แก้วมณีแห่งความกรุณาในใจ: เพราะเราทุกคนคืออวโลกิเตศวร

สรุปความจาก Avalokita Talk #1 :
แก้วมณีดวงไหนในดอกบัว? โดย อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
8 พฤษภาคม 2565

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

อวโลกิตะ ห้องว่างขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ที่ชั้นบนสุดของตึกย่านสาทร เป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนเข้าไปนั่งภาวนา ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและความว่าง เพื่อผ่อนพักจากความวุ่นวายของโลกภายนอก แล้วมาสัมพันธ์กับโลกภายในตัวเอง หลายคนอาจเคยเห็นสถานที่แห่งนี้ผ่านตา หลายคนอาจเคยเข้าไปใช้บริการมาบ้างแล้ว นอกจากการนั่ง อวโลกิตะยังมีความตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมทอล์คขึ้นในพื้นที่นี้เรื่อยๆ และงาน talk ครั้งที่หนึ่งของอวโลกิตะได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมีผู้พูดคืออาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในหัวข้อ “แก้วมณีดวงไหนในดอกบัว?”

กิจกรรมทอล์คและแลกเปลี่ยนในค่ำคืนนั้นไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติและงดงาม ด้วยวิธีการที่อาจารย์ตุลทำให้บรรยากาศเป็นทั้งการให้ความรู้และการแลกเปลี่ยนในด้านอารมณ์ความรู้สึกจากภายใน ผู้คนที่อยู่ ณ ที่นั้นจึงสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับบรรยากาศที่เปิดกว้างได้ไม่ยาก

ใครคือพระอวโลกิเตศวร?

อาจารย์ตุลเริ่มต้น talk ด้วยประเด็นพระอวโลกิเตศวร ตามชื่อศูนย์ภาวนา “อวโลกิตะ” ที่ตั้งตามนามของพระโพธิสัตว์องค์นี้ คำถามตั้งต้นคือ แล้วใครคือพระอวโลกิเตศวร?

พระอวโลกิเตศวรปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรมจึงมีความหลากหลายจนเกิดเป็นข้อถกเถียง เช่น ก็คือเจ้าแม่กวนอิมไง คือองค์ที่มีพันมือไง หรือถกเถียงกันว่าเป็นโพธิสัตว์ที่กำลังจะตรัสรู้กับ ไม่ใช่ เป็นอดีตพระพุทธเจ้าต่างหาก…

อาจารย์ตุลเล่าว่า ในความหมายแบบมหายาน อวโลกิเตศวรเป็นพระผู้ฉุดช่วยสรรพสัตว์ ตามความหมายของคำว่า “โพธิสัตว์” คือ บุคคลผู้ต้องการประกอบกรณียกิจเพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย

“ท่านคือความกรุณาของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ในคอนเซ็ปต์แบบมหายาน คุณสมบัติของความเป็นพุทธะมันสำแดงออกมาในรูปลักษณ์ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นปัญญา พละกำลัง ปณิธาน ความเมตตา สามารถที่จะปรากฏในรูปลักษณ์ นั่นคือมีรูปที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้นมหายานถือว่าความกรุณาของพระพุทธเจ้าทั้งหมดในอดีต ปัจจุบัน อนาคตปรากฏอยู่ในรูปลักษณ์อวโลกิเตศวร”

คำถามต่อมาคือ แล้วพระอวโลกิเตศวรมีจริงหรือไม่?

“คำตอบคือทั้งมีและไม่มี ที่ไม่มี ถ้าเรามองว่าอวโลกิเตศวรเป็นใครสักคนหนึ่งจริงๆ แบบที่เราพูดถึงนาย ก. นาย ข. อวโลกิเตศวรอาจจะไม่มีจริงก็ได้ เพราะว่าอวโลกิเตศวรเป็นคุณสมบัติ แต่เราจะพูดว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ เพราะในคำสอนฝ่ายมหายาน อวโลกิเตศวรเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน เพราะว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต่างก็มีความกรุณา และความกรุณาเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เราอาจจะเรียกมันในภาษาสมัยใหม่ว่า basic goodness, love หรือ compassion”

นั่นเองคือหนทางที่เราเชื่อมโยงกับอวโลกิเตศวร เราอาจมีอวโลกิเตศวรเป็นเพื่อนร่วมทางในชีวิต ท่านอาจจะเดินข้างๆ เราตรงนี้ หรืออยู่ในเทวสถานอันไกลโพ้น พระอวโลกิเตศวรอาจอยู่ในรูปเคารพที่เรากราบไหว้ขอความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดอะไร



เราทุกคนคืออวโลกิเตศวร

“ความสำคัญแท้จริงแล้วไม่ใช่การค้นหาว่าพระอวโลกิเตศวรอยู่ที่ไหน แต่ในระดับการปฏิบัติที่สูงขึ้นไป เราต้องตระหนักให้ได้ว่า เราทุกคนเป็นอวโลกิเตศวร และทุกๆ คนที่เราสัมพันธ์ด้วย ก็คืออวโลกิเตศวร นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติต่อพระอวโลกิเตศวร”

“แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในทัศนะอันคับแคบของเราที่เรามองเกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะว่าเรามักจะมองเห็นตัวเองเป็นใครสักคน ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่บริสุทธิ์เกี่ยวกับตัวเอง ไม่บริสุทธิ์ในที่นี้คือ เรามักจะใช้ตัวความคิดโปรเจ็คท์ว่าเราเป็นใครสักคนหนึ่ง ผมเป็นอาจารย์ตุลที่แต่งตัวสบายๆ คนก็อาจจะเห็นผมเป็นอาจารย์ตุลที่ตลกๆ ผมก็คิดว่าผมไม่ค่อยตลก เรามีความคิดมากมายเกี่ยวกับตัวเรา แต่เราไม่ค่อยเชื่อว่าเรามีส่วนที่ดีที่สุดอยู่ในตัวเรา และด้วยการปฏิบัติภาวนาทั้งหมดที่เราทำ เป้าหมายก็คือเพื่อที่เราจะบรรลุถึงสภาวะพื้นฐานอันนั้น ถ้าเราใช้ศัพท์ของที่นี่คือ เราจะบรรลุถึงพระอวโลกิเตศวร หรือถ้าเราอยู่ในสำนักปฏิบัติอื่นก็อาจจะบอกว่าเพื่อเราจะบรรลุพุทธภาวะ แต่ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องเดียวกัน”


หลังจากฟังอาจารย์ตุลเล่าถึงพระอวโลกิเตศวร เราก็รับรู้ได้ถึงความใกล้ชิดของพระโพธิสัตว์องค์นี้ในแง่ที่ practical มากๆ ความกรุณาหรือ basic goodness ในตัวคนทุกคนก็เป็นแนวคิดที่เราสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ทำให้รู้สึกว่าอวโลกิเตศวรอยู่ใกล้กับเรา หรือยิ่งไปกว่านั้นคืออยู่ในตัวเรา ในช่วงท้ายๆ อาจารย์ตุลยังเล่าเสริมถึงตัวอย่างการตั้งเครื่องบูชาพระอวโลกิเตศวรที่ตั้งเป็นสองชุด ชุดหนึ่งคือเราไหว้พระอวโลกิเตศวร อีกชุดหนึ่งคือพระอวโลกิเตศวรไหว้เรากลับ เพราะเราเองก็คือพระอวโลกิเตศวร และต่อด้วยเรื่องราวของวัดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่มีรูปของอวโลกิเตศวรเป็นพันๆ รูป ซึ่งมีความเชื่อว่าใครที่ไปวัดนี้จะต้องเจอองค์หนึ่งที่หน้าตาเหมือนกับเรา และก็เป็นที่ร่ำลือว่าใครไปก็จะเจอทุกครั้ง ซ่อนอุบายที่บอกว่า ทุกคนก็คืออวโลกิเตศวร

ความกรุณา และการภาวนาเพื่อเข้าถึงอวโลกิเตศวร


เมื่อเราได้รู้จักกับพระอวโลกิเตศวรแล้ว อาจารย์ตุลก็พาเรามายังประเด็นถัดมา คือความกรุณาและการภาวนา ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างเรากับพระอวโลกิเตศวร


“แล้วเราจะเป็นอวโลกิเตศวรได้อย่างไร ก็ย้อนกลับมาสู่สภาวะที่เราเรียกว่าความกรุณา เราจะเพิ่มพูนความกรุณาได้อย่างไร มันก็มีมิติของการภาวนาอยู่ เมื่อกี๊เราได้สวดมนตราหกพยางค์ อันนั้นเป็นประตูหนึ่ง เพื่อที่เราจะสัมพันธ์กับอวโลกิเตศวรในฐานะที่เป็นธรรมชาติเดิมแท้ของเรา”


อาจารย์ตุลเล่าควาหมายของมนตราหกพยางค์ที่เราได้สวดร่วมกันก่อนช่วงทอล์ค ซึ่งเป็นมนตร์ที่มีความสำคัญ และยังเป็นที่มาของชื่อหัวข้อทอล์คในครั้งนี้ มนตร์ “โอม มณี ปัทเม หูม” ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “โอม แก้วมณีในดอกบัว” ความหมายของคำแปลนี้ แท้จริงแล้วเป็นการที่มนตร์ทำงานกับเราโดยตรง


