ตื่นรู้อย่างฑากิณี: อิสรภาพแห่งความเป็นหญิงในพุทธศาสนา

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

ถอดความจาก Avalokita Talk #6 
ความรักความกรุณาของพระฑากิณี กับ อ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล


ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในพุทธศาสนา?

ในขณะที่พุทธศาสนาเถรวาทในบ้านเราผูกโยงกับความเป็นชายอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะในทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจน จะบวชได้ต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงเป็นได้แค่บทบาทแม่ชี บวชเป็นภิกษุณีไม่ได้ ถึงแม้จะได้บวชเป็นภิกษุณีได้ ก็ต้องผ่านการต่อสู้อย่างยาวนานเพื่อจะได้บวช แถมยังต้องเคารพพระภิกษุทุกรูปแม้ว่าจะเพิ่งบวชมาได้หนึ่งวันก็ตาม .. ฯลฯ

ในทางคำสอนและการปฎิบัติเพื่อการหลุดพ้นก็อยู่ในกรอบความเป็นชายเช่นกัน การปฏิบัติเพื่อควบคุมจิตใจให้สงบ สำรวม กระทั่งดูสูงส่ง ออกมาเป็นภาพพระนิ่งๆ จริงจัง เคร่งขรึม แบบที่เราเห็นกันทั่วไป ซึ่งนั่นถือเป็นคุณสมบัติที่จำกัดอยู่ภายใต้กรอบคิดความเป็นชายแบบที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม เราจะต้องใช้คุณสมบัติเหล่านี้เพื่อมุ่งไปสู่การตื่นรู้อย่างนั้นหรือ? กระทั่งเลยเถิดไปว่าความเป็นหญิงไม่ใช่คุณสมบัติของการตื่นรู้ หรือกระทั่งเป็นอุปสรรค

ในวันพระฑากิณี “Dakini Day” เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ อวโลกิตะ สาทร 10 อ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพันดารา ได้ให้เกียรติมาแสดงปาฐกถา ในหัวข้อเรื่อง “ความรักความกรุณาของพระฑากิณี” สอดคล้องกับวันพิเศษวันนั้น 

อ.กฤษดาวรรณพาให้เราได้รู้จักกับพลังการตื่นรู้แบบหญิง จากมุมมองของพุทธศาสนาวัชรยาน อธิบายให้เราได้เข้าใจการสัมพันธ์กับพลังงานที่เป็นอิสระ ฉับพลัน และกำลังร่ายรำอยู่ทุกแห่งหน

พระฑากินีเริงระบำ

หากคุณสมบัติของความเป็นชาย ( masculinity) คือ ความนิ่งสงบ สม่ำเสมอ มั่นคง ควบคุมได้ อธิบายได้ คุณสมบัติความเป็นหญิง (Femininity) ก็คืออีกด้านหนึ่งของความไร้หลัก ฉับพลัน เหนือการคาดคิด และด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เองก็สามารถค้นพบการตื่นรู้อีกลักษณะหนึ่ง ด้วยการทำงานกับตัวตนที่แท้ของเราและเชื่อมสัมพันธ์โลกภายในออกไปสู่ปรากฏการณ์ภายนอก

ในทิเบต จะเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนคือตัวเเทนของฑากิณี หนูน้อยคนนั้นคือฑากิณี สาวเปรี้ยวปราดเปรียวคนนั้นก็เช่นกัน หญิงชราที่นุ่มนวลคนนั้นก็เป็นฑากิณี และแท้ที่จริงแล้ว พระฑากิณีก็คือพุทธภาวะที่มีอยู่แล้วในตัวของคนทุกคน

“ในพุทธศาสนาวัชรยานมีคำสอนที่งดงาม เพราะคำสอนนั้นให้เราเห็นสภาวะที่ถ่องแท้ภายใต้รูปลักษณะที่เราเป็น ไม่ว่ารูปกายภาพ เราจะออกมาเป็นชายหรือเป็นหญิง ในวิถีการภาวนานี้ มีรูปลักษณะให้เราเห็นว่าผู้บรรลุธรรม ผู้ตื่นรู้นั้น เป็นได้ทั้งชายและหญิง และรูปลักษณะหนึ่งซึ่ง อาจจะใช้คำของเด็กๆ คือเขาจะใช้คำว่า เท่ คือรูปพระฑากิณี เป็นสัญลักษณ์ธรรมที่เป็นรูปลักษณะผู้หญิงที่อยู่ในท่าเริงระบำ และไม่ได้ใส่อาภรณ์ที่งดงามองค์พระโพธิสัตว์ผู้หญิง แต่จะห่มน้อยแทบจะไม่มีอาภรณ์ และก็มีเครื่องประดับเป็นกระโหลก” 

“รูปลักษณะก็ดูแปลก แต่ทำไมรูปลักษณะนี้ถึงเป็นสรณะหนึ่งในสามที่สำคัญของธรรมทิเบต?”

