ผืนป่าแห่งการตระหนักรู้ : SOMA หยั่งลึกสู่ความเร้นลับของร่างกายใต้โลกของความคิด

บทความโดย TOON วัชรสิทธา


ป่า คือความลึกลับ คือ unknown พื้นที่แห่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รุ่มรวยไปด้วยสิ่งมีชีวิตนานา ทั้งพืชพรรณ สิงสาราสัตว์ ทั้งที่เราอาจคุ้นเคยผ่านการเห็นจากสื่อ ไปจนถึงชนิดที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันมีอยู่ ป่า เป็นคำที่น่าสนใจ เพราะมันไม่ใช่คำที่ใช้อธิบายลักษณะของภูมิประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงรูปแบบของพื้นที่ที่ดิบเดิม ไม่อาจถูกควบคุม และเต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งแตกต่างจากความเป็นเมืองที่เราใช้ชีวิตอยู่

นับตั้งแต่มนุษย์ได้สร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง เราก็ได้สร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัยขึ้นมาให้กับชุมชนของเรา ป่า จึงถูกใช้อธิบายพื้นที่ที่ “เป็นอื่น” ที่ไม่ใช่พื้นที่ของหมู่บ้านหรือชุมชนที่เราพักอาศัย พูดอีกอย่างก็คือป่าเป็นพื้นที่ “ปราศจากการปรุงแต่ง” ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่มนุษย์ยังไม่ได้เข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

แต่บางครั้งเมื่อการใช้ชีวิตในสังคมแบบปกติเริ่มสร้างคำถามขึ้นในใจเรา โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องตัวตน สัจธรรมของชีวิต สัจธรรมของโลก การเดินทางเพื่อแสวงหาคำตอบเหล่านั้นมักจะไปจบลงที่ผืนป่า ดังที่เห็นได้จากเหล่าโยคี นักบวช หรือภิกษุสงฆ์ ในอดีต ที่ใช้ป่าอันกว้างใหญ่เป็นพื้นที่ในการใคร่ครวญหาคำตอบของคำถามยากๆ เหล่านั้น

การเข้าป่าของคนกลุ่มนี้อาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือความรู้สึกว่าวิถีชีวิตแบบ “ปกติ” ไม่ใช่คำตอบ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความจริงที่พวกเขาแสวงหา การเข้าป่าจึงเป็นการเดินออกจากชีวิตปกติทางสังคมหรือตัวตนแบบเดิม เพื่อไปสู่ความเร้นลับอันไพศาลที่มีความเป็นไปได้มากมายอยู่ในนั้น

ผืนป่าแห่งร่างกาย

ในยุคนี้ การเข้าป่าแสวงหาความเป็นจริงของชีวิตไม่ใช่จะทำได้ง่ายนัก ทั้งด้านเงื่อนไขในชีวิต รวมถึงป่าเองก็มีปริมาณลดลงไปจากอดีตและถูกขีดเส้นสงวนไว้ชัดเจน แต่นั่นอาจไม่ใช่อุปสรรคต่อการปฏิบัติเสียทีเดียว

ในหนังสือ “Touching Enlightenment” เขียนโดย Reginald A. Ray ได้กล่าวถึงป่าแห่งหนึ่งที่ไม่มีวันถูกรุกรานโดยมนุษย์ผู้ใด มันเป็นดินแดนเร้นลับที่เต็มไปด้วยความดิบเดิม ทั้งยังไม่สามารถถูกกำหนดขอบเขตได้จากระบบทางความคิด ผืนป่าที่ว่านั้นคือ “ป่าแห่งร่างกายมนุษย์”


“‘ร่างกาย’ คือป่าที่เรามีอยู่แล้วในตัวเอง มันคือพงไพรที่เชื้อเชิญเราไปสู่การปล่อยวางจากความคิด และอนุญาตให้ตัวเราได้เปลื้องเปลือยสู่เนื้อแท้ และลองมีประสบการณ์กับความตายในทุกรูปแบบ เพื่อที่จะสำรวจว่าหลังจากนั้น มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่บ้าง

คำว่าร่างกายในทีนี้ ไม่ได้หมายถึงร่างกายที่เราคิดว่าเป็นของเรา หรือที่เรานิยามมันว่าเป็น “ตัวฉัน” หรือ “รูปลักษณ์ของฉัน” แต่หมายถึง ‘ร่างกาย’ ที่จะพบได้ก็ต่อเมื่อเรายอมปล่อยตัวเองให้หล่นลงจากระดับของความคิดสู่ระดับชั้นที่ลึกลงไป หรือเมื่อยอมศิโรราบสู่ความมืดมิดอันลี้ลับของร่างกาย รวมถึงเมื่อเราสำรวจร่างกายผ่านสัมปชัญญะแห่งความรู้เนื้อรู้ตัวของเรา (Awareness) ซึ่งเราจะไม่สามารถค้นพบ ‘ร่างกาย’ อันไร้ขอบเขตนี้ได้เลย หากเราไม่ยอมละทิ้งกระบวนการทางความคิดเอาไว้เบื้องหลัง หรือพูดอีกอย่างก็คือเราต้องลงไปให้ลึกกว่าระดับของพื้นผิว”

