ติช นัท ฮันห์, ธรรมาจารย์เซนชาวเวียดนาม ละสังขารจากโลกนี้ไปในวัย 95

ทีมงานวัชรสิทธา

ธรรมาจารย์เซนขาวเวียดนาม ผู้นำทางจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นักเขียน กวี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ เสียชีวิตแล้ว ณ วัด ตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม – ซึ่งเป็นวัดที่ท่านบรรพชาอุปสมบท, ช่วงราวเที่ยงคืน ของวันที่ 22 มกราคม 2022 (เวลาเวียดนาม)

“อาจารย์ผู้เป็นที่รักของเราได้จากไปอย่างสงบแล้ว เราขอเชิญชวนให้ครอบครัวทางจิตวิญญาณทั่วทั้งโลกหยุดนิ่งภาวนาสักสองสามวินาที กลับมายังลมหายใจแห่งสติของเรา ขณะที่พวกเราทั้งหมดโอบอุ้มไถ่ไว้ในหัวใจด้วยสันติและความขอบคุณอย่างลึกซึ้งถึงทั้งหมดที่ท่านได้มอบให้แก่โลกนี้” สังฆะหมู่บ้านพลัมกล่าวในแถลงการณ์

ติช นัท ฮันห์ หรือ “ไถ่” เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ศรัทธาชาวพุทธทั่วโลก กล่าวกันว่าท่านเป็นหนึ่งในธรรมาจารย์ที่มีอิทธิพลสูงสุดในโลก รองจากองค์ทะไลลามะ ติช นัท ฮันห์ ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากการสื่อสารให้ผู้คนทั้งโลกเห็นถึงความสำคัญของคำว่า “สติ” (mindfulness) ในชีวิตประจำวัน ท่านยังเป็นผู้ขับเคลื่อนแนวทางการปฏิบัติพุทธศาสนาที่ไม่แยกขาดจากการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (engaged Buddhism) และถือเป็นธรรมาจารย์ที่มีอิทธิพลสูงสุดท่านหนึ่งต่อการเติบโตงอกงามของพุทธศาสนาในโลกตะวันตก

หัวใจคำสอนของติช นัท ฮันห์ คือ การเน้นย้ำถึง “ปฏิจจสมุปบาท” (dependent origination) หรือตามคำที่ท่านเรียกคือ “Interbeing” ท่านมองคำสอนดังกล่าวเป็นหัวใจของการฝึกปฏิบัติพุทธศาสนาทุกสาย เหมือนเส้นด้ายที่ถักร้อยทุกสายปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันอย่างไม่แบ่งแยก

ในหนังสือเล่มหนึ่งของท่าน ที่ชื่อ At Home in the World ตีพิมพ์ในปี 2016 ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวถึงความตายของท่านที่จะต้องมาถึงในวันหนึ่ง ดังนี้

“ร่างกายนี้ของฉันจะสูญสลายไป แต่การกระทำต่างๆ ของฉันจะยังคงอยู่

หากเธอคิดว่าฉันเป็นแค่กายนี้ เธอก็ไม่ได้มองเห็นฉันอย่างแท้จริง

เมื่อเธอมองไปยังกัลยาณมิตรของฉัน เธอจะเห็นความสืบเนื่อง

เมื่อเธอมองไปยังใครบางคนที่กำลังเดินด้วยสติและกรุณา เธอจะรู้ว่าเขาหรือเธอคือความสืบเนื่องของฉัน

ฉันไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องบอกว่า “ฉันจะตาย” เพราะฉันได้มองเห็นฉันเองในตัวพวกเธอทุกคน ในผู้คนทั่วทั้งโลก และในคนรุ่นหลังแล้ว”

“แม้เมื่อเมฆไม่ได้อยู่ที่นั่น มันจะยังคงอยู่ในหิมะหรือสายฝน

เป็นไปไม่ได้หรอกที่เมฆจะตาย

มันจะกลายเป็นหยาดฝน หรือก้อนน้ำแข็ง

แต่มันจะไม่กลายกลายเป็นความสูญเปล่า

เมฆไม่จำเป็นต้องมีดวงจิตเพื่อสืบต่อ

ไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดจบ

…ฉันจะไม่มีวันตาย

ร่างกายนี้อาจสูญสลาย แต่นั่นไม่ได้หมายถึงความตายของฉัน

ฉัน จะยังคงดำเนินสืบต่อไป, เสมอ…”

