“Trigger makes us human.” : ภาวนาเวลาถูกทริกเกอร์

เคยมีบ้างไหม ในวันหนักๆ ที่เหนื่อยล้าสาหัส คุณมีนัดต้องร่วมกลุ่มภาวนากับสังฆะ แต่อยากหนีไปกระดกเหล้าสักแก้ว

เคยมีบ้างไหม ที่คุณรู้สึกว่าชีวิตคุณยุ่ง และยาก มีปัญหาสำคัญที่ต้องหมกมุ่นกับมัน เกินกว่าจะลางานไปรีทรีท?

เคยมีบ้างไหม ที่คุณรู้สึกท่วมท้นทางอารมณ์ และ “ไม่พร้อม” ที่จะเผชิญกับมันตรงๆ ตอนนี้ ด้วยการหยุดแล้วนั่งเฉยๆ ?

ความท้าทายในการฝึกปฏิบัติของเราจริงๆ ก็คือตอนที่เรารู้สึกว่า “ไม่อยากทำ”  หรือ “ไม่พร้อม” นี่แหละ เราอาจรู้สึกว่าเราไม่อยากทำที่นี่ ไม่อยากทำตอนนี้ …เราอาจรู้สึกว่าเราเหนื่อยเกินไป “ฉันเพิ่งโดนแฟนทิ้งมานะ” “ฉันเพิ่งถูกล็อตเตอรี่มานะ” “ลูกเพิ่งทำฉันหัวเสีย” …เราอาจรู้สึกว่าเพิ่งเจอเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์ของเราพลุ่งพล่านไปหมด เราไม่อยากเสียเวลามานั่งเพราะมีสิ่งที่สำคัญกว่า… “ตื่นตาตื่นใจ” กว่า… เราถูกยึดตรึงไว้จนไม่อาจผละออกมาได้แม้เพียงชั่วครู่

ลองสังเกต “ชั่วขณะที่เรารู้สึกว่าไม่พร้อมจะภาวนา”         

– ชั่วขณะที่เรารู้สึกว่าเรามีเรื่องที่สำคัญกว่า แล้วเราเลื่อนการภาวนาเอาไว้ทีหลัง         
– ความรู้สึกที่ว่าเราไม่พร้อมที่จะปลีกออกมาจากธุระปะปัง หรือเรื่องที่เรากำลังครุ่นคิดกับมันอยู่


ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณมาอย่างโชกโชนแค่ไหน เราจะยังพบเจอกับแรงต้านในการพาตัวเองมานั่ง และตระหนักรู้กับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในใจเราอยู่ในตอนนี้ เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เราจะหาข้ออ้างมากมายมาอธิบายถึงความสำคัญของดราม่าที่กำลังเกิดขึ้น เราอินกับมันเกินกว่าจะผละออกมาจากมันดื้อๆ เพื่อมาอยู่กับเนื้อตัวและลมหายใจเข้าออก แม้ลึกๆ จะรู้ว่าเรื่องราวนั้นกำลังนำเราไปสู่ทิศทางของการสร้างความทุกข์ที่ไม่จำเป็น ที่หนักขึ้นและหนักขึ้น…

ลึกๆ เรารู้ว่าปลายทางคือการระเบิดทางอารมณ์ สติแตก หรือประสาทแดกอย่างไม่อาจควบคุมได้ แต่ด้วยโมเมนตัมที่บิวท์มาในทิศทางนี้ เราไม่อาจ “ฝืนสัญชาตญาณ” ซึ่งเอาจริงๆ คือรูปแบบนึงของกลไกปกป้องตัวเองและเอาตัวรอดที่เราฝึกปรือมาดีจนเป็นนิสัย เราอาจเชื่อไปแล้วว่าการระเบิดอารมณ์คือการปลดปล่อยความทุกข์ใจในรูปแบบหนึ่ง …ที่หลีกเลี่ยงให้เกิดไม่ได้

ทว่าการระเบิดอารมณ์ คือ “การปลดปล่อย” จริงๆ หรือ? หรือแท้จริงแล้วมันเป็นเหมือนแรงดันที่อั้นไม่อยู่ที่ได้ปล่อยออกมาเพียงชั่วครู่เท่านั้น? ท่ามกลางซากปรักหักพังในใจตัวเองและในความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว เรายังต้องรับผลของแรงระเบิดนั้น (หรือต้องหาวิธีเพิกเฉยต่อมัน) และลึกๆ เรารู้ดีว่าวงจรอันทำลายล้างนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่เร็วก็ช้า

