ทำไมวัชรยานถึงให้ความสำคัญกับครูยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า?

เนื้อหาจากคอร์สอบรม “คุรุโยคะ” โดย วิจักขณ์ พานิช
สรุปความโดย พรทิภา จันทรพราม


“คุรุโยคะ” เป็นการภาวนารูปแบบหนึ่งในพุทธวัชรยานที่ค่อนข้างแอดวานซ์ (ขั้นสูง) อยู่พอสมควร เวลาพูดถึงความแอดวานซ์ของการปฏิบัติภาวนาในพุทธศาสนาทิเบต ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัตินั้นมีความซับซ้อนหรือเข้าใจยาก แต่คุรุโยคะเป็นการปฏิบัติที่มีประสบการณ์หรือเข้าถึงได้ยาก ที่ยากก็เพราะโดยปกติแล้วจิตเราจะมีสิ่งที่ปกคลุมอยู่เยอะ เราคิดเยอะ ลังเลสงสัยเยอะ ดังนั้นการที่คุรุโยคะเป็นการภาวนาที่ยาก ก็ด้วยเหตุที่ว่าจิตเราไม่ simple พอนั่นเอง

การปฏิบัติคุรุโยคะโดยหลักการแล้วไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนเลย หากกล่าวในเชิงข้อมูล คุรุโยคะก็คือการตั้งนิมิตครูขึ้นมา จากนั้นก็สวดว่า เรารักครู สวดนามของครูซ้ำๆ อย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในสายปฏิบัติคากิว ก็จะมีองค์กรรมาปะเป็นคุรุสูงสุดในสายปฏิบัติ เราก็จะเอ่ยชื่อขององค์กรรมาปะขึ้นมาในการภาวนา ทั้งหมดของการปฏิบัติมีแค่นี้ แต่ที่กล่าวว่า คุรุโยคะ เป็นการปฏิบัติที่แอดวานซ์ ก็เพราะเป็นการปฏิบัติที่จะต้องเริ่มต้นจากการฝึกปฏิบัติอื่นๆ มาก่อนหน้า จากนั้นจึงจะมาถึงจุดที่เรา ฝึกที่จะรวมเป็นหนึ่งกับครู รวมเป็นหนึ่งกับพลังงานสูงสุด พลังงานที่เรียกว่าเป็น Supreme Energy เป็นความดีสูงสุด เป็นแสงสว่าง เป็นความประภัสสร เป็นสิ่งที่เหมือนเข็มทิศนำทางแก่เราอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่ามีดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงอยู่บนกลางกระหม่อมของเราตลอด เป็นความรู้สึกของความอบอุ่น ความรู้สึกของความรักที่อยู่ข้างๆ รอบๆ ตัวเราตลอด

บางคนได้ยินแบบนี้ก็อาจคิดไปว่า “มีพระอาทิตย์อยู่บนหัวตลอดเวลานี่ดีจังเลย”  ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกันนะว่าดีหรือเปล่า เพราะการที่มีครูอยู่บนหัวเราตลอดเวลาก็ช่าง Intense เหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ปฏิบัติธรรม ที่ส่วนใหญ่ก็ขอปฏิบัติเฉพาะตอนที่อยากมาปฏิบัติ ถึงจะอุทิศตนยังไง ก็ยังอยากจะมีมุมเล็กๆ เอาไว้หลบซ่อนตัวเอง ประมาณว่า “ช่วงนี้ฉันขอ Take Day Off” หรือที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในคนที่บอกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม แต่ในชีวิตส่วนตัวก็ทำเป็นมองไม่เห็นหรือไม่ขอพูดถึงในบางเรื่อง นั่นแสดงให้เห็นว่า เอาเข้าจริง เราก็มีด้านที่ไม่ยอมให้พระอาทิตย์เข้ามาส่องสว่าง เราขอมีพื้นที่ให้หลบเข้าไปในมุมนี้สักนิดนึง ขอไปหลับ ขอไปงีบ ซึ่งอันที่จริง ทุกคนก็เป็นกันทั้งนั้น

การที่เรากำลัง “ขอให้ครูอยู่กับเราเสมอ” มีศรัทธาต่อครู รักครู ฟังดูโรแมนติกมากนะ แต่ในทางกลับกัน การขอให้ครูอยู่กับเราเสมอ หมายความว่า เราจะไม่มีที่ให้หลบซ่อนตัวตนหรือ Ego ของเราอีกต่อไป ความรู้สึกที่อยากจะ Take Day Off  จะไม่มีอีกต่อไป

