ไม่ใช่ “โลกสวย” แต่คือ “แสงสว่างความรัก” ท่ามกลางความหดหู่สิ้นหวังในโลก – แด่ ติช นัท ฮันห์

บทความโดย พรทิภา จันทรพราม


อย่างที่ทุกท่านทราบกันดี เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2565 หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ดังนั้นในช่วงของการพูดคุยของสังฆะปฏิบัติสัปดาห์นี้ พี่น้อง อุษณี มีแรงบันดาลใจที่จะแสดง Gratitude ต่อท่านติช นัท ฮันห์  ผ่านการแชร์ประสบการณ์และความประทับใจที่ได้ฟังคำสอนจากกิจกรรมมกลุ่มเมื่อครั้งที่ได้ไปฝึกปฏิบัติที่หมู่บ้านพลัม  เป็นคำสอนเกี่ยวกับ “เมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ คือ ในชามมีทั้งเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ (เมล็ดที่แคระแกร็น) เมล็ดทั้ง 2 แบบเมื่อหุงออกมากลับเป็นข้าวสวยหอมกรุ่นในชาม

พี่น้องเล่าว่าคำสอนนั้นได้ช่วยปลดล็อคความคิดว่า “ตัวเองไม่ดีพอ และไม่เคยยินดีและชื่นชมความดีงามในตัวเองเลย ” คำสอนนั้นทำให้พี่น้อง อุษณี สามารถกลับมาเห็นตัวเอง และเริ่มชื่นชมความดีงามบางอย่างในตัวเอง ทั้งหมดที่นำพาเรามาถึงจุดนั้นในวันนั้น และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เดินทางต่อในสายปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันห์ แต่สิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของพี่น้อง จนเมื่อกระทั่งเวลาผ่านไปที่พี่น้องได้มีโอกาสกลับมาอ่านหนังสือของท่านที่ชื่อ “Understanding Our Mind” อีกครั้ง

ในหนังสือเล่มนั้น ท่านติช นัท ฮันห์ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องรดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่เป็นบวก (Positive Seed) เพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นเราจริงๆ เป็นความดีงามพื้นฐาน, เป็น 95% ของเรา, เป็นสิ่งที่เป็นจิตเดิมแท้ จิตประภัสสรของเรา พี่น้องย้ำว่า การรดน้ำเมล็ดพันธุ์บวก ไม่ใช่การมองโลกในแง่บวก คือเราไม่ได้ “เพิ่ม” อะไรลงไป สิ่งเดียวที่เราทำคือเรารดน้ำเมล็ดพันธุ์บวก เพราะมันคือเราเช่นกัน “ที่คำสอนนี้มีพลังกับเรา เพราะโดยปกติเรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการทำงานกับเมล็ดพันธุ์ลบ ไม่เคยคิดว่าต้องรดน้ำเมล็ดพันธุ์บวกด้วย  เราคิดว่าถ้าเราเข้าใจเมล็ดพันธุ์ลบดีแล้ว ทุกอย่างจะคลี่คลาย”

พี่น้องเล่าต่อว่าจากคำสอนนี้เมื่อประกอบกับสิ่งที่ได้ไปเรียนกับ Victoria ในคอร์ส Life Mission ก็ยิ่งยืนยันว่ามันคือสิ่งเดียวกัน

“ด้วยการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่เป็นบวก (Positive Seed)  สิ่งที่เรามองเห็นมาตลอดว่าเป็นด้านที่ไม่ดีของเรา เราจะเริ่มมองเห็นว่าอีกด้านหนึ่งมันคือพลัง คือสิ่งที่มาทำให้เราเรียนรู้ ไม่ได้มาทำให้เรารู้สึกด้อย ไม่ได้มาเป็นอุปสรรคกับเรา แต่มันเข้ามาในชีวิตแล้วเราก็เรียนรู้มัน เราพบว่าข้อจำกัดของเรากับพลังของเรา แท้จริงแล้วคือสิ่งเดียวกัน” 

“เมื่อเราเริ่มมองเห็นแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้คน เหตุการณ์หรืออะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วทำให้เรารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ เราจะเริ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาให้เราได้เรียนรู้อีกด้านของชีวิต และมันมีความงามเสมอ แล้วพอเริ่มเห็นทั้งสองด้าน การที่จะไปผูกติดว่าเราต้องการความดี ไม่ต้องการความเลว เราต้องการความงาม ไม่ต้องการความน่าเกลียด เราต้องการความสว่าง ไม่ต้องการความมืด ท่าทีเหล่านี้ของเราก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ เราจะเริ่มเห็นความเป็นสองด้านในทุกๆ สิ่ง เห็นความงามในความไม่งาม เห็นทุกอย่างได้ตามความเป็นจริง เมื่อเราเปิดใจกับสถานการณ์ตรงหน้า เปิดใจกับคนตรงหน้า เราให้ความเคารพกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องเอาตัวเองออกไป เอาตัวตนของเราออกไปก่อน”

