“What is Vajrayana?” กับ อานัม ทุบเท็น รินโปเช

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา [ ธัญญา ศรีธัญญา ]
สรุป Anam Thubten Rinpoche’s public talk 3 กุมภาพันธ์ 2567 วัชรสิทธา เทเวศร์

“เปรียบเหมือนมหาสมุทร ยามที่เรามองเห็นผิวน้ำ ก็นึกว่าเข้าใจแล้วว่ามหาสมุทรคืออะไร แต่จริงๆ แล้วเรายังไม่ได้ดำลงไปดูเลยว่า ใต้ผิวน้ำที่ปรากฎอยู่นี้มีอะไรบ้าง ความเข้าใจจากการมองเห็นแค่ผิวน้ำนั้นยังไม่ใช่ทั้งหมดของมหาสมุทรที่แท้จริง”

อานัม ทุบเท็น

ศาสนาพุทธที่ไปงอกเงยที่ดินแดนธิเบต เป็นที่รู้จักกันในฐานะ “พุทธวัชรยาน”​ ซึ่งคือการผสมระหว่าง “สูตรยาน” หรือหลักคำสอนจากพระสูตรทั้งหินยานและมหายานและ “ตันตระยาน” หรือวิถีการฝึกปฏิบัติ ​เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ตันตระและสูตตระแม้จะแตกต่างกันในเชิงภาพลักษณ์และวิธีการ แต่จุดเริ่มต้นและแก่นแกนนั้นไม่ได้ต่างกัน ล้วนเป็นการปฏิบัติตามความจริงสูงสุดของพุทธศาสนาที่นำไปสู่การตื่นรู้

ภาพปรากฏภายนอก พุทธะภายใน

ภาพของพุทธวัชรยานที่เรามองเห็น มักจะเป็นสิ่งปรากฎภายนอกที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปองค์เทพ รูปเคารพที่ดูแปลกตา พิธีกรรมที่เต็มไปด้วยสีสัน ไปจนถึงสัญญะที่ดูรุนแรง แทบจะเรียกได้ว่าล่อแหลมในความคุ้นชินเรา

ใต้ผิวน้ำของรูปปรากฎเหล่านี้ วัชรยานคืออะไร?

พุทธศาสนาที่เรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุด ที่ในปัจจุบันนี้ได้แพร่กระจายไปเป็นธรรมะที่มีชีวิต เติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะในโลกตะวันตกและกำลังเริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศไทยนี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่ายในทันที วัชรยานมีมิติที่ลึกล้ำ และมีคำสอนที่ลึกซึ้งในระดับประสบการณ์ ในขณะเดียวกันก็มีด้านที่โลดโผนเหมือนการเดินบนคมมีด ดังนั้นการที่เรามีมุมมองที่ถูกต้องเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าใจวัชรยาน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ในโอกาสการมาเยือนของท่าน อานัม ทุบเท็น รินโปเช วัชราจารย์ชาวธิเบตผู้สอนธรรมะอยู่ที่โลกตะวันตกมายาวนาน ได้มีการจัดกิจกรรม Public talk ในหัวข้อ What is Vajrayana? วัชรยานคืออะไร ในค่ำคืนหนึ่งที่วัชรสิทธา ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษที่เหมือนการเปิดประตูให้พวกเราได้เข้าใจโลกพุทธศาสนาวัชรยาน ผ่านบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็น embodiment ของคำสอนนี้

ภาพลักษณ์ รูปเคารพ บทปฏิบัติ และองค์เทพในพุทธวัชรยาน

รินโปเชกล่าวว่า เราสามารถแบ่งการการนับถือศาสนาในโลกได้เป็นแบบ theism หรือเทวนิยม ที่นับถือพระเจ้า เทพ เป็นผู้ในคุณให้โทษ หรือ atheism ที่ไม่นับถืออะไรเลย  พุทธศาสนาไม่ใช้ทั้งสองแบบนั้น พื้นฐานของพุทธศาสนาไม่ว่าในที่ใด ล้วนสอนเรื่องความเป็นจริงของชีวิต เรื่องเหตุและผลแห่งกรรม สอนเรื่องศักยภาพของการตื่นรู้ภายในที่ไม่ใช่การนับถืออำนาจที่อยู่ภายนอก เป็นลักษณะที่เรียกว่า nontheistic อเทวนิยม ศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า

