“คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?” : เรียนรู้อำนาจผ่านการสำรวจความรู้สึก ในฐานะวิถีเฟมินิสต์

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
สะท้อนประสบการณ์จากกิจกรรม Gender Awareness and Social Justice โดย อวยพร เขื่อนแก้ว


“แล้วคุณรู้สึกยังไง?”

ในคอร์ส gender awareness & Social Justice กิจกรรมเรียนรู้สามวันเข้มข้น กับ อ.อวยพร เขื่อนแก้ว เราจะได้ยินประโยคนี้ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง  เรียกได้ว่า กิจกรรมหลักที่ทำในคอร์ส คือการสำรวจความรู้สึกของตัวเอง แล้วสะท้อนมันออกมา


พอมานั่งย้อนนึก ความรู้ที่เราได้มาจากคอร์สนี้ส่วนใหญ่ เป็นเนื้อหาสาระที่มีความสำคัญมากต่อชีวิต ทั้งเรื่องอำนาจ แหล่งที่มาของอำนาจ รูปแบบการใช้อำนาจ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับเรื่องเพศ เพศวิถี เราได้เรียนรู้ทั้งหมดนี้ ด้วยการเริ่มต้นจากการดูว่า “เรารู้สึกอะไร” … จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากตัวเรา จากความรู้สึกของเรา…มันขยายไปสู่ประเด็นเชิงสังคมได้อย่างไร?


ฉันรู้สึก…

เราจับคู่ เผชิญหน้ากัน คนหนึ่งนั่ง อีกคนยืนค้ำหัว อ.อวยพรถามความรู้สึกของคนนั่งว่ารู้สึกอย่างไร คนยืนรู้สึกอย่างไร และจดความรู้สึกเหล่านั้นไว้บนกระดาน

ความรู้สึกของคนนั่ง อึดอัด ต่ำเตี้ย ตัวเล็ก ไม่ปลอดภัย ไม่มีอิสระ สบายที่ได้นั่ง ไม่เมื่อย ด้อยค่า ไม่พอใจอีกฝ่าย

ความรู้สึกของคนยืน ปลอดโปร่ง ขัดเขิน มองได้กว้าง มีอิสระ มีอำนาจเหนือกว่าคนนั่ง สงสารคนนั่ง

ทุกคนในชั้นเรียนช่วยกันสะท้อนสิ่งที่ตัวเองรู้สึกออกไปเรื่อยๆ หากคนไหนพยายามพูดแล้วกลายเป็นความคิด อ. อวยพรก็จะดึงกลับมาให้สนใจแค่ “ความรู้สึก” เท่านั้น จากการแชร์ความรู้สึกตรงนั้น ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างเราและเพื่อนๆ คนอื่นในห้อง เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เราต่างมีร่วมกัน และจากตรงนั้นเอง อ. อวยพรจึงพาเราไปรู้จักกับรูปแบบของอำนาจและการใช้อำนาจในสังคม

Power Over, Power Sharing และ Power within

จากความรู้สึกของคนนั่งและคนยืน เราได้เรียนรู้รูปแบบการใช้อำนาจที่เรียกว่า Power Over หรือ อำนาจเหนือ คือการที่คน องค์กร สถาบัน หรือรัฐ ใช้อำนาจที่ตัวเองมีเพื่อกดทับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ไม่ว่าจะด้วยการควบคุม ดุด่า ทำร้าย ด้อยค่า จำกัดอิสระ และอีกหลายวิธีการ ซึ่งปรากฏในสังคมไทยในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับสถาบันครอบครัว พ่อแม่ที่มีอำนาจมากกว่าใช้อำนาจกดทับลูก ระดับองค์กร เจ้านายกดทับลูกน้อง ใหญ่ขึ้นไปจนระดับผู้นำประเทศ

แล้วคนเหล่านั้นได้อำนาจมาจากไหน อำนาจที่มองไม่เห็นนี้มีอยู่มากมาย ในคอร์สเรียน พวกเราช่วยกันคิดถึงแหล่งอำนาจว่ามีอะไรได้บ้าง เราพบว่าแหล่งอำนาจมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษา ฐานะทางสังคม ความร่ำรวย รูปร่างหน้าตา สีผิว ชาติพันธุ์ อาชีพ ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอภิสิทธิ์ของผู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งอำนาจได้มากกว่า ในขณะที่ผู้ถูกกดทับก็คือผู้ที่มีอัตลักษณ์อีกด้านหนึ่ง คืออัตลักษณ์ชายขอบ จำพวก เด็ก คนจน ชนชั้นแรงงาน คนรักต่างเพศ ผู้หญิง คนพิการ คนเหล่านี้ถูกสถาบันต่างๆ ในสังคมกีดกันออกจากแหล่งอำนาจ ผ่านการหล่อหลอม (socialize) ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรม สื่อ และการปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียน 

