หลังตายก่อนเกิด : “บาร์โด” คืออะไร?

เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา



“บาร์โด” มาจากคำในภาษาทิเบต แปลว่า “ภาวะระหว่างกลาง” หรือ “ช่องว่าง” (gap) ที่เราประสบในระหว่างการตายกับการเกิดใหม่

หากจะกล่าวให้ง่ายกว่านั้น คำว่า บาร์โด หมายถึง ช่องว่างหรือพื้นที่ว่างที่เราพบได้ระหว่างสองสภาวะใดๆ

ตามคัมภีร์มรณศาสตร์ของพุทธศาสนาวัชรยานทิเบต บาร์โดไม่ใช่สภาวะที่พบได้หลังความตายเท่านั้น แต่ประสบการณ์บาร์โดยังรวมถึง บาร์โดแห่งการฝัน บาร์โดแห่งการภาวนา หรือกระทั่งบาร์โดที่เกิดขึ้นระหว่างการมีชีวิตนี้

เมื่อคุณอ่านบทความชิ้นนี้จบลง
คุณก็จะพบได้กับชั่วขณะแห่งบาร์โด…

จริงๆ แล้ว เราประสบกับบาร์โดอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน เมื่อคุณอ่านบทความชิ้นนี้จบ แล้วเงยหน้าขึ้น ชั่วขณะแห่งบาร์โดก็อยู่ตรงนั้น ช่องว่างเล็กๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากจบกิจกรรมหนึ่ง ก่อนจะตามมาด้วยการเริ่มต้นของอีกกิจกรรมหนึ่ง หากคุณสังเกตมัน บาร์โดเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของเรา คือสถานที่อันเต็มไปด้วยศักยภาพของการเปลี่ยนแปลง

เวลาคุณอยู่ในรถไฟฟ้า
ทันใดนั้น คุณได้ยินเสียงประกาศ

“Please mind the gap.”

– จงใส่ใจกับช่องว่าง

ในการปฏิบัติภาวนาก็เช่นกัน คุณสามารถสังเกตการตระหนักรู้อันเรียบง่าย ไร้การปรุงแต่งเชิงหลักการ ณ ช่องว่างระหว่างความคิด บาร์โดระหว่างการตายกับการเกิดถูกให้ความสำคัญในฐานะโอกาสอันเยี่ยมยอดของการตื่นรู้

บาร์โดเป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมและการสร้างสรรค์อันเปี่ยมศักยภาพ เพราะชั่วขณะนั้นๆ ได้เกิดการหยุดลงของแบบแผน ตัวตน หรือความเคยชินของเรา

ในพื้นที่ว่างแห่งอิสรภาพในชั่วขณะระหว่างกลาง
การรับรู้อันแจ่มชัดต่อบางสิ่งที่ตื่นและสดใหม่อาจปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันทันใด

นั่นคือโอกาสแห่งการรู้แจ้งของดวงจิตในบาร์โด