รู้จักครูเรจินัลด์ เรย์ (1): ชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังบางอย่างที่เหนือการควบคุม

แปลและเรียบเรียง โดย พชร สูงเด่น

AND SPARKS WILL FLY
เรจินัลด์ เรย์ ธรรมาจารย์ผู้จุดประกายพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่

สัมภาษณ์โดย เวย์ลอน ลูวิส จากนิตยสาร elephant ฉบับฤดูหนาว 2005

ดร.เร้จจี้ เรย์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างแรกของการถักทอทางประวัติศาสตร์ การหลอมรวมกันอย่างสมบูรณ์ของปัญญาแห่งโลกตะวันออกและความรู้เชิงปฏิบัติการของโลกตะวันตก นี่ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลย พุทธศาสนาเป็นเพียงสิ่งที่คุณอ่านเจอใน National Geographic กระทั่งปี 1959 เมื่อคอมมิวนิสต์จีนบุกเข้าทิเบต ทันใดนั้นเอง ท่ามกลางการพลัดถิ่นฐานที่เทียบเท่าได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ ภูมิปัญญาพุทธศาสนาอายุมากกว่าสองพันห้าร้อยปีถูกบีบให้เคลื่อนข้ามเทือกเขาหิมาลัยที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยหิมะ เชอเกียม ตรุงปะน่าจะเป็นคุรุทิเบตคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในคณะ ท่านทิ้งจีวรไว้เบื้องหลังบวชอีกครั้งสู่โลกแห่งสูทและสุรา ท่านได้ประยุกต์ธรรมเนียมปฏิบัติโบราณให้เข้าถึงได้และสอดคล้องกับอเมริกาสมัยใหม่ หนึ่งในศิษย์คนแรกของเชอเกียม ตรุงปะ คือนักวิชาการหนุ่ม ความคิดความอ่านเกินวัยนาม “เร้จจี้ เรย์” 

elephant: ช่วยเล่าเรื่องราวชีวิตคุณให้ฟังหน่อย เติบโตที่ไหน อะไรจูงใจให้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ตอนนั้นเรียนกับใคร และมาที่โบลเดอร์ [โคโลราโด] ได้อย่างไร? ขอในสองประโยคนะ

ดร.เร้จจี้ เรย์: [หัวเราะ] ผมเกิดที่นิวยอร์กซิตี้ในปี 1942 ครอบครัวผมย้ายมาที่คอนเน็กติกัท ในเมืองชื่อว่าดาเรียน ผมเติบโตที่นั่น

ตั้งแต่เด็ก ราวแปดเก้าขวบ ผมสนใจทิเบตมาก ผมอ่าน National Geographic และทุกสิ่งที่หาได้ ผมเริ่มฝันถึงทิเบต มันเป็นเรื่องเกินต้านที่สุดในชีวิต ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยความตั้งใจว่าจะเก็บเงิน [และ] ไปทิเบต [หัวเราะ]

หลังจบปีสอง ผมก็ลาออก ในยุคนั้น คนที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยมีแค่อาชญากรหรือคนมีปัญหาทางจิตเท่านั้นแหละ แต่ผมลาออกไปอินเดีย และพยายามหาทางไปทิเบต … แต่ในปี 1962 เราเข้าทิเบตไม่ได้ [‘การปลดแอก’ ของคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อนหน้า] ผมเลยใช้เวลาในลาวและเนปาล ผมอยากใช้ชีวิตนี้ศึกษาพุทธศาสนาทิเบต ผมเลยกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อ แล้วก็เรียนจบด้วยความตั้งใจนี้ วิลเลียมส์คอลเลจในแมสซาชูเซตส์เพิ่งเปิดสาขาวิชาศาสนศึกษา ด้วยความที่เป็นสาขาใหม่จึงยังมีนักเรียนอยู่ไม่มาก ผมแทบจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ผมจึงเลือกเรียนพุทธศาสนา

ele: ตอนนี้คุณเป็นอาจารย์และผู้ศึกษาพุทธธรรมมานาน คุณตีความความฝันวัยเด็กพวกนั้นว่าอย่างไร? คุณว่ามันเป็นเรื่องของการกลับชาติมาเกิด หรือเป็นแค่ความสนใจส่วนตัว?