การใช้อำนาจแบบ Power Over มีทั้งด้านดีและไม่ดี บางครั้งการทำงานในองค์กรก็ต้องการการใช้อำนาจเหนือของผู้นำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อหลายๆ ฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจเหนือที่ทำร้ายผู้อื่นนั้นมีมากมายโดยที่เราอาจทั้งรู้ตัวและไม่ทันสังเกต อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยใกล้ตัว เช่นการที่แม่ถูกกดทับจนไม่มีสิทธิ์มีเสียงในบ้าน ด้วยอัตลักษณ์ที่ด้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง และเป็นลูกสะใภ้ ไปจนถึงอำนาจเหนือที่กดทับในระดับสังคม โดยเฉพาะในระบอบการปกครองแบบเผด็จการหรือปิตาธิปไตยเช่นนี้ ตัวอย่างจากเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชนในการปราบปรามการชุมนุม การที่เราได้มาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ช่วยให้มีการตระหนักรู้และสายตาที่กว้างไกลขึ้น ทำให้รู้ตัวว่ากำลังถูกอะไรกดทับ หรือเราเองกำลังใช้อำนาจเหนือกับใครอยู่หรือเปล่า

หลังจากที่อ.อวยพรให้เราสำรวจความรู้สึกจากการเป็นคนยืนและคนนั่ง ก็ให้แต่ละคู่ตกลงกันว่าจะอยู่อย่างไรให้สบายใจทั้งสองฝ่าย บางคู่เลือกที่จะยืนเท่ากัน บ้างก็นั่งพื้นด้วยกัน จากนั้น อ.อวยพรจึงแนะนำให้เรารู้จักถึงรูปแบบการใช้อำนาจร่วม หรือ Power Sharing / Shared Power

ความรู้สึกจากการที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในระดับเท่าๆ กันเป็นความรู้สึกด้านบวก รู้สึกเท่าเทียม ใกล้ชิด พร้อมที่จะสื่อสาร ไม่มีฝ่ายใดด้อยกว่า เราได้ลองสังเกตว่าการใช้อำนาจรูปแบบนี้ปรากฏขึ้นในความสัมพันธ์แบบใดบ้างในชีวิต ซึ่งก็พบเจอได้ในความสัมพันธ์แบบเพื่อน แบบคนรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้จากการที่ทั้งสองฝ่ายเปิดใจกัน ใส่ใจ และแบ่งปันเรื่องราวให้แก่กัน รวมถึงให้พื้นที่และเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย การใช้อำนาจร่วมเช่นนี้เป็นรูปแบบการใช้อำนาจที่ดี ไม่กดทับใคร และยอมรับถึงความแตกต่าง ซึ่งทางออกหนึ่งจากการถูกกดทับจากอำนาจเหนือ เราอาจต้องหาทางยืนให้เท่าอีกฝ่าย หรือดึงอีกฝ่ายลงมานั่งเท่าๆ กันกับเรา


นอกจากอำนาจที่มาจากแหล่งภายนอก เราทุกคนยังมีอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ อำนาจภายใน หรือ Power Within เป็นศักยภาพที่เรามีในตนเองเพื่อที่จะนำไปรับมือกับสิ่งต่างๆ ความรุนแรง ความไม่เท่าเทียมในสังคม บางคนอาจมีมาก บางคนอาจถูกกดเสียจนมองไม่เห็นอำนาจนี้ภายในตัวเอง เราทุกคนสามารถฟื้นฟู (empower) ศักยภาพนี้ได้ด้วยการดูแลตัวเอง และจากการพูดคุยกับผู้อื่นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพลังของเรากลับมา


และทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ เราได้เรียนรู้จากการเริ่มต้นสำรวจความรู้สึกตัวเอง!