ทริกเกอร์ (Trigger) เป็นคำที่ใช้ในทางจิตวิทยา หมายถึง สิ่งที่เป็นเข้ามากระตุ้น จี้ใจ ทิ่มแทง กวนประสาท หรือ “จุดชนวน” ตัวเรา อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเราถูกทริกเกอร์ ตัวตนของเราจะอยู่ในภาวนาที่ไม่ปกติ ไม่สบายเนื้อสบายตัวอย่างยิ่ง มันรู้สึกสั่นไหว เปราะบาง ถูกก่อกวน กระตุ้นเร้า และไม่อาจควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างที่เคย ประสบการณ์ถูกทริกเกอร์จะถูกแสดงออกให้เห็นผ่านอารมณ์ที่เข้มข้น อาการทางกายที่ควบคุมไม่ได้ น้ำเสียง คำพูด แววตา กล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ ซึ่งเราอาจเข้าใจง่ายๆ ด้วยคำแสลง เช่น “จี๊ด” “ปรี๊ด” “วีนแตก” “เหวี่ยง” หรือ “หลุด”

ว่ากันว่า ทริกเกอร์ เกี่ยวข้องการบาดแผลทางอารมณ์ในอดีตที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ขีดขั้นความรุนแรงของมันแปรผันตามความยาวนานที่ทริกเกอร์ถูกฝังกลบหรือกดทับเอาไว้ในใจ

ทว่า “Trigger makes us human.”
ทริกเกอร์บ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์

มันไม่ใช่ข้อบกพร่อง ตำหนิ หรือสิ่งเลวร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก แต่ทริกเกอร์คือส่วนสำคัญของความเป็นมนุษย์ ที่เราต้องทำงานด้วย โดยเฉพาะในมิติของความสัมพันธ์…

แม้ในหลายครั้งผลที่ตามมาของการถูกทริกเกอร์ อาจเป็นความพังพินาศของความสัมพันธ์ที่ไม่อาจฟื้นคืนมาได้ดังเก่า แต่โดยธรรมชาติแล้ว ทริกเกอร์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย วินาทีที่เราถูกจุดชนวนระเบิด มันได้มอบโอกาสให้เราได้สังเกตและสะท้อนตัวเอง ซึ่งเป็นชั่วขณะสำคัญที่อาจนำไปสู่การเยียวยาได้

ส่วนเสี้ยวที่ถูกกดทับมายาวนานต้องการพื้นที่ในการปลดปล่อยพลังงานที่คงค้าง เสี้ยวส่วนที่ถูกปฏิเสธหรือยอมรับไม่ได้เหล่านี้แหละที่เราต้องใช้พลังงานมหาศาลในการผลักมันออกไปจากการตระหนักรู้ ทว่าในเวลาที่เราถูกจุดชนวนระเบิด หรือ “ตัวตนเผลอ” มันคือชั่วขณะที่เสี้ยวส่วนเหล่านั้นถูกพากลับมาสู่การตระหนักรู้ของเราอีกครั้ง คำถามคือ เราพร้อมหรือยังที่จะเปิดใจ? พร้อมหรือยังที่จะพาเสี้ยวส่วนที่เราผลักไสกลับมายังผืนฟ้าอันกว้างใหญ่แห่งการตระหนักรู้ของเราอีกครั้ง?

แทนที่จะโฟกัสไปที่ความสงบในฐานะเป้าหมาย พยายามตามลมหายใจหรือรู้สึกตัวเพื่อให้ไปสู่สภาวะจิตใจที่พึงประสงค์ เราอาจลองพลิกเปลี่ยนท่าทีสู่ “ความไร้เงื่อนไขของการภาวนา” มากขึ้น

เมื่อเราสังเกตเห็นชั่วขณะของการถูกทริกเกอร์ ให้เราลอง โน้มเข้าหาชั่วขณะแบบนั้น แล้ว ขยายพื้นที่ว่างเข้าไป         

– ลองรู้สึกถึง Sense of Openness (ความเปิดกว้าง)         

– ลองรู้สึกถึงธรรมชาติของ Awareness ที่อยู่ตรงนั้นเสมอ เราไม่สามารถเลือกหรือหลีกหนีกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นได้

– ตระหนักว่าพื้นที่เปิดอยู่ตรงนี้เสมอ ไม่มีอะไรถูก exclude จากพื้นที่เปิดนี้เลยแม้แต่อย่างเดียว

