“การุณย์นิมิต : พลังแห่งจินตภาพและการอุทิศตนต่อ enlightenment

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

สะท้อนประสบการณ์จากกิจกรรม Avalokita Talk # 9 การุณย์นิมิต (Power of Visualization)
ปาฐกถาโดย วิจักขณ์ พานิช ณ อวโลกิตะ


อย่างที่ชาวพุทธทั้งหลายรู้กันดี เป้าหมายของพุทธศาสนาคือนิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นอิสระจากสังสารวัฏ เส้นทางคือการฝึกปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนตัวเองมีคุณสมบัติสามารถ “ย้ายบ้าน” จากประเทศสังสารวัฏ ไปสู่ประเทศแห่งการหลุดพ้น โดยที่ไม่ต้องมารับกรรม ก่อกรรม ตาย เกิดใหม่ ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบอีกแล้ว

เราเติบโตด้วยความเข้าใจนี้มาโดยตลอด พร้อมกับความคิดที่ว่า ใครมันจะไปหลุดพ้นได้… อย่างเราเนี่ยเหรอ? ขนาดพระที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อฝึกฝนตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น ยังมีแค่หยิบมือที่เราได้ยินมาว่าท่านบรรลุ ตัวเราเองที่เป็นแค่ชาวพุทธตามบัตรประชาชน เข้าวัดทำบุญนิดๆ หน่อยๆ ภาวนาตามคอร์ส 5 วัน 10 วัน จะเอาความกล้าดีอะไรมาบอกว่า ดิฉันจะหลุดพ้นในชาตินี้ ไม่เจียมตัวเอาเสียเลย

แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา อยู่ดีๆ ก็มีการนำเสนอคอนเซ็ปต์เรื่อง สังสารวัฏ-การตื่นรู้-การหลุดพ้นแบบใหม่ (อาจเรียกว่ากระบวนทัศน์ใหม่ก็ยังได้) โดย พี่ตั้ม วิจักขณ์ พานิช พี่ตั้มชวนคุยเรื่องนี้หลายครั้งในหลายวงสนทนา ในพอดแคสต์ the 5th floor และล่าสุดใน Avalokita Talk ครั้งที่ 9 เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

SAMSARIC mind vs ENLIGHTENED mind

ใจความสำคัญที่สุดของคอนเซ็ปต์สังสารวัฏ-นิพพานที่เพิ่งติดตั้งใหม่นี้ คือการมองว่าสังสารวัฏและนิพพานไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่สะท้อนอยู่ใน จิตของเรา

SAMSARIC mind คือ จิตที่เวียนวน มองหาสิ่งปรนเปรออัตตา หาความสบายผิวๆ ขับเคลื่อนชีวิตไปด้วยความรัก โลภ โกรธ หลง และความคิดตัดสิน แบ่งขั้วถูกผิดต่างๆ นานา เป็นคำอธิบายชีวิตโลกย์ๆ ของเราๆ อย่างที่คุ้นเคยกันในคำสอนของพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า SAMSARIC mind ก็คือ จิตที่ขับเคลื่อนสังสารวัฏนั่นเอง 

ทีนี้การหลุดพ้นสู่นิพพานล่ะ อย่างที่พูดไปตอนแรกว่าภาพที่เรามองมาตลอด คือ ภาพของการย้ายที่ ออกจากสังสารวัฏไปสู่ที่อื่น เมื่อสังสารวัฏอยู่ในจิต การตื่นรู้ก็อยู่ในจิตเช่นกัน และการตื่นรู้ไม่ได้พาผู้ตื่นรู้ออกไปที่อื่นอย่างที่เราอาจเคยเข้าใจ การมีธรรมชาติของจิตตื่นรู้ทำให้เรามีอิสรภาพ แม้เราจะยังอยู่ในโลกสังสารวัฏ แต่ก็มีศักยภาพที่จะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ด้วยการตื่นรู้ ENLIGHTENED mind หรือจิตตื่นรู้ เป็นธรรมชาติพื้นฐานที่แท้จริงในตัวเรา

พูดง่ายๆ ทั้งสังสารวัฏและนิพพานไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่เป็นธรรมชาติของจิตที่สัมพันธ์กับ reality ซึ่งทั้งสองด้านนี้มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว การภาวนาทำให้เห็นชัดเจนว่าจิตทั้งสองคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน ไม่แยกขาดจากกัน การภาวนาคือการเลิกให้อาหารจิตแบบสังสารวัฏ และรดน้ำให้แก่โพธิจิตงอกงาม กระทั่งเราตระหนักถึงเนื้อแท้ของจิตว่าคือนิพพาน ส่วนสังสารวัฎเป็นเพียงสิ่งปกคลุมชั่วคราวเท่านั้น