หยุดเมินความรู้สึกแล้วหันมาสำรวจมัน

เราอาจไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้ผ่านความรู้สึกในลักษณะนี้ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราถูกสอนว่าความรู้สึกเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเหตุผล และการใช้ความรู้สึกแก้ปัญหาจะไม่นำไปสู่ทางออกที่ดี ดังนั้นวิธีการต่างๆ ของเราจะต้องใช้เหตุผล และบ่อยครั้งเป็นการกดทับความรู้สึกเอาไว้

หารู้ไม่ นี่เป็นวิธีคิดที่ได้มาจากสังคมชายเป็นใหญ่!

ในคอร์ส gender awareness เราได้เรียนรู้ถึงกรอบความเป็นชายและความเป็นหญิงที่เราต่างถูกหล่อหลอมมา เช่น ลักษณะความเป็นชายคือแข็งแรง ใช้เหตุผล ต้องเป็นผู้นำ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มีอำนาจ ใช้ความรุนแรงได้ ในขณะที่ความเป็นหญิงจะมีลักษณะของความอ่อนโยน ใช้อารมณ์ความรู้สึก เป็นผู้ตาม รับฟัง และต้องพึ่งพิง

สังคมทุกวันนี้ยังเป็นสังคมที่ให้คุณค่ากับ “ผู้ชาย” มากกว่าผู้หญิง ดังนั้นบทบาทของผู้ชายและลักษณะตามกรอบความเป็นชายจึงเป็นกระแสหลักที่ครอบเราเอาไว้ สังคมที่เราอยู่จึงออกมาในลักษณะที่สะท้อนความเป็นชายเหล่านั้นออกมา อำนาจนิยม ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ขาดการรับฟัง และที่เห็นชัดอีกอย่างคือ กดทับความรู้สึก

ตัวเราที่อยู่ภายใต้กรอบคิดนี้ก็ทำให้กระบวนการคิดของเราเป็นไปแบบนั้น แม้แต่ผู้หญิงหรือเพศอื่นๆ ก็ถูกหล่อหลอมด้วยวิถีแบบนี้เช่นกัน พอมาเจอกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องทำงานกับความรู้สึกเช่นนี้จึงไม่ชินเอาเสียเลย


พลังความเป็นหญิงกับการโอบรับอารมณ์ความรู้สึก

The purpose of feminism is to free the uniqueness of the individual and to understand that inside each of us is a unique human being who is a combination of heredity and environment.

– Gloria Steinem

อ.อวยพรบอกกับพวกเราว่า นี่เป็นการใช้หลักเฟมินิสต์ในกระบวนการคิด การเรียนรู้ หรือคือใช้พลังความเป็นหญิงมานำทางพวกเราผู้ติดอยู่ภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ ด้วยการรับฟังและโอบรับอารมณ์ความรู้สึก เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก ความจริงเราไม่จำเป็นต้องละเลยหรือกดทับความรู้สึกเลย กลับกัน การที่เราใส่ใจความรู้สึกของตัวเอง ลงไปสำรวจ ทำความเข้าใจและให้คำเรียก (naming)   ไม่ว่าจะ “ดีใจ” “โล่ง” “เศร้า” “ผิดหวัง” จากการตระหนักกับตัวเองตรงนี้ จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเข้าใจในระดับปัญญาญาณได้

ภายใต้กรอบคิดชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำไปถึงกระบวนการคิดของเรา การใช้อารมณ์ความรู้สึกถูกตัดสินว่าจะไม่นำพาไปสู่ปัญญาความรู้ จะต้องใช้ตรรกะและเหตุผลเป็นเครื่องมือเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเรายังสามารถมีความรู้ในอีกลักษณะ นั่นคือปัญญาญาณ หรือการตระหนักรู้ที่ก้าวข้ามระดับตรรกะและเหตุผลขึ้นไป เป็นการหยั่งรู้ในภาวะที่เรามีสติตื่นรู้ (awareness) และการที่เราจะทำงานกับความรู้สึก เราต้องรับฟังและอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งนั่นจะนำพาไปสู่การเกิดขึ้นของปัญญาญาณ อันจะนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติ อย่างที่เราประจักษ์แล้วในคอร์สเรียนนี้