มนตร์อันนี้ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์มหายาน เหตุการณ์คือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์คุยกัน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรโผล่ขึ้นมา เพราะเป็นมูลฐานความกรุณาที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีเพื่อจะตรัสรู้ และในท่อนนั้นเองก็มีมนตร์ โอม มณี ปัทเม หูม เปล่งขึ้นมา อันเป็นมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ของพระอวโลกิเตศวรที่จะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ มนตร์นี้เรียกว่า “ษฑักษรี” หรือมนตร์หกอักษร มีคำแปลในแต่ละคำ และยังมีความยิ่งใหญ่ เป็นหกพยางค์ที่สามารถช่วยภพภูมิทั้งหกให้พ้นทุกข์ได้ตามความเชื่อแบบมหายาน

โอม มณี ปัทเม หูม


โอม
มาจาก อะ อุ มะ ในภาษาสันตสกฤต มักแปลว่าเป็นพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ในทางพุทธแปลว่า พุทธะ ธรรมะ สังฆะ และในทางทิเบต องค์ทะไลลามะให้ความหมายไว้ว่า สามเสียงนั้นแสดงถึง กาย วาจา ใจ ซึ่งเรามักคิดว่ามันไม่บริสุทธิ์ และการฝึกฝนเสียงโอมนี้จะช่วยชำระ กาย วาจา ใจ ของเรานั่นเอง

มณี แปลเป็นไทยว่าดวงแก้ว ที่ช่วยขจัดความยากจน คืออุปายะ แสดงถึงการวิธีการทำงานของพระอวโลกิเตศวรต่อสรรพสัตว์ ที่สอนและช่วยเหลือแต่ละสิ่งไปตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ ซึ่งแตกต่างกันออกไป ซึ่งนั่นก็คือความกรุณา

ปัทมะ แปลว่าดอกบัว เป็นภาพแทนของปัญญาที่เกิดขึ้นจากความว่าง

หูม เป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงการรวมกันของปัญญาและกรุณา

เมื่อรู้ความหมายของมนตร์ อาจารย์ตุลเล่าต่อถึงการทำงานของมนตร์นี้ ตามหลักการของศาสนาพุทธ ที่ว่าการท่องมนตร์คือการใช้คลื่นเสียงมาทำงานกับจิตใต้สำนึกของเรา

“เวลาเราพูดว่า แก้วมณีในดอกบัว เรากำลังพูดกับตัวเราเอง และเรากำลังพูดกับสิ่งที่เป็น inner self ของเรา ซึ่งคืออวโลกิเตศวร”

มาถึงตรงนี้ เราก็ได้คำตอบในการที่จะไปสู่อวโลกิเตศวรในตัวของเรา ด้วยมนตร์แห่งความกรุณาที่พร่ำท่องแก่ตัวเองและสรรพสิ่ง จะคอยเน้นย้ำว่าเรามีดวงแก้วในดอกบัว หรือคือหัวใจของเราเอง ท่ามกลางกระแสความคิดอันสับสนวุ่นวาย เรามีความดีงามนี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว และการภาวนาก็จะเป็นหนทางที่ทำให้เราได้ประจักษ์ถึงแสงสว่างแห่งความดีของดวงแก้วนี้ ซึ่งต้องอาศัยการภาวนา ฝึกฝนและท่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มนตร์ทำงานกับเราจึงจะพบเจอ

“ลองสวดสักหนึ่งพันล้านจบในชีวิตนี้ และเราจะพบว่ามันมีผล แต่ไม่ต้องถึงหนึ่งพันล้านก็ได้ครับ ผมก็มีประสบการณ์ส่วนตัวว่ามันมีผลจริงๆ ต่อชีวิตของเราแต่ละคน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเวิร์คเอง จริงๆแล้วมนตร์เนี่ยมันคือคำว่าอะไรก็ได้ อะไรก็ตามที่เรากำลังคุยกับ inner self เรา กำลังพูดถึงความดีงามบางอย่างซึ่งเป็น basic goodness อันนี้คือมนตร์ทั้งนั้น และถ้อยคำที่เราเปล่งออกมาทุกถ้อยคำด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความรักความกรุณา มันคือมนตร์ทั้งนั้น เพียงแต่มนตร์หกพยางค์มันเป็นเครื่องมือที่พุทธศาสนาทดลองใช้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า และพบว่ามันได้ผลจากเจนเนอเรชั่นสู่เจนเนอเรชั่น”

