“เราต่างปรารถนาความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และสันติภาพ”

สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจกันมากขึ้น :  NVC เครื่องมือชิ้นใหม่ที่น่าฝึกใช้ให้คล่องมือ
บทสัมภาษณ์ พี่ณัฐ ณัฐฬส วังวิญญู ระหว่างคอร์สอบรม Love in Translation แปลรักเป็นความ

สัมภาษณ์โดย THANYA วัชรสิทธา

หลังจากได้เรียนคอร์ส Love in Translation “แปลรักเป็นความ” กับพี่ญัฐ ณัฐฬส วังวิญญู เราก็ได้มีโอกาสมานั่งคุยกับพี่ณัฐนอกรอบระหว่างอาหารเย็น หลังผ่านคราฟต์เบียร์หอมๆ ไปได้สองสามแก้ว บทสนทนาระหว่างผู้ที่เพิ่งเริ่มทำความรู้จักเครื่องมือการสื่อสารรูปแบบนี้ กับพี่ณัฐผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้ NVC อยู่ในเนื้อในตัว ก็เริ่มต้นขึ้นภายใต้บรรยากาศสบายๆ กลางโต๊ะอาหารที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

NVC (Nonviolent Communication) หรือ การสื่อสารอย่างสันติ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำไปใช้สื่อสารกับผู้อื่นและตนเอง เพื่อไปสู่การให้ empathy แก่กัน หัวใจหลักของ NVC คือการจับความต้องการ เพราะทุกๆ การกระทำ ทุกๆ ความรู้สึกมีความต้องการบางอย่างแฝงอยู่ เครื่องมือ NVC นี้จะช่วยให้เราสามารถพบเจอความต้องการเหล่านั้น แล้วนำไปสู่การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจต่อกันและกัน

ในฐานะคนที่เพิ่งเคยรู้จัก NVC เป็นครั้งแรก ระหว่างที่เรียนในห้องเรียนก็ยังมีความสงสัยต่อ NVC ในระดับนิยามเบื้องต้น และที่ทางของการใช้งานของ NVC เวลานี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้มานั่งคุยกับวิทยากรนอกรอบเพื่อไขข้อสงสัย ที่คำตอบจากพี่ณัฐอาจจะเสริมเพิ่มความเข้าใจให้คนอื่นๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย

Q: ทำไม NVC ต้อง nonviolent และ violent communication ไม่ดีอย่างไรหรอคะ

พี่ณัฐ: คำถามง่ายเกินไปรึเปล่า (หัวเราะ) ถ้า violent แปลว่าการสื่อสารมันทำร้ายจิตใจอีกคน คือหมาป่า มันทำให้อีกฝ่ายเจ็บใจ เจ็บปวด น้อยใจ อะไรอย่างงนั้น นั่นคือ violent ในเชิง mental และ emotional

Q: กระบวนการ NVC ก็เลยเกิดขึ้นเพื่อทำให้ violence หายไป?

พี่ณัฐ: เพื่อเปลี่ยน เปลี่ยนรูปแบบของการสื่อสาร เราต้องเข้าใจว่า violence มันมาจากอะไร มันเป็นรูปแบบหนึ่งของวิธีการ และมันก็มาจาก need หรือความต้องการอะไรบางอย่างในเบื้องลึก และมันมีวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ต้องมี violence ไม่จำเป็นต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ รู้สึกถูก abuse อะไรแบบนั้น ซึ่งมันขึ้นอยู่กับเรา เราต้องการให้การสื่อสารของเราเป็นแบบไหน ต้องกลับไปถามตัวเอง อยากให้อีกฝ่ายเขารู้สึกเสียใจมั้ย รู้สึกแย่ รู้สึกเจ็บ รู้สึกลดทอนไหม หรืออยากให้เขาเข้าใจเรา ถ้าอยากให้อีกฝ่ายเสียใจก็พูดไปอย่างที่ใช้กันอยู่

Q: อย่างงั้น violence มันไม่ดีหรอคะ มีตัวอย่าง violence มั้ยคะ

พี่ณัฐ: มันทำให้เจ็บ ดีรึเปล่าล่ะ? (แสดง) “มึงหยุดพูดได้แล้ว! มึงไม่ต้องถามกูแล้วเนี่ย มึงเรียนมาขนาดนี้มึงยังไม่เข้าใจอีกหรอ กูอยากกินเบียร์แล้ว!” (หัวเราะ)