ติช นัท ฮันห์,

แปลจากข้อความในหนังสือ At Home in the World โดย วจ

ประวัติโดยย่อของธรรมาจารย์ติช นัท ฮันห์

หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้นำเสนอความคิด พุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรม เป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิธีชีวิตยุคปัจจุบันได้ (Engage Buddhism) 

ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระอาจารย์เซน พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายานผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา เป็นกวี นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ กำเนิดเมื่อปี พ.ศ.2469 (ค.ศ.1926)  ในจังหวัดกวางสี ภาคกลางของเวียดนาม มีนามเดิมว่า เหงวียน ซวน เป๋า (Nguyễn Xuân Bảo) ส่วน “ ติช นัท ฮันห์ ” ที่ถูกต้องออกเสียงว่า ทิจ ญัด หัญ

Thich Nhat Hanh  เป็นนามทางธรรมที่ได้รับหลังการบวช

ติช : Thich ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา

นัท ฮันห์ : Nhat Hanh  เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า การกระทำเพียงหนึ่งเดียว (One Action) ซึ่งก็คือการเจริญสติ

ไถ่ : Thay เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า อาจารย์ ซึ่งศิษย์ต่างชาตินิยมเรียกท่านเช่นนั้น แต่ ศิษย์ชาวเวียดนามจะเรียกท่านว่า  ซือองม์ : Su Ong ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า หลวงปู่

ประวัติชีวิตนักบวชโดยย่อ


ปี พ.ศ.2485 (ค.ศ.1938) บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu Temple (Tu Hieu)) เมืองเว้ ท่านได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช

ปี พ.ศ.2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น

ปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปศึกษายังประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม โดยก่อตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม เยียวยาความเสียหายจากสงคราม และพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอน และนำเสนอข้อเขียนต่อสถาบันพุทธศาสนาชั้นสูงด้วยคติว่า การกระทำและปัญญา ต้องไปด้วยกัน  (Tiep Hien)  หรือ คณะดั่งกันและกัน (The Order of Interbeing) โดยปฏิบัติตามสิกขาบท 14 ประการ ซึ่งเลือกเฟ้นมาจากแก่นคำสอนในพระพุทธศาสนา

รณรงค์เพื่อสันติภาพ

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม และท่านตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อสันติภาพโดยรณรงค์ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ รณรงค์ให้หยุดการสนับสนุนสงความโดยเฉพาะการแทรกแซงของสหรัฐฯ มุ่งเน้นสันติภาพ โดยปลูกจิตสำนึกผู้คนทั่วโลก จนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King , Jr) เสนอชื่อ  ติช นัท ฮันห์ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ  ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเวียดนามจึงปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน แม้ว่าภายหลังจะมีการรวมประเทศก็ตาม

เมื่อเวียดนามปฏิเสธการกลับเข้าประเทศ ท่านจึงต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมนอกเมืองปารีสเพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชสมุนไพร ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงานเพื่อสันติภาพ และเพื่อผู้ลี้ภัยอย่างสม่ำเสมอ การได้ร่วมทุกข์กับเพื่อนผู้ลี้ภัย ทำให้ท่านพบเห็นชะตากรรมของผู้ตกทุกข์ได้ยากมากมาย และมีวิธีการช่วยเหลือได้หลายช่องทาง หลายวิธีการ

กำเนิดหมู่บ้านพลัม

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง “สังฆะ” ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2518 ชื่อว่า อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า หมู่บ้านพลัม  (Plum Village)  ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้

ปัจจุบัน มีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก

วิถีการปฏิบัติที่ไม่แยกขาดจากสังคม

ชุมชนการปฏิบัติธรรมแต่ละแห่ง มีวิถีการฝึกปฏิบัติเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม และดำเนินชีวิตในวิถีที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติ งดนมและผลิตภัณฑ์จากนม งดบริโภคไข่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดมลภาวะต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งยังมีการฝึกปฏิบัติ  ‘วันงดใช้รถ’  หรือ Car Free Day เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ การฝึกปฏิบัติเช่นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วไป เพื่อช่วยกันเยียวยาโลกที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความรุนแรงในสังคม โดยเริ่มจากการฝึกสติตระหนักรู้ มีสันติในตนเอง ผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ผ่านการกระทำในชีวิตประจำวัน

(อ้างอิงประวัติ จาก เว็บไซต์ thaiplumvillage.org)