“เล่าจะนะ” ผ่านบทกวีของความตระหนักรู้

บทความโดย ดิเรก ชัยชนะ

ท่ามกลางความดีใจของคนกรุงเทพที่ได้ผู้ว่าฯ คนใหม่และมาจากการเลือกตั้ง ในกลุ่มกิจกรรม “เล่าจะนะ” ที่ชวนนักเขียนลงพื้นที่จะนะเพื่อรับฟังเรื่องเล่าการต่อสู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมของชาวชุมชนปากบาง มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งตั้งคำถามกับตัวแทนชุมชนว่า “หากแต่ละจังหวัดมีการเลือกผู้ว่าฯ กันเองจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาประเด็นจะนะได้หรือไม่”

ด้วยคำถามที่ชวนให้คิด ถึงการกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นนี้ ทำให้วงสนทนาตื่นตัวอีกครั้ง บางท่านก็พยักหน้าเห็นด้วยเพราะแทนที่จะขึ้นไปประท้วงที่กรุงเทพฯ ก็ไปเรียกร้องกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดแทน และการพัฒนาก็น่าจะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากกว่า แต่บางท่านก็ยังลังเลด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจบริหารท้องถิ่นอย่างแท้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากหลากหลายคำถามของกลุ่มนักเขียนที่มาจากหลากหลายวัยก็ได้ช่วยเปิดมุมมองที่ชุมชนมองข้าม ทั้งยังจุดประกายช่องทางการสื่อสารใหม่ๆเพื่อถ่ายทอดเรื่องเล่าจะนะสู่พื้นที่สาธารณะ ในขณะเดียวกัน นักเขียนเองก็ได้แรงบันดาลใจจากการไม่ยอมจำนนของเหล่า “นักรบผ้าถุง” (กลุ่มปกป้องจะนะแนวหน้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงที่เรียกกลุ่มตัวเองว่า นักรบผ้าถุง) สำหรับเป็นวัตถุดิบในสร้างสรรค์บทกวีเล่าเรื่องราวของจะนะ

ภาพ: รับฟังเรื่องเล่าการต่อสู้ของตัวแทนชุมชน (ภาพจาก ปุรณดา คชรัตน์)

การพัฒนาความตระหนักรู้ทางสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาความตระหนักรู้ทางสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายแนวคิด นักคิดบ้างกลุ่มเสนอว่าบุคคลจะมีความตระหนักรู้ทางสิ่งแวดล้อมเมื่อพวกเขามีความรู้มากเพียงพอ วิธีการของกลุ่มนี้จึงมุ่งเน้นที่การให้ความรู้ความเข้าใจ เช่น นิเวศวิทยา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หลัก 7R [1] หรือวิถีชีวิตแบบออแกนิค จากนั้นก็คาดการณ์ไว้ว่าวันหนึ่งเมื่อผู้คนมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอพวกเขาเหล่านั้นจะเกิดความตระหนักรู้ที่จะนำไปสู่การมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามนานวันเข้าผลไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมผ่านการศึกษาในระบบหรือผ่านสื่อต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม นักคิดบางกลุ่มเริ่มเห็นว่าความรู้ไม่ได้เป็นปัจจัยประการแรกในการสร้างความตระหนักรู้ และเสนอแนวคิดใหม่ที่ว่า ตัวแปรด้านอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่จะสร้างส่งผลต่อการพัฒนาความตระหนักรู้ และเมื่อเกิดความตระหนักแล้วบุคคลจะแสวงหาข้อมูลความรู้ต่อไปก่อนตัดสินใจลงมือปฏิบัติ วิธีการของกลุ่มนี้จึง มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบทางความรู้สึกและความผูกพันของผู้คนต่อธรรมชาติผ่านช่องทางสุนทรียภาพหรือกระบวนการทางศิลปะ รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีประสบการณ์ตรงในพื้นที่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตามกิจกรรมของกลุ่มนี้บ้างครั้งดูเหมือนว่ามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพมนุษย์หรือการรู้จักตนเองมากกว่าที่จะให้รู้จักสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงๆ ที่ยึดโยงอยู่กับปัญหาโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง

สำหรับกิจกรรม “เล่าจะนะ” ครั้งนี้เราใช้ช่องทางสุนทรียภาพในการพัฒนาความตระหนักรู้ทางสิ่งแวดล้อมให้ผู้เข้าร่วมและใช้บทกวีเป็นช่องทางสื่อสารสู่สาธารณะ

กิจกรรมเล่าจะนะเริ่มต้นด้วยการชวนกลุ่มนักเขียนลงชุมชนช่วงเช้าเพื่อฟังเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ[2] ที่ยึดโยงอยู่กับโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐและนายทุน

หลังจากนั้นในช่วงบ่ายปล่อยให้กลุ่มนักเขียนสัมผัสความงามของหาดสวนกงและเนินทราย (Sand Dunes) ที่เหลืออยู่ไม่กี่ที่ในประเทศไทย

ช่วงบ่ายจึงเป็นช่วงที่นักเขียนจะดื่มด่ำและกลั่นกรองแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากหัวใจของเหล่านักรบผ้าถุงหรือจากความงามธรรมชาติเพื่อสื่อสารออกมาเป็นบทกวี เพื่อนำมาอ่านบทกวีออกเสียงและรับฟังร่วมกันในช่วงสุดท้าย

ภาพ: เนินทราย (Sand Dunes) ของหาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา

บทกวีจากมุมมองทางนิเวศ

บทกวีเชิงนิเวศ (Ecopoetics)[3] เป็นรูปแบบการเขียนบทกวีนิพนธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จากความตระหนักรู้ทางนิเวศวิทยาและความวิตกกังวลต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม เป็นสหวิทยาการที่รวมการคิด การเขียน วิทยาศาสตร์ ทฤษฎี และการเน้นย้ำกลวิธีที่แตกต่างเพื่อเสนอความคิดผ่านบทกวี บทกวีเชิงนิเวศจึงต่างจากกวีนิพนธ์แนวธรรมชาตินิยม กล่าวได้ว่า บทกวีเชิงนิเวศ ผู้แต่งได้วางกรอบคิดไว้อย่างชัดเจนก่อนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสื่อสารระบบความสัมพันธ์อันซับซ้อนทางนิเวศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เรื่อง “โลกอย่างที่คงอยู่” ของ อุเทน มหามิตร[4] ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของบทกวีนิพนธ์แนว Ecopoetics ที่ผู้ประพันธ์ได้นำแนวคิดนิเวศวิทยา เช่น วัฏจักรของสสาร (Biogeochemical Cycle) ห่วงโซ่อาหาร และสายใยอาหารเป็นกรอบคิดการเขียนบทกวี สำหรับในกิจกรรม “เล่าจะนะ” บทกวีของ ชาคริต แก้วทันคำ ได้เขียนบทกวีชื่อว่า “คำพูดของชาวบ้านคือบทกวี” ที่มีริ้วรอยสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของเหล่านักรบผ้าถุง และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหากมีการสร้างนิคมฯ ไว้อย่างน่าฟังดังนี้

 

“พลิกเลนส์ในตาอคติ

ข้าคือนักอนุรักษ์

ไม่ใช่นักประท้วงลวงหลอก

มรสุมประหลาดก่อตัวบนบก

กวาดต้อนเม็ดทรายชายฝั่ง

หาดสวนกงอาจไม่หลงเหลือร่องรอยบนแผนที่

กลิ่นคาวเค็มอบอวลในอากาศ

มหาสมุทรแปลงร่าง

อนาคต อาณานิคมฯจริงหรือ

ต่อสู้ด้วยชุดข้อมูล

ละทิ้งอัตตาอารมย์รวดร้าว

คำพูดของชาวบ้านคือบทกวี”

ภาพ: หาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา (ภาพจาก ปุรณดา คชรัตน์)

บทกวีจากความฉับพลับ

ในอีกด้านหนึ่ง การเขียนบทกวีหรือกลอนสดอาจไม่จำเป็นต้องมีกรอบคิดใดล่วงหน้า การเขียนบทกวีเช่นนี้เน้นที่ความฉับพลันเพื่อสื่อสารประสบการณ์ขณะนั้นที่ผู้เขียนยอมเผยสภาวะจิตของตัวเองออกมา

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช[5] ธรรมาจารย์ชาวทิเบตผู้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการวางรากฐานของพุทธธรรมในโลกตะวันตก ท่านชื่นชมการแต่งบทกวีและแต่งกลอนสดอย่างมากและได้กล่าวถึงแนวทางการเขียนบทกวีแบบฉับพลันไว้ว่า…

“การเขียนบทกวีมันทำให้รู้สึกหวิวได้ เราไม่ควรจะขัดเขินกับการเปิดเผยสภาวะจิตใจของตนเอง แม้ว่ามันจะเป็นสภาวะที่อึดอัดคับข้องก็ตาม ความคุ้นชินของเรามักทำให้เราชอบหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่สบายใจ แต่การกระทำตรงนี้ประเด็นอยู่ที่ การแสดงความเป็นจริงในปัจจุบันขณะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงความปราดเปรื่อง”

ภาพ: บรรยากาศกิจกรรมเล่าจะนะ ณ หาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา (ภาพจาก ปุรณดา คชรัตน์)

ในกิจกรรมเล่าจะนะนักเขียนรุ่นใหม่ กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ ได้เขียนบทกวีร่วมสมัยไว้อย่างอิสระในชื่อว่า “ไม่มีบทกวี” และอ่านออกเสียงให้ทุกคนฟังดังนี้

“ไม่มีบทกวี

มีแต่งานพิธี

แซ่สรร

แด่ธรรมชาติ

ไม่มีบทกวี

มีแต่การร่ายรำ

แซ่สรร

แด่ผืนหญ้า

ไม่มีบทกวี

มีแต่เสียงแซ่ซ้อง

แซ่สรร

แด่นกไพร

ไม่มีบทกวี

มีแต่เสียงร้องไห้

ไห้เรา

ให้เขา

ให้ใคร

ไม่มีบทกวี

มีแต่ความเจริญ

ของเรา

ของเขา

ของใคร

ไม่มีบทกวี

แด่ที่แห่งนี้

แด่สะกอม

แด่จะนะ

หลังจากเสร็จกิจกรรมเล่าจะนะ กลุ่มนักรบผ้าถุงต้องเดินทางขึ้นไปกรุงเทพอีกครั้งทันที เพื่อไปรับฟังคำฟ้องร้องจากการถูกดำเนินคดีจากกรณีขึ้นไปเรียกร้องการปกป้องทรัพยากรบ้านเกิดของตัวเองเมื่อปีที่แล้ว

สำหรับชุมชนแล้วการมีกลุ่มคนเข้ามารับฟังเรื่องราว รับฟังเสียง และสื่อสารเรื่องราวการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ด้านหนึ่งคือกำลังใจ และอีกด้านคือการมีกลุ่มคนสนใจประเด็นจะนะเพิ่มมากขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วมตามศักยภาพของพวกเขา

สำหรับผู้ร่วมกิจกรรมนั่นคือประสบการณ์ตรงที่จะเข้าใจว่าปัญหาจะนะไม่ใช่เป็นปัญหามิติเดียว แต่ยึดโยงกับโครงสร้างอำนาจทางสังคมและการเมือง รวมถึง การตระหนักรู้ได้ว่าอาหารทะเลอันอุดม ชายหาดที่งดงาม อากาศที่บริสุทธ์ นั้นไม่ได้ลอยมาจากฟ้าและได้มาฟรีๆแต่มาจากกลุ่มคนที่กล้าหาญและไม่สยบยอมต่อความไม่เป็นธรรม และยอมแลกมาด้วยการถูกดำเนินคดี บทกวีอ่านออกเสียงบทสุดท้ายจึงเต็มไปด้วยความเคารพ ความตระหนักรู้ และความซาบซึ้งใจที่มอบให้แด่ “นักรบผ้าถุง”

“แด่นักรบผ้าถุง

ผู้ปกป้องผืนดินและอากาศ

ผู้ปกป้องทะเลและแหล่งน้ำ

ผู้ปกป้องชายหาดและต้นสน

ผู้ปกป้องสายลมและเนินทราย

ผู้ปกป้องแหล่งอาหารและปูลม

ท่ามกลางการทำลายล้าง

ท่านคือผู้พิทักษ์

ท่ามกลางความฉ้อฉล

ท่านคือผู้ทวงคืนความยุติธรรม

ท่ามกลางความสับสน

ท่านคือแรงบันดาลใจ

ท่ามกลางเหล่าเด็กๆ

ท่านคือแม่ผู้ประเสริฐ

สายฝนตกจากฟากฟ้า

เชื่อมโยงฟ้าและดิน

เหมือนพรจากพระเจ้า

แด่เหล่านักรบ

ข้าขอคารวะ

ด้วยหัวใจของมนุษย์”

ภาพ: แถลงการณ์กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ก่อนเดินทางไปรับฟังคดี (จากเพจ savechana)

อ้างอิง

[1] ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (2562) คู่มือกรีนดี รวมเรื่องราววิถีออร์แกนิกปรับชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพดีของเราทุกคน. หน้า 86-95

[2] จะนะ: จิตวิญญาณผู้พิทักษ์ธรรมชาติจากมุมมองศาสนา https://www.vajrasiddha.com/chana/

[3] https://www.poetryfoundation.org/learn/glossary-terms/ecopoetics

[4] อุเทน มหามิตร (2564). โลกอย่างที่เป็นอยู่. กรุงเทพใ เหล็กหมาดการพิมพ์

[5] ฟาบริซ มิดัล (2552). ชีวิตและญาณทัสนะของตรุงปะ คุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ. กรุงเทพ. สวนเงินมีมา. หน้า377