พอทั้งสังสารวัฏและนิพพานไม่ใช่อะไรที่ต้องไปขวนขวายจากภายนอก คำกล่าวถ่อมตัวประเภท “ผมไปไม่ถึงหรอก การบรรลุนิพพานน่ะ ไม่มีทางหรอกที่ผมจะเป็นโพธิสัตว์ หรือพุทธะ อย่างน้อยผมขอฝึกปฏิบัติบนเส้นทางไปในฐานะมนุษย์ที่มีกิเลสละกัน” ก็อาจกลายเป็นมุมมองที่ผิด (wrong view) ไป แล้วการยืนยันหรือ manifest พุทธภาวะในตัวเองแบบ “ฉันคือโพธิสัตว์ ฉันคือพุทธะ ฉันคือความกรุณา และฉันปรารถนาจะช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งปวงจากสังสารวัฏ” ได้กลายเป็นมุมมองที่ถูกต้อง (right view) วางใจ จริงแท้ และ empower

PRACTICING REALITY : ความจริงไม่ใช่สิ่งแข็งตัว

ชีวิตคือความสัมพันธ์ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติต่อความสัมพันธ์ต่างๆ ด้วย enlightened mind ในหนึ่งวันเราต้องสัมพันธ์กับคน กับสัตว์เลี้ยง กับอารมณ์ความรู้สึก กับร่างกาย กับห้องหับ กับสภาพอากาศ ฯลฯ และสิ่งเหล่านั้นก็คือ “ความเป็นจริง” ที่เกิดขึ้น เช่น วันนี้ฝนตก เราจะทำยังไงกับฝนที่ตกอยู่นี้ดี รถเราโดนชน เราจะจัดการยังไงดี อาหารไม่อร่อยเลย เราจะกินให้หมดยังไงดี หรือแฟนบอกเลิก เราจะอยู่กับอารมณ์เศร้านี้ยังไงดี

“ความจริง” หรือ reality มีหลายระดับ ระดับฝนตกที่เป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพ ความจริงในระดับอัตลักษณ์ คุณค่า คำนิยาม ที่ซับซ้อนขึ้นมา คนตรงหน้าเราเป็นคนยังไง และเขาจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร นายเอเป็นคนใจดี เขาต้องให้เรายืมเงินแน่ๆ เราจะสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกื้อหนุนตรงหน้ายังไง ตรงกันข้าม หากสถานการณ์ตรงหน้าเต็มไปด้วยความขัดแย้ง คนนั้นก็ไม่ชอบเรา คนนี้ก็ตัดสินเรา คนโน้นก็ด่าเรา เราจะอยู่ตรงนี้ยังไง เราจะสัมพันธ์กับ reality นี้ยังไง

เมื่อเราสัมพันธ์กับความจริงตามแพทเทิร์นที่เคยชินของเรา แพทเทิร์นที่มาจาก samsaric mind ที่เต็มไปด้วยการคิดล่วงหน้า หรือการตัดสิน แทนที่เราจะสัมพันธ์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชั่วขณะ เช่น เมื่อเราเจอลุงเสริฐ ครูประจำอวโลกิตะที่ทุกคนต้องเคยเจอ ผู้ที่เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าลุงจะมาในรูปแบบไหน มาช้า มาเร็ว ลงบันไดช้า สวดมนตร์ไม่ตรงจังหวะ ออกคำผิด ถ้าเราสัมพันธ์กับลุงเสริฐด้วยความคิด samsaric mind เราก็จะมัดลุงเสริฐไว้กับภาพและคำจำกัดความที่เราสร้าง ความเป็นจริงของลุงเสริฐก็จะหยุดอยู่แค่ตรงนั้น แข็งตัว ไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลง และหากมีอะไรผิดแผกไปจากนั้น โดยไม่รู้ตัว เราก็อาจจะตอบสนองด้วยความก้าวร้าวที่มาจากความจริง(ของอัตตา)ตัวเอง

