จัดดอกไม้ให้ได้อย่าง ‘แม่บ้านยิว’ ต้องที่วัชรสิทธา เทเวศร์!

บทความโดย KHANOON วัชรสิทธา

ตั้งแต่โควิดกลับมาระบาดหนัก วัชรสิทธาก็ห่างหายจากการจัดคอร์สอิเคะบานะในพื้นที่จริงมากว่า 1 ปี! แม้ว่าคอร์สออนไลน์จะทำให้เพื่อนๆ ต่างจังหวัดมีโอกาสได้เรียนโดยไม่ต้องเดินทางไกล แต่ข้อจำกัดเรื่องจำนวนพืชพรรณ และประเภทแจกันก็ทำให้เราเล่นสนุกได้ไม่เต็มที่ พอวัชรสิทธากลับมาอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้หอมๆ หลากชนิดอีกครั้ง เราเลยรู้สึกอยากกระโดดโลดเต้นอยู่หน่อยๆ (โปรดจินตนาการว่ามีเพนกวินกระโดดในทุ่งดอกไม้)

ความพิเศษสำหรับปีนี้คือกลุ่มนักเรียนที่เคยผ่านคอน์สดอกไม้สื่อใจ ขั้น 1 มาแล้ว พอมาเรียนขั้น 2 ในคอร์ส “ความกลมกลืน” ก็ได้เปลี่ยนสถานที่เรียนตามการย้ายบ้านของวัชรสิทธาไปด้วย แถมพื้นที่ใหม่ยังใหญ่กว่าเดิม และเต็มไปด้วยมุมน่าสนใจให้ทุกคนได้ทดลองปลดปล่อยพลัง ‘แม่บ้านยิว’ กันอย่างเต็มที่

ด้วยความที่วัชรสิทธาริมถนนพิชัยเคยเป็นออฟฟิศเก่า อะไรๆ เลยถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย พื้นที่นั้นจึงชวนให้เราเข้าไปสัมพันธ์กับ ‘ความเรียบง่าย’ ตามขนบญี่ปุ่น แต่กับวัชรสิทธา เทเวศร์ ร่องรอยอารยธรรมของความเป็นบาร์ เสน่ห์แบบดิบๆ ความย้อนยุคซึ่งหลงเหลืออยู่ (แม้ว่าเราจะปรับปรุงให้เรียบร้อยมากขึ้นแล้วก็ตาม) ล้วนปลุกเร้าจิตวิญญาณแม่บ้านยิวในตัวเราให้ออกมาชื่นชม และรื่นรมย์ในความรุ่มรวยของสถานที่

คนที่เคยมาเยือนบ้านใหม่ของเราคงพอจะรู้แล้วว่าที่นี่ไม่ได้เงียบเท่าที่เก่า เสียงรถราจากสี่แยกไฟแดงอาจทำให้การสื่อสารกับดอกไม้มีความคิดปะปน แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับกลายเป็นไม่ได้ยินเสียงรบกวนไปซะอย่างนั้น เราเริ่มจะเพลิดเพลินกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ไม่รู้ว่าเพราะพื้นที่นี้มัน กว้างงงงงงงงงง มาก หรือหลายๆ คนเป็นมนุษย์บ้าพลังอยู่แล้ว จัดแจกันแรกเสร็จก็ไปจัดอีกแจกัน และมีแนวโน้มว่าจะจัดเพิ่มอีกถ้าพี่เชคไม่บอกหมดเวลา

ทั้งที่พื้นที่กว้างขนาดนี้ต้องใช้พลังงานในการสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเพื่อให้แจกัน ดอกไม้ และสถานที่เกิดความกลมกลืน ขณะเดียวกันก็คือความเปิดกว้างที่จะรองรับสิ่งต่างๆ จากแจกันเรียบๆ หน้าแท่นบูชาเพื่อแสดงความเคารพ ในแจกันที่พี่เชคจัดในวันเตรียมสถานที่กลับมีทั้งสีแดงของมิกกี้เมาส์ สีเหลืองของแคงการู และสีม่วงจากดอกมากาเร็ต เข้ากับสีภาพทังกะคุรุรินโปเชด้านหลัง

แม้ห้องกิจกรรมหลักจะมีทั้งดอกไม้ แจกัน เบาะนั่ง และโต๊ะจัด ก็ยังมีพื้นที่ให้เดินเล่น เลือกดอกไม้กันแบบเหลือๆ พอทุกคนได้จัดดอกไม้ในสถานที่จริง เราก็เห็นเลยว่าต่อให้แจกันของทุกคนจะมีองค์ประกอบที่ดูไม่เข้ากันบ้าง มันกลับอยู่ด้วยกันได้อย่างสวยงาม ทุกแจกันมีพื้นที่แสดงตัวตนของตัวเอง เชื่อมโยงถึงกันแบบหลวมๆ ไม่มีอะไรที่ไม่เข้าพวก คนจัดอาจจะไม่ได้ถามเพื่อนด้วยซ้ำว่าจะจัดยังไง ใช้ดอกไม้สีไหน จัดของตัวเองไปพร้อมๆ กับคอยสังเกตของคนอื่น ความกว้างจนขี้เกียจเดินของห้องนี่มันมีผลจริงๆ นะ (หัวเราะ)

ห้องเรียนว่ากว้างแล้ว ห้องหรีะยังกว้างกว่าได้อีก! เราเลยเห็นคนจัดใหญ่ จัดเต็ม เติมห้องว่างๆ ให้เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาพร้อมต้อนรับผู้ชมงานแสดงดนตรี “เปิดฟ้า” ของ ‘ฟ้า ศาลศิลป์’ ในคืนวันนั้น ตรงบาร์ซึ่งมีฉากหลังเป็นแจกันเรียงรายเองก็ทำให้ผู้จัดได้ลองใช้แจกันทรงแปลกมาจัดวางรวมกันอย่างกิ๊บเก๋มีสไตล์ อะไรแบบนี้หาดูไม่ได้ที่ถนนพิชัยนะฮะ จนเราอยากอุทาน เออว่ะ มันจัดแบบนี้ได้ด้วยเว้ย! องค์ประกอบใหม่ๆ อย่างภาพตาราขาวในห้องพักนักเรียน มุมกระจกสี ทั้งหมดคือเพื่อนใหม่ที่เราอยากทำความรู้จัก น่าเสียดายที่ห้องน้ำที่นี่เล็กไปหน่อย ไม่อย่างนั้นคงได้เจออะไรแปลกแหวกแนวเพิ่มอีกแน่

ความกล้าที่จะจัดของหลายคนทำให้เหล่าแม่บ้านญี่ปุ่นเห็นความเป็นไปได้ในการนำพืชมากชนิดมาจัดรวมกันอย่างกลมกลืน เพราะมันก็น่าสนุกไปอีกแบบเหมือนกัน สำหรับแม่บ้านยิวก็สามารถเปลี่ยนกลับมาสู่โหมดน้อยแต่มากได้หากพื้นที่ไม่จัดสรรให้เล่นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะของความเรียบง่าย หรือความรุ่มรวยซึ่งเราปรารถนาจะทำงานด้วย ออมมี่แอบบอกว่าเจ้าที่ของตึกนี้จะพาเราไปตามเสียงเรียกภายในเอง (ขยิบตา)