วาดคุรุรินโปเช กับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา 4-5 พ.ย. 66

4-5 พฤศจิกายน 2566
9.00-17.00 น.

วัชรสิทธา เทเวศร์

รับจำนวนจำกัด 12 ท่านเท่านั้น!

ลงทะเบียนเรียน 3,650 บาท
สมาชิกกิจกรรมวัชรสิทธา ลด 10% เหลือ 3,285 บาท

สมัครสมาชิกใหม่ 5,000 บาท แล้วรับสิทธิเรียนคอร์สนี้ฟรีทันที

หมายเหตุ เรียนในพื้นที่จริง ไม่มีฟังย้อนหลัง

Thangka Painting Class

ศิลปะกับการภาวนา

ผ่านการวาดภาพจิตรกรรมแบบทิเบต (ทังก้า)

กับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา

ครั้งนี้จะเป็นการวาดคุรุปัทมสมภพ หรือ คุรุรินโปเช

  • การภาวนาเพื่อปลุกเร้าโพธิจิต
  • ชีวิตและแรงบันดาลใจของคุรุรินโปเช
  • สวดมนตร์คุรุรินโปเช
  • ศึกษาสัดส่วนในรูปวาดโพธิสัตว์
  • เทคนิคการวาดภาพร่างดินสอ
  • เทคนิคการลงสี

คอร์สวาดคุรุรินโปเช เป็นคอร์สต่อเนื่องจาก “วาดพุทธะ” ซึ่งการวาดคุรุรินโปเชจะมีรายละเอียดเยอะกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่สนใจก็สามารถสมัครเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะการวาดภาพมาก่อน

ตารางกิจกรรม

4 พ.ย.

  • เกริ่นนำ ทำความรู้จักคุรุรินโปเช, วัชระคุรุมนตร์, บทสวดเจ็ดบรรทัด
  • ตั้งโพธิจิตในการวาด
  • เริ่มการฝึกร่างสัดส่วนพระพักตร์
  • ร่างภาพคุรุเต็มองค์ พร้อมองค์ประกอบต่างๆ ลงบนผืนผ้าใบ

* มีภาพสัดส่วนตัวอย่างแจกให้ประกอบการเรียน *

5 พ.ย.

  • แนะนำการใช้สีต่างๆ แสดงตัวอย่างการลงสี
  • เริ่มลงสีบนภาพร่าง
  • ลงสีและตัดเส้นให้สมบูรณ์
  • สวดภาวนาถึงคุรุรินโปเช
  • อุทิศกุศลในการวาดแก่สรรพสัตว์

วิทยากร
อ.ดอน ศุภโชค

มีความสนใจด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เชื่อมโยงกับศาสนาต่างๆ ตลอดจนความเชื่อและความคิดของผู้คน มีความสนใจในพุทธศาสนาหลายสายปฏิบัติ รวมถึงพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบต ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนั้นยังเป็นแอดมินและคนวาดการ์ตูนเพจ Zen Smile, Zen Wisdom

บทสะท้อนประสบการณ์
ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม “วาดคุรุรินโปเช” ณ วัชรสิทธา

“เดี๋ยวอีกสักครู่ ก็จะวาดตาให้ดูเป็นแนวทางนะครับ ตอนนี้ก็ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ไปก่อนนะครับ มีอะไรสงสัยถามได้ตลอดนะครับ ไม่ต้องเกรงใจครับ….”

ครูเอ่ยขึ้น…ท่ามกลางความเงียบที่พวกเรากำลังต่างอยู่กับการระบายแต่งแต้มสีในร่างท่านคุรุรินโปเชที่พวกเราวาดขึ้นจากผ้าใบ/ กระดาษสีขาวในพื้นที่ว่าง และสำหรับในการเรียนครั้งนี้ เรียกว่า ศิลปะกับการภาวนาผ่านการวาดภาพจิตรกรรมแบบทิเบต (ทังก้า), วาดคุรุรินโปเช

“สบาย ๆ นะครับ ค่อย ๆ เขียนไป ไม่ต้องรีบนะครับ สำคัญอยู่ที่เราวาดเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ครับ….”

เป็นประโยคที่ครูมักจะเอ่ยขึ้นอยู่บ่อย ๆ อาจจะเพื่อเป็นการเตือนสติพวกเรา หรืออาจจะให้กำลังใจ ในเวลาที่เรากำลังง่วนอยู่กับวาดภาพ เพราะแน่นอนว่า บางครั้งในเวลาที่เราทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง มักจะใส่ความจริงจัง เพื่อต้องการให้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตรงหน้านั้น…ออกมาให้ดูดี และอาจจะมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นบ้าง ในเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ ทำไมเส้นมันไม่สวย ทำไมไม่เสมอกัน ทำไมสองข้างไม่เท่ากัน ทำไมสีไม่เรียบเนียน บลา บลา…จนลืมนึกไปว่า ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น ความทรงจำของกล้ามเนื้อมือ ข้อมือและข้อศอกของเรา แทบไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการวาดหรือการระบายสีเลย ดังนั้นเสียงของครูที่เอ่ยขึ้นมาในบางจังหวะของความเงียบนั้น ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย กลับมารู้สึกดีกับภาพที่อยู่ตรงหน้า แม้จะไม่สมมาตร แม้จะไม่สมบูรณ์อย่างที่เห็นในภาพตัวอย่าง แต่เรากลับมีความรู้สึกผุดขึ้นในใจว่า มันก็โอเคนี่นา….

“ภาพทังก้าเป็นภาพ………”

ครูอธิบายที่มาที่ไป ในการวาดคุรุรินโปเชในครั้งนี้ เป็นการเรียนทางออนไลน์ 4 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง เรารู้สึกดีตรงที่ครูอธิบายความสำคัญของภาพทังก้า ความสำคัญและการเคารพท่านคุรุรินโปเช รวมทั้งจุดมุ่งหมายในการวาด และเมื่อนำไปสู่การเรียนการวาดนั้น ครูก็จะค่อย ๆ บอกทีละขั้น เริ่มตั้งแต่การตีเส้นสเกล การวาดโครงหน้าท่าน การร่างองค์ท่าน การระบายสี และครูก็จะวาดให้ดูเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเทคนิคการลงสี และเหนือสิ่งอื่นใด ครูปล่อยให้เรามีอิสระในการลงมือทำ ไม่มีคำตัดสินว่า นี่ถูกหรือผิด

สำหรับในแต่ละครั้งที่เรียน ในความรู้สึกเรา 3 ชั่วโมงผ่านไปเร็วมาก แต่เป็น 3 ชั่วโมงที่ทำให้เรานิ่งและมีใจอยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าได้ แม้จะมีความวอกแวก ความคิดที่แฉลบไปมาในระหว่างวาด แต่ทุกครั้งที่มือเคลื่อนไหวอยู่เกือบตลอดเวลา มันก็ทำให้วูบของความคิดที่ไหลเข้ามา มันก็แค่ผ่านมาและผ่านไป หรืออาจจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของคุรุที่อยู่เบื้องบน หรือคุรุที่อยู่ในภาพที่กำลังวาด หรือคุรุที่อยู่ในใจเรา ที่ท่านกำลังอำนวยอวยพรให้เราพบกับความสงบนิ่ง การปล่อยวางในความไม่สมบูรณ์แบบ รวมทั้งความไหลลื่นในการอยู่กับปัจจุบันขณะในการวาด ที่เรารู้สึกหาได้ยากในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

เป็นคลาสเรียนที่เงียบมากที่สุดตั้งแต่ที่ได้เรียนกับวัชรสิทธามา แต่ทรงพลังและมีความหมายคุณค่าต่อจิตใจเรามาก ขอบพระคุณครูดอน น้องขนุน เพื่อนร่วมคลาสเรียนที่ได้ใช้เวลาร่วมกันที่เรียกว่า….ศิลปะกับการภาวนา….

Tara 31.10.2564