ความกรุณาก่อกำเนิดจากความว่าง


“ในมหายานมีคำกล่าวว่า ความว่างและความกรุณา ไม่อาจแยกขาดจากกัน ความว่างแสดงให้เห็นถึงอิสรภาพของโพธิสัตว์จากความคิดเกี่ยวกับคนอื่น หากปราศจากสภาวะของจิตเช่นนี้ ความกรุณาจะยังเป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนเอง ไม่ถูกต้องแม่นยำ ด้วยความที่มันยังถูกสร้างด้วยเงื่อนไขหรือแบบแผนความเคยชินของเราเอง ดังนั้นความกรุณาที่แท้สัมพันธ์กับทั้งความต้องการของผู้อื่นและจิตที่ว่าง ความว่างนั้นยังแสดงออกถึงความกรุณาไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะความว่างที่แท้หมายถึงการเป็น โดยปราศจากการยึดถือตัวตนไว้ล่วงหน้า มันจึงสามารถแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติและฉับพลันในพลังอันอบอุ่นและเปิดกว้างต่อผู้อื่น

การรู้แจ้งในความว่างโดยไม่เปิดต่อผู้อื่น ก็ยังถือว่าไม่ใช่การรู้แจ้งที่แท้จริง ทำไมน่ะหรือ หากเราไม่เปิดต่อผู้อื่น เราก็ยังคงยึดการรู้แจ้งของเราว่าเป็นอะไรที่วิเศษและแยกขาด ราวกับเป็นการบรรลุหรือถือครองส่วนตน การรู้แจ้งในความว่างอย่างแท้จริงจะแสดงออกถึงการยอมรับว่าเราไม่มีพื้นไว้สำหรับหยัดยืน ไม่มีขอบเขตส่วนตัวที่จะรักษา เมื่อนั้นการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติของการรู้แจ้งที่ว่าง คือการตอบสนองอย่างเต็มเปี่ยมและกรุณาต่อความต้องการของผู้อื่น”

อาจารย์ตุลทิ้งท้ายด้วยการอ่านคำสอนข้างต้นของ อ.เรจินัลด์ เรย์ เพื่อนำมาสู่ประเด็นความกรุณา

ความน่าสนใจของความกรุณาที่อาจารย์ตุลเล่าในครั้งนี้ คือการทำงานของความกรุณาที่สัมพันธ์กับพื้นที่ว่าง โดยทั่วไปแล้วหากเรานึกถึงความกรุณา ก็จะนึกถึงแง่ที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกสงสาร เห็นใจ เป็นความกรุณาในแบบที่สัมพัทธ์ไปกับสภาวะที่เรารู้สึกในตอนนั้นๆ ซึ่งไม่ผิด แต่ความกรุณาที่อาจารย์ตุลพูดในครั้งนี้เป็นแบบพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความกรุณาที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เราเรียกว่าความว่าง

“เรามักจะคิดถึงความว่างในเชิงคอนเซ็ปต์ ความว่างคือสุญญตา สุญญตาคือความไม่มีอะไร ไม่ ง่ายกว่านั้น อย่าทำความว่างให้เป็นคอนเซ็ปต์มากไป สำหรับผมหรือสำหรับหลายๆ คน ความว่างคือสภาวะที่เราไม่ได้มี preconception ไม่ได้คิดอะไรไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับคนๆ นั้น ไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้าเกี่ยวกับสภาวะ”

เพื่อให้เห็นภาพ อาจารย์ตุลยกตัวอย่างจากประสบการณ์ใกล้ตัวที่ชวนให้ยิ้ม คือเรื่องของความรัก คนเรามักมีรูปแบบของความรักที่เราคาดหวังจะให้เป็น ไม่ว่าจะตามแบบภาพยนตร์โรแมนติก หรือเพลงรักที่ร้องกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนรักของเราจะเป็นไปตามแบบที่เราคาดหวังทั้งหมดได้อย่างไร จากความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายที่แตกต่างจากเรา และเมื่อคนรักของเราไม่เป็นไปตามสิ่งที่คาดหวัง เราก็ตั้งคำถามว่านั่นไม่ใช่รักที่ดีรึเปล่า หลายคนเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะจับประสบการณ์เข้ากับนิยามที่ตนตั้งไว้ สร้างกรอบให้ประสบการณ์ต้องเข้าไปอยู่ในคำอธิบายที่มีมาก่อนหน้า แทนที่จะอยู่กับประสบการณ์นั้นๆ หรืออยู่กับคนรักของเราในแบบที่เขาเป็น