อ.กฤษดาวรรณ เริ่มต้นด้วยการให้เราสังเกตรูปลักษณ์ที่แปลกตาของฑากิณี เธอไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ แถมยังไม่ได้ดูสงบนิ่งหรือใจดีอีกด้วย…

ในคำสอนวัชรยาน จะมีสรณะด้านนอกและด้านใน ด้านนอก ประกอบไปด้วยสี่ประการ คือ คุรุ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ซึ่งส่วนนี้ก็คล้ายคลึงกับพุทธศาสนานิกายอื่นๆ ทว่าด้านในจะมีสรณะอีกชุดหนึ่ง มีสามประการ นั่นคือ คุรุ ยิตัม และฑากิณี

ความน่าสนใจคือ ทำไมพุทธศาสนาวัชรยานถึงยึดเอาพระฑากิณีเป็นสรณะ?

“ท่านเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างรูปลักษณะ รูปเคารพที่มีมากมาย กับกายด้านในของเราเอง ที่ถ้าเราใช้คำสมัยใหม่อาจจะเรียกกว่ากายพลังงาน ถ้าฝ่ายธิเบตจะใช้คำสองคำผสมกัน คือปราณและหยดแสง การที่เป็นเส้นลมปราณ ที่เป็นลมที่เราหายใจเข้ามาแล้วมันบำรุงชีวิตของเราที่เราเรียกว่าปราณ ผสมกับคำว่าหยดแสง 

นี่คือการเชื่อมต่อสิ่งที่ดูห่างไกลจากเรา พระพุทธเจ้าดูไกล รูปลักษณะที่เราเคารพ แม้พระอวโลกิเตศวรที่เราสวดบูชาถึง เราอาจจะรู้สึกคุ้นเคย แต่ท่านก็ยังดูไกล พระฑากิณีคือสะพาน ที่เชื่อมโยงความห่างไกลอันศักดิ์สิทธิ์นั้น กับตัวตนที่แท้ของเรา” 

กล่าวได้ว่า พระฑากิณี คือพลังการตื่นรู้อีกแบบหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้รู้จัก พลังการตื่นรู้แบบหญิงที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงเรากับปรากฏการณ์ภายนอก พาเรากลับไปสู่ตัวตนที่แท้ และเป็นการภาวนาที่ฝึกเรื่องของพลังงาน ดังนั้นทุกๆ คนจึงสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร

“ถ้าเราจะทำความรู้จักกับพระฑากิณีง่ายๆ เราก็อาจจะมองว่าเป็นสภาวะพุทธะที่เป็นผู้หญิง และสภาวะพุทธะนี้มีอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ว่าเราเป็นหญิงเป็นชาย เราสามารถจะปลุกสภาวะนี้ให้เกิด และที่น่าสนใจมากๆ ในการภาวนาถึงพระฑากิณีมีศัพท์คำนึงที่เน้น คือคำว่าการไม่ยึดติด …ท่านเป็นสรณะที่จะไม่ยอมให้เรายึดติด”


สภาวะปราศจากโซ่ตรวนแห่งการยึดติด

ลักษณะเด่นหนึ่งที่เมื่อพูดถึงฑากิณี คือความอิสระ ชื่อภาษาธิเบต “ฑากิณี” เมื่อแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษคือ “Sky Dancer” ผู้ท่องไปในท้องฟ้า ความเป็นอิสระของฑากิณีคือสภาวะที่ไม่ยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น กลายเป็นความว่างหรือท้องฟ้าอันไพศาล เป็นความว่างที่เกิดจากปัญญาสูงสุด การฝึกภาวนาทั้งหมดก็เพื่อให้จิตของเราไม่ยึดติด และนั่นคือภาวะธรรมของพระฑากิณีที่จะนำพาไปสู่ความสงบและความสุขที่แท้จริง

