Spiritual Bypassing : รีบหลุดพ้นหรือเลี่ยงที่จะเผชิญ?

บทความโดย วิจักขณ์ พานิช


Spiritual Bypassing ชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มที่มักเกิดขึ้นในชุมชนผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ที่ใช้ธรรมะหรือการปฏิบัติธรรม ในการ “เลี่ยง” ที่จะทำงานกับภาวะทางอารมณ์หรือปมปัญหาส่วนตัว

“สปิริชวลบายพาสซิ่ง” ถูกคิดค้นและพูดถึงครั้งแรกโดย จอห์น เวลวูด (John Welwood) ในหนังสือ Toward a Psychology of Awakening และได้รับการอ้างถึงอย่างแพร่หลาย

คำสอนหรือแนวทางการปฏิบัติ (บวกกับสถานะ เพศ อำนาจ หรือลำดับชั้น) สามารถถูกใช้เป็นเกราะกำบังจากสิ่งที่จะเข้ามาสร้างความขุ่นเคืองใจ และสร้างแรงลอยตัวอยู่เหนือความทุกข์ ราวกับว่า ได้บรรลุสู่การหลุดพ้นแล้ว  

ทว่าแท้จริงแล้ว คือ “การเลี่ยงที่จะเผชิญตัวเอง”

เมื่อมุ่งเป้าสู่หลุดพ้น สิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามหรือลืมพูดถึงได้ง่ายมาก คือ “การทำงานกับกรรม” หรือการยอมรับตัวเอง เรามุ่งเป้าไปที่การออกจากความทุกข์ โดยไม่สนใจว่าการจะออกได้ ต้องสัมพันธ์กับวัตถุดิบที่ตนมีเสียก่อน

หากเรา “รีบออก” จากทุกข์ คำสอนและการปฏิบัติอาจกลายเป็นเพียง “กลยุทธ์” ของอัตตา ที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานกับกรรมที่พัวพันและเจ็บปวด

หากเรา “รีบเข้าใจ” ด้วยการใช้หลักการ คำสอน ธรรมะ คำอธิบายใดๆ มา justify ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คำสอนและการปฏิบัติก็อาจกลายเป็นเพียงกลยุทธ์อีกเช่นกัน   

หรือ หากเรามองเรื่องจิตวิญญาณเป็นแค่ความบันเทิง ความไฮฮ์ ความว้าวแบบนึง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปใส่ใจกับรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์ของเราจริงๆ ความล่องลอย hop around ทางจิตวิญญาณ ก็เป็นอีกกลยุทธ์นึงในการ bypass การสัมพันธ์กับกรรมด้วยเช่นกัน

การปฏิเสธที่จะสัมพันธ์กับ earthly structure ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในชีวิตนี้ ไม่ว่าจะเป็น การมีร่างกาย, บุคลิก, นิสัย, ครอบครัว, การเลี้ยงดู, ความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่างๆ, วัยเด็ก, ประเด็นกับพ่อแม่, และความทุกข์เฉพาะทั้งหลายของแต่ละบุคคล ทั้งหมดนี้คือวัตถุดิบสำคัญของเส้นทางจิตวิญญาณ ที่หาก “bypass” เสียแล้ว การหลุดพ้นที่เรามุ่งหวัง ก็กลวงเปล่า ไร้ความหมาย และเป็นได้แค่การหลอกตัวเองประเภทหนึ่ง

– Developmental Tasks

การที่มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตเป็นคนเต็มคนที่สมบูรณ์ได้ จำเป็นต้องผ่านช่วงพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นวัยทารกที่ได้รับการอุ้มชูและให้ความรัก การฝึกเดินและใช้ทักษะทางการรับรู้ต่างๆ ช่วงวัยรุ่นที่พัฒนาทักษะการพึ่งพาตัวเอง การยอมรับลักษณะร่างกายของตัวเอง การสัมพันธ์กับเพื่อนเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม รวมถึงการเตรียมตัวสำหรับการทำงาน การเลี้ยงชีพ และการรับผิดชอบตัวเอง เป็นต้น

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่หนทางในการเลี่ยงการทำงานพื้นฐานเหล่านี้ ยิ่งเข้ามาสัมพันธ์กับธรรมะตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยแล้ว ยิ่งต้องนำธรรมะที่เรียนรู้มาสัมพันธ์กับโลก แต่ละคนต่างมีแง่มุมที่ต้องยอมรับ เรียนรู้ และทำงานต่อ อย่างซื่อตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็น