“ถ้าหากว่าเราหลบ เราหนีเข้าไปซุกตัว เรากลับเข้าไปในอีหรอบเดิม  พลังงานของครูก็จะดึงเราออกมา เมื่อเราหนีไปซุกตัว พระอาทิตย์หรือความสว่างก็จะกลายเป็นแสงที่แสบตา หรืออาจจะหมายถึงความร้อนมหาศาลที่พร้อมจะลวกเรา ทำให้เราสะดุ้งตื่น พลังงานของครูจะเป็นอะไรบางอย่างที่มาขัดจังหวะเรา Disrupt เรา หรืออาจหมายถึงความรู้สึกที่เราไม่แน่ใจว่า อันนี้เรียกว่าความรักหรือเปล่า เค้าจะกระชากเราออกจากที่ซ่อน สิ่งที่เราต้องเจออาจไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกในทางบวก เช่น ความอบอุ่น หรือการโอบอุ้ม (ในแบบที่อัตตาเราคาดหวัง) ผลจากการที่ตัวตนของเราเราถูกดึงออกจากที่ซ่อน อาจทำให้เราต้องเจอกับความเจ็บปวดแสนสาหัส อาจรู้สึกเหมือนชีวิตพังทลาย รู้สึกเคว้งคว้าง ไร้หลักยืน เราอาจรู้สึกได้ถึงการกรีดร้องของอัตตา”

แต่ถ้าเราเข้าใจและยอมรับความสัมพันธ์แบบนี้ได้ พลังงานนี้ก็จะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราเสมอ เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนอยู่ใน Presence ของครู เป็นการทดสอบของครู เป็นความรักของครู เป็นอะไรก็ตามที่ไม่ใช่เรื่อง Personal เรามีความสัมพันธ์ต่อพลังงานนี้ด้วยท่าทีไร้เงื่อนไข นี่แหละคือความ Advance ของคุรุโยคะ ซึ่งโดยหลักการหรือโดยเทคนิคแล้วไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเลย  โดยเทคนิคการปฏิบัติแล้วก็เหมือนกับเรากำลังภาวนาอ้อนวอน เหมือนเวลาที่เราสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า ขอให้พระผู้เป็นเจ้ารักเรา เมตตาเรา เราสวดภาวนา เอ่ยนามครู เราตั้งจิตที่เราจะเชื่อมต่อกับครูอยู่เสมอแค่นั้นเอง

เมื่อกล่าวถึงมิติที่เราสัมพันธ์กับครูในเส้นทางแบบวัชรยาน เราคงเคยได้ยินที่มีการกล่าวว่า “ในวัชรยาน คุรุสำคัญยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า”  การฝึกปฏิบัติคุรุโยคะ ขั้นตอนที่เราตั้งนิมิต พระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ จะอยู่เหนือกลางกระหม่อมขึ้นไปด้านบน  แต่คุรุ (ครู) จะอยู่สูงสุด ทำไม? เพราะครูเป็นคนที่เรามีประสบการณ์ตรงด้วยจริงๆ ในแง่นี้สิ่งที่วัชรยานสนใจคือประสบการณ์ตรง

“วัชรยานสนใจ Direct Experience”

“คำอธิบายมาทีหลัง แต่อารมณ์ความรู้สึกหรือการเปิดใจต่อประสบการณ์นั้นสำคัญที่สุด”

การกระโจน การเข้าไปสัมพันธ์ การเข้าไปรู้สึกกับมัน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าการตีความ ถ้าจะอธิบายในแง่มุมวัชรยานหรือตันตระ หมายความว่า ความสัมพันธ์ หรือ Direct Experience ที่เรากำลังมีนั้น ไม่ใช่แค่ในระดับความคิด แต่ลงมาถึง 95% ในระดับจิตใต้สำนึก จิตไร้สำนึกของเราด้วย

การที่เรา Connect กับร่างกาย Connect กับฐานของความรู้สึกตัวที่ลึก แล้วไว้วางใจประสบการณ์ของการเชื่อมต่อนั้นว่าเป็นช่องทางสัมพันธ์กับพลังงานครู  ครูกลายเป็น embodiment และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมความสัมพันธ์กับครู จึงถูกยกว่าสูงกว่ากับพระพุทธเจ้า เพราะในแง่ของความสัมพันธ์ที่เป็นมนุษย์จริงๆ embodied จริงๆ เราไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพระพุทธเจ้า (เจ้าชายสิทธัตถะ) เราไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพระโพธิสัตว์ต่างๆ แต่เมื่อเรามีความสัมพันธ์กับบุคคลใดก็ตามที่แสดงออกถึงพลังงานของครู และเกิดความเข้าใจระดับลึก (ที่ไม่ใช่แค่ระดับความคิด) ว่าเราควรปฏิบัติตัวและวางใจต่อครูอย่างไร สิ่งนี้ต่างหากที่จะติดเนื้อติดตัวเราไป ไม่ว่าชีวิตนี้จะสั้นยาวขนาดไหน แต่ความรู้สึกเชื่อมต่อกับพลังงานของครูจะเป็นส่วนหนึ่งของการรู้แจ้งที่จะดำรงอยู่ในตัวเราไปด้วย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมวัชรยานถึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่มีต่อครูอย่างสูงสุด