“ความสุขของเธอคือความสุขของฉัน” – มุทิตาภาวนา

เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา

ความสุขที่เห็นผู้อื่นมีความสุข “sympathetic joy” คือ คุณสมบัติของ “มุทิตา”

ชารอน ซัลซ์เบิร์ก วิปัสสนาจารย์หญิงชาวตะวันตก ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของมุทิตา ในฐานะหนึ่งในคุณลักษณะของหัวใจอันไพศาลสี่ประการ ที่เรียกว่า “พรหมวิหารสี่” ในพุทธศาสนา

การจะรู้สึกมีความสุขในความสุขของผู้อื่นได้นั้น สำหรับคนส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ บางทีอาจถึงขั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ ชีวิตที่เรามักเสียเวลาและพลังงานชีวิตไปกับการแข่งขัน เปรียบเทียบ หรือกระทั่งรู้สึก “หมั่นไส้” คนอื่น

จึงกลายเป็นว่า ยามที่คนอื่นมีความสุข เรากลับเป็นทุกข์​

ยิ่งคนอื่นมีความสุขมาก เราก็ยิ่งเป็นทุกข์กับตัวเองมาก

หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เราอาจเริ่มมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น…

ก็เพราะใครๆ ก็อยากได้ความสุข เวลาเห็นใครบางคนประสบความสำเร็จ หรือมีโชคหล่นทับ อาจมีเสียงดังขึ้นในใจว่า “โอ้โห ฉันหวังว่าอะไรดีๆ จะไม่เกิดขึ้นกับเธอเยอะขนาดนั้นนะ แสงสปอตไลท์ไม่ต้องส่องไปทางนั้นเยอะก็ได้ เฮ้อ! ช่วยลดความจ้าลงหน่อย!”

แต่ความสุขไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่จะแก่งแย่งจากกันได้…



เราสามารถฝึกที่จะใช้โอกาสที่คนอื่นมีความสุข ในการมีความสุขที่คนอื่นมีความสุขได้ เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่า ความสุขของพวกเขากำลังพรากอะไรบางอย่างไปจากเรา เราสามารถรับรู้ถึงความสุขที่พวกเขากำลังรู้สึกว่าเป็นความสุขของเราด้วย ราวกับว่าใจเขาก็ไม่ต่างจากใจเรา

ลองนึกถึงเวลาที่เธอได้รับมุทิตาจากคนอื่นดูสิ ใครบางคนมีความสุขที่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเธอ เขาแสดงความยินดีจากใจจริงในความสำเร็จหรือความโชคดีของเธอ ทำให้เธอรู้สึกราวกับได้รับของขวัญอันยิ่งใหญ่ซ้อนเข้าไปอีกชั้น

ตรงกันข้ามกับเวลาที่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเธอ แล้วคนรอบข้างไม่มีความสุขกับเธอด้วย เขาอาจจับจ้องมาที่เธอ แม้จะไม่มีคำพูด แต่ก็สามารถรู้สึกได้ ยามที่มีคนรู้สึกแย่เพราะความสุขของเธอหรือความมีโชคของเธอ มันเป็นอะไรที่รู้สึกไม่ดีเอามากๆ ประหนึ่งว่าความสุขส่วนตัวที่ปราศจากมุทิตา ยังไม่อาจเรียกว่าเป็นความสุขที่แท้จริงได้

ในพรหมวิหารสี่ อันประกอบด้วย ความรัก (เมตตา) ความปรารถนาดี (กรุณา) ความยินดี (มุทิตา) และความไว้วางใจ (อุเบกเขา) ความยินดีกับความสุขของผู้อื่นอาจกลายเป็นคุณลักษณะที่ยากที่สุดที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้น สำหรับคนบางคนอาจเป็นเรื่องธรรมชาติมากที่เมื่อคนอื่นมีความสุข ก็รู้สึกมีความสุขตามไปด้วย แต่สำหรับพวกเราหลายคน มันเป็นอะไรที่ต้องอาศัยการฝึกฝน

