“ถึงเวลาออกเดินทาง”: สนทนากับ วิจักขณ์ พานิช เมื่อรู้ว่าวัชรสิทธาต้องย้ายสถานที่

บทสัมภาษณ์ โดย เชษฐ์

การเดินทางบทใหม่ของวัชรสิทธากำลังจะเริ่มต้นขึ้น พร้อมคำถามที่ว่าวัชรสิทธาจะเปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหน ย้อนมองเรื่องราวความทรงจำตั้งแต่วันแรกผ่านการทำงานร่วมกับบริบทสังคมไทย เกิดอะไรขึ้นบ้างใน 5 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเหลืออะไรไว้ จะทิ้งอะไรไป

เรามาชวนพี่ตั้ม วิจักขณ์ พานิช สนทนาและค้นหาคำตอบเหล่านี้ไปด้วยกัน

เชษฐ์ : สถานที่ใหม่ของวัชรสิทธาเป็นยังไงบ้าง มีอะไรที่ต้องทำบ้างเมื่อเทียบกับที่เดิม

วิจักขณ์ : สถานที่ใหม่ของวัชรสิทธาจะเป็นพื้นที่ที่กว้างขึ้น เราต้องไปทำงานกับพื้นที่ใหม่หมดเลย คือเดิมมันเป็นบาร์มาก่อน เราก็ต้องเปลี่ยนพื้นที่บาร์ให้กลายเป็นพื้นที่ภาวนา เราต้องเริ่มหลายๆ อย่างใหม่หมด ต้องทาสีใหม่ ติดกระจกใหม่ ติดม่านใหม่ ไปปูพื้นใหม่อะไรแบบนี้

ตอนนี้มันเป็นอารมณ์ของการเริ่มต้นสร้าง sacred space ใหม่ตั้งแต่ต้นเลย ต้องทำอะไรมากกว่าที่ตึกนี้เยอะ คือที่นี่เตรียมมาให้ค่อนข้างเยอะมาก ฉะนั้นเมื่อย้ายที่ใหม่ ก็จำต้องสลัดภาพเดิมทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนจะติดภาพวัชรสิทธาจากพื้นที่ตรงนี้ 

พอย้ายพื้นที่ใหม่คนก็อาจจะบ่นนะ มันอาจจะมีการเปรียบเทียบกันเกิดขึ้น เราอยากชวนคนให้สลัดภาพเดิม ความคิดเดิมที่มีเกี่ยวกับวัชรสิทธาไปให้หมด แล้วเปิดใจต่อบทใหม่ของวัชรสิทธาที่กำลังจะวิวัฒนาการไปสู่ตัวตนอื่นแล้ว ประมาณว่าวัชรสิทธาภาพเก่าได้จบลงแล้ว…แต่ว่าความตายมันไม่ใช่จุดสิ้นสุดใช่ไหม มันสามารถที่จะ carry on เจตจำนงที่ดีงามนี้ไปต่อได้ เราจะเอาความตั้งใจนี้ไป แต่ว่าตัวตนเก่าเราจะสลัดมันทิ้ง ไม่เอามันไปด้วย ไม่งั้นเราจะทำงานต่อยากมาก

…มันไม่ใช่เรื่องง่าย เราอยู่ที่นี่มา 5 ปี มีความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้น แต่มันก็เลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราจะเกิดใหม่ที่นั่น เราก็ต้องดีลกับทุกอย่างใหม่หมด เราจะดีลกับเจ้าของพื้นที่ใหม่ ดีลกับปัญหาใหม่ กับลักษณะพื้นที่ใหม่ ดีลกับงบการเงินใหม่ เราจะดีลกับวิธีการหาทุนหาอะไรต่างๆ ใหม่ แน่นอนว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของวัชรสิทธา และของมูลนิธิ 

จริงๆ ตอนนี้ วัชรสิทธาก็ถือเป็นแค่ภาพเดียวของมูลนิธินะ ไม่ใช่ทั้งหมด ต่อไปจะมีโครงการอื่นที่เข้ามาเป็นจุดสนใจของมูลนิธิมากขึ้นกว่านี้อีก ฉะนั้นใครที่คิดว่าวัชรสิทธาคือทั้งหมดแล้วเนี่ย ก็อาจจะต้องสลัดภาพนั้นทิ้งไปด้วย