ความน่ากลัวของความจริงแข็งๆ นี้ ไม่ใช่แค่ในระดับอารมณ์หรือในการตอบสนองเท่านั้น แต่มันอาจขยายกว้างไปเป็นความรุนแรงที่กดทับจิตวิญญาณ เราอยู่ในประเทศที่การปกครองห่วยแตก เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ ไร้ซึ่งความหวังจะมีชีวิตที่ดีได้ ถ้าเราวนเวียนอยู่กับมุมมองความจริงของประเทศที่มันเป็นอย่างงี้ ชีวิตก็คงจะหม่นหมอง สิ้นหวัง หดหู่ ไร้ประกายตา ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความจริงไม่ได้ตายตัวอยู่แบบนั้น หรือติดอยู่กับแค่ด้านลบๆ ตรงนั้นเสมอไปหรือตลอดไป

ท่าทีที่เราสัมพันธ์กับ reality ด้วย samsaric mind ทำให้ความจริงเป็นสิ่งตายตัว เป็นของตายที่ไม่เปลี่ยนแปลง และ “ไร้จินตนาการ” แต่แท้จริงแล้วธรรมชาติของ reality นั้นเปิดกว้าง ไหลลื่น และเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิต พี่ตั้มพาเราลองนึกว่า ถ้าเราเปิดกว้างกับ reality ของลุงเสริฐ ลุงเสริฐอาจเป็นได้ตั้งแต่มนุษย์ลุงวัยชรา สายลับซีไอเอ คุรุผู้มอบปัญญาญาณอันฉับพลันแก่ศิษย์ หรือลุงเสริฐอาจเป็นร่างจำแลงของพระอวโลกิเตศวรที่คอยมาตรวจงานผู้ดูแลอวโลกิตะในแต่ละวันก็ได้! 

จะทำอย่างไรเราจึงจะสัมพันธ์กับ reality ในชั่วขณะนั้นๆ อย่างมีชีวิตชีวาและเปิดกว้าง หัวใจสำคัญคือ พื้นที่ว่างในใจของเรา ความว่างคือพื้นที่ให้กำเนิดคุณสมบัติอันสดใหม่แห่งการตื่นรู้ และจินตภาพอันยิ่งใหญ่ของโลกอันศักดิ์สิทธิ์


หนทางการภาวนา : ฝึกอยู่กับความว่าง บ่มเพาะจิตตื่นรู้

พุทธศาสนาสอนให้เราฝึกตนด้วยเป้าหมายคือการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ และในที่นี้ก็คือการหลุดพ้นจาก samsaric mind ไปสู่ enlightened mind 

หนทางที่เราจะไปสู่จุดนั้น คือ เราต้องตื่น ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่องว่าง หรือ gap ของ samsaric mind ที่ดูตายตัวและต่อเนื่อง โลกที่ต้องเป็นแบบนี้แน่ๆ ไม่มีทางแก้หรือเปลี่ยนแปลงได้ ทว่าในการภาวนา เราจะพบว่า แท้จริงแล้วมันไม่ได้ต่อเนื่องอย่างที่เราคิด เราตระหนักถึงช่องว่างของ samsaric mind ซึ่งเป็นดั่งประตูสู่การหลุดพ้น จากการได้ยินได้ฟังคำสอน อะไรบางอย่างที่เข้ามากระตุกจิตกระชากใจ หรือเจออะไรที่มาขัดจังหวะให้ “เอ๊ะ” เป็นดั่งวาบหนึ่งของการตื่นขึ้นในพื้นที่ว่าง หรือความว่าง 

ความว่างนี้สำคัญมากต่อการสัมพันธ์กับ enlightened mind ในชั่วขณะที่จิตเราว่าง เราจะสามารถเข้าถึงคุณสมบัติแห่งพุทธะที่อยู่ภายใน คุณสมบัติของจิตที่ตื่น สว่าง กระจ่าง เปิดกว้าง เป็นอิสระจากอคติหรือคำตัดสินใดๆ เราทุกคนมีจิตเดิมแท้ที่มีคุณสมบัตินี้อยู่แล้ว เราทุกคนสามารถเข้าถึงพุทธภาวะนี้ได้

