“Tradition” : กรงขัง หรือ ภาชนะที่โอบอุ้มให้จิตวิญญาณเป็นอิสระ

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

วันก่อนได้มีโอกาสคุยกับ อ.อัน อันธิฌา แสงชัย บทสนทนาพาไปถึงเรื่องพิธีกรรม ศาสนา ว่า “ในยุคนี้คนรุ่นใหม่ไม่ซื้อแล้วกับอะไรที่เป็น tradition” อ.อันหัวเราะ และเสริมว่า “ไม่ใช่แค่ไม่เอา tradition คนถอยตั้งแต่คำว่าศาสนาแล้ว” พอเป็นอะไรที่ว่าด้วยศาสนา ผู้คนในยุคนี้ก็ปฏิเสธตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว

ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล เต็มไปด้วยทางเลือก เต็มไปด้วยความเป็นไปได้มากมายที่เราสามารถเอื้อมคว้า การถือสิทธิแห่งการ “เลือก” ไว้ในมือ เป็นอำนาจที่เราต้องมีไว้ เช่น เลือกจะเรียนนู่นเรียนนี่เยอะๆ เพื่อมาขยายตัวเองให้กว้างขึ้น เลือกที่จะไม่เอาหรือไม่รับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เลือกได้ว่าจะเรียนที่ไหน กับใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นแค่อันนี้อันเดียว เหมือนเลือกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ “กิ๊ก” “คนคุย” ไม่ต้องคบหาจริงจัง จะได้เปิดโอกาสตัวเองกับคนอื่นๆ ด้วย (สำหรับใครที่ไม่เข้าใจ “คนคุย” คือสถานะยอดนิยมในปัจจุบัน ลักษณะเหมือนคบหากัน แต่ไม่ตกลงที่จะเป็นสถานะคบหากันจริงๆ) 

ศาสนาก็เช่นกัน เชื่อเลยว่าหากถามว่า “นับถือศาสนาอะไร?” จะต้องได้ยินคำตอบส่วนใหญ่ว่า  “เราไม่นับถือศาสนา แต่เราก็ไม่ใช่ไม่เอานะ แค่ไม่ได้นับตัวเองว่านับถืออันนี้เท่านั้น” เดี๋ยวนี้การสังกัดกับความเชื่อหรือวิถีอันใดอันหนึ่ง มันดูไม่คูลแล้ว เราต้องไม่ผูกมัดกับอะไรแค่อย่างเดียว

เราพยายามรักษาสิทธิในการเลือก ไม่ผูกมัดตัวเองกับอะไร ด้วยเหตุผลว่าเราต้องการเป็นอิสระจากการยึดถือสิ่งเหล่านั้น เมื่อไรก็ตามที่เกิด commitment นั่นคือเราสูญสิ้นอิสรภาพในทันที 

จริงหรือ?

tradition คือ กรงขัง หรือภาชนะที่โอบอุ้มจิตวิญญาณให้เป็นอิสระกันแน่?

Spiritual Journey

ในเส้นทางจิตวิญญาณที่ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากความทุกข์ ความสนใจ ความรัก ความสูญเสีย ความศรัทธา ทั้งหมดล้วนมุ่งหน้าสู่การเข้าถึงภาวะความจริงสูงสุด ไม่ว่าจะด้วยคำเรียกไหน ที่ตรงนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นดินแดนที่ไร้เงื่อนไข ไร้การแบ่งขั้ว ไร้คำตัดสินและคำนิยาม ที่ที่เราจะเป็นอิสระจากทุกสิ่ง

การเดินทางเติบโตภายในนี้ เราจะต้องผ่านสภาวะต่างๆ ของตัวเอง ต้องสัมพันธ์กับทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน ต้องพังทลายและเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ปอกลอกตัวตนเก่าออกไปเรื่อยๆ กระทั่งค่อยๆ สัมผัสได้ถึงความจริงแท้บางอย่างที่อยู่ภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับโลกสากลอันกว้างใหญ่ เป็นสภาวะหนึ่งเดียวที่ไม่แยกขาดกับสรรพสิ่ง

และสิ่งที่จะพาเราเดินทางอันโบราณกาลที่มีมาเป็นพันๆ ปี ก็คือศาสนายังไงล่ะ องค์ประกอบหลักของศาสนาล้วนคือการนำพาผู้คนสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณ เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด หลอมรวมเป็นหนึ่ง กับพระผู้เป็นเจ้า พระเยซู พระอัลเลาะห์ ตรัสรู้ หรือสู่ดินแดนบริสุทธิ์แห่งทวยเทพ ทั้งหมดคือการได้เป็นหนึ่งกับ absolute truth นั่นเอง ไม่ว่าจะส่วนของหลักการความเชื่อ คำสอน การปฏิบัติ การบูชาและพิธีกรรม ทั้งหมดที่มีก็เพื่อเป็นประตูสู่การสัมพันธ์กับมิติแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในความจริงสูงสุดนั้น

แต่อย่างที่รู้กันว่าในโลกสมัยใหม่นี้  แพ็กเกจศาสนาเหล่านี้แทบไม่มีใครซื้อหรือกด subscribe แล้ว การที่จะเลือกเชื่อ เลือกศรัทธานับถือแค่อันนี้ และสมาทานอยู่ใน tradition นี้ เท่ากับว่าเราไม่มีอิสระ เราเชื่อว่าเมื่อ commit กับอันนี้แล้ว เราก็จะถูกตีกรอบ ต้องสยบยอม ต้องเชื่อง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้ในยุคทุนนิยม คนเลือกที่จะไม่นับถือศาสนา ด้วยแนวคิดที่ว่า “มากกว่า = ดีกว่า” หรือ “มีตัวเลือก = อิสระ” ซึ่งแทรกอยู่ในทุกๆ มิติชีวิตไปแล้ว 

นอกเหนือจากการผูกมัด อีกปัจจัยหนึ่งก็คือมุมมองที่ว่าศาสนา พิธีกรรม ขนบธรรมเนียมเป็นของเก่าคร่ำครึ เป็นภาษาที่เราไม่ใช้แล้ว บริบทมันเปลี่ยนไปจนมันไม่ฟังก์ชั่นอีกต่อไปแล้ว แถมยังพ่วงมากับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ อำนาจที่กำหนดถูกผิด เมื่อเราเข้าไปสัมพันธ์ด้วย ทำผิดก็บาปอีก นั่นคือแนวคิดและท่าทีที่เป็นมาตลอด แต่หากได้ถอดรื้อเรื่องอำนาจ วาทกรรมความเชื่อแบบเก่าๆ ที่มีต่อพิธีกรรม แล้วลองมาทำความรู้จักใหม่ ก็อาจพบว่าหลายสิ่งที่อยู่ใน tradition มีพลังเกื้อหนุนการเดินบนเส้นทางจิตวิญญาณมากทีเดียว

พิธีกรรม: เชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงจากตัวเรา

อ.ตุล คมกฤช เป็นผู้นำพาผู้คนให้ได้ไปสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกกันว่า พิธีกรรม การบูชา และ tradition ด้วยท่าทีใหม่ เริ่มต้นจากการที่เราเรียกอำนาจกลับมาที่ตัวเอง แทนที่เราจะเชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านตัวกลาง เช่น พระ วัด หรือพิธีกรรมต่างๆ ที่มีอำนาจเหนือในการกำหนดว่า เธอต้องทำอย่างนี้ๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่สิ่งที่ อ.ตุลทำ คือพาให้เราได้เข้าไปมีความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยตรง ด้วยการใช้พิธีกรรมเป็นเครื่องมือ 

ประสบการณ์ช่างแตกต่างมากในความรู้สึก เมื่อเราเป็นผู้ได้เชื่อมโยงเอง ด้วยภาษาของประสบการณ์เราเอง แล้วใช้พิธีกรรมเป็นเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ออกแบบมาไว้เรียบร้อยแล้ว การทำพิธีหรือการบูชากลายเป็นสิ่งที่เติมเต็มความรู้สึกในทางจิตวิญญาณ เรากำลังได้เชื่อมต่อกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่และดีงามอยู่ เราได้มอบถวายและได้รับ ด้วยตัวเราเอง และจากสิทธิอำนาจของตัวเอง อ.ตุลพูดเสมอว่าพิธีกรรมต่างๆ นั้นล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหากเรามีความศักดิ์สิทธิ์ใดที่เราอยากสัมพันธ์ด้วย เราสร้างพิธีเองเลยก็ยังได้

อ.อันก็กล่าวเช่นนี้เหมือนกัน ในพื้นที่ของแม่มดที่เชื่อมต่อกับพลังงานของจักรวาลโดยตรง การสร้างพิธีกรรมเองเป็นเรื่องที่ทำกันโดยทั่วไปมาก แบบแผนที่มีมาก่อนก็เกิดจากปัญญาญาณที่รับรู้ได้ถึงชุดภาษาบางอย่างที่เป็นสากลและสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ทั้งจักรวาล รูปแบบไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้นต่างหาก

