Shambhala Training : สนทนากับเจมี่ เรนฮาร์ท

สัมภาษณ์โดย TOON วัชรสิทธา

คำสอนชัมบาลาเป็นคำสอนที่พูดถึงความกรุณาและความกล้าหาญ ที่เราเรียกมันว่า “คุณสมบัติของนักรบ” ซึ่งเป็นเจตจำนงในการอยู่กับตัวเองในแบบที่เราเป็น โดยไม่พยายามควบคุมประสบการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีคำสอนเรื่องของความตื่นที่มาจากการดำรงอยู่อย่างนักรบ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติกับสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนซึ่งกันและกัน

การฝึกฝนบนเส้นทางชัมบาลาไม่ใช่แค่การมีประสบการณ์ส่วนตัว แต่เป็นสายสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คนที่เราได้พบเจอในชีวิต การฝึกภาวนาในทรรศนะของชัมบาลาจึงไม่ใช่การฝึกฝนเพื่อการหลุดพ้นส่วนตัว แต่เป็นดั่งการทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เชอเกียม ตรุงปะ ได้ค้นพบเตอร์ม่า (Terma) ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนของชัมบาลา และท่านก็ได้นำมาเปิดเผยในวิธีที่เหมาะสมกับสังคมชาวตะวันตกที่ไม่คุ้นเคยกับศาสนาพุทธ ท่านนำเสนอคำสอนนี้ออกมาในรูปแบบที่เรียบง่าย โดยการสอนเรื่องการสัมพันธ์กับสภาวะจิตของตัวเอง ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการทำเช่นนั้นผ่านการภาวนา

นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดเรื่อง “ความเป็นนักรบ” แทนชุดคำศัพท์ของพุทธศาสนา เมื่อเป็นเช่นนั้น มันจึงไม่มีการแยกระหว่างศาสนากับชีวิตทางโลก เพราะบางครั้งเรามักจะเคยชินกับการแบ่งว่าสิ่งนี้ดีเพราะเป็นคำสอนทางศาสนา และสิ่งนี้สกปรกเพราะเป็นเรื่องทางโลกหรือหรือเป็นสิ่งที่เราอาจจะมองว่ามันไม่สวยงามนัก เช่น การทำงาน การขับถ่าย แต่ไม่เลย พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติด้วย ทุกอย่างเกี่ยวข้องหมด

Shambhala Training 5 levels คืออะไร
(Successful completion of the Heart of Warriorship Series)

จริงๆ ผมไม่ใช่คนที่จะเล่าเรื่องนี้ได้ดีเท่าไร เพราะผมไม่ได้สอน Shambhala training ที่ผ่านมาเราอาจจะหยิบบางส่วนมาสอนที่นี่บ้าง แต่ผมไม่ได้เป็น Shambhala Director เท่าที่พอจะเล่าได้คือประสบการณ์ในฐานะคนที่เคยสัมผัสทั้ง 5 Training นี้มา

มันเป็นเวลานานมาแล้ว ราวๆ 20-25 ปีก่อน มีหลายสิ่งที่ผมอาจจะหลงลืม แต่สิ่งที่จำได้ขึ้นใจในประสบการณ์คือ Shambhala Training สอนเราถึงเวทย์มนต์ ความมีชีวิตชีวาของการเป็นมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการภาวนา การภาวนาเป็นที่ๆ คำสอนของชัมบาลาระดับต่างๆ จะคลี่เผยออกมา ซึ่งประสบการณ์ในการภาวนานี่แหละที่เป็นการเดินทาง (Journey) ที่เราก้าวไป

นอกจากนี้วิธีการที่เชอเกียม ตรุงปะได้ออกแบบเพื่อสื่อสารสิ่งนี้ ก็เปี่ยมไปด้วยความหยั่งรู้ในกระบวนการที่ผู้คนจะเติบโตทางจิตวิญญาณของท่าน มันจึงชัดเจนอย่างยิ่งว่าในแต่ละระดับของคำสอน เราจะพบเจออะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนั้นเริ่มจากการเข้าใจเรื่อง Basic Goodness

แต่จริงๆ แล้ว 5 levels of Shambhala Training ไม่ใช่จุดจบ เพราะหลังจากนั้นมันยังมีการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อีก เช่นเรื่องของสัตว์วิเศษ 4 ชนิด ม้าลม กุญแจทอง Warrior Assembly รวมถึง Scorpion Seal path ที่ Sakyong Mipham ได้พัฒนาขึ้นมาภายหลัง แต่ผมก็ไม่แน่ใจจริงๆ ว่าในปัจจุบันทั้งหมดนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

สิ่งที่น่าสนใจในชัมบาลาคือคำสอนที่ลึกซึ้งที่สุด ได้ถูกนำมาสอนตั้งแต่แรก ซึ่งก็คือเรื่องของ Basic Goodness มันฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ พื้นๆ แต่เรากลับไม่สามารถเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ได้ในทันที และการเดินทางทางจิตวิญญาณทั้งหมดของนักรบชัมบาลา ก็คือเรื่องนี้แหละ มันคือการค้นพบว่า Basic Goodness มีความหมายอย่างไรกับตัวเราเองทั้งมิติภายในและภายนอก

ถ้าคุณเข้าใจ Basic Goodness จริงๆ คุณจะพบว่ามันจะไม่ใช่แค่คอนเซปต์ แต่เป็นประสบการณ์ของการไว้วางใจในตัวเอง และวิธีการในการสัมพันธ์กับสรรพสิ่งรวมถึงทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้น

ถ้าคุณเข้าใจ Basic Goodness จริงๆ คุณจะสัมพันธ์กับประสบการณ์ของตัวเองในฐานะ “การเดินทาง” ที่เราเดินไปในฐานะผู้ปฏิบัติ เราต้องสำรวจว่าประสบการณ์เหล่านี้มีความหมายอย่างไรกับตัวเอง มันเป็นกระบวนการที่ไม่มีทางลัด คุณต้องสัมผัสกับกระบวนการทั้งหมดนั้นด้วยตัวคุณเอง

ความท้าทายในการสื่อสารคำสอนชัมบาลาในไทย

สังฆะเราส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ความตั้งใจของผม ที่ผ่านมาก็มีคนไทยเข้ามาร่วมอยู่บ้างแต่ก็ยังมีจำนวนไม่มาก จากประสบการณ์ที่ผมได้พบ คนไทยส่วนใหญ่มีรากฐานในพุทธเถรวาทอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เป็นเรื่่องที่ท้าทายในการนำเอาแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างออกไปมาสอนที่นี่

ก่อนหน้านี้สังฆะเราก็เปลี่ยนสถานที่ไปมา บางครั้งก็ไปเช่าห้องโยคะบ้างเพื่อมานั่งภาวนา แต่เราเพิ่งได้มีที่ของเราจริงๆ เมื่อ 8 ปีก่อนนี้เอง นอกจากนี้กรุงเทพฯ จะมีลักษณะเป็นที่พักชั่วคราวของกลุ่ม expat พวกเขาเข้ามาทำงานที่นี่ไม่กี่ปีแล้วก็มักจะถูกย้ายไปประจำที่อื่น สังฆะเราจึงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการสร้างชุมชนการปฏิบัติภาวนาของพวกเรา