ไม่ว่าชั่วขณะที่ถูกทริกเกอร์ เราจะมีสติหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (ซึ่งปกติแล้ว มักไม่มี) แต่ธรรมชาติของสัมปชัญญะที่เปิดกว้างดำรงอยู่ตรงนั้น “อยู่แล้ว” ยามเรามีสติ เราก็ตระหนักรู้การมีสติ ยามไม่มีสติ เราก็สามารถตระหนักรู้การไม่มีสติของเราได้ ไม่มีประสบการณ์ใดที่ถูก exclude จากพื้นที่เปิดของสัมปชัญญะเลยแม้แต่อย่างเดียว ถึงแม้เราจะพยายามใช้พลังงานมากมายในการเฟ้นหาสารพัดกลไกในการซ่อน แอบ หนี หรือหลอกตัวเองทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม แต่สุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว เราจะพบว่าทั้งหมดก็ยังอยู่ที่พื้นที่การตระหนักรู้ของใจเราอยู่ดี

ลองปรับท่าทีเหมือนกับเรากำลังภาวนาในพื้นที่เปิด ที่มีการตระหนักรู้อันไพศาลไร้ขอบเขตดำรงอยู่ตรงนั้นอยู่ตลอดเวลา

โน้มเข้าไปหาจุดทิ่มแทง สภาวะของการถูก Triggered, สภาวะขอบ, สภาวะที่เราเริ่มจะหาข้ออ้างว่าตอนนี้เราไม่พร้อมที่จะภาวนา ซึ่งก็คือ “เราไม่พร้อมที่จะ Aware” 

ณ ชั่วขณะดังกล่าว ลอง apply space ทางกาย (การผ่อนคลาย, ความรู้สึกตัว) และทางใจ ( พื้นที่, การปล่อย, อิสรภาพ) เข้าไป ปล่อยจากการผูกโยงตัวเองกับข้ออ้าง เรื่องราว หรือสิ่งที่เป็นชนวน trigger แล้วอนุญาตให้ตัวเองได้อยู่กับความเข้มข้นของพลังงาน หากเราพาตัวเองมาในทิศทางนี้ เราจะเริ่มสังเกตเห็น “การเคลื่อน” ของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา แทนที่เราจะถูกดึงหรือถูกตรึงไปกับปฏิกิริยาการตอบโต้แบบไม่รู้ตัวเดิมๆ เราจะมองเห็นว่าประสบการณ์ของการจุดชนวนระเบิดกำลังค่อยๆ เคลื่อน ขยับ และถูกปลดปล่อยคลี่คลายในพื้นที่ภายใน ราวกับมันถูกโอบอุ้มในพื้นที่ปลอดภัย อ่อนโยน และไร้เงื่อนไข

การภาวนาไม่ใช่สิ่งที่เรา “ต้องทำ” หรือ “อยากทำ” ในช่วงเวลาดีๆ เท่านั้น เราไม่ได้พูดถึงการภาวนาในพื้นที่ปิด ที่เราสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ แต่เรากำลังพูดถึงการภาวนาในพื้นที่เปิด ที่ซึ่งเราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่ไม่ว่าเราจะฝึกใจมาดีแค่ไหน ก็ยังเปิดให้มีบางสิ่งบางอย่างเข้ามาจุดชนวนระเบิดในใจเราได้ เรากำลังพูดถึงการภาวนาอย่างไร้เงื่อนไขที่ดำเนินอยู่แล้วตลอดเวลา

หากเราสามารถมอง วินาทีของการถูกจุดชนวนระเบิดของตัวตน หรือ ความโกลาหลปั่นป่วนใจ ว่าเป็นข่าวดี มองว่ามันคือโอกาสที่เราจะสัมพันธ์กับเสี้ยวส่วนที่เราผลักไส ไม่ยอมรับ เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความโกรธ มีความเห็นแก่ตัว มีความอิจฉาริษยา เต็มไปด้วยความก้าวร้าว หรือ ขี้หงุดหงิดรำคาญใจ พาเสี้ยวส่วนที่ถูกจุดระเบิดขึ้นมาเหล่านั้น กลับมาสู่พื้นที่ว่างแห่งการตระหนักรู้อย่างไม่ตัดสินตีความ แล้วเราจะพบว่า การเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นไปได้ทางอารมณ์อย่างครบถ้วนนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่คือความเต็มเปี่ยมและสง่างาม และอาจทำให้เราพัฒนาศักยภาพในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์คนอื่นด้วยความรู้ซึ้งแก่ใจยิ่งกว่าเดิมมาก