การยึดติดนี้ไม่ใช่เพียงติดอยู่กับสิ่งต่างๆ ความรัก โลภ โกรธ หลง แต่รวมไปถึงการยึดติดกับตัวตนของเรา ยึดกับคำนิยามและกรอบต่างๆ ที่หุ้มห่อตัวตนเราเอาไว้ หากสลายการยึดติดเหล่านั้นออกไปได้ ใจที่ไม่ยึดติดนี่เอง จะยกย่องทุกชีวิตและไม่เห็นถึงการขีดเส้นแบ่งความแตกต่าง ชายหญิงแม้มีความแตกต่างในด้านกายภาพและลักษณะนิสัย แต่นั้นก็ไม่ใช่แก่นหัวใจของสภาวะต่างๆ ที่ปรากฏ แก่นที่แท้จริงคือความเหมือนและความเท่าเทียม

“หากเรามองโลกในมุมมองของฑากิณี ทุกอย่างจะเป็นสิ่งที่เหมือนกัน มันไม่มีความต่าง เมื่อเหมือนกันมันจะมีความรักอันมหาศาล รักที่ไม่มีเงื่อนไข แต่เป็นความรักที่อาจจะต่างจากความรักแบบที่เราภาวนาในองค์พระที่เป็นผู้หญิงอย่างพระแม่ตารา ที่ความรักนั้นงดงามผ่องแผ้ว ทั้งรูปลักษณะภายนอก ทั้งการบริกรรมภายใน แต่ความรักของพระฑากิณีเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นความรักที่ท้าทาย เหมือนเดินทางเข้าไปข้างในลึกขึ้น และสิ่งที่ได้พบนั้นยิ่งใหญ่” 

ในวัชรยาน ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อความว่างนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่มีชีวิตและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อ.กฤษดาวรรณ ยกตัวอย่างท่าทีต่อความว่าง อย่างความสัมพันธ์ที่เราแต่ละคนอาจมีต่ออวโลกิตะ

“อย่างเช่น ที่แห่งนี้ (อวโลกิตะ) ถ้าเราเห็นว่าเป็นแค่ห้องๆหนึ่ง เมื่อไหร่เราว่างเราก็มา มันก็คือแค่นั้น มันก็มีความหมายอยู่แค่นั้น มันก็เหมือนแค่เราใช้ประโยชน์ในยามว่าง แต่ถ้าเราคิดว่านี่คือโปตาลา เป็นที่ประทับของพระอวโลกิเตศวร มันก็จะมีความหมายขึ้นมากับเรา เมื่อไรมาที่นี่ เราก็อยู่ที่โปตาลา เราได้มาดูแลรับใช้พระอวโลกิเตศวร มันก็จะมีความสุข คือตัวเรามีความสุขขึ้นมาเอง คนคิดก็คือตัวเรา ภาพที่เราเห็นก็คือภาพของเราที่เราสร้าง แล้วภาพนี้ทำให้เรามีความสุข นี่คือความว่างที่เป็นพื้นฐานของวัชรยาน มันคือความว่างที่เราจะเห็นสิ่งต่างๆ ไกลไปกว่าที่ตาเห็น”


การจะไปถึงตรงนั้นได้ต้องมีปัญญาและมีความตระหนักรู้มากมาย ที่เราจะต้องฝึกฝนตัวเองให้ไปพ้นจากตัวตนเพื่อเข้าถึงสภาวะปัญญาและกรุณานั้น และทุกๆ เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ก็จะเป็นบททดสอบที่ให้เราสัมพันธ์และทำงานกับความกรุณาและปัญญานั้นบนพื้นฐานของความว่างอยู่ตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งที่อ.กฤษดาวรรณไปเข้า Retreat เช้าวันแรก มีแมงมุมสีขาวมาทำใยอยู่หน้าบ้าน อาจารย์มองว่านี้เป็น Good sign ความงดงามที่เป็นของขวัญสำหรับการ Retreat นี้ และเฝ้ามองชื่นชมแมงมุมตัวนี้ตลอดช่วงระยะเวลานั้น

“…จนวันหนึ่งออกไป เจอมันตะครุบแมลงให้ดู ใจก็เฉยๆ เห็นมันกินอาหาร ก็กลับไปปฏิบัติ วันรุ่งขึ้นมันทำให้ดูอีก ตอนนั้นก็คิดว่าผิดปกติที่ใจเราเฉย เรากำลังยึดติดกับ good sign เรากำลังยึดติดกับแมงมุมเพราะเราเชื่อว่ามันเป็นของขวัญ ก็เลยตัดสินใจเอาไม้กวาดมาเขี่ยใยแมงมุมจนหมด