การทำสิ่งเหล่านั้นเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและโลกศักดิ์สิทธิ์ บางทีเราเห็นศาลเจ้า เห็น shrine เห็นรูปเคารพแต่ไม่รู้จะไปสัมพันธ์กับเขายังไง เราก็สามารถนำขนบพิธีที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นวิธีการง่ายๆ  เริ่มต้นจากการยกมือไหว้ จุดธูป ถวายบูชา โดยทำด้วยเจตจำนงที่จะเข้าหานอบน้อมของเรา แค่นี้ตัวเราและโลกศักดิ์สิทธิ์ก็เข้าใกล้กันมากขึ้น และหากทำอย่างสม่ำเสมอ สายสัมพันธ์ก็จะยิ่งแน่นแฟ้น เราก็จะมีวินัยในการสร้างสัมพันธ์ที่จะพาจิตวิญญาณเข้าใกล้ความศักดิ์สิทธิ์ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเรายิ่งๆ ขึ้น

Tradition กรงเก่าแก่ขึ้นสนิม?

พอพูดถึง Tradition เราอาจนึกถึงบรรยากาศจริงจัง นักบวชหน้าตาเคร่งขรึม ทำอะไรต้องเป๊ะๆๆ ตามขนบที่สืบกันมา รูปเคารพ รวมถึงพิธีกรรม และหลายอย่างเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไปด้วยกันไม่ได้กับโลกยุคใหม่แล้ว เพราะมันมาขัดขวางการมีอิสรภาพที่จะทำอะไรก็ได้

เช่นเดียวกัน เราลองย้อนกลับไปดูฟังก์ชั่นที่แท้จริงของสิ่งที่เป็น Tradition ที่อยู่ในตัวศาสนา ว่ามันมีหน้าที่อย่างไรในการช่วยให้ผู้ปฏิบัติเดินบนเส้นทางจิตวิญญาณ 

อย่างที่เรารู้กันดีว่าเส้นทางจิตวิญญาณไม่ใช่ทางที่ง่ายเลย ถ้าคุณไปปฏิบัติธรรมแล้วพบความสงบสุข ขอบอกว่านั่นเป็นแค่เสี้ยวส่วนเล็กๆ ที่เหมือนได้หยุดจากความยุ่งเหยิงของชีวิตชั่วคราว ทว่าจริงๆ แล้วการเดินบนเส้นทางนี้คือการทำงานกับอัตตาตัวตน ทำงานกับจิตสังสารวัฏที่ทำให้เราวนว่ายอยู่ในโลกนี้ไม่จบไม่สิ้น เดินทางเพื่อไปถึงเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณ เป็นอิสระ ตื่นรู้ ไม่แยกขาดกับโลกศักดิ์สิทธิ์

ความยากของการเดินทางนี้คือทุกอย่าง! ทั้งการฝึกปฏิบัติ ฝึกที่จะเท่าทันอัตตาตัวตน ฝึกอยู่กับความว่าง ฝึกสัมพันธ์กับผู้คน กับสถานการณ์อย่างที่เป็นด้วยความรัก ความกรุณา เชื่อมต่อกับความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องใช้ทั้งความตั้งใจ ความมีวินัย และการผูกมัดต่อการเลือกที่จะเดินเส้นทางนี้ ดังนั้นการจะเดินทางนี้ตัวคนเดียวเปล่าๆ จะต้องมีความมีวินัยขั้นสุด แต่ถ้าหากเราเดินแบบมีเพื่อน มีชุมชน หรืออย่างน้อยมีทางเดินที่พอให้เราสามารถคลำทางไปได้ก็คงช่วยให้ไปได้ไกลขึ้น

สิ่งนั้นเองที่ศาสนาให้เรา การเข้าสังกัดกับศาสนาคือเราเลือกที่จะเดินบนเส้นทางจิตวิญญาณโดยที่มีไกด์นำทางเป็นคำสอน มีพิธีกรรมที่เข้าสัมพันธ์กับความศักดิ์สิทธิ์ และมีชุมชนที่เป็นการ “เดินบนเส้นทางของตนไปด้วยกัน” Tradition จะคอยโอบอุ้ม เกื้อหนุน ส่องสะท้อนกันและกัน และเป็นภาชนะที่ปลอดภัยและเปิดกว้างให้เราได้มีประสบการณ์ตรงต่อการเข้าถึงความจริงสูงสุด นี่คือฟังก์ชันของศาสนาในฐานะพื้นที่การทำงานทางจิตวิญญาณในสังคมมนุษย์ ลองดูองค์ประกอบของแต่ละศาสนาเราจะพบสิ่งเหล่านี้เป็นจุดร่วม รวมไปถึงศาสนากระแสรองทั้งหลายก็มีด้วยเช่นกัน