“นั่นคือสิ่งที่อาจารย์เรจจี้ (เรจินัลด์ เรย์) บอก ว่านี่คือการไม่เปิดต่อคนอื่น คือภาวะที่เราไม่ได้อยู่กับความว่าง และเมื่อเราไม่ได้อยู่กับความว่าง ความกรุณาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความกรุณาที่เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้มีความคิดอะไรที่เรายึดโยงไว้ข้างหน้ามันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราพยายามที่จะทำให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราคาดหวัง อันนี้มันเป็นความกรุณาแบบที่เราพยายามจะบังคับให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราต้องการ ฉันหวังดีต่อเธอนะ ฉะนั้นเธอต้องทำแบบนี้หนึ่งสองสามสี่ ซึ่งไม่ใช่ความกรุณาที่สัมพันธ์กับความว่าง”


ความกรุณาที่ไม่ได้เปิดต่อผู้อื่นเช่นนี้เกิดขึ้นจากความคิด preconception ของเรา ที่เราจะตัดสินผู้อื่นไปก่อนและทำไปตามความคิดนั้นของเรา ไม่ใช่ด้วยการเปิดรับเอาความเป็นตัวตนของเขาเข้ามา และยิ่งไปกว่านั้น เราเองก็ยังทำเช่นนี้ต่อตัวเอง เรามีความคิดที่ตัดสินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความกรุณาที่มีต่อตัวเองของเราก็ไม่ใช่ความกรุณาที่มาจากความว่างดังที่กล่าวมาเช่นกัน

แล้วเราจะทำเช่นไร ในวิธีปฏิบัติแห่งความกรุณานี้ เราต้องใช้ความกรุณาที่ต้องใช้ความคิดสติปัญญาที่มีวิธีการที่สร้างให้เหมาะสมกับสภาวการณ์นั้นๆ และปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการใช้ความคิด แต่เป็นการตอบสนองอย่างชาญฉลาดต่อสถานการณ์นั้นๆ เป็นปัญญาที่มาจากภายในที่เกิดจากการบ่มเพาะ เพื่อที่จะทำให้เกิดความกรุณาแบบที่เราพูดกัน ณ ที่นี้

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำทั้งหมดที่นี่ ก็คือเรานั่ง มันคือทั้งหมดเลย เราแค่นั่ง สถานที่อวโลกิตะเนี่ย ถ้าเราเข้ามาวันธรรมดา ไม่มีอะไรเลยนอกจากนั่งกับสวดมนตร์ เราไม่ได้ไกด์ด้วย เราปล่อยให้ทุกคนได้เผชิญสภาวะของตัวเอง เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง และเราก็ไม่ตัดสิน เราอาจจะเหนื่อย เราอาจจะเต็มไปด้วยความเครียด ความคิด เราปล่อยในสภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้น และไม่บังคับให้มันหายไป เราแค่แตะมันแล้วก็ปล่อย นี่คือทั้งหมดที่เราทำ”

“มันเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย แต่นี่คือความกรุณา เรากำลังฝึกความกรุณาในขั้นพื้นฐาน”

เราได้เห็นภาพรวมของพระอวโลกิเตศวร และการทำงานของความกรุณาต่อเราและผู้อื่น ทำให้เรามองเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้จะทำงานกับเราได้อย่างไร เราสามารถรับสิ่งเหล่านี้เข้ามาในตัวได้อย่างไรบ้าง ก่อนจะจบลง อาจารย์ตุลก็กล่าวย้ำประเด็นที่พูดเสมออีกครั้งก่อนจากลา นั่นคือการที่เราทุกคนคืออวโลกิเตศวร

“..เชื่อมั่นว่าเราทุกคนคืออวโลกิเตศวร วันนี้เราอาจจะยังไม่เชื่อว่าเราเป็น หรือเราไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นได้รึเปล่า แม้กระทั่งตัวเรายังไม่เห็นว่าตัวเองเป็นเลย แต่ขอให้เชื่อเถอะครับ ธรรมชาติโดยแท้จริงของเราแต่ละคนเป็นอวโลกิเตศวร เพียงแต่เมฆหมอกความคิดที่มีต่อตัวเราเองมันบดบังสภาวธรรมเหล่านี้ไว้ แต่วันหนึ่งเมื่อเราสามารถกลับมาสู่เนื้อตัวของเรา ลมหายใจของเรา เมื่อนั้นธรรมชาติอันสุกสกาวก็จะโผล่พ้นขึ้นมาเอง”