            


จากนั้นครูตั้ม วิจักขณ์ พานิช ได้เสริมต่อว่า มีสิ่งหนึ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดว่าคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์  เป็นคำสอนแนวโลกสวย แต่สำหรับคนที่สนใจประวัติชีวิตของท่านติช นัท ฮันห์ จะรู้ว่าในความอ่อนนุ่มทั้งหมด มีความแตกสลายของความทุกข์ความเจ็บปวด

มีช่วงหนึ่งในชีวิตท่านติช นัท ฮันห์ ที่ท่านต้องต่อสู้ความขัดแย้งของเพื่อนร่วมชาติ (ซึ่งอาจจะเอาเข้ามาผสานกับที่เจออยู่ในประเทศเราได้เช่นกัน) การที่คนในชาติแตกแยกกัน เกลียดกัน ฆ่ากัน มีสงครามกลางเมือง ทางด้านผู้ปฏิบัติที่ต้องการต่อสู้เพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมถูกมองว่าเป็นภัยของชาติ คนเหล่านั้นถูกจับ ถูกห้ามภาวนา ห้ามปฏิบัติพิธีกรรม มีหลายๆ อย่างที่ท่านติช นัท ฮันห์  ถูกขับเคลื่อนด้วยความแตกสลายหรือความเจ็บปวดอย่างรุนแรงจากประสบการณ์ที่ท่านประสบพบเจอในช่วงนั้น และครูตั้มเชื่อว่า นั่นเองที่ทำให้คำสอนเรื่องความรักและความกรุณาอันไม่มีเงื่อนไข คือ Life Mission ของท่านติช นัท ฮันห์ 

หลังจากที่สงครามซาลง ท่านติช นัท ฮันห์ เลือกที่จะไปตั้งชุมชน Plum Village ที่ประเทศฝรั่งเศส และพบว่าคนกลุ่มใหญ่มากที่มาหาท่านติช นัท ฮันห์  ที่ Plum Village เป็นคนที่ Traumatize (เกิดบาดแผลทางใจ) จากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สงครามเวียดนาม และอีกหลายๆสงคราม คนเหล่านั้นมาที่ Plum Village เพื่อเยียวยาทรอม่าจากสงคราม เยียวยาตัวเองจากความโกรธแค้นและความเกลียดชัง ซึ่งนี่มันไม่ใช่แค่ความเกลียดชังในระดับปัจเจก แต่ว่ามันเป็น Deep Trauma, Deep Sorrow, Deep Anger ที่มาจากการที่เค้ารู้สึกไม่มีหวังต่อมนุษยชาติ รู้สึกว่าเค้าเป็นเหยื่อของความรุนแรงระดับใหญ่มากของโลกใบนี้ ฉะนั้นการเกิดขึ้นของ Plum Village และคำสอนหลายๆ อย่างของท่านติช นัท ฮันห์ ที่เน้นย้ำเรื่องความรัก สันติภาพ และสติ ทั้งหมดคือการเยียวยาทรอม่า ความทรงพลังของคำสอนนี้คือ การแปรเปลี่ยนความเกลียดชังให้กลายเป็นความรักและการให้อภัย

“เห็นได้ชัดว่าเวลาที่เราอยู่ในความดำมืด สิ้นหวัง ความโกรธเกลียด การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่เป็นบวก (Positive Seed) ทีละนิดๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การฝึกที่จะขอบคุณ, ขอโทษ, ฝึก Gratitude, การฝึกปฏิบัติเล็กๆ ในชุมชนที่เรารู้สึกชื่นชมขอบคุณสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน มันเยียวยา ฟื้นฟูหัวใจความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เป็นมิชชันที่ใหญ่มากของ Plum Village มันไม่ใช่แค่การรวมตัวกันของคนชั้นกลางโลกสวยแบบที่เราเข้าใจกัน การฝึกสติในแต่ละย่างก้าวของท่านติช นัท ฮันห์  คือการทำงานกับความสิ้นหวัง ทำงานกับบาดแผลของความรุนแรง คำสอนของท่านทำงานกับ Sorrow ของโลกใบนี้ …การบ่มเพาะพลังแห่งความรักความกรุณาและรดน้ำให้หัวใจความเป็นมนุษย์ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง คือพันธกิจชีวิตของท่าน”

                  

คำสอนที่สำคัญของท่านติช นัท ฮันห์ อีกอันหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือคำสอนเรื่อง Interbeing ซึ่งเป็นการถอดคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท มาสื่อสารในอีกรูปแบบหนึ่ง “สิ่งต่างๆ นั้นเอื้ออิงอาศัยกัน เชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตน ไม่มีสิ่งใดที่จะดำรงอยู่เดี่ยวๆ ด้วยตัวมันเองได้ ไม่มีตัวตนที่แยกขาดจากสิ่งอื่น”   
            
ตะกี๊ตอนที่พี่น้อง อุษณี อธิบายว่าในการภาวนา “เราต้องเอาตัวเองออกไป เอาตัวตนออกไป” เมื่อเราเอาตัวตนออกไปแล้ว เราจะพบกับสภาวะ Interbeing อันนี้ เราเป็นส่วนหนึ่งในส่วนอื่นๆ ทั้งหมด เราเป็นเมล็ดข้าวเล็กๆในข้าวถ้วยนั้น เราเป็นพลังงานเล็กๆ ในพลังงานของสังฆะ เราเป็นจุดเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราเป็นจุดเล็กๆ ในการสร้างแสงสว่างให้แก่โลกใบนี้ในยามมืดมน แต่มากไปกว่านั้น Interbeing ของท่านติช นัท ฮันห์ บ่งบอกว่า “ความเป็นเราอยู่ในตัวคนอื่นๆ ทั้งหมดเลย” และ “คนอื่นๆ ทั้งหมดก็อยู่ในเราด้วย”  สิ่งที่เราเป็นหนทางที่เราสัมพันธ์กับคนอื่น สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ บนพื้นฐานของใจที่ตื่นรู้และเปิดกว้างแบบมหายาน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น ปัจเจกนิยมแบบที่เราเคยเข้าใจ ทว่าทุกสิ่งเชื่อมต่อ เอื้ออิงอาศัยกันหมด ความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ของเราก็อยู่ในตัวเรา ความเป็นเราก็อยู่ในตัวพวกเขา ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์เกิดขึ้น มันเกิดการแลกเปลี่ยนของ Being และกลายเป็น Interbeing อยู่ตลอดเวลา ทุกวันในชีวิตประจำวัน เราล้างชาม เราทำความสะอาดบ้าน เราคุยกับเพื่อนบ้าน ทุกอย่างคือการไหลเลื่อน เปลี่ยนแปลง และเติบโตของ Interbeing

“ถ้าเราเข้าใจเรื่องการเอาตัวตนออกไป ภาวะของ Interbeing นี่แหละคือสิ่งที่เป็นความงามของโลกนี้ แล้วมันก็คือศักยภาพของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในแต่ละขณะตลอดเวลา

ท่านติช นัท ฮันห์ ได้พูดเรื่องการตายว่า “A Cloud Never Dies” (ก้อนเมฆไม่มีวันตาย) เราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าก้อนเมฆตายแล้ว ถ้าเราเข้าใจความไม่มีตัวตน เราจะเข้าใจว่าเราจะไม่สามารถบอกได้ว่าคนนี้ตาย เพราะคนนี้ก็จะยังดำรงอยู่ในตัวเรา ยังอยู่ในใจเรา การกระทำของเค้าจะยังอยู่ในผู้คน เหมือนที่ก้อนเมฆที่ยังอยู่ในน้ำ อยู่ในต้นไม้ อยู่ในสายธาร อยู่ในมหาสมุทร

“ถ้าเปรียบท่านติช นัท ฮันห์ เป็นเหมือนก้อนเมฆ แม้เมฆก้อนนี้จะหายไป ทว่าความดีงาม สิ่งที่ท่านสร้างไว้ในโลกนี้ Life Mission ของท่าน ทุกอย่างที่ท่านทำไว้ หนังสือที่ท่านเขียน คำสอนของท่านที่อยู่ใน youtube ต่างๆ ก็ยังคงอยู่ มันยังคงดำเนินต่อไปในหัวใจที่มีเจตจำนงในการปฏิบัติตามคำสอนของท่าน สิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่ เราโชคดีมากที่ได้เกิดมาในยุคสมัยของครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ มหัศจรรย์มากคนหนึ่ง ซึ่งผมก็อยากจะแสดง Gratitude อย่างสุดซึ้งต่อท่านติช นัท ฮันห์ ในวันนี้ด้วย”

จากนั้นพี่น้อง อุษณี ก็เปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกสังฆะท่านอื่นได้แสดง Gratitude ต่อท่านติช นัท ฮันห์ กันต่อ บรรยากาศในค่ำคืนนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่น และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความรัก ความเคารพรัก และขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่แต่ละท่านมีต่อท่านติช นัท ฮันห์



ถอดความและเรียบเรียง โดย พรทิภา จันทรพราม
จากสังฆะปฏิบัติ วันอังคารที่ 25 มกราคม 2565