การภาวนาคือหนทางที่จะทำให้เราเข้าถึงเนื้อแท้นี้ ซึ่งหลักการพื้นฐานนั้นง่ายมาก ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เพียงแค่เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ความคิดผ่านเข้ามาก็ปล่อยไป แค่รับรู้ ไม่ทำไรกับมัน ไม่ให้อาหารมัน หากตามความคิดไป รู้ตัว แล้วก็กลับมา อยู่กับความรู้สึกในร่างกาย หยุดใช้แพทเทิร์นเดิมๆ ในการตอบสนอง เราฝึกอยู่กับสภาวะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนสามารถสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวด้วยภาวะที่ตื่นและเปิดกว้าง นั่นแหละคือการสัมพันธ์กับ reality ที่มีชีวิตด้วย enlightened mind

ดอกบัวเผยกลีบ เปิดออก ในใจกลางมีแก้วมณีแห่งความกรุณา…

ความว่างเป็นที่ให้กำเนิดจิตที่ตื่นรู้ หรือโพธิจิต ดังเช่นพื้นที่อวโลกิตะที่เปิดให้ผู้คนเข้ามานั่งอยู่กับความว่าง เพื่อบ่มเพาะความรัก ความกรุณา และสันติในใจ

ถึงตรงนี้เรามีภาพตรงกันแล้วว่า การหลุดพ้นจากสังสารวัฏไม่ใช่การย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น แต่เป็นการสัมพันธ์กับโลกใบเดียวและใบเดิมด้วย enlightened mind ในพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการหลุดพ้นไปคนเดียว แต่เราจะพาทุกผู้คน สรรพสัตว์ทั้งปวงไปด้วยกัน เราจะแปรเปลี่ยนโลกที่ถูกบดบังด้วย samsaric mind ไปสู่โลกแห่ง enlightened mind เพื่ออิสรภาพและความหลุดพ้นของทุกชีวิต ดังเช่นในภาพทังก้าของพระอวโลกิเตศวร ที่มีมีพันกรเอื้อมมือฉุดช่วยสรรพสัตว์อันมากมายมหาศาล ด้วยจิตอันเปี่ยมกรุณาของท่าน 

ในปาฐกถาครั้งนี้ พี่ตั้ม วิจักขณ์ ยังชี้ให้เห็นถึงพลังของจินตภาพในการปฏิบัติภาวนา ตามชื่อหัวข้อปาฐกถา “การุณย์นิมิต” Power of Visualization การตั้งนิมิต หรือ “ตั้งจิตโดยมีภาพประกอบ” (และอาจมีซาวน์ประกอบด้วย!) จะช่วยให้เราบ่มเพาะความกรุณาอย่างทรงพลังยิ่งขึ้นได้อย่างไร 

พี่ตั้มเล่าถึง ตอนได้ไปฟังท่านยงเก มิงจู รินโปเช บรรยายเรื่องการฝึกบทสาธนาที่ผู้ฝึกปฏิบัติจะต้องสร้างจินตภาพตามที่ได้รับการสอนมา ในพุทธวัชรยาน บทสาธนาทุกบทจะมีภาพประกอบ บทนี้ต้องสวดแบบนี้ มาพร้อมกับภาพนี้ และเสียงมนตร์นี้ ตัวอย่างเช่น มนตร์มณีที่เราใช้ฝึกกันที่อวโลกิตะ ก็มีบทภาวนาเริ่มต้นที่นำไปสู่การสร้างจินตภาพของดอกบัวที่มีแก้วมณีอยู่ในใจกลาง และการเปล่งเสียงมนตรา “โอม มณี ปัทเม หุม” ซ้ำๆ

การฝึก “วีชวลไลซ์” เริ่มด้วยการฝึกอยู่กับความว่างที่เล่าไปก่อนหน้า จากนั้นจึงเพิ่มเติมด้วยจินตภาพเพื่อทำให้ประสบการณ์ของการดำรงอยู่ในความว่างนั้นเข้มข้นขึ้น ท่านมิงจู รินโปเช กล่าวว่า การสร้างจินตภาพ คือ การใช้ concept เพื่อปกป้องเราจาก conceptual mind หรือ samsaric mind แน่นอนว่าจินตภาพคือความคิดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความคิดทั่วๆ ไปที่เรามี (ปกติคงไม่มีใครคิดว่าตัวเองเป็นดอกบัว หรือคิดว่าตัวเองเป็นความกรุณาหรอกใช่ไหม) ในชั่วขณะที่เราคือดอกบัวที่มีแก้วมณีแห่งความกรุณาอยู่ในใจกลาง พร้อมเปล่งเสียงมนตราซ้ำๆ ความคิดลบๆ ต่อตัวเอง การตัดสินตัวเอง หรือความคิดฟุ้งซ่านอื่นๆ ก็ไม่อาจกล้ำกรายเข้ามาได้ พื้นที่ว่างตรงนั้นเองจะสามารถให้กำเนิดคุณสมบัติต่างๆ ของ enlightened mind เช่น ความรัก ความกรุณา ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในการทำสาธนา สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าตัวจินตภาพ ก็คือ การสัมพันธ์กับธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั่นเอง