ดร.เรย์: [เงียบยาว] โอเค… เรามาเปิดใจคุยเรื่องนี้กันสักนิด

ตอนที่ผมอายุสองจวบจนสี่ขวบ ผมมักตื่นขึ้นกลางดึกแล้วเดินลงบันไดด้วยความหวาดกลัวสุดขีด พ่อกับแม่ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น พอย้อนนึก มันก็แปลกดี ตอนได้พบกับเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผมเล่าให้ท่านฟังถึงความฝันพวกนั้น และผมก็รู้ว่าท่านเห็นสถานที่ที่ผมพูดถึง เพราะความฝันพวกนั้นเกี่ยวข้องกับสถานที่เฉพาะที่มีอยู่จริงในทิเบต บางครั้งในฝัน ผมจะยืนอยู่ตรงหุบเขา Brahmaputra จ้องมองไปยังภูเขา ผมอยากข้ามไปอีกฝั่ง ในฝันส่วนใหญ่ ผมอยู่บนภูเขาของทิเบต พยายามหาทางกลับไปยังถ้ำสักแห่งและศูนย์ภาวนา ตอนที่ผมเล่าให้ตรุงปะ รินโปเชฟัง ท่านถามผมเล็กน้อย ก่อนจะบอกว่า “เธอเป็นคนทิเบตในชาติก่อน” แล้วท่านก็กล่าวต่อ “แต่สิ่งที่เธอต้องสนใจคือชีวิตนี้” ท่านรู้ว่าความฝันพวกนี้มันทรงพลังมากแค่ไหน เรื่องประหลาดก็คือความฝันพวกนี้เคยเป็นความสนใจหลักของผมมานานถึงสิบห้าปี แต่เมื่อผมเจอท่าน ผมก็ไม่เคยฝันถึงมันอีกเลย

ผมร่อนใบสมัครเข้าเรียนต่อปริญญาโทที่ ฮาร์วาร์ด เยล และชิคาโก ผมประหลาดเกินไปสำหรับเยล ผมเคยไปอินเดียและก็ชัดเจนว่าเป็นคนแปลกๆ แต่ผมเข้าฮาร์วาร์ดและชิคาโกได้ ฮาร์วาร์ดน่าจะเป็นเส้นทางสู่การยอมรับ ได้ปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด ใช้มันเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ แต่ชิคาโกน่าสนใจกว่าในทางวิชาการ เพราะ [เมอชิเอ] เอลิอาเด อยู่ที่นั่น [นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศาสนาคนสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20] ชิคาโกสนับสนุนให้นักศึกษาพัฒนามุมมองทางวิชาการที่เป็นตัวของตัวเอง ผมจึงเลือกไปชิคาโก

Mircea Eliade นักประวัติศาสตร์ศาสนาชาวโรมาเนีย ผู้วางรากฐานวิชาการด้านศาสนศึกษาในสหรัฐอเมริกา

ele: และคุณก็ได้เรียนกับเอลิอาเด

ดร.เรย์: ใช่ เขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม ผมรู้จักเขาค่อนข้างดีเลยทีเดียว

มุมมองของเอลิอาเดคือ ถ้าวัฒนธรรมของเราเกิดการตื่นรู้ทางปัญญาผ่านการศึกษาเรื่องราวของกรีกคลาสสิกได้ เราก็น่าจะเกิดการตื่นรู้ทางปัญญาอีกครั้งจากการศึกษาศาสนาตะวันออกและศาสนาพื้นเมืองได้ด้วยเช่นกัน

เอลิอาเดมองว่าศาสนศึกษาโดยแก่นแล้วคือ การศึกษาตนเอง การจะทำความเข้าใจและศึกษาศาสนาได้อย่างเหมาะสม เราจะต้องเปิดสัมปชัญญะของเราให้อยู่ในระดับเดียวกันกับศาสนาที่เรากำลังศึกษาอยู่ และนั่นคือสิ่งที่เราทำในชิคาโก มันดิบมาก แน่นอนว่าผมต้องเรียนภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต และอะไรอีกหลายอย่าง

ele: แม่คุณรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้? พ่อของคุณเสียไปแล้ว?

ดร.เรย์: พ่อผมมีชีวิตอยู่จนอายุ 75 ท่านทั้งสองเกี่ยวข้องกับการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นทั้งหมดนี้ ทั้งการไปอินเดียและทุกๆ อย่าง 

แม่ผมออกจะผาดโผนกว่า ว่ากันว่าตอนที่แม่เจอพ่อ เธอเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเวลส์ลีย์ และออกเดทกับพ่อที่ออกจะเคร่งขรึมกว่า พวกเขาเดินกันอยู่ริมแม่น้ำ แล้วพ่อก็ถามขึ้นมาว่า “คุณนับถือศาสนาอะไร?” เธอก้าวขาขึ้นไปยืนบนแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ลอยมา ก่อนเธอจะตอบว่า “ฉันนับถือศาสนาพุทธ” [หัวเราะ] ตอนนั้นเป็นกลางฤดูหนาว พวกเขาต้องพายเรือไปรับเธอกลับมา [หัวเราะ] แม่คอยสนับสนุนผมในทุกการผจญภัยที่โลดโผนเสมอ ตอนเป็นเด็ก ผมมักพายเรือออกไปเวลามีพายุเฮอร์ริเคน…! พ่อผมนี่แทบจะลมจับ

ele: โคตรโชคดีเลยนะ ที่มีคนสนับสนุนคุณแบบนั้น

ดร.เรย์: จริง ผมไม่เคยถูกห้ามเลย

ele: ในฐานะพ่อ คุณมองว่าการสนับสนุนแบบนั้นสำคัญไหม? ผมว่าพ่อก็แค่อยากให้คุณปลอดภัย

ดร.เรย์: คือพ่อก็แค่อยากให้ผมเป็นเหมือนคนอื่น เพราะพูดตามตรงคือเขาเป็นแบบนั้น ตอนนี้ผมมีลูกสาวสองคน ก็มีเวลาที่พวกเขาอยากออกผจญภัยเหมือนกัน … และแม้ในฐานะผู้ปกครอง ผมจะไม่ชอบเลย ผมก็ต้องคอยเช็คตัวเองในกระจก “แล้วนายจะทำไงได้? นายก็ใช้ชีวิตแบบนั้นมาตลอด นายก็ต้องปล่อยพวกเขาไป” [หัวเราะ]

ele: โอเค คุณเคยเรียนกับเอลิอาเด โดยมาตรฐานทั่วไปแล้ว นับว่าคุณได้ทำสิ่งที่น่าทึ่ง คุณได้ยินเรื่องตรุงปะ รินโปเชตอนไหน แล้วย้ายมาอยู่ที่เมืองโบลเดอร์ โคโลราโด นี่ได้อย่างไร?

ดร.เรย์: ในปี 1968  ในห้องสมุดด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ผมเจอหนังสือ Born in Tibet ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมรู้ทันทีเลยว่า “นี่คือครูของฉัน” มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย ผมแค่ รู้ ว่านี่คือครูของผม และผมต้องตามหาเขาให้เจอ ผมไม่รู้สึกเลยว่านี่เป็นเรื่องแปลกอะไร ไม่ต่างจากความฝันก่อนหน้านี้ของผม ในปี 1969 [ชาวตะวันตกที่มีชื่อทางศาสนาพุทธว่า] คุงกะ ดาวา ศิษย์ใกล้ชิดรินโปเชมากที่สุดคนหนึ่งเดินทางมาจากอังกฤษ ประมาณแปดเดือนก่อนหน้ารินโปเชจะมาถึง คุงกะจัดงานเสวนาในชิคาโก ผมจึงได้ยินเรื่องของกรรมะ โชลิง (Karmê Chöling) พวกเขาเพิ่งซื้อที่ดินได้ไม่นาน ผมก็เดินทางไปเลย

ศูนย์ภาวนากรรมะ โชลิง (ชื่อแรก Tail of the Tiger)

ele: กรรมะ โชลิง ศูนย์ภาวนาในชนบทของเวอร์มอนต์ ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อ “Tail of the Tiger” [ชื่อแรกของกรรมะ โชลิง] เลยด้วยซ้ำ