“ความรักของพระฑากิณีทำให้เราตาสว่าง ทำให้เราเห็นว่าเราเป็นแบบไหน ตัวตนที่แท้ของเราคือยังไงตัวตนที่แท้ของเรามันแบ่งข้าง เราจะเอาเฉพาะฝ่ายที่เรามองว่าเป็นของขวัญที่พระมอบให้เรา แต่ฝ่ายที่อ่อนแอ ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ เราไม่สนใจ ทันทีที่เราตระหนัก นั่นคือเราเข้าใจธรรมะของฑากิณี – ข้อความที่ส่งมาให้เรา ณ ชั่วขณะนั้นโดยเฉพาะ”


ความรักกับ “รอยยิ้มแสยะ” 

“หากพระแม่ตาราหรือพระอวโลกิเตศวรเป็นพลังความรักความกรุณาที่นุ่มนวลอ่อนโยน พระฑากิณีก็เป็นความรักและความเมตตาที่กำลังท้าทายเราอยู่ เป็นแม่ที่ไม่โอ๋เรา แต่จะอยู่เคียงข้างและปลดปล่อยเราให้เป็นอย่างอิสระ”

ในรูปบูชาของพระฑากิณี บนใบหน้าจะมีรอยยิ้มแสยะ ไม่ได้ยิ้มหวานแบบพระองค์อื่นๆ 

“ท่านแสยะยิ้ม เหมือนกับจะดุก็ไม่เชิง การแสยะยิ้มนั้นคือชัยชนะ เพราะว่าท่านเห็นสภาวะ ถ้าเราปรุงแต่ง ถ้าเราหลงไป ท่านก็จะยิ้มให้ แต่เป็นยิ้มแสยะ (หัวเราะ) ไม่ใช่แบบยิ้มหวาน บางทียิ้มหวานแล้วเราไม่เก็ท แต่เมื่อท่านแสยะยิ้ม เราเก็ท” 

ถ้าเราลองนึก ผู้ที่จะแสยะยิ้มได้คือผู้ที่อยู่ในสถานะเหนือกว่า นึกถึงเวลาตัวร้ายในภาพยนตร์แสยะยิ้ม เวลานั้นจะต้องเป็นจังหวะที่ตัวร้ายตัวนั้นรู้อะไรมากกว่า มองเห็นภาพกว้างกว่า ถ้าตัวละครหลักเห็นท่าทางนั้น ก็ต้องเอะใจแล้วว่า เฮ้ย! นี่เราตกอยู่ในกับดักหรือเปล่า 

ฑากิณีคือสภาวะแห่งปัญญาสูงสุด เป็นปัญญาที่ไร้ร่าง และคือธรรมชาติที่แท้ของจิต ซึ่งตรงจุดยืนอันไพศาลนั้นเองที่ทำให้พระฑากิณีรู้เห็นสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นเราหลงทางติดอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ท่านก็แสยะยิ้มให้เรา ในฐานะปัญญาที่อยู่เคียงข้างเรา ซึ่งเมื่อมานึกดูแล้ว นี่อาจเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ดีไปอีกทาง เป็นจริตที่คนอีกกลุ่มจะชอบมากกว่าสายยิ้มหวาน แม้จะอยู่น่าหวั่นๆ อยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เป็นพระฑากิณีก็คือความรักและความเมตตาอันมหาศาล

“ความว่างอันไร้ปัญญา ก็จะไม่เป็นพุทธะ เหมือนกับเครื่องยนต์ที่ติดแต่ไม่วิ่ง แต่ที่เราปรารถนานั้นคือเราไม่อยู่ภายใต้การปรุงแต่งเพื่อให้ปัญญาปรากฏขึ้นมา ในหลายบทเรียนในชีวิต บางทีเราไม่ชอบ มันทำให้เรารู้สึกแย่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็อาจเผยให้เราเห็นเนื้อแท้ของจิต ต้องขอบคุณบทเรียน เพราะบทเรียนเปิดเผยด้านในของจิตทำให้เรารู้จักจิตใจตัวเอง แล้วเราจะไม่ติดกับดักนั้น ไม่งั้นเราก็จะตกหลุมพราง ติดกับดักที่จิตสร้างอยู่ตลอดเวลา บางคนก็อยากจะอยู่ในกับดัก เพราะมันคือความสบาย เรายินดีที่จะอยู่กับการปรุงแต่งหรือภาพลวง แต่มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้ เมื่อมันไม่ใช่ตัวตนที่แท้ มันก็เสียเวลา”