อย่างที่หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ การจะสัมผัสกับป่าแห่งร่างกาย เราจะต้องเดินทาง “ลง” ไปจากระดับของความคิดที่อยู่ด้านบน ซึ่งวิธีในการหยั่งลงไปใต้พื้นผิวนี้ ก็คือ Somatic Meditation รูปแบบการภาวนาที่สัมพันธ์แนบแน่นกับปัญญาญาณในเนื้อตัว จะช่วยให้เราสัมพันธ์กับป่าอันไร้ขอบเขตที่มีอยู่ในตัวทุกคน


Somatic Meditation ประตูสู่ร่างกายอันไร้ขอบเขต

ในคลาส “SOMA – ร่างกายคือประตูสู่จิตวิญญาณ” ที่สอนโดย พี่อ้อ – อุทัยวรรณ ทองเย็น เราได้เรียนรู้ที่จะภาวนาด้วยร่างกาย เพื่อทำความรู้จักกับ “ป่า” ของตัวเราเอง การภาวนาในรูปแบบนี้มีลักษณะเฉพาะที่ต่างออกไปจากความคุ้นชิน พี่อ้อ เล่าถึงความสำคัญของการภาวนาด้วยร่างกายว่า มันเป็นการพาเราไปสู่ดินแดนที่ความคิดจะค่อยๆ ลดบทบาทลงไป การตระหนักรู้ในเนื้อตัวจะทำให้เราได้อยู่กับความรู้สึกทางร่างกายอย่างเต็มที่ และเราจะสังเกตเห็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ละเอียดระหว่างการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นความตึง ความเกร็ง ความปวด ที่แฝงตัวอยู่ในส่วนต่างๆ อย่างที่อาจไม่เคยตระหนักมาก่อน

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการฝึก Somatic Meditation คือความผ่อนคลาย จุดเริ่มต้นของการภาวนารูปแบบนี้จึงเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกายเป็นท่านอนชันเข่า หรือที่เรียกว่า 10 Points ซึ่งหมายถึงการที่ร่างกาย 10 จุด คือ เท้าสองข้าง สะโพกสองข้าง แผ่นหลัง หัวไหล่สองข้าง ข้อศอกสองข้าง และศีรษะ สัมผัสกับพื้นโดยตรง การนอนในลักษณะนี้จะทำให้น้ำหนักของร่างกายกระจายออกไปจากอวัยวะทุกส่วนลงสู่ผืนดิน

จากนั้นก็จะค่อยๆ ไล่ทำความรู้สึกร่างกายในแต่ละส่วนอย่างละเอียด ผ่านการใช้ลมหายใจ โดยจินตนาการว่าเราหายใจผ่านทางนิ้วเท้า ฝ่าเท้า เท้าด้านข้าง หน้าแข้ง ไล่ไปเรื่อยๆ อย่างไม่รีบเร่ง ในแต่ละจุดเราจะใช้เวลาในการสำรวจคุณลักษณะและสภาวะของอวัยวะนั้นๆ เช่น ความตึง ความเกร็ง ความวูบวาบ ความร้อน ฯลฯ ซึ่งหากเราสัมผัสได้ถึงความตึงเกร็ง ก็ให้เราผ่อนคลายโดยใช้ลมหายใจออกเป็นพาหนะที่นำพาสภาวะนั้นลงสู่ผืนดิน

แบบฝึกหัดต่อมาคือการพาเอาร่างกายทั้งหมดลงไปใต้พื้นดิน ในเบื้องต้นขั้นตอนนี้อาจจะดูขัดแย้งกับความคิดเชิงเหตุผล แต่พี่อ้อก็ชักชวนให้เราลองพักความคิดวิเคราะห์เอาไว้ก่อน แล้วลองจินตนาการว่าร่างกายนี้ค่อยๆ เคลื่อนลงไปยังผืนดินด้วยกัน กระบวนการนี้เรียกว่า Earth Descent ซึ่งเป็นแบบปฏิบัติที่ช่วยให้ร่างกายและความคิดของเราผ่อนคลายอย่างเต็มที่ ผ่านความรู้สึกของการ “ทิ้งตัว” หรือ “ตก” ลงไปสู่ความเวิ้งว้างอันลึกลับ ซึ่งผู้นำภาวนาก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าในขั้นตอนนี้เราจะต้องอาศัยความไว้วางใจในร่างกาย เพื่อที่จะอนุญาตให้ตัวเองค่อยๆ หยั่งลงสู่พื้นที่แห่ง unknown