จะทำยังไงให้เราสลัดทิ้งภาพเดิมที่มีของวัชรสิทธา จะทำยังไงไม่ให้มันกลายเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบ เหมือนที่ใหม่ไม่ดีเท่าที่เก่า หรือยังไม่ดีพอสักที สำหรับเรา วัชรสิทธาที่ใหม่ก็จะมีชีวิตใหม่ มันก็จะดีและสมบูรณ์ในแบบของมัน เราจะทำให้มันเป็นที่ที่สวย ทำให้มันเป็นที่ที่ศักดิสิทธิ์ ให้มันเป็นที่ที่มีความหมายกับทุกคน และทำให้เป็นภาพที่คนจดจำในแบบของมัน

หน้าตึกที่ตั้งใหม่ของวัชรสิทธา
พื้นที่ใหม่ของวัชรสิทธา

เชษฐ์ : วัชรสิทธาที่แรกก็จะยังคงมีความหมายในแบบของมันอยู่ และจะยังอยู่ในความทรงจำ

วิจักขณ์ : แน่นอน แต่มันเอาไปด้วยไม่ได้ไง… มันเลยทำได้แค่นี้ …(หัวเราะ)… 

ทำพื้นที่การเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ เราต้องพร้อมที่จะเติบโตตลอดเวลา จริงๆ เราคิดว่าการทำวัชรสิทธาก็คือการภาวนา 

พื้นที่ทางจิตวิญญาณมีชีวิตของเค้าเอง มีจิตวิญญาณ มีพลังงาน มีครู อาจกล่าวได้ว่าวัชรสิทธาเป็นที่สถิตของครู แล้วครูก็มีวาระของเธอเองที่ต้องสื่อสารเรื่องต่างๆ เราจะไปควบคุมเธอไม่ได้ เราแค่รับใช้เธอ เปิดต่อเธอ แค่เป็นพื้นที่ให้ครูได้สอน ได้แสดงตัว เราคิดว่าการทำงานที่วัชรสิทธาไม่ต่างจากการภาวนาเลย คือเราต้องตื่นตัว เปิดต่อครู เปิดต่อสถานการณ์ใหม่ที่เข้ามาตลอด 

การเปลี่ยนงาน การเปลี่ยนความสัมพันธ์ การเปลี่ยนที่อยู่ คนส่วนมากจะเอาตัวตนของเราไปติดกับที่อยู่ ติดอยู่กับความสัมพันธ์ ติดอยู่กับที่ทำงานที่เราคุ้นเคย แล้วพอจะต้องเปลี่ยนที่ทีนึงมันก็ยาก คนส่วนใหญ่มักพยายามสร้างตัวตนของตัวเองให้ติดอยู่กับเรื่องๆ หนึ่ง ความสัมพันธ์หนึ่ง หรือสถานที่ที่หนึ่งทั้งชีวิต แต่ว่าอันนั้นไม่ใช่ชีวิตทางจิตวิญญาณ

ชีวิตทางจิตวิญญาณนั้นเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง เปิดกว้างต่อความไม่รู้ แล้ววัชรสิทธาก็กำลังเดินทางแบบนั้นอยู่ในรูปแบบองค์กร ว่าเราพร้อมที่จะตายแล้วเกิดใหม่เสมอ พร้อมที่จะศิโรราบต่อสิ่งที่เข้ามาปะทะเสมอ แล้วเราก็เรียนรู้ไปกับมัน เติบโตไปกับมัน

ภาพที่จะอยู่ในความทรงจำ

สุรเชษฐ์คิดว่าวัชรสิทธาจะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นไหม วัชรสิทธาจะโกแมสไหม

วิจักขณ์ :จริงๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจให้ที่นี่อินดี้นะแต่มันเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เราสื่อสารที่นี่ไม่ได้เป็นกระแสหลัก มันไม่ใช่การนำเสนอคุณค่าทางจิตวิญญาณแบบที่เคยมีมาก่อน ไม่งั้นเราก็ไม่ทำหรอกถูกไหม

ทีนี้ ใช่ เราคิดว่าวัชรสิทธาได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื้อหาของที่นี่ กิจกรรมของที่นี่ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่เราคิดว่าใหม่เมื่อ10 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันก็ไม่ใหม่แล้ว การพูดเรื่องจิตวิญญาณตอนนี้มันไม่ใหม่แล้ว มันกลายเป็นกระแสหลักของโลกด้วยซ้ำ เราเห็นกระแสนี้ในหนังแอนนิเมชั่น หนังฮอลลีวูด ในสังคมไทยเองก็ถือว่าไม่ใหม่แล้วแล้วนะ สำนักข่าวบ้านเรามีลงข่าวเรื่องคำสอน ติช นัท ฮันห์ เป็นเรื่องปกติ มีเขียนถึงเรื่องจิตวิทยา เรื่องจิตวิญญาณ เรื่องwellnessกันเป็นปกติ 

เรื่องพวกนี้กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว คนเริ่มให้ความสนใจ เพราะงั้นเราเลยไม่ได้มองว่าวัชรสิทธากำลังทำตัวเองให้แมส แต่เราคิดว่า content ภาษา หรือการสื่อสารที่วัชรสิทธาทำมา มันไปสอดคล้องกับสิ่งที่คนสนใจด้วยตัวมันเอง คือเราทำมันมาก่อน แล้วตอนนี้คนเริ่มสนใจตรงนี้มากขึ้น วัชรสิทธาก็เลยเป็นที่ที่ตอบโจทย์กับคนที่สนใจเรื่องนี้ในกระแสหลักมากขึ้น 

แต่ถ้าถามว่าอยากทำให้ที่นี่แมสไหม เราไม่ได้มีความตั้งใจแบบนั้น เราไม่ได้พยายามประดิษฐ์ตัวเองให้คนมาสนใจมากขึ้น

บางทีคนมองว่าธรรมะต้องบรรจุหีบห่อใหม่ ต้องไปเรียนการพูดใหม่ จะได้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น มีแฟนคลับมากขึ้น เราไม่ชอบอะไรแบบนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ เราสนใจที่แต่ละคนสามารถเป็นตัวของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง เป็นคนสมบูรณ์แบบ เราก็เป็นแบบนี้แหละ การมาฝึกจิตวิญญาณก็เพื่อทำให้เรายอมรับตัวเองได้มากขึ้น ใช้สิ่งที่ตัวเองมี สิ่งที่ตัวเองเป็นในการเชื่อมโยงกับคนอื่น และตอนนี้มันไม่ใช่ตัวเราคนเดียวที่เชื่อมโยง มันคือชุมชนทั้งหมดที่จะเป็นตัวแทนการเชื่อมโยงของวัชรสิทธา 

เชษฐ์: แตกต่างกันมากไหมครับ ภาพที่คิดไว้ในตอนแรกกับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

วิจักขณ์:มันก็ต่างมากเลยนะ ทำวัชรสิทธาก็เหมือนการเดินทาง ก็นานนะ เวลา 5 ปีเต็ม เราก็ไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงจุดนี้ ภาพฝันของเราคือการลองเอาเมล็ดพันธุ์นี้มาเพาะลงดิน เราอาจเห็นภาพว่ามันน่าจะเติบโตแบบนี้ๆ แต่ว่าตรงนี้มันเป็นดินใหม่ สถานที่ใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ภูมิอากาศใหม่ ผู้คนที่มาปฏิสัมพันธ์กับต้นกล้าต้นนี้ก็ใหม่ทั้งหมด

มันกลายเป็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีชีวิต มีวิวัฒนาการในแบบของมันเอง ในแบบที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยเห็นมา แต่ว่าฟีลมันใช้ได้เลยนะ มันแบบเดียวกันเลย แต่ว่าตัวละครหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันก็เปลี่ยนไป ก็เลยทำให้รู้สึกว่าประสบการณ์จริงมันต่างจากที่คิดไว้มาก 

การเติบโตในแต่ละปีก็มีเรื่องราว มีการเดินทางที่โคตรน่าประทับใจ ไม่ซ้ำกันเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวกิจกรรม หรือตัวละครใหม่ๆ ที่เข้ามาสัมพันธ์กับพื้นที่ วิทยากร หรือกัลยาณมิตรใหม่ๆ ที่เข้ามารู้จักกัน รวมถึง Magic moment ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกิจกรรม หรือตัวสังฆะเองที่เติบโตขึ้น พัฒนาขึ้นจากการที่เรามีพื้นที่ตรงนี้ มันไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราต่างรับผิดชอบร่วมกัน เราต่างมีบทบาทหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น คือทุกคนได้เติบโตหมดในพื้นที่ตรงนี้ 

มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา เป็นครั้งแรกในชีวิตเลยที่รู้สึกว่าเราได้ใช้ความสามารถของเราเต็มที่ ลึกๆ เราก็รู้แหละว่าเรามีความสามารถ แต่หลายๆ ครั้งเราไม่ได้รับโอกาสหรืออิสรภาพ ให้ได้ทำสิ่งที่อยากทำหรือคิดว่าทำได้ ส่วนใหญ่ก็จะต้องไปอยู่ในบ้านคนอื่น อยู่ในกรอบคิดของคนอื่น ทุนของคนอื่น หรือไม่ก็ต้องเข้าไปอยู่ในระบบ แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้รับโอกาส ให้ได้เริ่มทำอะไรตามภาพที่ฝันไว้ เริ่มต้นจากศูนย์ และมีอิสรภาพเต็มที่จริงๆ ก็ถือว่าเป็นอะไรที่พิเศษมากสำหรับเรา ไม่น่าเชื่อว่าจะได้รับโอกาสแบบนี้ รู้สึก grateful มากๆ ขอบคุณจริงๆ 

เชษฐ์: พี่ตั้มยังจำความรู้สึกแรกที่เริ่มต้นทำมันได้ไหมครับ อะไรคือจุดเปลี่ยนให้ต้องทำ

วิจักขณ์ : วัชรสิทธาเป็นความฝันลึกๆ ในใจอยู่แล้ว ว่าเราอยากจะทำสถาบันการศึกษา การได้เรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนาโรปะมันเปลี่ยนชีวิตเรามากเลยนะ ทำให้เราเห็นว่ามีพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ในขณะเดียวกันก็ลงลึกอยู่ในสายปฏิบัติที่มันตอบโจทย์เรื่องความหมายของความเป็นมนุษย์ ที่สามารถหลอมรวมทุกประสบการณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติได้ การมีประสบการณ์ที่นาโรปะทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ ว่าวันหนึ่งอยากทำให้เกิดมหาวิทยาลัยนาโรปะที่เมืองไทย


ก่อนหน้าที่จะเกิดวัชรสิทธา เราใช้ ‘บ้านตีโลปะ’ บ้านที่บางขุนนนท์ทำกิจกรรมมาเกือบ 10 ปี เป็นที่รวมสมาชิกที่สนใจมาปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีกลุ่มนั่งวันอาทิตย์อะไรแบบนี้ แต่ที่บ้านก็เป็นพื้นที่ส่วนตัว มันก็ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่

จนได้มาเจอกับ “พี่ขวัญ” ที่ไปเข้าคอร์สอบรมภาวนากับเราที่เสมสิกขาลัย แกมาถามว่าสนใจมาใช้พื้นที่ของแกไหม ตอนแรกเราก็ไม่ได้จริงจังขนาดนั้น จนได้มาเห็นพื้นที่ตรงนี้จริงๆ ก็รู้สึกว่า “มันปฏิเสธไม่ได้”

มันเป็นอะไรที่ประจวบเหมาะเรื่องจังหวะเวลาด้วย เราทำงานสอนภาวนามาเกือบ 10 ปี มี Community ที่เติบโตมาด้วยกันในระดับนึง สุดท้ายด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างที่มารวมกันทั้งหมด จึงเกิดเป็นวัชรสิทธาขึ้น

ภาพแรกตอนมาดูสถานที่ชั้น 5 เมื่อปลายปี 2559

เชษฐ์: ฝันที่อยากทำน่ะมี แต่โอกาสมันไม่ได้มีเข้ามาง่ายๆ แบบนี้หรือเปล่า


วิจักขณ์:ทุกคนมีความฝันของตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้ามีเงินหน่อย ก็อาจจะใช้ทุนตัวเองในการตั้งบริษัท สถาบัน หรือตั้งโรงเรียน ยิ่งเราคิดแตกต่างจากคนอื่น มันก็ยากนะที่จะมีคนอื่นมาให้ทุนเรา