เราคือดอกบัวที่มีแก้วมณีอยู่ในใจกลาง เราคือพระอวโลกิเตศวร เราเป็นหนึ่งในพันกรที่จะยื่นออกไปช่วยเหลือสรรพสัตว์ในสังสารวัฏ อาจกล่าวได้ว่า จินตภาพทั้งหมดนี้ คืออุบายในการรู้แจ้งต่อโพธิจิตนั่นเอง

จินตนาการเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ หากเรา (ยัง) ไม่มีสิ่งของหรือคุณสมบัติบางอย่าง เราก็สามารถจินตนาการถึงสิ่งนั้นและรู้สึกถึงการมีอยู่ของมันในตัวเราได้ อาจเรียกว่าเป็นหนทางหนึ่งในการเข้าถึงความจริงในระดับที่อยู่เหนือโลกทางกายภาพขึ้นไป นอกจะช่วยให้เราอยู่กับความว่าง ความเป็นไปได้ หรือความเปิดกว้างที่พ้นไปจาก samsaric mind จินตภาพนี้จะกันไม่ให้ความคิดอื่นๆ เข้ามา เช่น ความคิดลบ ความคิดตัดสิน อย่างเช่นขณะที่เราสวดมนตร์มณี และ visualization ของดอกบัวและแก้วมณี ความคิดว่าเราห่วย เราไม่ดีพอ เราไม่มีทางจะหลุดพ้นได้ก็จะไม่สามารถเข้ามาได้ ในชั่วขณะนั้นๆ ดอกบัวที่มีแก้วมณีได้ช่วยปกป้องจิตจากอำนาจของสังสารวัฏ และเพิ่มพลังอำนาจและความมั่นใจในโพธิจิต กระทั่งเราได้กลายเป็น being ที่แสดงออกซึ่งคุณสมบัติของโพธิจิต (enlightened mind) ในชั่วขณะนั้นเองที่เราแสดงตัวเป็น “โพธิสัตว์” (enlightened being) ได้จริงๆ

มีคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าฟัง ว่าแล้วเราจะติดอยู่ในจินตภาพนี้ไหม เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นมันก็คือการหลงอยู่ในสภาวะ ซึ่งอาจน่ากลัวกว่าการว่ายวนอยู่ในสังสารวัฏเสียอีก 

คำตอบคือในการใช้จินตภาพกับการภาวนา จะประกอบด้วยสองส่วนเสมอ นั่นคือ ขั้นของการสร้าง (developmental stage) และขั้นของการสลาย (completion stage) พี่ตั้มเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงลำดับของสิ่งที่ต้องทำ โดยเริ่มต้นจากการอยู่กับความว่าง แล้วจึงค่อยๆ ทำตามขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างจินตภาพ และสัมพันธ์กับคุณสมบัติของจินตภาพนั้น (ซึ่งก็คือคุณสมบัติของโพธิจิต) และที่ลืมไปไม่ได้คือขั้นตอนสุดท้าย นั่นก็คือการสลายภาพนั้น แล้วกลับไปสู่ความว่างดังเดิม


#ทีมอวโลกิเตศวร : ใครเป็นโพธิสัตว์ยกมือขึ้น

หลังจากเล่าภาพ reality, samsaric mind, และ enlightened mind จนทุกคนพอมีประพิมประพายกับคอนเซ็ปต์ใหม่นี้ พี่ตั้มก็เปิดอกถามกันตรงๆ ว่า “ใครในห้องนี้ปรารถนาการหลุดพ้น หรือบรรลุสู่ enlightenment บ้าง?” หลังจากเห็นมือที่ยกจำนวนมาก พี่ตั้มจึงถามต่อว่า “แล้วใครปรารถนาการหลุดพ้น หรือบรรลุสู่ enlightenment ในชาตินี้บ้าง?” จำนวนมือลดน้อยลงไป แต่ก็มีบางมือที่ยกยันหนักแน่น