ด้วยการโอบรับความรู้สึกนี้ สามารถสร้างสิ่งใหม่จากวิถีเดิมที่เราอยู่ เมื่อกลับมามีสติรับรู้ความรู้สึกของตัวเอง ตรงนั้นเองเราจะเกิดสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงตัวเราและมนุษย์คนอื่นๆ เข้าด้วยกัน เพราะความรู้สึกเป็นสิ่งสากลที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน เมื่อไรที่เราเชื่อมต่อกับความรู้สึกข้างในได้ เราก็เชื่อมต่อกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ ดังนั้นการใส่ใจความรู้สึกตามวิถีเฟมินิสต์นี้ จะลดความขัดแย้งจากความเป็นอื่น และโอบรับความเป็นมนุษย์ของทุกคนไว้อย่างไม่แบ่งแยก



รื้อถอนโครงสร้างอำนาจชายเป็นใหญ่ด้วยการใส่ใจความรู้สึก: จิตวิญญาณเฟมินิสต์กับการรับฟัง

กล่าวได้ว่าจิตวิญญาณเฟมินิสต์อีกอย่างหนึ่งคือการรับฟัง ในขณะที่กรอบเพศชายในระบบชายเป็นใหญ่ จะเป็นผู้นำ ควบคุม สั่งสอน ไม่รับฟังเสียงใคร ความเป็นหญิงจะรับฟังและโอบอุ้มประสบการณ์ของผู้อื่น สิ่งที่อ.อวยพรสอนพวกเราในคอร์สอีกอย่างคือ การฟังอย่างมีสติ (mindful listening/deep listening) การที่ผู้ฟังมีสติอยู่กับผู้พูดตลอดเวลา ไม่ใจลอย ไม่ไหลตามไปกับเรื่องราวที่ได้ยิน อยู่กับลมหายใจตนเองและเปิดรับฟังคนตรงหน้า การฟังเช่นนี้ทำให้อีกฝ่ายมีความกล้าที่จะสำรวจความรู้สึกของตัวเองและพูดมันออกมา ด้วยความที่ผู้ฟังตรงหน้าเป็นดั่งพื้นที่ว่างอันปลอดภัยที่พร้อมจะโอบรับทุกอย่าง และเมื่อเรื่องราวจบลง ผู้ฟังก็จะสะท้อนอำนาจภายในของอีกฝ่ายที่ปรากฏออกมาผู้พูดได้เห็น มอบ empathy ช่วยฟื้นฟูพลังอำนาจภายในให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงการมีอยู่ของพลังนั้นภายในตัวเขาเอง

ตลอดชีวิตที่ติดอยู่ภายใต้กรอบชายเป็นใหญ่ เราละเลยความรู้สึกของตัวเองด้วยความเคยชิน แต่สิ่งที่ได้ทำในคอร์สนี้ คือการรับฟังและใส่ใจความรู้สึก เราสามารถเชื่อมโยงกับผู้คน เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ ก่อให้เกิดการตระหนักรู้และเติมพลังภายในให้แก่กัน ซึ่งมันเกิดขึ้นจริง ภายในระยะเวลาสั้นๆ ความรู้สึกของการได้การฟื้นฟูพลังภายในทำให้จิตของเราสว่างขึ้นมาด้วยความหวัง เกิดมวลความรู้สึกที่สว่างไสว เติมเต็ม มีอิสระ และมั่นใจที่จะเป็นตัวเองมากกว่าเดิม แผ่นหลังเราเหยียดตรงขึ้นด้วยเจตจำนงภายในของตัวเราเอง พร้อมที่จะยืนอย่างสง่างามภายใต้อำนาจใดๆ ที่กดทับไว้ และกล้าที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง

หากการโอบอุ้มความรู้สึกและความเป็นมนุษย์ที่เคยถูกกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่คือหนทางแบบเฟมินิสต์ แค่จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการสำรวจความรู้สึก อาจเป็นชิ้นส่วนสำคัญอันจะนำไปสู่การถอดรื้อกรอบคิดชายเป็นใหญ่ และเปิดพื้นที่ให้ “ความเป็นหญิง” ได้มีบทบาท สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการฟังและการรับรู้กันและกัน กลายเป็นสังคมที่มีพื้นที่ให้แก่ประสบการณ์ โอบรับความแตกต่าง อ่อนโยน และเข้มแข็งจากภายใน

เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เลิกเมินความรู้สึก หันมาเปิดใจ รับฟัง และใส่ใจความรู้สึกทั้งของเราเองและผู้อื่นกันเถอะ เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว