เยียวยาผ่านเรื่องเล่า: การเล่าเรื่องชีวิตในทัศนะของนักปรัชญา ปอล ริเกอร์

 บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

เรารู้เรื่องราวชีวิตคนอื่นได้อย่างไร?

เวลาได้พบเจอคนใหม่ๆ นอกจากหน้าตา ชื่อ อายุ การที่เราจะรู้จักอีกฝ่ายมากไปกว่าเป็นคนผ่านทาง เราต้องรู้ความเป็นมาคร่าวๆ ของคนผู้นั้น ทำอะไร อยู่ที่ไหน เป็นคนยังไง และอีกหลากหลายมิติที่เราอยากทำความรู้จัก เรารู้เรื่องเหล่านี้ผ่านคำบอกเล่าของคนอื่นบ้าง เจ้าตัวบ้าง ผ่านการอ่านชีวประวัติบ้าง 

และถ้าอยากได้เรื่องที่สมจริงที่สุด ก็ต้องเป็นเรื่องที่มาจากเจ้าตัวเป็นคนเล่าเอง

เรื่องเล่าชีวิตของเเต่ละคนนั้นเป็นเหมือนภาพวาดที่ตัวคนเล่า เลือกแต่งแต้มสีลงไปบนเฟรม เพื่อให้เกิดเป็นภาพที่จะนำไปเผยให้คนอื่นได้เห็น เวลาเราวาดภาพ เราไม่ได้สาดสีทุกสีลงไปอย่างไร้ทิศทาง แต่ผ่านการคิด ผ่านการเลือกสรรแล้ว ว่าจะใช้สีอะไรแต้มตรงไหน 

เรื่องเล่าชีวิตก็เช่นกัน เราไม่ได้เล่ารายละเอียดทุกอย่าง ไม่ได้เล่าว่าฉันคือนางสาวแจ่ม ผู้ที่กินไอศกรีมรสวานิลลาเมื่อวาน และฉันขับรถฮอนด้าซิตี้ เรื่องเล่าของเราผ่านการเลือกมาแล้วว่าจะเอาเรื่องไหนมาเล่าให้ใครฟัง จะเรียงร้อยเรื่องราวอย่างไร 

ชีวิตของฉันก็คือเรื่องเล่าของฉัน

การเล่าเรื่องราวของตัวเอง เหมือนเป็นการออกแบบชีวิตตัวเองว่ามันจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน หากเราอยากเล่าออกมาให้ดูมีความน่าตื่นเต้น เราก็เลือกหยิบประสบการณ์มันส์ๆ มาใส่ในเรื่องเล่า อารมณ์ประมาณ “ผมเป็นนักศึกษาคณะอักษร ผมชอบผจญภัยสุดๆ เพิ่งไปไต่หน้าผาที่หาดไร่เลย์มาเลย! “ หรืออยากนำเสนอภาพตัวเองที่เป็นคนรักสัตว์ ก็อาจจะเล่าเรื่องแมวสี่ตัวของตัวเอง เป็นต้น  

ในเส้นชีวิตของคนคนหนึ่งมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย ประสบการณ์น่าตื่นเต้น ช่วงเวลาเศร้าระทมทุกข์ ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบที่เราจะเลือกมาใส่ในเรื่องเล่าของเราที่จะบอกเล่าให้คนอื่นฟัง กระนั้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องเล่าที่เราก็บอกกับตัวเองด้วยเช่นกัน 

ตัวเราเองเป็นคนกำหนดทิศทาง กำหนดเนื้อเรื่องว่าเรื่องเล่าชีวิตจะออกมาในธีมไหน ลำดับยังไง การเล่าในแต่ละสถานที่ แต่ละกลุ่มคนฟัง แต่ละช่วงเวลาก็ย่อมแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดนั้นมาจากมุมมองของเราที่มีต่อชีวิตตัวเอง เราจะเลือกเรื่องอะไรมาเล่า และชีวิตเราจะถูกให้ความหมายด้วยเรื่องอะไร ทั้งหมดนั้นเราเองที่เป็นคนกำหนด

Paul Ricoeur (1913-2005) 

ฟังมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าชีวิต เรื่องเล่า และตัวเราจะทำงานด้วยกันวนเวียนไปมา ใช่เลย! นักปรัชญาร่วมสมัยชื่อดังคนหนึ่งคิดถึงเรื่องนี้เช่นกัน 

ปอล ริเกอร์  (Paul Ricoeur, 1913-2005) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้นำเสนอปรัชญาเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ริเกอร์เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในยุค เขาเขียนหนังสือมากมายหลายเล่ม และยังตีพิมพ์บทความมากกว่า 500 ชิ้น งานที่ริเกอร์ทำโดยหลักคือด้านมานุษยวิทยาเชิงปรัชญา (Philosophical anthropology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ โลก และเวลา  แก่นของปรัชญาริเกอร์คือ การเข้าใจตนเอง (self-understanding) ด้วยการตีความตัวเองผ่านตัวกลางก็คือ “เรื่องเล่า” 

ประเด็นของริเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับเรา คือ ชีวิตที่สัมพันธ์กับเรื่องเล่า และการสร้างอัตลักษณ์ผ่านเรื่องเล่า 