คนส่วนใหญ่แทบจะ 90% ก็ควักเนื้อตัวเองเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่างที่เขาเชื่อว่าดี เชื่อว่าแตกต่าง แต่ส่วนตัวเราไม่ชอบวิธีการนั้น เราไม่ชอบการที่เราคิดจะทำอะไรแล้วต้องควักทุนส่วนตัว เราไม่ชอบที่คนมองว่าวัชรสิทธาคือสำนักของตั้มเขา ไม่ใช่วัชรสิทธาไม่ใช่ของเรา …เราคิดว่าความฝันนี้น่าจะเป็นความฝันร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ฝันร่วมกันแล้วมาช่วยกันทำให้เกิดขึ้น เราเลยรอจังหวะเวลาที่มีกลุ่มคนจำนวนมากพอที่รู้สึกเหมือนกัน ว่าเราอยากทำภาพนี้ให้เกิดขึ้นด้วยกัน  จังหวะตอนได้ข้อเสนอเรื่องสถานที่เข้ามา เราก็เห็นตรงกันว่า “ถึงเวลาแล้ว” 

สุรเชษฐ์ :อะไรที่ทำให้ “วัชรสิทธา” แตกต่างจากที่อื่น

วิจักขณ์ :เราคิดว่าสังคมไทยยังไม่มี center แบบนี้ แค่นี้ก็เป็นจุดที่โดดเด่นของวัชรสิทธาแล้ว มันเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นโดยคนธรรมดาๆ ที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังและมีความฝัน  บรรยากาศของความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความธรรมดา การเป็นคนธรรมดามาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนกันเรื่องคุณค่าทางจิตวิญญาณและประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ ความธรรมดานี่แหละ คือจุดที่วัชรสิทธาแตกต่างจากที่อื่น 

รายได้แทบจะ 100% ของที่นี่มาจากเงินบริจาค วัชรสิทธาเป็นตัวอย่างขององค์กรที่ทำงานเรื่องศาสนา/จิตวิญญาณที่อยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำจริงๆ  เมื่อคนเห็นภาพ เห็นวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของมูลนิธิ ทำให้เค้าอยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไปกับที่นี่ด้วย เขาได้ประโยชน์จากกิจกรรมที่เราจัด ขณะเดียวกันเขาก็ได้บริจาคเงินให้เราทำสิ่งนี้ต่อไปได้

แน่นอนว่าแค่เงินบริจาคเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเดียวนั้นไม่พอ การทำสถาบันลักษณะนี้มีค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องอุปกรณ์ เรื่องสำนักงาน เรื่องการดูแลจัดการ เรื่องการจ้างบุคลากร ฯลฯ เป็น fixed cost ที่คนมองไม่ค่อยเห็น ซึ่งมีอะไรเบื้องหลังมากกว่าแค่เรื่องกิจกรรมที่จัดอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จุดเด่นของวัชรสิทธาคือการที่สถาบันนี้อยู่ได้ด้วยตัวเอง มีคนที่สนับสนุนและเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำโดยตรง ตรงนี้เป็นจุดเด่นมากๆ ของวัชรสิทธา 

วัชรสิทธาคือการสื่อสารศาสนาธรรม แบบsecular ก้าวพ้นความเป็นศาสนา เป็นโลกวิสัย หลอมรวมประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ หลอมรวมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลอมรวมเรื่อง empowerment ส่งเสริมศักยภาพแก่ปัจเจกบุคคล เปิดกว้างต่อประสบการณ์ความทุกข์ที่หลากหลาย เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ค่อนข้างจะทันสมัย ซึ่งมันยังไม่มีที่ไหนทำเรื่องแบบนี้อย่างชัดเจนและจริงจังเท่าที่นี่

เชษฐ์สถานที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณแบบนี้ ในสังคมไทยมีอยู่น้อยมาก ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นล่ะครับ

วิจักขณ์ : สังเกตไหมว่าสังคมไทยมีปัญหากับคนรุ่นใหม่ที่คิดอะไรใหม่ๆ แทบจะทุกเรื่อง… ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม เรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ เรื่องศาสนา เรื่องอุดมกาณณ์ เรื่องความเชื่อ เรื่องจิตวิญญาณอะไรพวกนี้ หากไปพ้นจากของเดิม เขาจะมองว่าเลอะเทอะ เพี้ยน หลุดโลก อีโก้ คิดขึ้นมาเองอะไรแบบนั้น 