อย่างที่เราเห็นว่า ในพุทธวัชรยานจะมีรูปเคารพขององค์เทพ พระยิตัม (Deity) เช่น วัชรกิลายะ วัชรโยคินี บางคนอาจมองว่าเป็นเทพที่มีพลังเหนือธรรมชาติ ซึ่งฟังดูแล้วกลายเป็นมีการนับถือเทพ แต่แท้จริงแล้ว เราต้องมองวิธีการเหล่านี้ด้วยมุมมองแบบ nontheistic

นั่นหมายความว่า รูปเคารพทั้งหมด ทำหน้าที่เป็นภาพแสดงของคุณสมบัติของความตื่นรู้ที่อยู่ภายในตัวเราเอง

ในการฝึกวัชรยาน จะมีลักษณะการสัมพันธ์กับพระยิตัม ที่แบ่งออกเป็นสองระดับ หนึ่งคือสัมพันธ์ในความจริงระดับสมมติ (relative truth) และสองคือสัมพันธ์ในความจริงระดับปรมัตถ์ (ultimate truth)

รินโปเชยกตัวอย่างใกล้ตัวๆ เรา พระอวโลกิเตศวร ในรูปปรากฏ มีภาพที่หลากหลาย บ้างมีพันกร บ้างมีสี่กร บ้างเป็นผู้หญิง มีมนตรา มีการตั้งนิมิตว่าตนเป็นพระอวโลกิเตศวร มีการถวายเครื่องบูชา ซึ่งดูแล้วเป็นสิ่งที่เป็นภายนอกมากๆ แต่แท้จริงแล้ว ในความเข้าใจที่ถูกต้องของพุทธศาสนา เราไม่ได้บูชาหรือฝึกปฏิบัติพระอวโลกิเตศวรในฐานะที่ท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ภายนอกในแบบมุมมองเทวนิยม

การฝึกปฏิบัติหรือการกระทำเหล่านี้ เป็นการสัมพันธ์กับพระอวโลกิเตศวรในระดับสมมติ ผ่านรูปลักษณ์ ผ่านพิธีกรรม หรือต่างๆ ที่ได้กล่าวมา เพื่อให้เราเชื่อมโยงไปถึงระดับความจริงสูงสุด ซึ่งก็คือคุณสมบัติของความรัก ความกรุณาของพระอวโลกิเตศวร ที่แท้จริงแล้วอยู่ภายในใจเราเอง

“อวโลกิเตศวรที่แท้จริงไม่ใช่เทพ ไม่ใช่องค์พระภายนอก แต่คือดวงใจแห่งโพธิจิตของเรา ดวงจิตแห่งความตื่นรู้”


เส้นทางแห่งการไม่ปฏิเสธสิ่งใด Path of Non-rejection

“หัวใจที่แท้จริงของวัชรยาน คือเส้นทางของการไม่ปฏิเสธสิ่งใด”

นอกจากส่วนของการฝึกปฏิบัติแบบวัชรยาน บทปฏิบัติ ฝึกพระยิตัมต่างๆ ที่มีความสำคัญ เหนือไปกว่านั้น หัวใจที่แท้จริงของวัชรยานคือเส้นทางของการไม่ปฏิเสธสิ่งใด

เส้นทางสู่การหลุดพ้นของพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบปฏิเสธ และแบบไม่ปฏิเสธ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีอันใดอันหนึ่งดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่าอันไหนเหมาะกับใคร วัฒนธรรมไหน หรือช่วงเวลาไหน

รินโปเชยกเรื่องเล่าจากพระเซนที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของสองวิธีการ หากมีคนหนึ่งติดขนมขั้นหนัก วิธีหนึ่งคือการไม่ไปร้านขนม ไม่แม้กระทั่งเฉียดเข้าไปใกล้ อีกวิธีคือย้ายเข้าไปอยู่ในร้านขนมเลย สองวิธีการนี้เป็นไปเพื่อแก้ไขอาการติดขนมเหมือนกัน มีความยากที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นต้องใช้วิธีการแบบไหน ถึงจะพาให้เป็นอิสระจากการติดขนมได้

