พุทธธรรมพหุนิยม: สภาวะแยกขาดจากกันไม่ได้ระหว่างโลกสัจธรรมกับโลกวัฒนธรรม

เดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมอภิปรายบทสังเคราะห์โครงการวิจัย “พุทธธรรมพหุนิยม : ระหว่างสัจธรรมกับวัฒนธรรม” นำเสนอโดย ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์​ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (ไพฑูรย์ ธัญญา) และ ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า

บทสังเคราะห์ชิ้นนี้เป็นความพยายามของอาจารย์สุวรรณาในการชวนตั้งคำถามทางปรัชญาต่อ พุทธศาสนาเถรวาท ว่าตกลงแล้ว พุทธศาสนาที่เราเคารพศรัทธานั้นมีลักษณะอนุรักษนิยมสุดขั้วมาตั้งแต่โบราณ หรือแท้จริงแล้วมีลักษณะที่โอบอุ้มคุณค่าแห่งความเท่าเทียมและเปิดกว้างต่อความหลากหลาย โดยงานวิจัยมุ่งวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนที่ยากเกินกว่าจะสรุปรวมอยู่ในภาพหนึ่งภาพใดที่ตายตัว

ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าพุทธศาสนาเถรวาทไทยในยุคนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายในการสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่เป็นอย่างมาก นับวันคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งเบื่อหน่ายกับศาสนาพุทธที่มีลักษณะอนุรักษนิยม อำนาจนิยม และศีลธรรมนิยมเต็มที ยิ่งไปกว่านี้ ในระยะหลัง พุทธศาสนาไทยยังมีแนวโน้มแสดงออกสนับสนุนความรุนแรงแบบความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุดอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเถรวาทแบบนี้ดูจะไปได้ดีกับระบอบเผด็จการมากกว่าจะส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยแบบโลกสมัยใหม่ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ต้องการที่จะชี้ชวนให้มองปรากฏการณ์นี้ด้วยความห่วงใยอย่างตรงไปตรงมา

โลกสัจธรรม-โลกวัฒนธรรม

อาจารย์สุวรรณาวางโครงบทสังเคราะห์ชิ้นนี้ โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “โลกสัจธรรม” กับ “โลกวัฒนธรรม”

พุทธศาสนาเถรวาทก็ไม่ต่างจากความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ ที่มีการอ้างถึง “โลกสัจธรรม” ที่ไปพ้นภาษาและการอธิบายของมนุษย์ สภาวะของการไปพ้นหรือการหลุดพ้นที่เป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาคือ โลกสัจธรรม นิพพานคือโลกสัจธรรม อนัตตาคือโลกสัจธรรม โดยอาจกล่าวได้ว่า โลกสัจธรรม ก็คือโลกทางศาสนา ที่บ่อยครั้งสะท้อนคุณลักษณะของความเร้นลับ ศักดิ์สิทธิ์ นามธรรม กำกวม อธิบายด้วยตรรกะเหตุผลไม่ได้ ไปพ้นจากโลกประจักษ์

กระนั้นสิ่งที่อาจารย์สุวรรณานำเสนอคู่กับโลกสัจธรรมก็คือโลกวัฒนธรรม “มนุษย์สามารถแสวงหา สืบค้น และพบสัจธรรมได้จากประสบการณ์ในโลกประจักษ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สัจธรรม “แสดงออก” ในโลกแห่งวัฒนธรรม”

การนำเสนอความสัมพันธ์อันแยกขาดจากกันไม่ได้ระหว่างโลกสัจธรรมกับโลกวัฒนธรรม คือหัวใจสำคัญของบทสังเคราะห์ชิ้นนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่า สัจธรรมคำสอนทางศาสนาทั้งปวงสื่อสารผ่านโลกวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ภาษา บทกวี พิธีกรรม อุปมาอุปไมย ข้อเขียน ฯลฯ แม้โลกวัฒนธรรมล้วนมีข้อจำกัด แต่หากโลกสัจธรรมไม่สัมพันธ์กับโลกวัฒนธรรมก็ไม่อาจมีช่องทางในการสื่อสารสัจธรรมที่ไปพ้นวัฒนธรรมได้

ความเชื่อทางศาสนาที่มุ่งเน้นแต่โลกสัจธรรมโดยตัดขาดหรือละทิ้งความสำคัญของโลกวัฒนธรรมนั้นเป็นเช่นไร?