สองขั้นตอนแรกนี้เป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติอาจเกิดความรู้สึกหรือประสบการณ์ทางการภาวนาขึ้นในร่างกายของตัวเอง บางคนอาจสัมผัสถึงความระยิบระยับของร่างกายในแต่ละจุด บางคนอาจสัมผัสถึงร่างกายส่วนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน บางคนอาจตกอยู่ในสภาวะหวาดหวั่นต่อ Unknown ใต้ผืนดิน สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่คล้ายกับการได้สัมผัสป่าอันกว้างใหญ่ลึกลับ ที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบที่สร้างประสบการณ์ต่อร่างกายโดยตรง ราวกับว่ามันไม่ได้ผ่านกระบวนการทางความคิดเลยแม้แต่น้อย

เมื่อเราได้เริ่มรู้จักกับหนทางในการเข้าป่าแห่งร่างกาย เราอาจจะรู้สึกได้ทันทีว่าพื้นที่แห่งนี้มีอะไรอีกมากมายให้เราสำรวจและสัมผัส อย่างน้อยที่สุดในระหว่างการภาวนาเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าร่างกายนี้มีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิด และปรากฏการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเราจะทุกข์ สุข คิดมากหรือไม่คิด โกรธ ฝนตก อากาศร้อน หรือเสียงฟ้าร้อง ฯลฯ ไม่ว่าเราจะกำลังรู้สึกแบบไหน หรือสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร ร่างกายของเรารับรู้และมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด


Yin Breathing หายใจสู่พื้นที่ว่างแห่งความตื่น

ถัดจากการฝึก Earth Descent พี่อ้อ ก็พาเราไปทำความรู้จักกับ Yin Breathing ซึ่งเป็นการฝึกที่ให้เราเริ่มต้นสัมพันธ์กับ “พื้นที่ว่าง” ในร่างกาย ผ่านการหายใจเข้าไปที่จุดกำหนดบริเวณท้องน้อย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งการเปิดประสบการณ์ทางร่างกาย ที่ทำให้เราได้พบว่าในป่าผืนนี้ เต็มไปด้วยความหลากหลาย และ “ปัญญาญาณ” บางอย่างที่ตื่นอยู่แล้ว ทั้งยังมีคุณสมบัติที่สามารถปลุกจิตใจของเราให้ตื่นขึ้นตามไปด้วยได้ เพราะการภาวนากับร่างกายจะทำให้เราดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ และเริ่มรับรู้สภาวะที่เปลี่ยนในแต่ละขณะ เห็นระดับชั้นของความคิด เห็นถึงรายละเอียดเล็กๆ ในประสบการณ์ จากนั้นเมื่อเราเริ่มสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างในร่างกาย เราก็จะค่อยๆ เรียนรู้การดำรงอยู่กับสภาวะที่เกิดขึ้นโดยไม่โต้ตอบตามความเคยชิน

ในชั้นเรียน SOMA ของพี่อ้อ เราได้มีประสบการณ์ตรงกับความมหัศจรรย์ของร่างกาย เราได้ค้นพบถึง Awareness ของเนื้อตัวที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่ามันคือผืนป่าที่มีชีวิตและมีความเป็นไปของตัวมันเอง ทั้งยังตอกย้ำให้เราเห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาเราได้ตัดขาดการเชื่อมต่อกับร่างกายมากมายเพียงใด ซึ่งส่งผลเป็นความรู้สึกที่ขาดหาย ล่องลอย และไม่มั่นคง

ในวันที่ป่าภายนอกเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากขึ้น การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของป่าภายในเป็นสิ่งที่แสนล้ำค่า เพราะไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในยุคสมัยใด การเดินออกจากชีวิตปกติที่เต็มไปด้วยคำถามและความสับสน เข้าสู่ป่าลึกลับและอยู่เหนือการควบคุมของเรา ก็เป็นสัญชาตญาณบางอย่างในการขวนขวายหาคำตอบทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ความรู้สึกที่ขาดหาย ล่องลอย ไม่มั่นคงเหล่านั้น กระตุ้นให้เราเดินออกจากพื้นที่ที่ดูเหมือนจะปลอดภัย ไปสู่ดินแดนสนธยาอันเปิดกว้าง และเต็มไปด้วยความเป็นไปได้มากมาย

นอกจากการอุปมากับผืนป่าแล้ว Reginald Ray ยังได้เปรียบ somatic meditation ว่า “มันคล้ายกับนักประดาน้ำ ที่เวลาลอยตัวอยู่บนผิวของมหาสมุทร เขาแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ลึกลงไปเลย แต่เมื่อเขาได้เริ่มดำสู่ใต้ผิวน้ำ เขาจะได้พบกับโลกใต้ทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาล เช่นเดียวกับความไร้ขอบเขตของร่างกายอันลี้ลับของเรา ที่มหาสิทธาสรหะได้เคยกล่าวถึงไว้ว่า

‘ไม่มีสถานที่ใดในการจาริกแสวงหาที่จะเลิศเลอและเปิดกว้างได้เท่ากับร่างกายนี้ของฉัน ไม่มีเลยแม้แต่แห่งหนเดียวที่ควรค่าแก่การสำรวจมากไปกว่าร่างกาย’


++++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8