Q: อยากรู้ว่ามันมี violence ที่ดีมั้ยคะ

พี่ณัฐ: ที่ดีหรอ (คิด) violence ที่ดีมันก็ช่วยทำให้หยุดอีกฝ่าย คือโพล่งออกมาเลย หรือไม่เราก็ปกป้องตัวเอง พอแล้ว พอกันที อะไรแบบนี้ แต่พูดไปแล้วก็อาจรู้สึกแย่นะ คนฟังรู้สึกแย่ ดีมั้ยล่ะ …คือคำว่าดี ต้องดูว่าดีคืออะไร ถ้าคำว่าดีคือทำให้ดูแลความสัมพันธ์ ดูแลตัวเอง ดูแลอีกฝ่ายนึง แล้วไม่บาดเจ็บไปมากกว่านี้ ถ้าอันนั้นคือคำว่าดี ก็โอเค แต่มันก็อาจจะดีในชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

Q: รู้สึกว่าในคอร์สที่เรียนมา พอเราใช้ NVC เราเหมือนต้องเป็นผู้ surrender มันเป็นแบบนั้นจริงไหมคะ ไม่ได้คิดไปเองใช่มั๊ย เราต้องเป็นผู้ยอมในกระบวนการใช้ NVC เสมอรึเปล่า

พี่ณัฐ: surrender ในที่นี้ อาจหมายถึงไม่ได้พูดแบบที่เคยพูด ไม่คุ้นเคยที่ต้องพูดแบบนี้ เราต้องยอมปรับ เรา surrender กับสันติภาพ หรือความเข้าใจ surrender กับสิ่งที่เราต้องการ ถ้าเราต้องการความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจกัน อันนั้นแหละ surrender ก็แปลว่าเราก็ต้องปรับการฟัง ปรับนิสัยบางอย่าง ในโมเม้นต์นั้น ใช่ ต้อง surrender

ไม่งั้นเราก็ได้ผลลัพธ์แบบเดิมใช่มั้ย พูดไปเขาก็ไม่เข้าใจ ไม่เก็ท แต่ถ้าเรายอม มันคือการต้องฝืนตัวเอง ฝืนคือการฝึก ฝืนแปลว่าฝึก ฝืนหมายถึงการเติบโต เหมือนกับเราเข้า fitness เฮ้ยเราไม่เคยทำแบบนี้เลย อยากได้กล้ามเนื้อ แต่ถ้านั่งสบายๆ เฉยๆ มันก็ไม่ได้กล้ามเนื้อ ฉะนั้นมันต้องฝึกฝืน NVC ก็เหมือนกัน มันต้องมีวินัย ต้องมี practice  

อ.ณัฐ ณัฐฬส วังวิญญู ขณะกำลังนำอบรม ที่วัชรสิทธา เทเวศร์

Q: เราควรใช้ NVC ในชีวิตประจำวันเรามากแค่ไหนคะ

พี่ณัฐ: โห ตลอดเวลา หมายถึงว่าทุกครั้งที่เรารู้สึกว่าอยากสร้างความเข้าใจ พี่นี่ใช้เยอะมากนะ ธรรมชาติพี่เป็นอยากเข้าใจคน ถ้าให้พี่คุยกับบาร์เทนเดอร์เนี่ยนะ ขอแค่ห้านาทีเท่านั้นแหละ จะเข้าใจชีวิตเขาเลย ให้ empathy เขาได้เลย ด้วยการหาความต้องการของเขา เขาจะอยากรู้จักเราทันทีว่าคุณคือใคร

เอางี้นะ แม่ยายพี่เป็นคนจีน ชีวิตแม่-รันทดผ่านความยากลำบากอะไรมาเยอะแยะ แล้วเวลามีปาร์ตี้อะไรแกชอบระบายแล้วก็จะร้องไห้ ลูกหลานก็จะแบบ เฮ้อ หม่าม้าไม่ต้องพูดแล้ว ผ่านไปแล้ว มันไม่ได้ช่วยเขาไง เขาก็ยังแบบ ก็ฉันผ่านมาอย่างงี้ เขาร่ำรวยเขามีเงินแล้ว ไม่ได้แปลว่าร่ำรวยความเข้าใจให้ตัวเอง แผลยังมีอยู่ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกอะไรไม่รู้เยอะแยะไปหมด

