จิตของผู้เริ่มต้น: เมื่อมีเด็กในห้องเรียนอิเคบานะ

บทความโดย ดิเรก ชัยชนะ

“จิตของผู้เริ่มต้นมีความเป็นไปได้มากมาย แต่จิตของผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นไปได้เพียงน้อยนิด” นี่เป็นข้อความสำคัญหนึ่งในหนังสือ Zen Mind, Beginner’s Mind ของซูซูกิ โรชิ

จิตของผู้เริ่มต้น” ในประโยคนี้หมายถึงจิตใจแบบเด็กหรือไม่?

อาจเป็นไปได้!

หากให้ความหมายของจิตของผู้เริ่มต้นคือ ทัศนคติของความฉับพลัน ความเพลิดเพลิน และความสนใจใคร่รู้อันสดใหม่ต่อการสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดด้วยความรู้หรือแบบแผนความคิดความคุ้นชินเดิมๆ ทัศนคติเช่นนี้ให้อิสรภาพโดยพื้นฐานต่อความเป็นไปได้ของการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ รวมถึงการฝึกศิลปะการจัดดอกไม้หรืออิเคบานะเช่นเดียวกัน

ในคอร์สดอกไม้สื่อใจ บางครั้งจะมีเด็กสมัครเข้าเรียนรู้ศิลปะการจัดดอกไม้ การมีผู้เรียนวัยเด็กในคลาสไม่เพียงแต่ท้าท้ายผู้สอนว่าจะสื่อสารเนื้อหาและขั้นการปฏิบัติที่กำหนดชัดเจนได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังท้าท้ายผู้เรียนในคลาสเช่นเดียวกันว่า พวกเขาจะสามารถสัมพันธ์กับบรรยากาศห้องเรียนที่เต็มไปด้วยมีพลังงานของ ความสนุก ความสนใจใคร่รู้ และความฉับพลันที่ไม่ได้มีแบบแผนความคิดของการควบคุมจัดการมากเท่าผู้ใหญ่ได้อย่างไร

ประการแรก ในฐานะผู้สอน ผมมองว่าไม่ว่าผู้เรียนที่จะมีอายุน้อยหรืออายุมาก การสื่อสารเนื้อหาและให้แบบฝึกหัดสำหรับฝึกจัดดอกไม้ก็เป็นแบบเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างการฝึกปฏิบัติไม่ว่าผู้เรียนที่เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ กล่าวคือ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะได้ฝึกจัดดอกไม้ทั้งรูปแบบที่เรียบง่ายและซับซ้อนไม่แตกต่างกัน ทุกคนฝึกจัดดอกไม้ในแจกันเล็กและแจกันใหญ่ รวมถึงจับฉลากสถานที่สำหรับจัดในสถานที่จริงเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าบางสถานที่อาจท้าทายศักยภาพของผู้จัดมากกว่าปกติ

นอกจากนี้ ผมไม่ได้แนะนำหรือใส่ใจเป็นพิเศษสำหรับเด็ก ปล่อยให้เขาและเธอได้เพลิดเพลินไปกับการจัดดอกไม้ และสื่อสารผลงานออกมาให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดเช่นเดียวกับคนอื่นๆในคลาส บางครั้งอาจเข้าไปสอบถามเเล็กๆน้อยเพื่อให้การจัดดอกไม้ไหลลื่น ตัวอย่างเช่น สอนวิธีการปักกิ่งไม้ใหญ่ หรือหากเห็นว่าการจัดวางกิ่งและดอกสูงเท่ากัน อาจสอบถามเพื่อเช็คดูระดับสูงต่ำที่ดูเป็นธรรมชาติ แล้วปล่อยให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง วิธีเรียนรู้ผ่านการปฏิบัตินี้ก็สื่อสารกับผู้เรียนคนอื่นเช่นเดียวกัน

การมีพื้นที่ของการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายได้ ไม่ยัดเยียดความรู้ ไว้วางใจในศักยภาพผู้เรียน และให้อิสรภาพต่อเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตนเองของผู้เรียน สำหรับผมในฐานะผู้สอนแล้วรู้สึกเป็นอิสระจากความคาดหวังต่อตัวเองและความคาดหวังของผู้อื่นที่มีต่อคอร์สจัดดอกไม้ ยิ่งไปกว่านั้นเริ่มมองเห็นศักยภาพของรูปแบบการสอนโดยไม่สอนว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้บรรยากาศห้องเรียนจัดดอกไม้ที่มีเด็กร่วมด้วย ได้เห็นมุมมองสดใหม่และการจัดดอกไม้ที่ฉับพลันให้แรงบันดาลใจต่อทุกคนในคลาสยิ่ง

ประการที่สอง คือความท้าทายต่อผู้ใหญ่เพื่อนร่วมคลาส ด้วยวินัยแห่งศิลปะการจัดดอกไม้คือการฝึกชื่นชมความงามของดอกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ แจกัน และสิ่งต่างๆที่เราสัมพันธ์ด้วยอย่างที่มันเป็นด้วยความเคารพ การทำเช่นนี้เรียกร้องปล่อยวางความคิดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดวางดอกไม้ที่เราจินตนาการไว้ล่วงหน้า กล่าวให้ตรงที่สุด คือการกลับไปสู่ทัศนคติอันเปิดกว้างของจิตผู้เริ่มต้น

“เมื่อเราเลือกดอกไม้ เราไม่ได้เลือกเฉพาะสิ่งชอบ และไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ชอบ

ดอกไม้ทุกดอกมีโอกาสเต็มร้อยเท่ากันที่จะถูกหยิบจับขึ้นมา

หรือหากพบกิ่งที่เราเลือกไปแล้วกิ่งนั้นก็จะไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะเราคิดว่ามันน่าเกลียดไม่ตรงกับที่เราคาดคิดไว้”

วินัยอันเรียบง่ายของศิลปะการจัดดอกไม้เช่นนี้ท้าท้ายจิตของผู้เชียวชาญอย่างมาก จากคอร์สที่มีเด็กอยู่ในคลาสผมมักจะพบว่า เด็กจะจัดดอกไม้เสร็จเร็วกว่าผู้ใหญ่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อถึงแบบฝึกหัดการฝึกจัดดอกไม้ในเวลาสั้น ความฉับพลันและความเป็นธรรมชาติของเด็กถึงกับก็สร้างความกดดันต่อผู้เรียนคนๆอื่นในห้อง การเรียนรู้ที่มีเด็กร่วมคลาสจึงท้าทายให้ผู้ใหญ่มองเห็นแบบแผนความคิดความคาดหวังตนเองว่าขวางกันความตระหนักรู้ถึงจิตของผู้เริ่มต้นมากแค่ไหน

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะเป็นไม่มีปัญหากับความคาดหวังหรือเป็นอิสระจากแบบแผนความคิดไปเสียทั้งหมด และผู้ใหญ่ดูจะมีปัญหาเสมอในการจัดดอกไม้ นั่นดูจะไร้เดียงสาเกินไปหน่อย

อย่างไรก็ตาม จิตของผู้เริ่มต้นดำรงอยู่เป็นธรรมชาติพื้นฐานที่ทุกคนและทุกช่วงวัยสัมผัสได้ไม่แตกต่างกัน และศิลปะการจัดดอกไม้ผมเห็นว่าเป็นหนึ่งการเรียนรู้ที่จะนำเราตระหนักรู้ถึงจิตของผู้เริ่มต้น ที่เต็มไปด้วยศักยภาพของชื่นชมตนเองและโลกแห่งปรากฏการณ์อย่างที่เป็น และการมีเด็กร่วมเรียนอยู่ในคอร์สจัดดอกไม้ย่อมเป็นความโชคดีของผู้สอนและผู้เรียนทุกคนเสมอ