใต้อ้อมกอดของพื้นที่

การเลือกพะงันเป็นที่ตั้งของศูนย์จึงน่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ปฏิบัติ ที่จะสามารถทดลองใช้ชีวิตพร้อมกับฝึกฝนภาวนาในบรรยากาศที่ต่างออกไป ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในเกาะย่อมต่างจากสิ่งที่เกิดในรีทรีตหรือ Sacred Mountain ในดอยหลวงเชียงดาว และก็ไม่ใช่เรื่องของอะไรดีกว่าหรือแย่กว่ากัน เพียงแต่เป็นความต่างด้านรสชาติของประสบการณ์ ที่จะเอื้อให้การภาวนาดำเนินไปอย่างรื่นรมย์และรุ่มรวยหลากหลาย เหมือนกับบุคลิกของ ‘ครู’ ซึ่งดำรงอยู่ในรูปของเกาะพะงัน

สถานที่ก่อสร้าง ศูนย์ปัทมคาระ บนเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี


ร่วมสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ปัทมคาระ
ได้ที่บัญชี โครงการศูนย์ปัทมคาระ โดย มูลนิธิวัชรปัญญา
กสิกรไทย 151-8-02013-4