พี่ก็ไปนั่งข้างๆ แกแล้วบอก หม่าม้ารู้สึกเสียใจใช่มั้ย ที่ทำขนาดนี้แล้วไม่มีใครมองเห็น มองเห็นคุณค่าหรือว่าอยากจะเห็นสิ่งที่หม่าม้าให้ แค่นั้นแหละแกก็ร้องไห้ออกมายกใหญ่เลย แปลว่าไร แกได้รับความเข้าใจ แล้วแกร้องไห้เสร็จปุ๊ป ตอนนั้นเป็นลูกเขยใหม่ๆ แกก็ถามเราว่า แกทำงานอะไรน่ะ (หัวเราะ) เมื่อก่อนไม่เคยสนใจเลย นี่ไง นี่คือ power of empathy ตอนหลัง ณัฐมาบ้าน ณัฐจะกินอะไร (หัวเราะ)

เพราะว่าทุกคนน่ะ ฟังไม่เป็น คือเห็นใจหม่าม้านะ แต่ว่าจบได้ป่ะ เรารู้เลยว่าจบไม่ได้ จะจบก็ต่อเมื่อมันได้เยียวยาจริงๆ โหแม่ แกขาดมาสามสิบปี จะให้จบภายในปีเดียวหรอ เป็นไปไม่ได้ การเยียวยาจะแบบรีบๆแบบนั้นไม่มี ไม่มีหรอก เพราะฉะนั้นมันถึง โอโห มันเวิร์คมาก

Q: อย่างงี้เราควรจะใช้ NVC ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกับใคร

พี่ณัฐ: ใช่แล้ว

Q: แล้วนอกจากความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว NVC สามารถใช้ในความสัมพันธ์โครงสร้างที่ใหญ่กว่าคนต่อคนได้มั๊ย เช่น ระดับสังคม การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐ

พี่ณัฐ: สำหรับพี่ NVC คือการสื่อสารที่เห็นคุณค่าของ need และการไม่ยอมแพ้หรือจำนนที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านั้น และการตอบสนองความต้องการบางอย่างมันต้องอาศัยรัฐ ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ถ้าเราต้องการการศึกษาที่ทำให้มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าคุณจะมีเงินหรือไม่มีเงิน มันต้องมาจากนโยบายรัฐและการอบรมครูให้เข้าใจเรื่องพวกนี้ ฉะนั้นการที่เราเข้าใจเรื่องพวกนี้เราสามารถไปสร้าง movement ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

Q: แล้วถ้าใน movement เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มันได้รับการปฏิบัติด้วยความรุนแรงอยู่ มันจะยังใช้ NVC ได้อยู่ไหมคะ เช่นความรุนแรงแบบปราบปรามม็อบ ความรุนแรงแบบกายภาพ

พี่ณัฐ: ไม่ได้ มันต้องใช้การตอบโต้แบบ nonviolent action หรือปฏิบัติการสันติวิธี นั่นคือการทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นถูกมองเห็น มีสักขีพยาน นึกออกมั้ย ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ มันจะไม่ใช่ NVC แบบ communication แต่มันคือการใช้กลยุทธ์ให้เป็นประโยชน์ ทำให้การกระทำความรุนแรงเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าอับอายต่อ domestic community, international community ทุกอย่างเลย มันมีกลยุทธ์เยอะ เปิดโปง ทำให้สาธารณชนเห็นเลย นั่นจะทำให้สังคม conscious เมื่อสังคม conscious ผู้ใช้ความรุนแรงก็ต้องกลัวแล้ว คุณทำอย่างงี้ ใช่เหรอ มันถูกต้องเหรอ มันชอบธรรมเหรอ นึกออกมั้ย แต่ก็คือว่าเราไม่ชักปืนยิงกลับ เพราะถ้าชักปืนยิงกลับ ปืนมันใหญ่กว่าเรา แต่เราต้องใช้แหล่งอำนาจอย่างอื่น power ของสื่อ power ของการสร้าง awareness ของสังคม แล้วให้เขาเห็นเลย เขากำลังทำอะไร ทำให้ทั้งโลกเห็นเลย และแน่นอน ใครจะโอเค ถูกมั้ย คุณมี power มากกว่าแล้วคุณทำแบบนี้ มันจะโอเคได้ยังไง

สัมภาษณ์ ณ ร้าน Hop On วันที่ 18 พฤษภาคม 2565