วัชรยานคือเส้นทางของไม่ปฏิเสธสิ่งใด ก้าวข้ามมุมมองแบบทวิลักษณ์และเข้าไปสัมพันธ์กับทุกสิ่งในฐานะที่มันเป็นธรรมชาติของความตื่นรู้ เหมือนเข้าไปในร้านขนมที่เราติด ที่เป็นพิษกับเรา และอยู่กับสิ่งนั้นเพื่อที่จะใช้เป็นยาต้านพิษด้วยตัวมันเอง รินโปเชพูดติดตลกว่า ฟังแล้วก็พอจะเห็นภาพใช่ไหมว่ามันมีความอันตราย ใครจะเลือกทางนี้ก็โชคดีละกันนะ

“การฝึกปฏิบัติ คือการไม่ทำสิ่งที่เป็นอกุศล ทำสิ่งที่เป็นกุศล และหมั่นชำระจิตให้บริสุทธิ์”

ทุกสายของพุทธศาสนา สอนการฝึกให้จิตมีความสงบสันติภายใน และชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความคิดปรุงแต่ง เป็นอิสระจาก  karmic pattern วัชรยานอันเป็นเส้นทางแห่งการไม่ปฏิเสธสิ่งใด คือการเดินทางภายในที่เราเข้าไปเจอกับสภาวะอารมณ์ ร่องนิสัย กิเลส โอบรับทั้งหมดเข้ามาในพื้นที่แห่งการตระหนักรู้ แล้วแปรเปลี่ยนทุกสภาวะเป็นยาแก้พิษไปสู่ความตื่นรู้


Sacred Outlook ทัศนะแห่งโลกศักดิ์สิทธิ์

“ง่ายที่เราจะมองว่าพุทธะศักดิ์สิทธิ์ คำสอนหรือสิ่งที่ดีงามทั้งหลายเหล่านั้นศักดิ์สิทธิ์ ธรรมชาติของความรัก ความกรุณานั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่วัชรยานเชื้อเชิญให้เราขยายทัศนะออกไป มองเห็นว่าธรรมชาติเดิมแท้ของทุกสิ่งล้วนแต่ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือสังสารวัฏก็มีความศักดิ์สิทธิ์ ธรรมชาติที่แท้จริงของความโกรธ ความกลัว ความสับสน ไปจนถึงสิ่งธรรมดาๆ ทุกสิ่ง ปั๊มน้ำมัน กระดาษทิชชู่ ล้วนแต่มีธรรมชาติที่แท้จริงอันศักดิ์สิทธิ์”

คำสอนสำคัญอันเป็นรากฐานของวัชรยาน คือคำสอนเรื่อง “Sacred Outlook” หรือภาษาธิเบตเรียกว่า ทักปะ (ทักนัง) เป็นทัศนะสำคัญแห่งการข้ามพ้นทวิลักษณ์ และเป็นรากฐานแห่งเส้นทางการไม่ปฏิเสธสิ่งใด

ผู้ปฏิบัติวัชรยานทุกคนจะต้องฝึกบ่มเพาะทัศนะนี้ในตนเอง และรักษาวิธีการมองนี้ต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่ทัศนะที่มีต่อตัวเอง ส่วนที่ดี ส่วนที่เป็นความไม่รู้ ความลังเลสงสัย ร่องนิสัย และทัศนะต่อโลกภายนอก การสัมพันธ์กับผู้คน การอยู่ในทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะรื่นรมย์หรือยากลำบาก ต้องมองให้เห็นถึงพื้นหลังธรรมชาติเดิมแท้ที่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดที่ต้องปฏิเสธ กลับกัน ผู้ฝึกปฏิบัติวัชรยานโอบรับทั้งหมด เปิดต่อทุกสิ่ง เข้าไปในทุกสถานการณ์ นี่คือศีลของผู้ปฏิบัติวัชรยาน

ในการเดินทางสู่ความหลุดพ้น ทัศนะอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นฐานของเส้นทางการชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีแบบไม่ปฏิเสธสิ่งใด รินโปเชยกตัวอย่างการฝึกปฏิบัติ “เฉอด” ที่หลายคนได้ทำในเวิร์คช็อปที่ท่านสอนที่วัชรสิทธา เป็นการเชื้อเชิญกิเลส อารมณ์ด้านลบ หรือสิ่งทั้งหลายที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดของจิต เข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งการตระหนักรู้ และสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นด้วยท่าทีที่ต้อนรับ เข้าไปสู่ธรรมชาติการตื่นรู้เดิมแท้ของสิ่งที่เราอาจมองว่าเป็นพิษเหล่านั้น โดยไม่พยายามที่จะทำตัวสูงส่ง หรือกดความคิดลบๆ ให้จมหายไป