ลมหายใจ การฝึกปฏิบัติในเส้นทางพระฑากิณี

การฝึกแบบฑากิณีเริ่มเเรกที่สุด ผู้ฝึกต้องเป็นตัวเองอย่างจริงแท้ ในเส้นทางการฝึก ไม่มีคำว่ากฎกติกา เพราะเมื่อมีสิ่งเหล่านั้น เท่ากับเรากำลังยึดติด ซึ่งสวนทางกับการปฏิบัติที่เดินทางกลับเข้าไปข้างในตัวเรา ตัวตนดิบๆ ของเราที่ไม่มีการปรุงแต่งด้วยการยึดกับอะไรนี่แหละ คือสิ่งที่ผู้ฝึกฑากิณีจะต้องทำงานด้วย

อ.กฤษดาวรรณเล่าว่า การฝึกฑากิณีในทางปฏิบัติ คือการฝึกเรื่องกายพลังงาน ด้วยการฝึกลมหายใจ ในบทการฝึกพระฑากิณี จะมีบทที่เรียกว่าการฝึก “ตุมโม” ซึ่งเป็นการทำงานกับลมหายใจและความร้อนในกาย เป็นการทำงานกับเส้นลมปราณและหยดแสง ที่อยู่ในไขมันในเลือดของเราซึ่งมีอยู่มากมายในตัว สภาวะเดิมแท้ของเรา คือเป็นการที่หยดแห่งบิดา ที่เป็นความเย็นแสดงถึงความกรุณา มาเจอกับหยดแห่งมารดา เป็นความร้อน แสดงถึงปัญญา ฝากเอาไว้ในร่างกายของเรา การฝึกลมปราณแบบฑากิณีก็เพื่อที่จะกลับไปสู่สภาวะเดิมแท้นั้น

ในทางการปฏิบัติ ฑากิณีเป็นการฝึกระดับสูง เพราะเป็นความท้าทายในการเดินเข้าไปทำงานกับตัวตนที่ยึดมั่น เพื่อสลายออกไป เราทำงานทั้งในด้านกายภาพ ด้วยการฝึกลมปราณ ทำงานกับกายพลังงานและความร้อนในตัว และฝึกฝนสติปัญญา เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ จนอยู่ในเนื้อในตัว พระฑากิณีคือลมปราณที่อยู่ในตัว ทุกอณูย่อยๆ ในร่างกายเต็มไปด้วยฑากิณี และตัวเราทั้งหมดก็คือมณฑลฑากิณี เราก็จะมีปัญญา มีความตระหนักรู้ เพื่อที่จะไปสัมพันธ์ปรากฏการณ์ภายนอกอย่างเป็นอิสระปราศจากความคิดตัดสิน ความยึดติด พร้อมที่จะให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ ให้พลังงานได้โลดแล่น และร่ายรำในท้องฟ้าอันไพศาล

“..เราเข้าถึงความสงบ ความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความสุขนั้นเราเรียกว่ามหาสุข ซึ่งไม่เคยแยกจากสุญญตาหรือว่าความว่าง นี่เป็นคล้ายๆ รหัสธรรมที่แอบซ่อนอยู่ในธรรมพระฑากิณี ถ้าเราจะทำความรู้จักฑากิณีง่ายๆ เราก็อาจมองว่าเป็นสภาวะพุทธะที่เป็นหญิง ทว่าสภาวะพุทธะนี้มีอยู่ในตัวเราทุกคนไม่ว่าเราเป็นหญิงเป็นชาย”

ในคำสอนของศาสนาพุทธทุกนิกายจะบอกเสมอว่าเราทุกคนมีสภาวะแห่งพุทธะอยู่ในตัว การปฏิบัติคือการที่เข้าไปทำงานกับตัวตนด้านในของเรา เพื่อให้เข้าถึงสภาวะนั้น  พระฑากิณีก็เป็นพุทธะอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำงานกับโลกข้างใน และเชื่อมโยงออกมาเป็นความสัมพันธ์เดียวกันกับที่เรามีต่อโลกภายนอก แม้เราอาจไม่คุ้นเคยกับรูปแบบและคุณลักษณะของ “พุทธะที่เป็นหญิง” แต่หากได้เข้ามาทำความรู้จัก ศึกษา และลองฝึกปฏิบัติต่อไป นี่อาจจะเป็นแนวทางการเข้าถึงพุทธภาวะในแบบที่ลึกๆ เราตามหาก็เป็นได้

My dakini woman, my queen, my lady!

The visible form of my pure awareness,

Form not separate from me, nor yet a part of me,

The phenomenal appearance of empty space;

She is beyond compare and beyond words.


บทกวีโดย Kankaripa