วัชรยาน ถูกเรียกว่าเป็น quick path ด้วยการตอบสนองความปรารถนาที่จะเดินทางสู่การหลุดพ้นในชีวิตเดียว ฟังดูดี แต่นั่นหมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องมีเจตจำนง ความมุ่งมั่น ศรัทธา และการอุทิศตนที่แรงกล้ามากๆ พูดง่ายๆ คือ หากต้องเอาสิ่งที่ต้องทำงานกับตัวเองในสิบชาติมาทำมันตรงนี้เลย เราก็พร้อม หากมีสิ่งที่ต้องตายไปสิบอย่าง เราก็พร้อมตายสิบหนในชีวิตเดียว อีกทั้งการหลุดพ้นนี้ยังถูกขับเคลื่อนอย่างแรงกล้าด้วยปณิธานในการหลุดพ้นเพื่อยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ปลดปล่อยทุกชีวิตให้เป็นอิสระจากสังสารวัฏ เราจะหลุดพ้นในชาตินี้ เพื่อรวมเป็นเนื้อเดียวกับพันธกิจอันยิ่งใหญ่ ร่วมทีมกับครูบาอาจารย์ พุทธะ โพธิสัตว์ทั้งหลาย!

“ใครในห้องนี้เป็นโพธิสัตว์บ้าง?”
“ใครปรารถนาจะร่วมทีมกับพระอวโลกิเตศวรบ้าง?”

หากบนเส้นทางการฝึกโพธิจิตของเรา เรายังไม่กล้าที่จะตอบรับคำเชื้อเชิญนี้ นั่นหมายความว่าเรายังไม่เข้าใจสิ่งที่เราฝึกปฏิบัติอยู่อย่างแท้จริง เมื่อเราสัมพันธ์อยู่กับ enlightened mind เราก็มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในฐานะ enlightened being ด้วยศรัทธาที่พร้อมจะร่วมทีมกับครูบาอาจารย์ พุทธะ โพธิสัตว์ทั้งหลาย ในโลกอันศักดิ์สิทธิ์แห่ง enlightenment

วิจักขณ์ พานิช

หากจะให้พรรณนาโลกที่เราอยู่ในทุกวันนี้ แค่เริ่มคิดก็น่าเหนื่อยหน่าย ไหนจะการเมือง ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ ภัยธรรมชาติ ความฉิบหายในทุกๆ มิติ สิ่งที่เราทำได้ก็แค่เอาตัวรอดไปวันๆ อาจจะหนีไปปฏิบัติธรรมเงียบๆ เพื่อรักษาใจตัวเองและไม่สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้น แค่นี้ก็ดีกว่าผู้คนมากมายที่ต้องทนอยู่อย่างหดหู่ ซึมเศร้าไปกับ “ความจริง” นั้น

ทว่าเราเป็นได้มากกว่านั้น เราสามารถสัมพันธ์กับ reality ที่มีชีวิต เราสามารถ “มีจินตนาการ” ต่อโลกอันศักดิ์สิทธ์มีชีวิต ที่สะท้อนอยู่ในโลกภายในและปรากฏการณ์ภายนอกด้วยวินัยของการภาวนา

เราสามารถแปรเปลี่ยนให้ right view กลายเป็น “เราทุกคนคืออวโลกิเตศวร เราคือพระโพธิสัตว์ เราคือพุทธะ และโลกนี้คือโลกอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้และพลังเกื้อหนุนแห่งการตื่นรู้”  

ก่อนจากกัน คุณวิจักขณ์ได้ปลุกโพธิจิตที่มีอยู่ในทุกคนให้ฮึกเหิม เราต่างมีศักยภาพที่จะแสดงตนเป็นอวโลกิเตศวร ด้วยการฝึกภาวนาเพื่อจะเป็นอิสระจาก samsaric mind และกลายเป็นโพธิสัตว์ผู้มีปณิธานที่จะทำงานช่วยเหลือโลกใบนี้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พระอวโลกิเตศวรต้องการเพื่อนร่วมทีมที่จะมาฉุดช่วยสรรพสัตว์ และทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ก็สามารถเป็นหนึ่งในพันกรของท่านได้ เราจะพาทุกชีวิตไปสู่ enlightened world ด้วยกันทั้งหมด!

ร่วม #ทีมอวโลกิเตศวร
บนหนทางแห่งศรัทธาและการอุทิศตัวอย่างแรงกล้าต่อการตรัสรู้ ที่จะเกิดขึ้นในชาตินี้ ชีวิตนี้ …และเดี๋ยวนี้!