แต่หากยืนระยะได้ จะเห็นว่าใครก็ตามที่คิดทำอะไรใหม่ก็จะเริ่มมีคนสนับสนุน ให้กำลังใจ เห็นด้วย เคียงข้าง ให้คุณค่า ยิ่งสมัยนี้ ถ้าคุณเป็น Creator หรือ Influencer คนติดตามอาจบริจาคเงินให้ด้วย เห็นชัดเลยว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน มันคือเรื่องจิตวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องศาสนาเนาะ แต่มันเป็นเรื่องจิตวิญญาณ สมัยนึง เราเองก็ไม่ต่างจากน้องๆ พวกนั้นเหมือนกัน ในยุคนึงเราก็เคยโดนตั้งคำถาม เราเคยโดนด่า โดนวิจารณ์  โดนเอาไปแขวน มีคนไม่เข้าใจสิ่งที่เราพยายามทำ แต่พอยืนระยะได้ ก็เห็นชัดว่ามีคนที่สนับสนุน มีคนที่ให้กำลังใจ และเข้าใจสิ่งที่เราพยายามจะทำ

เห็นชัดเลยนะว่ามีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่วัชรสิทธาทำเยอะขึ้น และที่นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามันอยู่ได้ แม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่อย่างร่ำรวยสุขสบาย แต่ก็หวังนะว่า จะมีคนที่ได้แรงบันดาลใจจากการมีอยู่ของวัชรสิทธา วันนึงจะเกิดศูนย์ลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่ศูนย์ที่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ เมื่อนั้น สังคมไทยจะมีระบบนิเวศทางจิตวิญญาณที่หลากหลายมากขึ้น อุดมสมบูรณ์ขึ้น คนก็มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับประสบการณ์และความสนใจของเขา

เชษฐ์: การที่สังคมตั้งคำถามต่อเรื่องความเชื่อมากขึ้น ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้นมันส่งผลอะไรกับที่นี่ไหม

วิจักขณ์: การทำพื้นที่การเรียนรู้ลักษณะนี้ มันคือ awareness ในตัวมันเอง สิ่งที่เรากำลังทำงานด้วยไม่ใช่แค่ความฝันส่วนตัว แต่พื้นที่นี้ต้องสัมพันธ์กับบริบทสังคม บริบทชีวิตของผู้คนที่ผ่านเข้ามา เช่น คนกำลังมองหาทางเลือก คนกำลังพัฒนาภาษาใหม่ๆ ในการสื่อสารประสบการณ์และความทุกข์ของเขา 

อย่างเรื่อง โรคซึมเศร้า การทำวัชรสิทธาทำให้เราเห็นว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนสูญเสียศรัทธา เค้ารู้สึกว่าศรัทธาเป็นอะไรที่ลบสำหรับเขา แม้แต่ศรัทธาในการมีชีวิต ท่ามกลางบริบทที่เขาตั้งคำถามต่อสถาบันครอบครัว สถาบันทางสังคม สถาบันทางการเมือง คุณค่าของการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ ที่ก็มีเรื่องของสิทธิเสรีภาพที่ถูกละเมิด การไม่ได้รับความเป็นธรรม การถูกปฏิเสธความเท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรงทั้งในระดับการเมืองหรือในระดับครอบครัว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องหมดต่อการสูญเสียศรัทธาของคนยุคนี้

นี่เป็นสิ่งที่วัชรสิทธาโอบรับเข้ามาในฐานะพลังงานที่เราสัมพันธ์ด้วย และพลังงานนี้เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของพื้นที่การเรียนรู้ตรงนี้ เราเปิดรับประสบการณ์ร่วมของผู้คนร่วมสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งของพลังการตระหนักรู้ของสถานที่ และเป็นวัตถุดิบในการเรียนรู้ในแบบที่เราไม่ได้ให้คำตอบนะ แต่เราเปิดต่อคำถาม เปิดต่อความสับสน เปิดต่อความทุกข์ เปิดต่อประสบการณ์ …การตระหนักรู้แบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของวัชรสิทธา

เพราะฉะนั้นมันเลยคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละปี กิจกรรมในแต่ละปีจะวิวัฒนาการตามสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในปีก่อน บวกกับสิ่งที่เราอยากทำหรือสนใจเพิ่มขึ้น หรือบางครั้งอาจเป็นอะไรที่ฉับพลัน อยากชวนเสวนาในประเด็นนั้นๆ พอเรามาผลิตคอนเทนต์ด้วย เราก็สื่อสารสนทนากับประเด็นร่วมสมัยได้เร็วขึ้น มันไม่ได้เป็นคอนเทนต์ที่เกิดจากคนที่ทำงานที่นี่ แต่เราพยายามใช้พื้นที่ตรงนี้ตระหนักรู้และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไปพร้อมๆ กับคนในสังคมด้วย 


เชษฐ์: ดูเหมือนการเติบโตของพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้จะขึ้นกับสถานการณ์ วางแผนล่วงหน้าไม่ได้

ในการทำพื้นที่การเรียนรู้ ประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นสำคัญมาก เพราะหัวใจของที่นี่เป็น experience based ไม่ใช่ concept based และที่มากไปกว่านั้น พอมันเป็นการทำงานเรื่องจิตใจ หรือจิตวิญญาณ ทุกประสบการณ์ภายนอกสามารถสะท้อนเป็นประสบการณ์ภายในของผู้เรียนได้หมด นี่เป็นพื้นฐานของ “contemplative education” (การศึกษาที่มีมิติภายใน) ไม่ว่าคุณจะเรียนรู้ข้อมูล เรื่องราวรอบตัว หรืออ่านหนังสือสักเล่ม คุณสามารถเอามาสะท้อนเชื่อมโยงกับประสบการณ์ภายในที่มีต่อประเด็นนั้นๆ และเกิดการเรียนรู้ภายในขึ้น เราทำงานกับอารมณ์ความรู้สึก ทั้งความกลัว ความโกรธ หรืออาจมีความหวัง เกิดแรงบันดาลใจ ความรัก ความรู้สึกเชื่อมโยงอะไรแบบนี้ เราสามารถที่จะเอาทุกๆ เรื่องมาจัดเป็นกระบวนการ ทำให้ผู้เรียนเกิดการสะท้อนประสบการณ์ภายในนี้ได้ นี่คือพื้นฐานของการเรียนรู้ที่มีมิติภายใน อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของวัชรสิทธา จะทำให้เกิดการตระหนักรู้แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน เรื่องอะไรก็ตาม สามารถเอาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการภายในของผู้เรียนได้หมด เราไม่สามารถจัดพื้นที่การเรียนรู้ที่มีAgenda ล่วงหน้าได้ เราแค่คิดเค้าโครงบางอย่างได้ แต่ไม่สามารถคิดแทนทั้งหมดได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับผู้เรียน 

คนที่มาทำงานก็เหมือนกัน วัชรสิทธาเติบโตไปตามคนที่มาทำงานด้วย ตลอด 5 ปีมานี้ มีช่วงเวลาของคนทำงานแต่ละคนที่มาเป็นส่วนหนึ่งของวัชรสิทธา มี เชค กับ ฝน ในช่วงเริ่มต้น พอเริ่มเปิดรับสมัครคนทำงานก็มี แป้ง ขนุน เชษฐ์ ตอนเปิดรับนักศึกษาฝึกงานก็มี ต้น แรพเตอร์ ขนุน พลังงานของพื้นที่มันแปรเปลี่ยนไปตามบุคลากรด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีวิทยากรที่มาจัดกิจกรรม มีสมาชิกสังฆะ มีคนที่มารวมกลุ่มนั่ง มาร่วมเสวนา มาร่วมพิธีกรรมอะไรต่างๆ  ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวข้องหมดเลย

วัชรสิทธาคือพื้นที่ ในพื้นที่มีพลังงานสดใหม่ไหลเวียนอยู่ พลังงานนี้เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของวัชรสิทธาในแต่ละปีที่ไม่เหมือนกันเลย มันยังน่าตื่นเต้น น่าลุ้น น่าตื่นตาตื่นใจเสมอ ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในการเดินทางบทต่อไป