เล่าเรื่องชีวิต

เรื่องเล่าของเรา เป็นการตอบคำถามที่ว่า เราคือใคร 

ในบทความที่มีชื่อว่า “ชีวิตที่แสวงหาเรื่องเล่า” (“life in Quest of Narrative” แปลเป็นภาษาไทยโดย อ.คงกฤช ไตรยวงค์)  ริเกอร์ ตั้งต้นจากความเห็นแย้งต่อประโยคที่ว่า “เรื่องมีไว้เล่า ไม่ได้มีไว้ใช้ในชีวิต ชีวิตมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้เล่า” และเสนอแนวคิดที่ว่า แท้จริงแล้วชีวิตและเรื่องเล่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ไม่แยกขาดจากกัน

ประเด็นหลักของริเกอร์คือ เรื่องเล่าเป็นการนำชีวิตมาจัดวางพล็อตและถ่ายทอด ส่วนชีวิตคือประสบการณ์ที่เตรียมจะถูกเล่า 

 “..ข้าพเจ้าขอย้ำถึงศักยภาพก่อนการเป็นเรื่องเล่า (pre-narrative capacity) ของสิ่งที่เราเรียกว่าชีวิต สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการตั้งสมการเเบบซื่อๆ ระหว่างชีวิตกับประสบการณ์ ชีวิตก็เป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ทางชีวภาพเท่านั้นหากยังไม่ได้ตีความ”

(ริเกอร์,1991:86) 


สำหรับริเกอร์ การเล่าเรื่องเป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง เรียกว่า Narrative Identity ที่ทำให้ปัจเจกมีเรื่องราวที่แยกแตกต่างจากผู้อื่น และมีความต่อเนื่องในมิติด้านเวลา เป็นการที่ปัจเจกนำประสบการณ์ทั้งหมดของตัวเองมาจัดเรียง ทำให้องค์ประกอบที่แตกต่างกันเหล่านั้นมีเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ เจตนา สาเหตุ  วิธีนี้ริเกอร์เรียกว่า “emplotment” ซึ่งเป็นการที่คนแต่ละคนทำงานกับตัวเอง ทบทวนและเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวส่วนไหน ในแง่มุมอะไร ผู้เล่าจะต้องเป็นผู้ตีความประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิตของตน เรื่องที่เล่าออกไปนั้น เป็นทั้งการบอกแก่ผู้อื่น และการยืนยันคำตอบ “ฉันคือใคร” กับตัวเองด้วยเช่นกัน 

เมื่อเรื่องราวชีวิตถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องเล่า จากตรงนั้น เราก็จะเห็นถึงการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตัวผู้เล่า เห็นถึงเหตุการณ์ เจตนา เหตุและผลของการกระทำต่างๆ และความต่อเนื่องของชีวิตตามลำดับเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้จะสะท้อนถึงมุมมองที่ผู้เล่ามองตัวเอง และตีความชีวิตตัวเองออกมา

Star sand dunes in the Death Valley, California, USA.


เรื่องเล่ากับการเยียวยา

ย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง  การที่เราจะเล่าเรื่องตัวเอง เราต้องย้อนมองกลับไปทบทวนว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างที่จะนำมาเล่า  ซึ่งสิ่งที่จะเจอ อาจมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย หลายครั้งที่การเล่าเรื่องราวในอดีต กลายเป็นการเปิดแผลเก่าที่ยังไม่หายสนิท กลับขึ้นมาให้รู้สึกเจ็บอีกครั้ง 

แต่ก็อย่างที่ว่ามาทั้งหมด เรื่องเล่านี้ เป็นตัวผู้เล่าเองที่ตีความและร้อยเรียงมันออกมา 

เราจะสามารถย้อนกับไปตีความอดีตที่ทำร้ายเราโดยไม่บาดเจ็บซ้ำอีกได้มั้ยนะ….
 

ถ้าตัวเราที่จะต้องเดินทางย้อนกลับไปเยือนอดีตที่เจ็บปวด ไปหาสิ่งที่ trigger เรา การเตรียมตัวให้มี Awareness ก็เป็นสิ่งสำคัญ   ตัวเราในตอนนี้มีจิตใจที่เข้มแข็งพอหรือยังที่จะกลับไปเผชิญหน้ากับอดีตที่เจ็บปวดอีกครั้ง เราจำเป็นต้องมีสติรู้ตัวกับปัจจุบันและไม่ว่าใครจะมองว่าตอนนั้นเป็นยังไง ตัวเราในตอนนี้ต้องมีมีสายตาที่ไม่ตัดสินตัวเอง มีหัวใจที่พร้อมจะมอบความอ่อนโยนความเมตตาต่อตัวเราในตอนนั้น 

สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการทำงานกับตัวเอง บวกกับกำลังใจ การรับฟัง ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเป็นส่วนช่วยเหลือสนับสนุนเราจากภายนอก แต่ในสุดท้าย ตัวเราเองจะต้องเป็นผู้ที่เดินทางกลับไปทำงานกับประสบการณ์ในอดีตเหล่านั้นด้วยตัวเอง ความกล้าหาญและพลังภายใน ล้วนเป็นของเราทั้งสิ้น 

ครั้งต่อไปที่เราเล่าเรื่องชีวิต อาจเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวที่อ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น ไม่ทำให้เราเจ็บปวด ด้วยการสร้างบาดแผล ณ จุดเดิมซ้ำๆ การเล่าเรื่องชีวิตอย่างรู้ตัวถึงผลที่เรื่องเล่ามีต่อตัวเรา จะพาให้ชีวิตคลี่ออก แทนที่จะเวียนวน เรื่องเล่าพาเราไปสู่การเดินทางชีวิต ปล่อยตัวตนเก่าให้ตายไป สร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับตัวเองในปัจจุบัน เป็นเรื่องเล่าชีวิตที่ทำให้เรารักตัวเองอย่างที่เป็นมากกว่าเดิม