มีสมมติฐานมากมายที่เรายึดถือไว้ และจำเป็นต้องถูกท้าทายเพื่อการบ่มเพาะมุทิตาจิต

ยกตัวอย่างเช่น หากเรายึดมั่นว่าเราคือผู้ที่ควรได้รับ รางวัล คำชื่นชม ความสำเร็จ หรือโชคดี แต่แล้วกลับมีใครบางคนเข้ามาแทรกแซงแล้วแย่งสิ่งเหล่านั้นไปจากเราหน้าตาเฉย เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นควรเป็นของเรา เรารู้สึกเหมือนถูกขโมยหรือแย่งของของเราไป ความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยมาก หากเรารู้สึกว่าชีวิตอยู่ท่ามกลางการแข่งขันกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และเป็นการแข่งขันที่เราไม่อาจแพ้ได้ เราก็จะไม่สามารถบ่มเพาะความเป็นมิตร หรือความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ผลก็คือ การชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จของผู้อื่นจากใจจริง ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

แต่เราก็ไม่ได้แข่งขันกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลาซะเมื่อไหร่ เราไม่ได้กำลังสมัครเดียวกันกับเขา ไม่ได้สอบเข้าคณะเดียวกันกับเขา ไม่ได้สอบชิงทุนทุนเดียวเขา ดังนั้นความสำเร็จของเขาก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความสำเร็จของเราสักหน่อย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแปลกที่เรายังรู้สึกราวกับว่า มีบางสิ่งบางอย่างถูกแย่งหรือขโมยไปจากเรา แถมเรายังมีปฏิกิริยาโต้ตอบไปตามความเคยชินเช่นนั้น

นอกจากนั้น ลึกๆ เรายังยึดติดอยู่กับความคิดที่ว่า ความสุขมีอยู่จำกัด ราวกับเป็นสินค้าที่ขาดแคลน หากคนอื่นมีความสุขมาก โอกาสที่เราจะเข้าถึงความสุขจะน้อยลงทันที หรือบางทีเราก็ไปติดอยู่กับความคิดของความเที่ยงแท้ถาวร หากใครบางคนมีทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาก็จะมีแบบนั้นตลอดไป แล้วเธอก็จะไม่มีอะไรเลย ตลอดไปเช่นกัน

สำคัญที่เราจะต้องใคร่ครวญสมมติฐานผิดๆ เหล่านี้อย่างจริงจังและท้าทายหนทางที่เรายื้อยุดสิ่งต่างๆ เปรียบเทียบ แข่งขัน หรือหนทางที่เรารู้สึกว่างเปล่า ขาดพร่อง ยากจน และไม่เคยพอใจกับสิ่งที่มีหรือสิ่งที่เป็น

และนี่คือที่ซึ่งการภาวนากับ gratitude เป็นอะไรที่สำคัญมาก ก่อนเราจะยินดีกับการมีความสุขของผู้อื่นได้ เราจะต้องรู้สึกขอบคุณหรือชื่นชมยินดีต่อสิ่งที่เรามีหรือเป็นในทุกๆ วันให้ได้เสียก่อน เราฝึกบ่มเพาะท่าทีของความพึงพอใจในสิ่งเล็กๆ ที่เรามี สังเกตเห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งเล็กๆ ในชีวิตไปสู่สิ่งที่ใหญ่ขึ้น แทนที่จะมัวแต่เสียเวลาไปกับการบ่น ตั้งแง่ หรือคิดลบ

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะมี gratitude ต่อชีวิตของตัวเอง เราก็จะเริ่มมองความสุขหรือความสำเร็จของคนอื่นต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

นานมาแล้ว องค์ทะไลลามะเคยพูดถึงมุทิตาไว้ว่า

“การบ่มเพาะความยินดีต่อความสุขของผู้อื่น จะเพิ่มโอกาสที่เธอจะมีความสุขขึ้นเป็นหกพันล้านต่อหนึ่ง”

ทุกวันนี้อัตราต่อรองอาจเพิ่มเป็นเจ็ดพันล้านต่อหนึ่งแล้วก็ได้ ถือเป็นอะไรที่น่าลงทุนมากๆ เลยใช่ไหมล่ะ เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องอาศัยเงินเลยสักบาท

แค่คิดถึงความสำเร็จของคนอื่น หัวใจเธอก็เปี่ยมล้นด้วยความสุขแล้ว

เรียบเรียงจากบทความ “Your Happiness Is My Happiness”
https://tricycle.org/trikedaily/sharon-salzberg-sympathetic-joy/