– วุฒิภาวะทางอารมณ์

การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์ ไม่ใช่การเลี่ยงหรือการตัด ผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักอารมณ์ตัวเอง โกรธได้ กลัวได้ผิดหวังได้ ชีวิตในสังสารวัฏส่งโจทย์มากมายมาให้เราทำงานด้วยเพื่อที่จะรู้จักธรรมชาติทางอารมณ์ของตัวเอง ความนิ่งและสงบเย็น เกิดจากวุฒิภาวะทางอารมณ์ สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยคนรอบข้างเป็นที่รองรับทางอารมณ์ของตัวเอง

– Truama, Family, Relationship Issue

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่มีปมปัญหาจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นแผลทางใจในวัยเด็ก การไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว พื้นฐานความไม่ไว้วางใจจากการถูกทำร้าย หรือประเด็นความสัมพันธ์ เช่น การให้อภัย ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ความรู้สึกเป็นเหยื่อหรือถูกทอดทิ้ง เป็นต้น ประเด็นปัญหาเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน แต่จะรออยู่ตรงนั้นให้เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วยอีกครั้งและอีกครั้ง กระทั่งเราสามารถคลี่คลายและปลดปล่อยปมปัญหาเหล่านั้น ให้เป็นพลังงานของความรักและความกรุณาได้

อัตตาทางจิตวิญญาณ

หากไม่ทำงานกับ personal issues เหล่านี้ เราก็จะเอาการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณมาสร้าง “อัตตาทางจิตวิญญาณ” (spiritual identity) มาคลุม “ตัวตนเก่าที่ไม่ฟังก์ชั่น” เอาไว้ ซึ่งแม้จะดูเป็นคนดี สูงส่ง หรือมีจิตวิญญาณ แต่ก็ยังคงเป็นตัวตนที่ตั้งอยู่บนการหลีกเลี่ยง unresolved psychological issues เหมือนการห่อตัวตนเดิมเสียใหม่ให้ดูดีขึ้น

การเข้าไปเกี่ยวข้องกับคำสอน การปฏิบัติ ชุมชน หรือครูทางจิตวิญญาณ สามารถกลายเป็นหนทางในการเสริมสร้างกลไกการป้องกันตัวเองตัวตนเดิมๆ นี้ได้ทั้งสิ้น เช่น บางคนอาจต้องการการมองเห็นจากครู หรือจากเพื่อนในชุมชนในฐานะคนพิเศษ คนประเภทนี้จะเน้นไปที่ประสบการณ์หรือความเข้าใจที่พิเศษของตัวเอง หรือไม่ก็พยายามมองหาความสัมพันธ์พิเศษที่มีกับคุรุทางจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียง เพื่อเสริมสร้าง self-importance

หรืออื่นๆ เช่น การใช้คำสอนทางจิตวิญญาณเพื่อเสริมสร้างอัตตา หรือประโยชน์ส่วนตน (วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ) การหลงตัวเอง (inflation) (การคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่/การอวดอ้างว่าตนมีภูมิธรรม/บรรลุธรรม (อวดอุตริมนุสสธรรม)) หรือการสร้าง groupthink ความเชื่อรวมหมู่, การยอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม, การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้, การยึดมั่นในความพิเศษของตัวบุคคลหรือสำนัก ทั้งหมดนี้คือผลของการใช้คำสอนทางจิตวิญญาณมาทดแทน “ความบกพร่องทางพัฒนาการ” (developmental deficiencies) แทบทั้งสิ้น


การภาวนาที่ไม่ใช่การบายบาสประสบการณ์ที่เป็นมนุษย์

หัวใจของเส้นทางจิตวิญญาณคือการศิโรราบ การเปิดกว้างที่จะอยู่กับประสบการณ์ตรงอย่างเปลือยเปล่า ปราศจากความก้าวร้าว หรือ inpulse ที่จะรีบแก้ไขหรือทำอะไรกับมัน

John Welwood อธิบายหัวใจการภาวนา ด้วยหลัก ดิน ฟ้า มนุษย์ (Earth-Heaven-Man Principle)

การหยั่งรากอยู่ในชีวิตนี้ ในประสบการณ์ตรง และสถานการณ์กรรมของตน (Earth)

การ “วางใจ” ปล่อยให้เป็นไป และสัมพันธ์กับพื้นที่ว่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แท้ของเรา (Heaven/Space)

และหัวใจที่ตื่นรู้ สั่นไหว รู้สึกรู้สา และเปิดกว้างต่อสิ่งที่เป็น อนุญาตให้ reality, ผู้คน, และสถานการณ์ชีวิตเข้ามาสะกิดหัวใจเราได้ “Letting your heart be touched, come what may.”




++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8