จุดเริ่มต้นเส้นทางจิตวิญญาณที่แสนยากลำบากจึงจำเป็นจะต้องสร้างข้อตกลง การยืนยันอะไรบางอย่างว่าโอเค เราจะเดินบนเส้นทางนี้โดยไม่หนีไปไหน ซึ่งแท้จริงแล้วเราไม่ได้กำลังตกลงกับตัวศาสนา แต่เป็นการสร้างคำมั่นให้กับตัวเอง บอกกับตัวเอง และมีตัวเองนี่แหละเป็นผู้เดินทาง ศาสนาหรือสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอกเป็นดั่งถนนที่เราเลือกใช้เพื่อมุ่งหน้าสู่ปลายทาง ฉันใช้ถนนคริสต์ ฉันใช้ถนนพุทธ ฉันใช้ถนนแม่มด ฉันใช้ถนนพราหมณ์ ถนนแต่ละสาย ต่างภาษา ต่างวิธีการ ทว่ามุ่งสู่ที่หมายเดียวกัน อย่างที่คนมาเรียนคอร์สต่างๆ ในวัชรสิทธาจะชอบบอกว่า ทุกคอร์สกำลังพูดเรื่องเดียวกันนี่นา!

ในวันทบทวนเส้นทางภาวนา วิจักขณ์ พานิช กล่าวถึงการที่เรามี tradition ในเส้นทางจิตวิญญาณนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะถูกปิดกั้น ไม่มีอิสระ ไม่เปิดกว้าง การที่เลือกอยู่ในแบบแผนใดไม่ได้หมายความว่าเราจะไปกีดกันเส้นทางอื่นๆ ออก แต่การที่เราเลือกปฏิบัติอยู่ในสายธรรม อยู่ใน tradition นี้ จะทำให้เราสามารถเดินบนเส้นทางจิตวิญญาณได้อย่างเป็นอิสระจากสิ่งที่จะมารบกวนเรา ความคิดตัดสิน การตั้งแง่ หรือมายาคติ การผูกมัดตัวเองเข้าสู่สายสัมพันธ์กับเส้นทาง ครู หรือ tradition ช่วยให้เกิดบรรยากาศของวินัยต่อการฝึกตนบนหนทาง

ลองนึกภาพง่ายๆ การนั่งสมาธิที่บ้านเป็นเรื่องยากเพราะสิ่งแวดล้อม สิ่งเร้าต่างๆ แต่พอได้ไปนั่งที่ meditation center หรือถ้าใครเคยไปที่อวโลกิตะ จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เฮ้ย มันนั่งได้เฉยเลย เพราะบรรยากาศที่โอบอุ้ม และผู้คนที่เข้าไปปฏิบัติในขนบเดียวกันตรงนั้น ศาสนาและสายปฏิบัติก็เช่นกัน จัดเริ่มต้นของมัน คือพื้นที่ที่แต่ละผู้คนร่วมกันแชร์เจตจำนง และร่วมสร้างแต่ละองค์ประกอบของเส้นทางนั้นขึ้นมา

การ commit ที่จะอยู่ในเส้นทางจิตวิญญาณและการอยู่ใน tradition ไม่ได้ทำให้เราสูญสิ้นอิสรภาพ กลับกันในทางจิตวิญญาณ สิ่งนั้นกำลังพาให้เราเดินบนทางแห่งการฝึกตนอย่างเป็นอิสระจากสิ่งรบกวน ให้เราเผชิญทุกสิ่งได้เต็มที่ อยู่กับความเข้มข้นของชีวิตโดยไม่ถอยหนี สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นไป ฝึกฝนตัวเองให้จิตวิญญาณเป็นอิสระจากกรงขังที่มาจากความคิด คุณค่าภายนอก ซึ่งนั่นต่างหาก อิสรภาพที่แท้จริง

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้จะชวนใครเข้ารีต หรือให้แต่ละคนหาสังกัดอยู่ เพียงแต่อยากชวนให้มองมุมใหม่ๆ ต่อสิ่งเก่าๆ ที่อยู่มานานจนเราหลงลืมความหมายและบทบาทหน้าที่ที่แท้จริง และอยากชวนให้เปิดใจ ลองเปิดกว้างกับเส้นทางทั้งหลาย และเมื่อถึงจุดนึงที่เราต้องเดินทางต่อ การ commit กับถนนเส้นนั้นก็จะพาให้เราเดินต่อไปข้างหน้า เป็นอิสระจากการล่องลอยท่ามกลางตัวเลือกมากมาย และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมศิโรราบกับชีวิต สู่อิสรภาพที่แท้จริง