ดร.เรย์: ยัง มันไม่มีชื่อเลย พวกเขาบอกว่า “รินโปเชอยู่ในมอนทรีอัลตอนนี้ ท่านจะมาที่นี่ในอีกสองเดือน” และผมก็อยู่ที่นั่นหลังจากที่ท่านมาถึงอีกไมกี่วัน [หัวเราะ]

ele: เหลือเชื่อมาก

อย่างที่คุณรู้ ผมบังเอิญเกิดและโตในสังฆะ [ของตรุงปะ รินโปเช] พ่อแม่ผมพบกันที่งานรีทรีทประจำปีของตรุงปะ รินโปเชในปี ‘72 ในเมืองแจ็กสัน [โฮล] แม่ให้กำเนิดผมในฤดูร้อนแรกของนาโรปะในปี ‘74 และผมก็คิดบ่อยๆ ว่าผมคงไม่ใช่คนที่น่าสนใจมากพอที่จะมาศึกษาพุทธศาสนาหรือปฏิบัติภาวนาถ้าผมไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเช่นนี้ ผมเลยรู้สึกอัศจรรย์ใจเสมอเมื่อเจอคนอย่างคุณ ที่ตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมาก และหาสิ่งนี้จนเจอ

ดร.เรย์: เอาจริงๆ นะ ชีวิตผมถูกขับเคลื่อนด้วยพลังบางอย่างที่เหนือการควบคุม ผมรู้สึกถึงสิ่งนี้มาตลอดทั้งชีวิต ผมไม่เคยควบคุมอะไรได้เลย อันที่จริงแล้ว ผมใช้เวลาส่วนใหญ่พยายามต้านชีวิตตัวเอง

ele: อ้า ผมเจอจุดที่ชีวิตคุณกับผมเชื่อมโยงกันแล้ว [หัวเราะ]
คุณจำครั้งแรกที่เจอ ตรุงปะ รินโปเช ได้ไหม?

ดร.เรย์: [เงียบ] ท่านนั่งอยู่ในห้องภาวนาที่กรรมะ โชลิง วันนั้นฟ้ามืดทั้งวัน ตอนที่ผมเดินผ่านประตูเข้าไป ราวกับเมฆบนท้องฟ้าแยกตัวออกจากกัน แสงอาทิตย์แทรกผ่าน และสาดเข้ามาในห้อง … ผมนั่งลงบนพื้น พับเพียบ เช่นเดียวกับที่ศิษย์ชาวทิเบตประพฤติเมื่ออยู่ต่อหน้าครู เราพูดคุยกันสั้นๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง มันแปลก ราวกับท่านเห็นว่าผมกำลังจะคิดอะไร ท่านเป็นทุกสิ่งที่ผมต้องการโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ผมต้องการครู เราคุยกันถึงงานของผมหลังจบปริญญาโท ท่านบอกว่า “เธอมีทางเลือกสองทาง เธอจะมาที่นี่ สัมภาษณ์ฉัน ทำงานวิชาการร่วมกับฉันในฐานะนักวิจัย เราอาจผลิตผลงานดีๆ ร่วมกันได้ หรือเธอจะมาเรียนกับฉันในฐานะศิษย์ แล้วเราก็จะไปได้ไกลยิ่งกว่านั้นมาก” ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “นั่นแหละคือสิ่งที่ผมอยากทำ” และมันก็เป็นไปตามนั้น

ele: ชายผู้กล้า

ดร.เรย์: ไม่เลย ขับเคลื่อนด้วยกรรมทั้งนั้น 

ele: ก็น่ากลัวอยู่ดี

ดร.เรย์: ชีวิตผมน่ากลัวมาโดยตลอด ทุกการเปลี่ยนผ่านสำคัญล้วนน่ากลัว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ele: ในมุมมองตามขนบ ทั้งปริญญาโทจากชิคาโกและหนังสือทั้งหมดที่คุณเขียน คุณนับว่าเป็นนักวิชาการผู้ชาญฉลาดอย่างหาตัวจับยาก นั่นเลยทำให้ผมยิ่งมองว่ามันช่างอะไรที่กล้าหาญและเหลือเชื่อไปพร้อมๆ กันที่คุณก็แค่กระโจน มีความเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นแสดงตัวต่อหน้าคุณในชั่วขณะนั้น แล้วคุณก็แค่เปิดรับมัน

ในโลกตะวันตก เราไม่มีสายธรรมหรือประวัติศาสตร์ของการสัมพันธ์กับมนุษย์อีกคนหนึ่งในฐานะครู เรามักพูดถึงเรื่องทำนองนี้ในเชิงลัทธิ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ในสายธรรมพุทธศาสนาอายุสองพันห้าร้อยกว่าปีแบบนี้ คุณรู้โดยสัญชาตญาณได้ยังไงว่าจะต้องสัมพันธ์กับตรุงปะ รินโปเชในฐานะครู? 

