Fear of Space: สังสารวัฏเกิดขึ้นทันที เมื่อเราหนีพื้นที่ว่าง

การเดินทางสู่มณฑลแห่งการตื่นรู้ (1): ความกลัวพื้นที่ว่าง    
บทความ โดย พรทิภา จันทรพราม

เยเช โซกยัล กล่าวไว้

“มณฑลแห่งการตื่นรู้ และการตระหนักรู้ในมณฑล นี่คือข้อความพื้นฐาน”

Space and the awareness of space. This is basic message.


ถ้าเรามีเวลาว่างมากพอที่จะสังเกตชีวิตของเราสักนิดหนึ่ง เราอาจสังเกตเห็นวงจรบางอย่าง วงจรซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกิดขึ้นของความคิด ความรู้สึก หรือการกระทำต่างๆ วงจรนี้ยังเป็นพื้นฐานของนิสัย พฤติกรรม ท่าที หรือแบบแผนที่เรากระทำต่อตัวเองและคนรอบข้างซ้ำๆ มาตลอดทั้งชีวิต เป็นธรรมชาติบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเราและเป็นไปได้ว่ามีอยู่ในผู้คนรอบตัวของเราด้วย เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นสังสารวัฏบนพื้นฐานของความกลัว ความกลัวที่ว่าคือ “ความกลัวความว่าง” เรากลัวที่จะสัมผัสกับพื้นที่ว่างภายใน (Fear of Space) ซึ่งก็คือความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้นั่นเอง

เมื่อเรากลัวที่จะสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างภายใน เราก็ไม่อาจเปิดกว้างต่อสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ เราไม่กล้าอนุญาตให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เราไม่เหลือท่าทีของความไว้วางใจที่จะ “รอการเผยแสดงของบางสิ่ง” เราไม่สามารถที่จะเป็นมิตรต่อสถานการณ์หรืออะไรก็ตามที่เราไม่รู้ เราไม่มีทางศิโรราบให้กับความไร้หลักและเคว้งคว้าง

เมื่อถึงคราวที่ต้อง “เผชิญกับความว่าง”  เรากลัว และมีความพยายามหลากหลายรูปแบบที่จะหนีจากความว่าง เราพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ ตีความไม่ได้ ตัดสินไม่ได้ เอาแน่เอานอนไม่ได้ เคว้งคว้าง ไร้หลัก

เราไม่อาจยอมรับว่า…

“เราไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ตรงหน้าคืออะไร”

“เราไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอะไรต่อไปดี”

แล้วเราก็พยายามสร้างความคิด เหตุผล อารมณ์ การตอบโต้ รวมถึงแผนการล่วงหน้าต่างๆ อย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดนี้เราทำโดย “ไม่รู้ตัว”

การกระทำหลายอย่างในชีวิตของเราเกิดจากความพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือความรู้สึกบางอย่าง เช่น ในเวลาที่รู้สึกเบื่อหน่ายหรืออึดอัดกับบทสนทนาหรือกับคู่สนทนา บางทีเราก็ใช้วิธีเหม่อมองออกไปดูนก ดูไม้ ดูฟ้า แล้วปล่อยให้อีกคนพูดๆ ไป บางทีเราก็ใช้วิธีเนียนๆ กดโทรศัพท์ทำเป็นดูข้อความ บางทีเราก็ชวนเปลี่ยนเรื่องเพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกอึดอัดกับเรื่องที่กำลังคุยอยู่ หรือถ้าระหว่างบทสนทนามีจังหวะที่เงียบกันไปนานๆ เราก็ต้องเริ่มหาเรื่องคุย เพราะไม่อยากอยู่ในสภาวะ Dead Air ที่น่าอึดอัด

หรือเวลาที่เศร้ามากๆ เรามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เคว้ง และไม่อยากอยู่กับความรู้สึกตรงนี้อีกต่อไปแล้ว เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้ เราอาจเดินไปหาของกินอร่อยๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น อาจไปดื่มเบียร์ ใช้ยาหรือสารเสพติดบางอย่าง เพื่อออกไปจากความเศร้าตรงนี้สักพัก เราอาจโทรไปหาเพื่อนหรือใครสักคนเพื่อพูดคุยให้รู้สึกโอเค เราอาจไปออกกำลังกาย ออกไปใช้แรงให้เหงื่อออก หรือบางทีอาจจะหาใครสักคนมามีเซ็กส์ด้วย เพื่อเติมเต็มความรู้สึกเคว้งคว้างที่ทรมานและทนอยู่ได้ยากเกินไป

บนพื้นฐานของความกลัวที่จะสัมพันธ์กับความว่าง เราพยายามสรรสร้างความคิด สร้างเหตุผลอันชอบธรรม สร้างข้ออ้างที่ดีให้แก่สิ่งที่เราทำกับตัวเองหรือทำกับคนอื่นให้ดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผล และแน่นอนว่าทุกคนมีประสบการณ์ของการหาเหตุผลบางอย่างที่จะทำหรือไม่ทำอะไรในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น บางครั้งเราก็รู้ว่ามันคือข้ออ้าง แต่บ่อยครั้งที่เรา “ไม่รู้ตัว”

“อยู่ๆ เธอก็หายไปจากชีวิตฉัน ทำไมเธอถึงทำกับฉันแบบนี้  ทั้งหมดที่ผ่านมามันไม่มีค่าอะไรเลยใช่ไหม เธอมันเลว! ”

“มีโอกาสได้ Connect กับธรรมชาติแบบนี้ช่างดีต่อใจเหลือเกิน แต่ต้นไม้มันก็ดูรกๆ ไปหน่อย ตัดต้นนี้ทิ้งไปเลยดีกว่า ถางหญ้าตรงนั้นให้หมดเลยนะ ให้เหลือเฉพาะพุ่มดอกไม้ตรงนั้นก็พอ เอายามาฉีดแมลงไล่ด้วยล่ะ แล้วอย่าลืมหากำมะถันมาโรยไล่งูด้วย”

“เราก็อยากจะมานั่งภาวนานะ แต่ช่วงนี้ชีวิตเรายุ่งมากจริงๆ เอาไว้คราวหน้าละกัน”

เรามีทักษะอันชาญฉลาดในการใช้แบบแผนเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะสัมพันธ์กับความว่างมาทั้งชีวิต อันที่จริงแล้วมันไม่ผิดเลยที่จะทำแบบนั้น มันเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ และเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ซึ่งหากมองว่าความกลัวที่จะสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับชีวิตเรา เราโอเคแล้วที่จะขับเคลื่อนชีวิตที่เหลือของเราต่อไปด้วยการไม่เข้าไปสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างมันก็ไม่ผิดอะไรเลย เราก็แค่ใช้ชีวิตภายใต้วงจรควบคุมนี้ต่อไป พัฒนาแผนการให้แยบยลยิ่งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับพื้นที่ว่างตราบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

แต่ถ้าเราเห็นว่ากลไกนี้มันไม่เวิร์คสำหรับเราอีกต่อไป เราอาจอยากลองเป็นอิสระจากแผนการและความคิดล่วงหน้าดูบ้าง เราอาจเกิดแรงบันดาลใจที่จะเผชิญหน้ากับความว่าง เปิด และสนใจใคร่รู้ในธรรมชาติของพื้นที่ว่างภายในที่เราหลีกเลี่ยงมาทั้งชีวิต เป็นการลองเชื่อมโยง สัมพันธ์กับประสบการณ์ตรงอันสดใหม่ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง

ด้วยมุมมองและแรงบันดาลใจเช่นนี้ เราให้โอกาสตัวเองที่จะกลับมาเชื่อมต่อกับที่ว่างภายในตัวเอง เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้พื้นฐานของชีวิต ได้เห็นจุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในตัวเอง แล้วพยายามเปิดใจรับรู้มันอย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น การให้พื้นที่ว่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ชีวิตแทนที่จะปฏิเสธหรือกันมันออก จะส่งผลให้การเข้าใจชีวิตในแง่มุมที่ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

แท้จริงแล้ว พื้นฐานของการภาวนาทั้งหมด ก็คือการสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างนี่เอง

ชั่วขณะที่เราอยู่ในกระบวนการฝึกฝน Somatic Meditation บนเบาะภาวนา เป็นช่วงเวลาที่เรามีโอกาสที่จะอยู่กับประสบการณ์ต่างๆ ภายในร่างกายของเราอย่างที่เป็น ประสบการณ์ดิบๆ ในเนื้อในตัว ที่ไปพ้นจากการตีความ การตัดสิน และคำอธิบาย ทั้งหมดนี้คือบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้อันศักดิ์สิทธิ์

ชั่วขณะที่เราคอนเน็คต์กับสเปซ เรากำลังปล่อยความกลัว ความยึดมั่น ความคิด แผนการทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นอิสระในพื้นที่ว่างนั้น เราเปิดกว้างต่อสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ อนุญาตให้ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ฝึกฝนที่จะไว้วางใจต่อทุกประสบการณ์และทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ศิโรราบให้กับความไร้หลักและความเคว้ง ยิ่งเรามีโอกาสที่จะได้ฝึกบนเบาะภาวนาบ่อยๆ จนเป็นเนื้อเป็นตัว ด้วยท่าทีที่เปิด ด้วยท่าทีของความไว้วางใจ ด้วยท่าทีของความกล้าเผชิญ ท่าทีอันไร้เงื่อนไขเหล่านี้จะช่วยให้เราตระหนักถึงความกลัวพื้นที่ว่างในสถานการณ์จริง เมื่อเห็นความกลัวพื้นที่ว่างนั้นชัด เราก็ไม่กลัวที่จะกลัว มันคือคำเชื้อเชิญให้เราเข้าไปสัมพันธ์กับ “พื้นที่ว่างนอกเบาะภาวนา” ในชีวิตจริงอย่างชัดเจนและเข้มข้นยิ่งขึ้น

การสัมพันธ์กับพื้นที่ว่าง คือพื้นฐานของอิสรภาพ