เพื่อให้เราเห็นภาพของการใช้อารมณ์ด้านลบมาฝึก รินโปเชเล่าถึงบรรยากาศในธิเบตว่า คนธิเบตมักมีความกลัวอยู่เป็นพื้นฐานแม้จะเป็นชาวพุทธ ด้วยลักษณะภูมิประเทศหรืออื่นๆ การฝึกเฉอดนั้นเป็นการเผชิญหน้ากับความกลัวตรงๆ เพื่อที่จะเป็นอิสระจากสภาวะนั้น มาฉิก ลับดรอน วัชราจารย์หญิงผู้คิดค้นวิธีฝึกเฉอด ใช้การเดินเข้าไปฝึกในป่าช้าจริงๆ เพื่อที่จะสัมพันธ์กับความกลัวตรงๆ  และเพื่อให้เห็นว่าทุกสภาวะนั้นคือมายาของจิตเท่านั้น

“แก่นสารจริงๆ ของวัชรยานไม่ใช่รูปหรือ form ถึงแม้เราจะมีเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด องค์เทพเอย มันดาลาเอย มนตราเอย แต่หัวใจที่แท้จริงของวัชรยานคือเส้นทางของการไม่ปฏิเสธสิ่งใด เราโอบรับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สูงส่งหรือสิ่งที่แสนธรรมดา โอบรับเข้ามาด้วยความตระหนักรู้ สำคัญที่จะต้องมีแสงสว่างแห่งการตระหนักรู้ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกถาโถมด้วยพลังของสิ่งต่างๆ แต่หากเรามีการฝึกที่ถูกต้อง เราจะสามารถแปรเปลี่ยนกิเลส ยาพิษภายใน แปรเปลี่ยนสังสารวัฏให้กลายมาเป็นพลังสู่การหลุดพ้นได้”


เชื้อเชิญให้เป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม

รินโปเชกล่าวว่า ท่านเองก็ใช้เวลานานกว่าจะเข้าในว่าวัชรยานคืออะไรอย่างเป็นเนื้อเป็นตัว ท่านเคยมีช่วงเวลาที่พยายามกดข่มความคิดลบ พยายามรักษาการประพฤติดีทั้งภายในภายนอกตามหลักคำสอนพุทธศาสนาที่ท่านได้รับมาในสมัยเล่าเรียน แต่มันกลายเป็นสงครามภายในที่ต่อสู้กันระหว่างสองขั้ว จนท่านได้ค่อยๆ เข้าใจความหมายของการโอบรับทุกเสี้ยวส่วน ทุกความเป็นมนุษย์ในตัวเอง และเป็นอิสระจากการติดอยู่ในสภาวะหนึ่งสภาวะใด เป็นอิสระที่จะเป็นได้ทุกสิ่ง และไม่เป็นอะไรเลย

เส้นทางนี้ แท้จริงแล้วคือการ “เป็นมนุษย์” อย่างเต็มเปี่ยม ลิ้มทุกรสชาติของประสบการณ์ เผชิญทุกสภาวะที่เข้ามาบนพื้นของความตระหนักรู้ บ่มเพาะหัวใจแห่งโพธิจิต และเป็นส่วนหนึ่งของโลกศักดิ์สิทธิ์อย่างรื่นรมย์เป็นอิสระ

แม้เราจะไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติวัชรยาน เป็นผู้เฝ้าดูอยู่เหนือผิวน้ำ รินโปเชก็เชื้อเชิญให้เรานำมุมมองที่ได้เรียนรู้ในค่ำคืนนี้มาปรับเข้ากับเส้นทางที่แต่ละคนกำลังเดินอยู่ รินโปเชได้มอบมุมมองอันเป็นหัวใจของวัชรยานให้แก่ทุกคนที่รวมตัวกันในวันนั้น “เส้นทางแห่งการไม่ปฏิเสธสิ่งใด” ทว่าจากนี้ ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะเดินทางกันต่อไปตามเส้นทางที่แต่ละคนเลือกเดิน

+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8