ดร.เรย์: “ครู” , บ่อยครั้งผมเองก็มีความสงสัยต่อคำคำนี้อยู่เหมือนกัน ตกลงว่านี่เรากำลังพยายามจัดการประเด็นโอดีปุสที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือมองว่านี่คือคนที่จะมาช่วยกอบกู้เรากันแน่

แต่ตั้งแต่การเจอกันครั้งแรก ความเข้าใจที่เรามีต่อกัน คือความสัมพันธ์ของเรา และการอุทิศตนของผมที่มีต่อตรุงปะ รินโปเช ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ท่านแสดงให้ผมรู้ถึงความจริง โลกนี้ ชีวิต และธรรมชาติของสิ่งที่ “เป็น” ผมเห็นได้ชัดเลยว่า ท่านรู้วิธีที่จะเผยสิ่งเหล่านี้ต่อผม ผมจึงอยู่กับท่าน รักท่าน ไม่ใช่เพราะท่านจะแก้ปัญหาให้ผมได้แต่อย่างใด แต่เพราะแรงบันดาลใจของผมเองที่อยากเข้าถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่ลึกซึ้ง

และกลายเป็นว่านั่นคือหนทางที่ ตรุงปะ รินโปเช มองบทบาทตัวเองในฐานะครู อย่างน้อยก็ต่อนักเรียนอาวุโส ท่านไม่ได้อยากรับบทเป็นพ่อ ท่านอยากเป็นมัคคุเทศก์นำทางเราสำรวจความจริงมากกว่า

ผู้คนมี projection ต่อรินโปเชแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเจอท่านช่วงไหน ช่วงปี 1970 ถึง ‘74 เป็นยุคสมัยแรกของท่าน และภาพบางอย่างก็ปรากฏขึ้นตอนนั้น และผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของยุคนั้น แล้วคุณก็เข้าสู่ยุค ‘74 ถึง ‘79 ยุคต้น ‘80s และก็ยุคปลาย ‘80s แปลกดีที่คนแต่ละกลุ่มมีภาพจำต่อคนที่ท่านเป็นและงานที่ท่านทำไม่เหมือนกัน ผมเป็นส่วนหนึ่งของยุคที่ท่านบอกว่า “ฉันหวังให้ศิษย์ของฉันเป็นผู้ตื่นรู้ ” ท่านยังบอกด้วยว่า “ฉันอยากให้ศิษย์ของฉันสำเร็จเป็น สิทธา” ช่างกล้ามาก!

ele: สิทธาคือ แบบอย่างของผู้ตื่นรู้?

ดร.เรย์: ผู้ที่บรรลุถึงคำสอน การฝึกตน และความรู้แจ้งในความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ในยุคต้น ‘70s ท่านสอนเราว่าคำสอนที่ท่านได้รับมาสามารถส่งต่อให้พวกเราได้ทั้งหมด และเราเองก็สามารถบรรลุถึงความรู้แจ้งที่ท่านและคนอื่นๆ บรรลุได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่ท่านยังคาดหวังสิ่งนั้นจากเราด้วย ไม่ใช่แค่ในระดับคำพูด แต่ท่านตรงและดุดันกับพวกเรามาก ท่านไม่ผ่อนปรนกับใครเลย ท่านไม่อ่อนข้อให้ผมเลยสักนิด ไม่เคยเลย มันน่ากลัวมาก แต่มันกลับแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจที่ว่า ท่านยินดีเปิดเปลือยตัวเองอย่างหมดเปลือก และสื่อสารธรรมะกับเราแต่ละคนอย่างตรงไปตรงมาที่สุดในฐานะศิษย์

อ่านต่อตอนที่ 2 : https://www.vajrasiddha.com/reggieinterview2/