ศาสนาย่อมถูกมองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง ตายตัว การเทศนาสั่งสอนเป็นไปอย่างไม่คำนึงถึงบริบทชีวิต ความทุกข์ หรือวัฒนธรรม ไม่เปิดกว้างต่อการตีความ ขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน ศาสนาเช่นนี้ย่อมตายซาก ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีวัตถุดิบของประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ ไร้ซึ่งมิติของความรัก ความกรุณา หรือความสัมพันธ์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการตัดขาดจากโลกวัฒนธรรมนี่เองที่ทำให้ศาสนาปฏิเสธความเท่าเทียม ปิดกั้นต่อความเปิดกว้างหลากหลาย กระทั่งมีลักษณะแบบกีดกันคัดออก (Exclusivism) ซึ่งเป็นท่าทีที่สวนทางกับความเป็นพหุนิยม

แล้วความเชื่อทางศาสนาที่มุ่งเน้นแต่โลกวัฒนธรรมโดยตัดขาดหรือละทิ้งความสำคัญของโลกสัจธรรมนั้นเป็นเช่นไร?

ศาสนาย่อมถูกช่วงใช้เป็นเครื่องมือโดยชนชั้นปกครอง ขาดมิติของการแสวงหา และ “อิสรภาพทางจิตวิญญาณ”​ ศาสนาถูกมองเป็นเพียงกลไกทางศีลธรรม/วัฒนธรรมที่ผูกติดอยู่กับอำนาจรัฐ นอกจากนั้นการปฏิเสธการมีอยู่ของโลกสัจธรรม ทำให้ปราศจากมิติของความเร้นลับ ชีวิตที่คาดไม่ถึง โลกอันศักดิ์สิทธิ์รุ่มรวย เหมือนกับการที่ศาสนาถูกอธิบายภายใต้โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์แยกส่วน ความจริงทางศาสนาถูกจำกัดโดยการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ความจริงเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ กระทั่งโลกสัจธรรมถูกมองอยากแยกส่วนเป็นชิ้นๆ (fragmented world) เป็นโลกที่หมดสิ้นมนตร์ขลัง ไม่มีเสน่ห์ ไม่น่าค้นหา (disenchanted world)

“ความตึงแย้งอันสร้างสรรค์” ระหว่างโลกสัจธรรมกับโลกวัฒนธรรม

การแยกขาดออกจากกันไม่ได้ระหว่างโลกสัจธรรมกับโลกวัฒนธรรมเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความตึงแย้ง (tension) ระหว่างความสัมพันธ์สองชุดนี้ อาจกล่าวได้ว่าโลกสัจธรรมกับโลกวัฒนธรรมนั้นนำเสนอสองสิ่งที่ดูเป็นคนละเรื่องกัน และกำหนดคุณค่าของ “ความจริง” ที่ดูจะขัดแย้งกัน ไม่อาจลงรอยกันได้อย่างสมบูรณ์ ทว่าต้องอาศัยความมีอยู่ของกันละกันเพื่อให้ทั้งโลกสัจธรรมและโลกวัฒนธรรมสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ “ความตึงแย้งอันสร้างสรรค์” นี้เอง คือฐานคิดของแนววิเคราะห์พุทธธรรมพหุนิยม

“แม้ภาษาและโลกวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่อาจเป็นภาพแทนที่ครบถ้วนของสัจธรรมได้ แต่มนุษย์ก็ได้สร้างสรรค์และอาศัยโลกวัฒนธรรมอันซับซ้อนหลากหลายในการบันทึก สื่อสาร สืบทอด แสดงหนทางหรือมรรควิธีที่ช่วยนำพาผู้แสวงหาสัจธรรมให้ดำเนินในครรลองแห่งสัจธรรมได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า โลกวัฒนธรรมหรือภาษาอันเป็นสมมติธรรมทั้งปวง คือ ยาน (พาหนะ) ที่นำพาสู่สัจธรรม”

ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์

อาจกล่าวได้ว่า พัฒนาการของพุทธธรรมจำเป็นต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์กันระหว่างโลกสัจธรรมกับโลกวัฒนธรรมที่ว่านี้ ในแง่ของคำสอนหรือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ คือความสัมพันธ์ที่แยกขาดจากกันไม่ได้ระหว่าง “ปรมัตถสัจจะ” กับ “สมมติสัจจะ” สมมติสัจจะในที่นี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่จริง ทว่าเป็นความจริงที่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม เพศ เชื้อชาติ อัตลักษณ์ การตีความ การให้ความหมายหรือคำนิยามประสบการณ์ต่างๆ ทั้งนี้การจะเข้าถึงปรมัตถสัจจะโดยไม่ให้ความสนใจหรือเคารพต่อสมมติสัจจะนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ การอุ้ม “ความตึงแย้งอันสร้างสรรค์” ระหว่างความจริงสมมติและความจริงสูงสุด คือหนทางที่จะหลอมรวมประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ทั้งหมดให้กลายเป็นวัตถุดิบของเส้นทางการเข้าถึงสัจธรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของพุทธธรรมพหุนิยม