ตัวตน ตอนที่ 1 : กรอบแว่นของความคิด

หากจะเปรียบเทียบตัวตนกับของอะไรสักอย่าง เราคิดว่ามันคงเป็นเหมือนกับ ‘เเว่นตา’ เพียงแต่บ่อยครั้งเรามักจะไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ากำลังสวมใส่มันอยู่ และแน่นอนว่ามันมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและการมองโลกของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองนึกถึงแว่นตาที่มีเลนส์เป็นสีเขียว เมื่อเรามองโลกผ่านมัน สิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นสีเขียวตามไปด้วย หรือเมื่อมองโลกผ่านแว่นตาที่มีเลนส์สีเเดง สิ่งต่าง ๆ ที่เรารับรู้และมองเห็นก็ย่อมเป็นสีแดง เช่นเดียวกัน แว่นของอัตตานี้เองที่เป็นตัวกำหนดและบงการการมองเห็น การรับรู้ และการตัดสินของเราในชีวิตประจำวันโดยที่เราไม่เคยทันได้ย้อนกลับมานึกถึงมันเลย

สิ่งที่น่าสนใจคือเลนส์ของแว่นตานี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาและทำงานซ้อนทับกันอย่างแยบยล เลนส์ของตัวตนนี้ปรากฏในสารพัดรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ สถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งในหน้าที่การงาน และอีกมากมายหลายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เราอาจกำลังตัดสินคนยากคนจนผ่านเลนส์ของผู้ที่มีฐานะทางการเงินสูงกว่า หรือตัดสินผู้ที่ถูกกดขี่โดยระบบผ่านเลนส์ของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบ ไม่ก็ตัดสินความผิดเพี้ยนผิดพลาดผ่านเลนส์ของความถูกต้องดีงาม เราอาจกำลังตัดสินแม้กระทั่งว่าคนคนหนึ่งเป็นคนเห็นแก่ตัวผ่านเลนส์ของคนที่คิดว่าตัวเองกำลังทำเพื่อผู้อื่นเสียด้วยซ้ำไป 

ตัวตนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของตำแหน่ง ชนชั้น หรือบทบาทและสถานะของตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้ ความคิด และเหตุผล บ่อยครั้งเรายึดถือเอาความคิดและเหตุผลของตัวเองมาเป็นแก่นสารของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังสถาปนาความจริงสูงสุดในระดับของอัตตาขึ้นมา เราเชื่อว่าเหตุผลของเรานั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง มั่นคง แน่นอน และไม่มีอะไรจะมาหักล้างได้ การยึดมั่นถือมั่นตัวตนในลักษณะนี้ทำให้เราขาดศักยภาพในการให้ความเป็นธรรมแก่ความเป็นจริง เราแยกแยะและจัดประเภทสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้แยกขาดออกจากกัน สิ่งนี้คือตัวตนของฉัน และสิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนของฉัน นี่คือตัวฉัน และนั่นคือคนอื่น การแยกแยะในเชิงมโนทัศน์แบบนี้ทำให้เราละเลยที่จะมองเห็นความสัมพันธ์ที่เป็นสาเหตุปัจจัยของสิ่งต่าง ๆ ที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันในความเป็นจริง เรามองไม่เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วไม่มีอะไรคงอยู่ได้โดยตัวมันเอง แต่เรากลับไปยืนยันว่ามีตัวตนที่จะคงอยู่และแน่นิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ก็เนื่องจากแว่นของอัตตานี้เองที่เป็นตัวกรอบวิธีการมองโลกและบดบังทรรศนะของเราให้ถอยห่างจากธรรมชาติของความจริง

จะเห็นได้ว่าอำนาจของอัตตานี้ทำงานในระดับที่ลุ่มลึกและซับซ้อนเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งการคิดวิเคราะห์เรื่องตัวตนก็อาจนำไปสู่การสร้างตัวตนใหม่ที่ยึดมั่นยึดถือในชุดความคิดหรือมโนทัศน์ใหม่ ๆ ทับซ้อนกันไปเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุด การจะถอดแว่นของตัวตนออกไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เราจึงอาจจะต้องทำการสำรวจตรวจสอบและทำความเข้าใจความสัมพันธ์และเหตุปัจจัยของตัวตนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการ ‘ตระหนักรู้’ อย่างสม่ำเสมอ​