Praise & Blame

มียศ เสื่อมยศ

มีลาภ เสื่อมลาภ

มีสรรเสริญ ย่อมมีนินทา

ให้ทุกประสบการณ์สามัญของชีวิต นำพาเราไปสู่การตื่นรู้

ในศตวรรษที่ 8 บุคคลผู้หนึ่งนำพุทธศาสนามาสู่ธิเบต ท่านมีชื่อว่า ปัทมสัมภวะ แปลว่าผู้กำเนิดจากดอกบัว หรืออีกชื่อหนึ่งว่า คุรุ รินโปเช ตำนานเล่าว่าท่านปรากฏตัวในเช้าวันหนึ่ง โดยนั่งอยู่บนดอกบัวใหญ่กลางทะเลสาบ เป็นที่กล่าวขานกันว่าเต็กพิเศษผู้นี้รู้แจ้งในทันทีที่เกิด คือเข้าใจตั้งแต่เริ่มแรกว่าปรากฏการณ์ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่มีความจริงแท้ใดๆ อยู่เลย แต่ที่เขายังไม่รู้ก็คือ สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นทำหน้าที่อย่างไรในโลกของความเป็นจริง

เด็กคนนี้เป็นเด็กช่างซักช่างถาม ความงดงามและความเปล่งประกายของเขาทำให้ผู้คนพากันหลงใหล เขายังเห็นอีกว่าเมื่อเขาสนุกสนานและเล่นหยอกล้อ ทุกคนดูจะมีความสุขและชื่นชมเขา พระราชาประทับใจเด็กคนนี้มาก จึงให้นำตัวไปยังพระราชวัง และเลี้ยงดูเสมือนเป็นลูกชาย

วันหนึ่งเด็กน้อยขึ้นไปเล่นบนดาดฟ้าพระราชวัง พร้อมนำเครื่องประกอบพิธีกรรมของพระราชา อันได้แก่ ระฆังหนึ่งใบ และคทาโลหะที่เรียกว่า วัชระ อันหนึ่งติดตัวไปด้วย เขาเต้นรำอยู่บนดาดฟ้าพร้อมกับสั่นระฆังและควงวัชระด้วยความรื่นรมย์ยินดี ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เขาจึงโยนระฆังและคทาขึ้นไปในอากาศ มันตกลงไปยังถนนเบื้องล่างหล่นใส่หัวคนเดินถนนสองคนตายคาที่

ราษฎรในแคว้นนั้นต่างเดือดดาลจนเรียกร้องให้พระราชาขับไล่เด็กคนนี้ออกไปจากเมือง ในวันเดียวกันนั้นเอง เขาถูกเนรเทศออกไปอยู่ในป่าอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่มีอาหารหรือเครื่องใช้ใด ๆ ติดตัวไปด้วยเลย

เด็กน้อยช่างสงสัยผู้นี้ได้รับบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกมนุษย์ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เพียงประสบการณ์สั้น ๆ แต่แจ่มชัดในการเผชิญกับคำสรรเสริญและคำนินทา ก็เพียงพอที่ทำให้เขาเข้าใจกลไกความเป็นไปของสังสารวัฏ นับแต่นั้นมาเขาก็ละทิ้งความหวังและความกลัว มุ่งทำงานอย่างมีความสุขเพื่อช่วยผู้อื่นให้ตื่นรู้

เราสามารถใช้ชีวิตเยี่ยงนี้ได้เช่นกัน เราสามารถสำรวจตรวจสอบคู่ตรงข้ามอันคุ้นเคยนี้ได้ในทุกๆ อย่างที่เราทำ แทนที่จะกลับไปสู่แบบแผนอันคุ้นชินเดิมๆ โดยอัตโนมัติ เราอาจเริ่มสังเกตเห็นว่าตนเองมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไรเมื่อมีคนชมหรือมีคนด่า เมื่อสูญเสียหรือได้มา เมื่อพอใจหรือเจ็บปวด มันง่ายๆ แค่นั้นจริงหรือไม่? เราแค่รู้สึกพอใจหรือรู้สึกเจ็บปวดแค่นั้นจริงไหม? หรือมันตามมาด้วยละครน้ำเน่าเป็นฉากๆ

จากหนังสือ “เมื่อทุกอย่างพังทลาย : หนทางฝึกใจในช่วงเวลาวิกฤต”

โดย เพม่า โชดรัน